สามอำมหิต ผู้ขับเคลื่อนวงจรแห่งความชั่วร้ายของการเมืองไทย



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 มีนาคม 2557

อสูรกายสามตัวที่เป็นพลังมืดขับเคลื่อนวงจรแห่งความชั่วร้ายในวงการการเมืองไทยคือ ทุนนิยมสามานย์ อำนาจ และการทุจริตคอรัปชั่น

แนวคิดและแนวปฏิบัติของทุนนิยม ที่มุ่งเน้นการแข่งขัน การเอาแพ้เอาชนะ เพื่อสร้างความได้เปรียบ ความใหญ่ ความสุดโต่ง ความเป็นหนึ่ง ความเป็นผู้ชนะ...ได้ล้างสมอง และครอบงำคนส่วนใหญ่ของโลกผ่านระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี (ฟรีแต่ไม่แฟร์ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก) ระบบการค้า การลงทุน...มีการปลูกฝังอย่างเป็นระบบ เป็นทางการ ผ่านระบบการศึกษา (ทฤษฎีการบริหารจัดการ การตลาด การโฆษณา...) แล้วก็ซึมลึกเข้าไปในระบบการเมือง กลายเป็นธุรกิจการเมือง ที่ไปกันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ยกับระบอบประชาธิปไตยเชิงปริมาณ (เสียงข้างมาก) ที่ไร้จิตสำนึกประชาธิปไตย (การซื้อสิทธิ์-ขายเสียง การโกงการเลือกตั้งทุกรูปแบบเพียงเพื่อให้ได้ชัยชนะเหนือคู่แข่ง...) เราจึงมีนักการเมืองที่ลงทุน และเล่นการเมืองเป็นอาชีพจำนวนมาก เป็นอาชีพที่ถ่ายทอด มอบให้เป็นมรดกให้กับคนในวงศ์ตระกูล และพรรคพวกได้ เมื่อเข้าสู่วงการเมืองได้สำเร็จ ก็มีตำแหน่ง มีอำนาจ เมื่อมีตำแหน่งมีอำนาจ ก็มีช่องทางทุจริตคอรัปชั่นในรูปแบบและวิธีการต่างๆ ไม่ใช่แค่ถอนทุนจากการเข้าสู่ระบบการเมือง แต่เพื่อทำกำไรที่ไม่ใช่แค่ตัวเงิน แต่รวมถึงคนและเครือข่าย เพื่อจะได้เป็นทุนที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นในการต่อสู้ครั้งต่อๆ ไป

นักการเมืองที่เลวเข้าสู่การเมืองเพราะอยากมีอยากได้อำนาจเพื่อที่จะได้เข้ามาทุจริตคอรัปชั่น แล้วเอาเงินที่ได้มาโดยมิชอบเหล่านั้นไปดำเนินการทุกรูปแบบเพื่อรักษาอำนาจ เพิ่มและสั่งสมอำนาจ เพื่อจะได้ทุจริตคอรัปชั่นแบบครบวงจรได้มากขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สร้างบริบท และเครือข่ายภายใต้การสมรู้ร่วมคิดและร่วมทำกับข้าราชการ และนักธุรกิจที่ขาดคุณธรรมจริยธรรมบางคนบางกลุ่ม กลายเป็นวงจรแห่งความชั่วร้ายของการเมืองไทย ที่ยิ่งหมุนยิ่งเร็ว ยิ่งแรง ยิ่งมีพลังดึงดูดเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นหลุมดำทางการเมืองที่เลวร้าย เพราะขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งความชั่วร้าย สามพลังรวมเป็นหนึ่งเดียว... หลุมดำสุดอำมหิต

การคิดและการกระทำภายใต้วงจรแห่งความชั่วร้ายดังกล่าว เป็นการคิดและการกระทำแบบเห็นแก่ตัวและพวกพ้อง เป็นแบบแยกส่วน แบ่งพรรคแบ่งพวก จึงนำไปสู่การแตกแยก แตกหักดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ ตลอดมาตั้งแต่เมื่อมีระบบการเมืองภายใต้ระบอบการปกครองแบบที่เรียกกันว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ (พวกมากลากไป พวกใครพวกมัน ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้าเอ็งอย่าโวย...)

การจะหลุดพ้นจากวงจรแห่งความชั่วร้ายดังกล่าวได้ จำเป็นที่จะต้องทำให้คนในสังคมมองเห็น และรู้เท่าทันมหาภัยของพลังดำทั้งสามนั้น แล้วใช้สติและปัญญาในการสร้างสรรค์ระบบการเมืองใหม่ที่อ่อนตัว ยืดหยุ่น เอื้อต่อการพัฒนาแบบยั่งยืน บนฐานของสังคมและวัฒนธรรมไทย

ไม่ต้องรีบร้อน และคาดหวังผลอย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง การแก้ไขกฎหมาย ทำได้รวดเร็ว แต่การปรับเปลี่ยนและพัฒนาคน ต้องใช้เวลามากกว่ามาก ปัญหาโครงสร้าง ปัญหากฎหมายคิดแบบแก้ไขได้ แต่ปัญหาคน ไม่ควรคิดแบบแก้ไข แต่ควรคิดแบบสร้างและพัฒนา ซึ่งใช้เวลามากกว่า แต่มีโอกาสให้ผลที่ยั่งยืนกว่า

ตัวอย่างเช่น ถ้าคิดแก้ปัญหาในเชิงเหตุและผล หากเห็นว่าแนวคิดและแนวปฏิบัติของทุนนิยมอย่างที่เป็นอยู่เป็นตัวการสำคัญของปัญหา ก็ต้องแก้หรือปรับเปลี่ยนแนวคิดและแนวปฏิบัติ หรือนำแนวคิดใหม่ แนวปฏิบัติใหม่มาแทนเช่น เศรษฐกิจพอเพียง บุญนิยม เอื้ออาทรนิยม

การปฏิรูปการเมืองไทย ถ้าคิดว่าการเข้ามาเล่นการเมืองของนักการเมือง เข้ามาเพื่อแสวงหาอำนาจตามที่กล่าวไว้ในตอนต้น เราก็ต้องปฏิรูประบบอำนาจ ตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ และการรับผิดชอบต่อผลและผลกระทบของการใช้อำนาจ

และถ้าเชื่อว่าอำนาจเปิดโอกาสให้มีการทุจริตคอรัปชั่น ยิ่งมีอำนาจมากยิ่งมีโอกาสมาก ก็ควรหาวิธีลดอำนาจเฉพาะตำแหน่งลง หรืองดอำนาจการตัดสินใจเพียงคนเดียวไปเลย แล้วใช้การตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมแทน

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังมีวิธีคิดแบบแก้ไขปัญหาอยู่ส่วนหนึ่ง โดยการกำหนดกรอบ กติกาใหม่ๆ หลายอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ก็ยังมีปัญหาที่สลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมเพราะเป็นปัญหาที่มาจากตัวนักการเมือง ที่ยังคงมีระบบคิดและการปฏิบัติในวงจรแห่งความชั่วร้ายอยู่ การวิพากษ์วิจารณ์โจมตีเนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญในบางจุด บางมาตรา หรือทั้งฉบับของนักการเมืองบางคน สะท้อนความคิดของเขาเหล่านั้นว่าคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวส่วนพรรค หรือประโยชน์สุขส่วนรวมของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก

คุณหมอประเวศ วะสี ได้เคยเสนอการจัดการปัญหาที่ยากและสลับซับซ้อน หนักอึ้งเหมือนภูเขาด้วยทฤษฎี “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” คือการสร้างและใช้ความรู้ (Knowledge) ไปร่วมและก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) และนำไปเชื่อมและขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายหรือกฎหมาย (Political/Legal Power) มีหลายหน่วยงานนำแนวคิดนี้ไปใช้แล้วได้รับความสำเร็จ เราอาจนำแนวคิดนี้มาจัดการหรือปฏิรูประบบการเมืองของไทยได้

เมื่อการเมืองปัจจุบัน ติดกับอยู่ในวงจรแห่งความชั่วร้าย เพราะขับเคลื่อนด้วยสามพลังอำมหิต การนำสามพลังสร้างสรรค์ (พลังความรู้/ปัญญา พลังเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม และพลังทางกฎหมาย/นโยบาย) มาต่อสู้อย่างมีสติและอย่างรู้เท่าทัน น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมอีกแนวทางหนึ่ง ลองช่วยกันพิจารณาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

Back to Top