ภาวนาหาอะไร?



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559

ในบรรดาคำที่ใช้แพร่หลายใน 'วงการ' จิตวิวัฒน์ จิตตปัญญา ผมไม่ชอบคำว่า "นักภาวนา" หรือ "นักปฏิบัติ" เลย และผมจะรู้สึกกระอักกระอ่วนใจอย่างบอกไม่ถูกถ้าหากใครใช้คำว่าภาวนา เป็นคำกริยา เช่น "เราไปภาวนาที่นั่นมา"​ หรือ "เราไปปฏิบัติมา ที่นี่ดีนะ" อาจจะเป็นเพราะผมมักจะพบเจอบุคคลที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักภาวนา แต่กลับมีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่เนื่องจากผมยังไม่พร้อมที่จะสร้างคำใหม่มาประดับบรรณโลก ในวันนี้ผมจึงต้องขออนุญาตใช้ไปก่อน

การพบปะบุคคลเหล่านั้น ทำให้ผมมองว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีตัวบ่งชี้ความเป็น "นักภาวนา" มันควรจะต้องมีหลักหมุดอะไรบางอย่างที่บอกถึงลำดับขั้นของพัฒนาการทางจิต อย่างน้อยก็เพื่อให้ตนเอง และผู้ที่รักจะเดินบนเส้นทางนี้ สามารถสังเกตและเปรียบเทียบได้ว่าตนเองเดินทางมาถึงจุดใดแล้ว

ผมต้องยอมรับกับผู้อ่านว่าความพยายามในการ "ปักหมุด" ของผมนั้น เป็นความทะเยอทะยานเกินตัว เป็นแนวคิดที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และไม่อาจจะยืนยันด้วยหลักการวิชาการใดๆ เพราะอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวและการสนทนากับผู้รู้ และถ้าหากผิดพลาดคลาดเคลื่อนแต่ประการใด ย่อมเป็นความด้อยปัญญาของผมเอง

เกณฑ์ในการที่ผมใช้แยกแยะก็คือ ความสามารถในการเห็นสภาวะที่เกิดขึ้นกับจิตโดยไม่ถูกสภาวะเหล่านั้นครอบงำ คือ "เห็นมัน"​ แต่ไม่ได้ "เป็นมัน" นั่นเอง ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ต้องอาศัยการฝึกเรื่อง "ความรู้สึกตัว" จนจิตใจเกิดความละเอียดประณีตขึ้น สามารถเห็นรายละเอียดซึ่งเมื่อก่อนมองไม่เห็น

ผมจะข้ามเรื่องวิธีการฝึกไป โดยสามารถหาจากบทความเก่าๆ ของผม แต่ผมจะพูดถึงผลที่เกิดขึ้นจากการฝึก "ความรู้สึกตัว" ในชีวิตประจำวันเลย

หมุดหมายของปัญญาญาณที่เกิดจากการฝึกความรู้สึกตัว (Capability of Mind Achieved Thru Mindfulness Practice or CAMP)

ระดับ 0 - ระดับจิตของคนทั่วไป คนทั่วไปถึงแม้จะเป็นคนดีมีศีลธรรม มีจริยธรรม แต่ถ้าหากไม่เคยได้ฝึกจิตแล้ว จะยังถือว่าไม่ได้มีพัฒนาการทางจิตเลย จึงจัดให้อยู่ในระดับศูนย์ เพราะถึงแม้คนกลุ่มนี้จะเก่งในด้านศิลปวิทยาการ ประสบความสำเร็จในด้านอาชีพการงานหรือส่วนตัวมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ในแง่ของการฝึกปัญญาขั้นภาวนาถือว่ายังไม่ได้เริ่ม

ระดับ 0-1 ระดับภาวนาหาอะไร? เหตุที่ตั้งชื่อแบบนี้ก็เพราะคนที่ติดอยู่ในกลุ่มนี้มาภาวนาเพื่อหาอะไรบางอย่าง เช่น บางคนภาวนาหาความสงบ บางคนภาวนาหาความเป็นยอดมนุษย์ที่มีความสามารถทางจิตมากกว่าคนทั่วไป บางคนก็ภาวนาหาความสบายใจ เช่น สวดมนต์ ไหว้พระ ให้ทาน ก็มีความสุขสบายใจ เหตุที่ให้อยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 เป็นเพราะผมใช้เกณฑ์ความรู้สึกตัวเป็นเกณฑ์ บุคคลที่อยู่ขั้นนี้เขาไม่ได้เน้นที่ความรู้สึกตัว แต่เน้นที่การฝึกจิตให้รับมือกับสิ่งที่ทนได้ยาก เช่น ฝึกความอดทนให้นั่งได้นานๆ ฝึกให้จินตนาการถึงวัตถุสิ่งของ เพื่อทำให้ใจเกิดความสงบ บางครั้งเมื่อจิตใจมีความละเอียดประณีตลง อาจจะได้เห็นภาพนิมิต หรือเกิดความรู้สึกบางอย่างที่ทำให้ตนรู้สึกว่ามีความสามารถ "เหนือมนุษย์" ซึ่งผมจะไม่พูดถึงว่าสิ่งเหล่านั้นมีหรือไม่มี แต่วัดในแง่ความรู้สึกตัว เมื่อไปเห็นเป็นภาพเป็นนิมิตแล้วอะไรแล้ว ก็ถือว่า "ไม่รู้สึกตัว" ผมจึงให้คะแนนตรงนี้อยู่ระหว่าง 0 ถึง 1

ระดับที่ 1 แยกความคิดออกจากความรู้สึกได้ เมื่อฝึกความรู้สึกตัวไปถึงระดับหนึ่ง ถ้าจะวัดความก้าวหน้าได้จริงๆ ก็คือต้องมีอาการตระหนักรู้ในระดับแรก หรือ "ซาโตริ" เรียกแบบพุทธศาสนา นิกายเซน และสิ่งที่จะเรียกว่า "นับหนึ่ง" ได้ ก็คือบุคคลผู้นั้นต้องสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง "ความคิด" และ "ความรู้สึก" ได้ โดยไม่ปะปนกัน และเนื่องจากความรู้ชนิดนี้ เป็นความรู้ที่พ้นไปจากความสามารถของ "ความคิด" จึงไม่เกี่ยวว่าคนคนนั้นจะเป็นใคร ไม่เกี่ยวกับวุฒิการศึกษา ไม่เกี่ยวกับเพศ หรือวัยใดๆ ทั้งสิ้น ระดับที่ 1 จึงเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของบุคคลที่พ้นไปจาก "เพดานความคิด" เหตุที่พุทธศาสนานิกายเซน มี "โกอาน" หรือปริศนาธรรมให้นักบวชได้ไปขบคิด ก็เพื่อมุ่งไปสู่การไปให้พ้นจากเพดานความคิดนี้เอง เพราะความรู้นี้เข้าถึงไม่ได้ด้วยความคิด

โปรดอย่าดูถูกว่าเรื่องการแยกความรู้สึกออกจากความคิดนั้นเป็นเรื่องง่าย นี่ผมมุ่งถึงภาวนามยปัญญาในทางพุทธศาสนาเลยทีเดียว ดังนั้นนี่เป็นเรื่องของความรู้ที่นอกเหนือไปจากรู้ในเรื่องราวความคิด การจะรู้แบบนี้ได้ต้องมีสมมุติฐานบางอย่างที่เกี่ยวกับการทำงานของจิตใจเสียก่อน เช่น ถ้าเราเชื่อว่าจิตทำงานได้ทีละอย่าง ถ้าหากใครบอกว่าเขารู้ตัวว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ ก็น่าจะเป็นคำพูดที่ผิด เพราะในระหว่างคิด จิตก็ทำงานอย่างหนึ่งคือการคิด เราย่อมไม่มีจิตที่ไปรับรู้ว่าเรากำลังคิด แต่เมื่อความคิดในเรื่องนั้นจบลงแล้ว เป็นไปได้ว่าบุคคลนั้นเขามาทราบภายหลังว่า "อ่อ เมื่อสักครู่นี้ฉันคิดอะไรไปบางอย่าง" แน่นอนว่าเราอาจจะถกเถียงกันได้ในสมมุติฐานว่าจิตทำงานอย่างไร เราอาจจะกล่าวอ้างศาสดาเอกของโลกได้ แต่หนทางที่ดีกว่านั้นก็คือลองสังเกตความจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

ระดับที่ 2 มองเห็นความโกรธ แต่ไม่เป็นเจ้าของความโกรธ เมื่อฝึกความรู้สึกบ่อยๆ อย่างต่อเนื่องมาอีกระยะหนึ่ง จะเกิดปรากฎการณ์หนึ่งเกิดขึ้น คือสามารถแยกตัวเองออกจากความโกรธได้ ทำไมผมจึงยกเรื่องความโกรธขึ้นมาเป็นตัวชี้วัด ก็เพราะเหตุว่าความโกรธสามารถมองเห็นได้ง่าย รับรู้ได้ง่ายกว่าอารมณ์ละเอียดอื่นๆ เช่น ความติดข้องต้องการ ความหลง ฯลฯ​ บุคคลที่ฝึกมาถึงระดับนี้จะต้องสามารถบอกได้ว่าเกิดความโกรธ ความหงุดหงิด รำคาญใจเกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ไม่ถูกครอบงำด้วยความโกรธนั้น คือความโกรธจะมีอิทธิพลต่อความคิด พฤติกรรม การตัดสินใจ ของเขาน้อยลงกว่าคนที่ไม่ได้ฝึก แต่โปรดอย่าเข้าใจว่า บุคคลในขั้นนี้จะไม่โกรธเลย เพราะเขาก็ยังมีความโกรธเป็นปกติ แต่อาจจะมีความถี่น้อยลง รวมทั้งความรุนแรงน้อยลงเรื่อยๆ ตามกำลังความรู้สึกตัวที่สะสมมากขึ้น

สำหรับระดับที่ 2 นี้อาจจะมีคนสงสัยว่าใครๆ ก็ย่อมรู้ว่าตัวเองกำลังโกรธ ไม่ใช่เรื่องยากเลยใช่ ไหม แต่ความจริงนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะคนทั่วไปก็โกรธ แต่นักภาวนาที่ฝึกฝนมาดีเท่านั้นที่จะสามารถมีเซฟตีสวิตช์ที่ตัดเข้ามาทำงาน "เมื่อความโกรธนั้นบรรเทาลงหรือจบลงไปแล้วชั่วขณะ" สังเกตไหม ผมไม่ได้พูดว่าคนพวกนี้สามารถจะหยุดความโกรธได้ ไม่มีใครหยุดความโกรธที่กำลังเกิดขึ้นแล้วได้ แต่จะมีเฉพาะผู้ที่มีพละกำลังของความรู้สึกตัวที่เข้มแข็งเท่านั้นที่จะทำให้ความโกรธนั้นอ่อนกำลังลง เพราะไม่ไปเพิ่มเติมสาเหตุของความโกรธ ซึ่งก็คือความคิดประทุษร้าย ซึ่งคนปกติทั่วไปจะไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองกำลังทำอย่างนั้น คือคิดต่อเรื่องราวและโหมไฟให้ความโกรธแรงขึ้น

ระดับที่ 3 เริ่มมองเห็นเจตนาที่นำไปสู่การกระทำของตนเอง เมื่อฝึกความรู้สึกไปอีกขั้นหนึ่ง เขาจะเห็นสภาวะนามธรรมอันหนึ่งซึ่งเรียกว่า "เจตนา" หรือ "เจตจำนง" หมายถึงตัวการที่ทำให้มนุษย์แสดงออกทางกาย วาจา และใจ "เจตนา" ซึ่งเป็นสังขารละเอียด ตามคติทางศาสนาพุทธ ซึ่งละเอียดในที่นี้หมายถึงว่าย่อมรู้ได้ยาก และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ในระดับนี้ถ้าสามารถมองเห็นได้บ้างในบางครั้ง ก็ถือว่าไม่ธรรมดาแล้ว

ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลามีเพื่อนมาชวนเราไปทำอะไรสักอย่างแต่เรารู้สึกไม่ค่อยอยากไป แทนที่เราจะกล่าวปฏิเสธเพื่อนไป เรากลับไปถามเขาว่ามีคนไปกี่คน สถานที่ไปอยู่ไกลแค่ไหน แล้วเราก็ตอบเขาไปว่า "เดี๋ยวขอดูก่อน" หรือไม่ก็ "ถ้าไปได้จะไปนะ" อันนี้เป็นเครื่องหมายว่าเจตนาของเราไม่มั่นคง แต่แทนที่เราจะฝึกฝนเจตนาของเราให้มั่นคงโดยตอบไปว่า "ไม่ว่างนะ ขอโทษด้วย" หรือไม่ก็ "เราไม่ไปนะ ขอบคุณที่ชวน" เรากลับยกข้ออ้างมาเสียเยอะแยะมากมาย อาทิ "ช่วงนี้ไม่ค่อยว่างเลย" หรือ "ญาติไม่ค่อยสบายต้องคอยอยู่ดูแล" แต่เอาเข้าจริงเราก็ไม่ได้มีธุระอะไรมากมาย เพียงแต่เราไม่มี "นิสัย" ที่จะสั่งสมเจตนาที่มั่นคง พลังของเจตนาหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Will Power จึงไม่เกิด

อีกตัวอย่างเช่น การออกกำลังกาย สำหรับคนที่มีเจตนามั่นคงเขาจะไม่ลังเล หรือใช้เวลาลังเลอยู่ไม่นานก็ตัดสินใจไปออกกำลังกาย แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ฝึกฝน ก็จะเต็มไปด้วยข้ออ้างมากมาย เช่น ดินฟ้าอากาศ หรืองานเยอะ ในที่สุดก็ไม่ได้ไป

การเห็นเจตนาทำให้เรากลายเป็นคนที่รู้จักตัวเองมากขึ้น ซื่อสัตย์ต่อความต้องการของตนเองมากขึ้น เป็นการบ่มเพาะพลังอำนาจภายใน ซึ่งสำคัญต่อสุขภาวะของจิตใจของทุกคน

แล้วมีระดับขั้นต่อไปอีกไหม ที่เกินกว่าขั้นที่ 3 แน่นอนว่าย่อมมีอีก แต่คงเป็นเรื่องที่เกินความรู้ความสามารถของผมไปแล้วล่ะ แต่อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่า บางคนคิดว่าลำดับขั้นเหล่านี้ดูธรรมดา ไม่เห็นมีอะไรพิเศษ จึงพยายามไปเสาะหาแนวทางที่ดูมหัศจรรย์โดยข้ามเรื่องพื้นฐานไปหมด ส่วนผมไม่ปฏิเสธในเรื่องความพิสดารของจิต ซึ่งทำให้ผมเชื่อว่าบางทีคนเราก็สามารถโง่ได้อย่างพิสดารเหมือนกัน

Back to Top