มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 เมษายน 2548
หนังสือ “คลื่นความคิด จากจิตวิวัฒน์” เพิ่งจะมีการเปิดตัวไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีพระคุณเจ้าพระไพศาล วิสาโล ศ.นพ. ประสาน ต่างใจ ศ. สุมน อมรวิวัฒน์ ผศ.ดร. จุมพล พูลภัทรชีวิน และ ดร. สรยุทธ รัตนพจนารถ เป็นวิทยากร ทั้ง ๕ ท่านได้บอกเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ รวมทั้งแนะนำข้อเขียนต่าง ๆ ที่อยู่ในหนังสือให้ฟังอย่างคร่าว ๆ ข้อเขียนบางชิ้นเกิดขึ้นทันทีหลังจากเกิดเหตุการณ์ ซึ่งออกมาในรูปของคำกลอนบ้าง บทความบ้าง รวมทั้งมีถ้อยคำร้อยเรียงจากสมาชิกและบทบันทึกการประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ ของต้นเดือนมกราคมแนบอยู่ในตอนท้ายของเล่ม
ที่น่าติดตามคือ แม้ท่านผู้เขียนแต่ละท่านจะสะท้อนแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป โดยผ่านความรู้และประสบการณ์ของท่านที่สั่งสมมา อย่างไรก็ตามจะมีถ้อยคำบางคำที่คล้ายคลึงกัน เช่น เราได้เรียนรู้อะไรจากธรรมชาติ และหลายท่านคิดตรงกันคือ โลกและธรรมชาติกำลังเจ็บป่วย และกำลังจะทวีความทุกข์ความรุนแรงมากขึ้น ดังเช่น ที่คุณหมอวิธานเขียนไว้ว่า “ถ้าเปรียบแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิดั่ง อาการปวดท้องและท้องเสียอย่างรุนแรง ในขณะที่ไต้ฝุ่นทอร์นาโดเหมือนอาการไข้ อาจจะหมายถึงสัญญาณเตือนว่าโลกกำลังป่วย เธอกำลังมีทุกข์และทรมานไม่น้อยไปกว่าพวกเราที่กำลังโศกเศร้าและมีความทุกข์กันอยู่ในตอนนี้” รวมทั้งคุณหมอประสาน ที่เขียนในหัวข้อ “ถึงเวลาที่เราสะท้อนความคิดได้แล้ว” ว่า “บางทีต้นเหตุแท้จริงอาจอยู่ที่วิธีคิดและการดำรงชีวิตของเราก็ได้ ดังนั้นในที่นี้และวันนี้มันคงถึงเวลาที่เราต้องทบทวนตัวเองมากกว่า ทบทวนเพื่อให้รู้ว่าวิถีการดำรงอยู่ของเรา กับความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันกับชีวิตอื่น และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ความสุขชั่วคราวของเราแลกมาด้วยความทุกข์ของสิ่งแวดล้อมของธรรมชาตินั้น คงไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำเขาได้ฝ่ายเดียว”
กว่าหนังสือเล่มนี้จะเรียบเรียงเสร็จ ใช้เวลาร่วม ๓ เดือน ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามกระแสของสังคมแต่อย่างใด เพียงแต่เหตุการณ์นี้ได้ย้ำเตือนสิ่งที่กลุ่มจิตวิวัฒน์กำลังประมวล สรุปและสังเคราะห์ร่วมกัน ด้วยแนวความคิดที่จะรวบรวมความรู้ ที่ทำให้มนุษย์สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้ เป็นความรู้ในด้านสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เพราะเมื่อจิตสุขสงบ คนก็จะมองอะไรได้ชัดเจนขึ้น สามารถเปลี่ยนแนวคิดและวิถีทางในการดำรงชีวิต มีกระบวนทัศน์ใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมและสถานการณ์ในปัจจุบัน
แต่เนื่องจากวิถีชีวิตทุกวันนี้เร่งรีบรีบร้อน ดังนั้นการเข้าถึงความสงบ ที่จะนำไปสู่คำตอบของปัญหาทั้งหลาย จึงเป็นเรื่องยากยิ่ง โดยเฉพาะปัญหาของคนหมู่มาก จำเป็นต้องใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) และการใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งเช่นเดียวกัน
ผู้เขียนเชื่อว่าคำตอบมีอยู่แล้วในทุกหนทุกแห่ง และมีอยู่ในธรรมชาติรอบ ๆ ตัวเรา หากแต่เราไม่นิ่งพอที่จะเห็นคำตอบเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงต้องมีหนทางอันแยบยล ผ่านความรู้อันหลากหลาย ที่จะช่วยให้เราเข้าถึงความเป็นจริงของสรรพสิ่ง สามารถรักเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติได้มากขึ้น
ความรู้หลายเรื่องมีความงามอยู่ไม่ใช่น้อย ทำให้เข้าถึงและเข้าใจธรรมชาติได้ง่ายขึ้น กระจ่างชัดมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ความรู้ในเรื่องวาบิ ซาบิ การจัดดอกไม้ด้วยการวางเพียงครั้งเดียวให้สวยงาม จัดดอกไม้แล้วดอกไม้ก็จัดเรา เป็นการฝึกฝนที่จะมองธรรมชาติอย่างที่เป็น หรือ ความรู้เรื่อง “สาส์นจากวารี (Messages from Water)” ที่มีการศึกษาผลึกอันวิจิตรของน้ำ ในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ ๆ ตัวเรานี่เอง หรือความรู้จากมหาวิทยาลัยนาโรปะ ที่มีการศึกษาเรื่องนิเวศน์วิทยาแนวลึก ทั้งวิทยาศาสตร์ จิตวิญญาณและการรับใช้สังคมแนวทางต่าง ๆ หรือความรู้จากหมู่บ้านพลัม ที่เสนอวิถีชีวิตอันเรียบง่าย อันจะทำให้เกิดความเบิกบานในสังคม โดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยการใช้สติในทุก ๆ ขณะ เป็นต้น
ความรู้ต่าง ๆ จากทั่วโลกได้ถูกรวบรวมขึ้น และประมวลผ่านการประชุมจิตวิวัฒน์ ทุกวันจันทร์ต้นเดือน ณ ห้องประชุมมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มได้ช่วยกันวิเคราะห์ สังเคราะห์มาระยะหนึ่งแล้ว และหลังจากเกิดเหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ สมาชิกได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่เรียนรู้ร่วมกันกว่า ๑ ปี มาเรียบเรียงและนำเสนอในแง่มุมต่าง ๆ
ดังนั้นหนังสือ “คลื่นความคิด จากจิตวิวัฒน์” จึงเปรียบเสมือนคู่มือที่ช่วยนำไปสู่สุขภาวะทางจิตวิญญาณได้โดยง่าย เพราะมีตัวอย่างให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เข้าถึงและเข้าใจว่าความรู้ของมนุษย์ยังไม่พอ จำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนต่อไป เพื่อจะพบคำตอบ ที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่รอดได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีหนังสือที่เกี่ยวข้องอยู่จำนวนมากทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรายชื่อหนังสือโดยตรงมายังโครงการจิตวิวัฒน์ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันจะเป็นประโยชน์กับสาธารณชนในวงกว้างต่อไป
แสดงความคิดเห็น