สัมพันธภาพ: เรื่องสั้นทางความคิด

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 เมษายน 2548

หลังจากออกไปเดินเล่นสูดอากาศบริสุทธิ์ยามเช้าในสวนและให้อาหารปลา ฉันกลับเข้าไปนั่งในห้องอ่านหนังสือ หยิบหนังสือที่ตั้งใจจะอ่านที่วางไว้บนโต๊ะสามสี่เล่ม พลิกดูสารบัญของแต่ละเล่ม อ่านไปคิดไป รู้สึกว่าแต่ละเล่มน่าสนใจ และที่น่าทึ่งก็คือเนื้อหาสาระของแต่ละเล่ม ดูจะเชื่อมโยงกันได้เป็นอย่างดี ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเริ่มจากเล่มไหนก่อนเลยวางไว้ตามเดิม นั่งสงบอย่างไม่ตั้งใจว่าจะคิดอะไร มองออกไปทางหน้าต่าง มองทะลุกังหันน้ำไทยประดิษฐ์ เห็นใบไม้ปลิวไหวไปตามกระแสลม การเคลื่อนไหวและสีเขียวของใบไม้ ทำให้ฉันรู้สึกผ่อนคลาย สบายตา สบายใจ นกหลากชนิดบินฉวัดเฉวียนส่งเสียงร้องผ่านไปมา เสียงเรือหางยาวที่วิ่งผ่านลำคลองข้างๆ บ้าน ดังเป็นระยะๆ เปรียบเสมือนท่อนแยกของบทเพลง ที่ดูเหมือนจะแปลกแยกไปจากเสียงร้องและเสียงกระพือปีกของนก แปลกแยกไปจากเสียงของกิ่งไม้ใบหญ้าที่ถูกสายลมพัดก่อให้เกิดเสียงเพลงแห่งธรรมชาติ

แต่มันก็เข้ากันได้ และดำเนินต่อไป เพราะทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ต้นไม้ ใบไม้ สายลม เสียงนกร้อง เสียงเครื่องยนต์เรือหางยาว ความคิด ความรู้สึกของฉัน ล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน

บรรยากาศยามเช้าเช่นวันนี้ ทำให้ฉันนั่งมองสรรพสิ่ง ไม่มีจุดหมายปลายทาง ปล่อยว่าง วางสงบ…แล้วความคิด ความเข้าใจบางอย่างก็ผุดบังเกิด

เพราะไม่คิดจึงเกิดความคิด เพราะว่างจึงมี

ทุกครั้งที่ฉันทำตัวเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนเดียวกับธรรมชาติ ฉันรู้จักธรรมชาติและรู้จักตัวเองมากขึ้นทุกที

ได้ยินเสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวดังแผ่วๆ ลอยมาแต่ไกล เสียงค่อยๆ ดังขึ้นๆ เมื่อเข้าใกล้ และค่อยๆ แผ่วเบาหายไป ตามธรรมชาติของเสียงที่สัมพันธ์ผกผันกับระยะทาง กระทบกับความรู้สึกและความนึกคิดของฉัน เสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกและความนึกคิดของฉัน...อีกแล้ว

“Daddy จะเอาขนมปังกับฮอตดอกไหมคะ?” เสียงภรรยาถามมาจากห้องครัว สำเนียงใส ส่อแสดงความกระตือรือร้นที่อยากจะทำอาหารเช้าให้สามี

ฉันหยุดคิดเกี่ยวกับเสียงเครื่องยนต์เรือหางยาว แล้วตอบไปว่า “เอาแต่ขนมปังก็พอ”

สักครู่ภรรยาก็เอาขนมปังปิ้งมาให้พร้อมกับขวดถั่วบดเนย (Peanut Butter) และมะละกออีกหนึ่งจาน

“Thank you” ฉันพูดเบาๆ หยิบขนมปังปิ้งมาทาถั่วบดเนย กินไป มองออกไปทางหน้าต่าง ปล่อยอารมณ์ไปเรื่อยๆ

ความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งเริ่มกลับเข้ามาอีก ขนมปัง มะละกอ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตฉัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์ จึงมีพันธะผูกพันกันไปไม่สิ้นสุด ทำให้ฉันนึกถึงเรื่อง Transcend (ก้าวพ้น) และ Include (ผนวกรวม) ที่ Ken Wilber เขียนไว้ในหนังสือ A Theory of Everything แล้วเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่พระพุทธองค์ได้กล่าวไว้ “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี” ที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์เชื่องโยงของสรรพสิ่ง ไม่มีสิ่งใดที่แยกตัวออกเป็นอิสระ ทุกสิ่งประกอบไปด้วย (และจึงสัมพันธ์กับ) สิ่งอื่นเสมอ

นี่ฉันกำลัง “ตรัสรู้” หรือแค่ “ตรัสว่ารู้” ชั่วครู่หนึ่งเท่านั้น ฉันคิดแล้วยิ้มให้กับตัวเอง ส่งผ่านรอยยิ้มไปให้กังหันน้ำไทยประดิษฐ์ ต้นไม้และนกในสวน…

สายลมอ่อนๆ พัดมา ใบมะพร้าว กิ่งไม้ ใบไม้หลากชนิดในสวนโยกไหว เสมือนตอบรับรอยยิ้มของฉัน ฉันปล่อยความคิดของฉันไปเรื่อยๆ สบายๆ อย่างมีความสุข

ภรรยาโผล่มาที่หน้าต่าง พร้อมด้วยเสียงที่สำเนียงขุ่นมัวในอารมณ์ นิดๆ “ทำไมไม่ออกไปทานในสวน หมกตัวอยู่ในห้องทำไมคะ” ความคิดของฉันเกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งสะดุด

“น่าจะเอาอาหารออกมาทานข้างนอกกับภรรยา ทานไปคุยไปในสวน ให้เวลากับภรรยาบ้างซิคะ” คำพูดและเสียงที่บ่งบอกความต้องการของภรรยากระทบความรู้สึกของฉันทันที ฉันลุกจากเก้าอี้ เดินไปที่หน้าต่าง

“ทำไมต้องคิดให้เกิดทุกข์กับตัวเองแบบนั้น” ฉันพูดด้วยเสียงเรียบๆ

“สาธุ สาธุ” ภรรยาพูดเสียงประชดแล้วเดินจากไป

ฉันอึ้ง ยืนมองภรรยาเดินกลับเข้าไปในสวน ใจหนึ่งคิดอยากจะเดินตามออกไปในสวน เพื่อขอโทษที่ทำให้เขารู้สึกหงุดหงิดตั้งแต่เช้า แต่อีกใจหนึ่งก็กำลังเพลิดเพลินกับความคิดที่ค่อนข้างจะปลอดโปร่ง กำลังเห็นแสงสว่างอยู่รำไร กำลังเข้าใจสิ่งที่เคยเรียน เคยอ่าน เคยคิด เคยได้ยินได้ฟังมา

ตอนแรกก็รู้สึกโกรธนิดๆ แถมคิดโทษภรรยาที่ทำให้ความคิดของเราสะดุด พอมีสติ ก็หายโกรธ และนึกขอบคุณภรรยาที่ทำให้เรากระจ่างชัดในความคิดเพิ่มขึ้น คำพูดและเสียงของภรรยาเปรียบเสมือนท่อนแยกของบทเพลง ที่ท่วงทำนองแตกต่างไปจากเดิม แต่ก็เป็นเพลงเดียวกัน ที่สำคัญคือท่อนแยกทำให้เพลงมีสีสัน น่าฟังเพิ่มขึ้น

ความแตกต่างและความหลากหลายก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ความหมายใหม่ ถ้าภรรยาเหมือนฉันหมดทุกอย่าง ภรรยาก็คงไม่มีความหมาย แต่เพราะภรรยาแตกต่างไปจากฉัน ฉันจึงมีความหมาย ภรรยาจึงมีความหมาย ครอบครัวฉันจึงมีความหมาย... ฉันมีความหมายจากความสัมพันธ์ระหว่างฉันและสรรพสิ่ง

การได้พบและแต่งงานกับภรรยาเปรียบเสมือนท่อนแยกของบทเพลง ภรรยาคือท่อนแยกของบทเพลงของชีวิต ที่ทำให้ท่วงทำนองชีวิตของฉันเปลี่ยนแปลง มีความหมายใหม่ ลูกคืออีกท่อนแยกของบทเพลงแห่งชีวิต ที่ผุดบังเกิดเป็นสิ่งใหม่ (Transcend) จากการผนวกรวม (Include) ระหว่างฉันและภรรยา ลูกคือองค์รวม (Holon) ที่มีฉันและภรรยาเป็นส่วนหนึ่งของเขา และลูกก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของฉัน

แต่ถึงที่สุดแล้ว ฉันคงไม่สามารถพูดได้ว่าชีวิตเป็นของฉัน เพราะฉันเป็นผลรวมของหลายสิ่ง และเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งอื่น

การคิดว่าเราเป็นผลรวมและเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งอื่น ช่วยทำให้เราเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่ง ความเป็นตัวตนและความเห็นแก่ตัวก็จะค่อยๆ หมดไป ความสัมพันธ์และพันธะผูกพันระหว่างกันก็จะเพิ่มขึ้น

เสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวดังมาอีกแล้ว สายลมพัดเข้ามาทางหน้าต่าง เสียงนกร้อง กิ่งไม้โยกไหว กังหันน้ำนอกหน้าต่างและสีเขียวของใบไม้ทำให้ฉันเกิดความรู้สึกที่ดี สบายใจ กำลังคิดจะลุกขึ้นไปหาภรรยาเพื่อขอโทษ ภรรยาก็เดินเข้ามาในห้อง ก้มลงหอมแก้มฉันพร้อมกับเสียงพูดที่นุ่มนวลน่าฟัง
“ขอโทษนะคะ Daddy”

ฉันยิ้มและส่งสายตาเชื่อมสัมพันธภาพทันที กำลังจะกล่าวขอโทษภรรยาด้วยเช่นกัน ภรรยาก็พูดต่อ

“เดี๋ยวจะไปที่ออฟฟิศหน่อย ถ้าลูกตื่นหาอะไรให้ลูกกินด้วยนะคะ” ฉันพยักหน้ารับ และนึกพูดอยู่ในใจ

“สัมพันธภาพ”

ฉันยิ้มให้กับตัวเองขณะที่อ่านออกเสียงโดยตั้งใจแยกความหมายของแต่ละช่วงในใจอย่างสนุกว่า “สัม-พันธะ-ภาพ”

Back to Top