เจียระไนเพชรแห่งถ้อยคำ มหาสมุทรแห่งภาษา
การก่อประกอบโลกที่กำหนดความเป็นไป

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 สิงหาคม 2548

แบบจำลองความเป็นจริงภายในไม่ใช่เพียงเป็นนามธรรมที่ดำรงอยู่เพื่อเป็นเครื่องไม้เครื่องมือ แต่เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเป็นทางผ่านเพื่อเราจะให้ความหมาย ให้ความเป็นไปแก่โลก ในทางสุดๆ ของนิกายหนึ่งทางมหายานที่เรียกว่า “จิตมาตรา” คือโลกนี้ทั้งหมดดำรงอยู่ด้วยจิตเท่านั้น ด้วยเหตุที่มีจิต โลกนี้จึงดำรงอยู่ และจิตเป็นตัวกำหนดโลกตามที่เป็นไป จิตในที่นี้เพื่อย่อยแยะออกมาให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ให้เป็นที่เข้าใจของคนสมัยใหม่ ในภาษาของคนสมัยใหม่ เราก็อาจจะใช้คำว่า “แบบจำลองความเป็นจริงภายใน” หรือบางทีอาจจะเรียกสั้นๆ ว่า “โลกภายใน” โลกภายในนั้นกำหนดโลกภายนอก แบบจำลองความเป็นจริงภายในกำหนดความเป็นไปของโลกรอบๆ ตัวเรา เมื่อไม่มีแบบจำลองความเป็นจริงภายใน เมื่อไม่มีโลกภายใน โลกภายนอกก็ไม่ได้ดำรงอยู่ นี่เป็นที่มาของปรัชญาสำนักนิกายจิตมาตรา เป็นต้น

ทีนี้โลกภายใน แบบจำลองความเป็นจริงภายในนั้น ตามหลักการของวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ดำรงอยู่ในทางรูปธรรม ดำรงอยู่ในโครงสร้าง กระบวนการและแบบแผนของสิ่งมีชีวิต โครงสร้างคือโครงสร้างโมเลกุล กระบวนการคือกระบวนการชีวเคมีอันสลับซับซ้อน แบบแผนคือแบบแผนแห่งกระบวนการเหล่านั้น เราจะเห็นว่า ฟริตจ๊อฟ คราปา เคยพูดว่าทัศนะหนึ่งของการเข้าใจชีวิตคือมองว่า กายและจิตเป็นหนึ่งเดียว แล้วแต่ว่าเราจะมองในด้านไหน ถ้าเรามองทางด้านกายเราก็เห็นกาย ถ้าเรามองทางด้านจิตเราก็เห็นจิต จิตไม่ได้ดำรงอยู่นอกเหนือไปจากกาย หากเป็นส่วนหนึ่งของกายนั่นเอง กายคือการเอ็มบอดิเมนท์ (Embodiment) นั่นคือจิตได้ก่อเป็นรูปร่างทางกายขึ้นมา หรือก็คือการให้รูปธรรมแก่จิต

อยากจะพูดว่า การเปลี่ยนแบบจำลองความเป็นจริงภายในหรือโลกภายใน มิใช่เพียงเป็นการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับกายของเรา หรือในระดับกายของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น หากยังเปลี่ยนแปลงโลกภายนอก วิถีของโลกภายนอก ซึ่งก็คือโลกภายนอกของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ด้วย และก็ย้อนกลับมาเปลี่ยนวิถีความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ด้วย นี่คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับระบบนิเวศ ที่ย้อนกลับไปกลับมา เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างแยกไม่ออก

ในทฤษฎีซานติอาโกนั้น สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตได้ก่อกำเนิดโลกขึ้นมา มนุษย์ได้ก่อกำเนิดโลกของมนุษย์ หมาได้ก่อกำเนิดโลกของหมา แมวได้ก่อกำเนิดโลกของแมว ผีเสื้อได้ก่อกำเนิดโลกของผีเสื้อ ผึ้งได้ก่อกำเนิดโลกของผึ้ง บริงกิ้ง โฟร์ธ อะ เวิร์ลด์ (bringing forth a world) คือก่อกำเนิดโลกใบหนึ่งขึ้นมา แต่ไม่ใช่โลกใบนั้น ในทฤษฎีซานติอาโก ไม่มีโลกใบนั้น หรือ อ็อบเจ็คตีฟ เวิร์ลด์ (objective world) หากมีเพียงโลกแต่ละใบที่แตกต่างกัน หรือ ซับเจ็คตีฟ เวิร์ลด์ (subjective world) ซึ่งมนุษย์ที่ดำรงอยู่ในสังคมมักจะเกิดอุปทาน มักจะเกิดภาพลวงตา และไปยึดขึ้นมาว่ามีโลกใบนั้นอยู่

แต่โลกแต่ละใบไม่ใช่โลกของปัจเจก การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในสายพันธุ์ต่างหากได้ก่อประกอบโลกขึ้นมา การก่อประกอบโลกมันเป็นสมุหะ หรือ คอลเล็คตีฟ (collective) มากกว่าที่จะเป็นเพียงปัจเจก จริงอยู่โลกของปัจเจกก็มีด้วย โดยเฉพาะในระดับของมนุษย์ แต่ขอให้ดูให้ดี ความเป็นสมุหะมันครอบงำเราไว้มากกว่าที่เราคิด เราจึงมักมีความคิดเป็นกลุ่มก้อนทางสังคม ตลอดจนเป็นกลุ่มก้อนของยุคสมัยด้วย

ทีนี้อยากจะมามองอีกด้านหนึ่งของการก่อประกอบโลกและโลกมันมีกี่ใบกันแน่ ใบนั้น ใบนี้ หรือใบหนึ่งๆ ที่อยู่แตกต่างกันออกไป อยากจะพูดถึง ทฤษฎีระบบ (system theory) หรือ การคิดอย่างกระบวนระบบ (system thinking) อยากจะพูดถึงวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ อยากจะพูดถึงธรรมชาติ หรือการเข้าถึงกฎธรรมชาติที่ท่านพุทธทาสพูดถึง

บางทีในแง่มุมนี้ ในแง่มุมของทฤษฎีระบบ ในแง่มุมของการมองกฎธรรมชาติของท่านพุทธทาสหรือของพุทธศาสนา อาจจะเป็นไปได้ว่ามีโลกใบนั้นดำรงอยู่ และเมื่อเราเข้าไปใกล้โลกใบนั้นเท่าไหร่ เราก็ใกล้สัจจะความเป็นจริงเท่านั้น อันนี้ที่กล่าวนี่จะดูเหมือนขัดแย้งกับทฤษฎีซานติอาโกหรือไม่ ก็ทิ้งไว้ให้ปราชญ์ผู้รู้และผู้คิดค้นทั้งหลายสดับคิดค้นกันต่อไป แต่อยากจะพูดต่อไปว่า เมื่อเราเกิดการเฝ้าดูอย่างเนิ่นนาน ไม่ว่าในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก็ดี หรือจากการฝึกสมาธิฝึกจิตก็ดี เราต่างก็ได้นำพาตัวเองเข้าไปใกล้สิ่งหนึ่ง ที่เรียกว่าการเข้าไปใกล้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ หรือ ไท่ ชี ฉวน เมื่อเราปรับตัวเอง ปรับโลกภายใน ปรับแบบจำลองความเป็นจริงภายในของเรา เข้าไปใกล้ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ เข้าไปใกล้ทฤษฎีระบบยิ่งขึ้นทุกที โลกของเราแม้จะเป็นเพียงใบหนึ่ง ไม่ใช่โลกใบนั้น แต่เราก็อาจจะได้เข้าไปใกล้โลกใบนั้นยิ่งขึ้นทุกที

อยากพูดถึงมิติหนึ่งของการสนทนากับทฤษฎีซานติอาโก ฟรานซิสโก เวเรลา และ ฮัมเบอโต มาตูรานา ได้พูดถึงภาษาไว้ว่า มันเชื่อมร้อยอยู่กับชุดของพฤติกรรมหรือกลุ่มก้อนของการกระทำอย่างใกล้ชิดหรืออย่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน พูดในอีกแง่หนึ่ง การมีคำพูดใหม่หรือภาษาใหม่ ก็คือการมีชุดของพฤติกรรมใหม่ แต่เดิมที่เราแยกการพูดกับการทำออกจากกันตามวิถีแห่งวิทยาศาสตร์เก่า เราอาจจะพูดว่า “ดีแต่พูด” หรือ “พูดแล้วไม่ทำ” แต่ที่จริงคำพูดและภาษามันเชื่อมร้อยเข้ากับการกระทำมากกว่าที่เราจะคาดคิดได้ เพราะเรามีชีวิตอยู่ในการพูดอย่างเป็นอัตโนมัติ การพูดก็คือก่อประกอบโลกของมนุษย์ เราอยู่ในทะเลการพูดคุยจนเรามองไม่เห็นน้ำทะเล แต่แล้วน้ำทะเลก็กลับมากำหนดความเป็นไปของชีวิตของเราทุกอย่างทุกประการ

ถ้ามีคำถามเกิดขึ้นมาว่า “เรามาเจียระไนเพชรกันไหม...” กับการที่คำพูดแต่ละคำจะผุดพรายจากหัวใจ และเปล่งเสียงออกมาทางปากของเรา อันนี้หมายความว่าอย่างไร? มันมีความหมายอย่างไรกับเรา?

การพูดคุยของเรามักเป็นไปอย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล ชีวิตของเราก็ดำเนินไปอย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล เวลาเราขับรถกลับบ้าน บางวันเราอยากจะไปซื้อของ เราต้องเลี้ยวซ้าย แต่พอถึงแยก เรามักจะเลี้ยวไปอีกทาง คือเลี้ยวกลับบ้าน เพราะชีวิตโดยปกติของเราจะเป็นไปอย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล เรามักไม่รู้ว่า คำพูดของเราผูกพันอยู่กับพฤติกรรมของเราทั้งหมด เมื่อเราหลับใหล ทั้งคำพูดและพฤติกรรมที่ผูกพันอยู่ก็จะเป็นอัตโนมัติที่หลับใหลด้วย ทั้งหมดนี้วนเวียนอยู่กับที่ เมื่อถึงทางเลี้ยวก็จะเลี้ยวตามเดิม เมื่อถึงบทนี้ก็จะพูดตามเดิม เป็นการย่ำเท้าอยู่กับที่ เป็นเกลียวพลวัตที่วนเวียนอยู่กับที่ แต่ไม่ได้เป็นบันไดเวียนที่เวียนขึ้น ไม่ได้เป็นชีวิตที่เวียนขึ้น เรียนรู้ พัฒนาและวิวัฒนา

การเจียระไนเป็นกิจกรรมแห่งการตื่นรู้ งานที่ทำก็ยังเป็นอัตโนมัติ แต่เป็นอัตโนมัติที่ตื่นรู้ งานที่ทำซ้ำๆ แต่ไม่ซ้ำซาก ส่วนเพชรคือสิ่งมีค่ายิ่ง เราหยิบจับด้วยความตื่นตัวตื่นรู้ การทำงานกับเพชรย่อมให้พลาดง่ายๆ ไม่ได้ คำพูดคำจาจึงระมัดระวัง การระมัดระวังได้เพิ่มความตื่นรู้ขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้เกลียวพลวัตก็หมุนเวียนขึ้น เป็นบันไดเวียนขึ้น มีการเรียนรู้ พัฒนาและวิวัฒนา เมื่อคนพูดคุยกันอย่างนี้ เราก็ได้สร้างสรรค์น้ำทะเลแห่งภาษาที่ผูกพันอยู่กับพฤติกรรมและการดำรงชีวิตทั้งมวล เมื่อระบบนิเวศแห่งภาษาหรือทะเลแห่งโลกภายในของเราดีขึ้นเรื่อยๆ พฤติกรรม ชีวิต แม้ความเป็นไปทางสังคมก็จะดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างถ้อยคำ หรือภาษา กับกระทำ ถ้อยคำกับการกระทำจึงเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

ตรงกันข้ามถ้าการพูดคุยเป็นไปอย่างอัตโนมัติที่หลับใหล เราจะคายกบหรืออึ่งอ่างออกมาเป็นตัวๆ การกระทำ พฤติกรรม ชีวิต และสังคมก็จะเป็นน้ำทะเลเน่าๆ ระบบนิเวศที่เน่าๆ แล้วเราจะอยู่ในบ้านเรือนเช่นนี้ได้อย่างไร?

คำพูดที่เปล่งออกมาอย่างเป็นการเจียระไนเพชร จึงเป็นการก่อประกอบโลกใหม่ที่งดงามอยู่ตลอดเวลา อย่างตื่นรู้ ที่มีการเรียนรู้ พัฒนาและวิวัฒนา เมื่อสองคนสามคน ตลอดจนสังคมพูดกันอย่างนี้ เราก็สร้างสังคมแห่งเกลียวพลวัตขึ้น คือเป็นบันไดเวียนให้ได้ดียิ่งขึ้นตลอดเวลา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสังคมวิวัฒน์อันเป็นแนวทางการสร้างสรรค์ของกลุ่มจิตวิวัฒน์นั่นเอง

Back to Top