ดุลยภาพของการเรียนรู้

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2548

เมื่อเดือนกรกฎาคม สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้สนทนากันท่ามกลางสวนสวยและอากาศฤดูฝนที่ฉ่ำชื่น ผู้จุดประเด็นการสนทนาในวันนั้นคือ ครูวิศิษฐ์ วังวิญญู สาระที่นำเสนอคือการเขียนโลกใบใหม่ของการเรียนรู้

วิศิษฐ์ พูดและใช้ภาษาเขียนที่อลังการมาก เกือบทุกข้อความ เขาใช้คำธรรมดา ๆ แต่มีความหมายลึกซึ้ง สมาชิกกลุ่มต้องตั้งใจแน่วแน่ ฟัง อ่าน อย่างพินิจเจาะลึก กลั่นกรองเพื่อเข้าถึงสาระที่เขาสื่อออกมา ผู้ที่สนใจอาจสืบค้นจากแหล่งข้อมูลของกิจกรรมจิตวิวัฒน์ที่ให้ไว้ท้ายบทความนี้

ประเด็นที่ขอหยิบยกมาพิจารณาซ้ำ คือสาระเชิงปรัชญาที่เป็นฐานของการเรียนรู้ วิศิษฐ์ วังวิญญู เน้นว่า การเรียนรู้ที่แท้นั้นเกิดจากสภาวะของจิตที่โปร่งสบาย ผ่อนคลาย แล้วคิดวิเคราะห์เข้าภายในตน ขณะเดียวกันก็ได้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและเชื่อมโยงกับผู้อื่น การยึดติดกับเนื้อหาสาระที่ตายตัวนั้น แม้จะรู้มากก็มีประโยชน์น้อยกว่าการรู้สาระที่เปลี่ยนแปลงเชื่อมโยงกับชีวิตเรา

ความสำคัญของการเรียนรู้อยู่ที่จุดหมายและกระบวนการ ประสบการณ์จากการเรียนรู้จะทับซ้อนสะสม มีทั้งความรู้ที่ข้ามพ้นไปสู่สิ่งใหม่ หลอมรวมกับประสบการณ์เดิมเป็นการ “ก้าวพ้นแต่ปนอยู่” (transcend and include) นั่นคือ กระบวนการเรียนรู้นั้นมีโครงสร้างแบบเกลียวพลวัต (spiral dynamics) มีธาตุรู้ที่สามารถเชื่อมโยงจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก จนเกิดปัญญาและความรู้ใหม่

ถ้าการฟังและการตกผลึกทางความคิดของผู้เขียนมีความถูกต้องตามที่ วิศิษฐ์ วังวิญญู นำเสนอ การเรียนรู้ดังกล่าวก็เป็นการเชื่อมโยงโลกภายนอกตัวเรากับโลกภายในเข้าด้วยกัน โดยเน้นการเพ่งลึกลงสู่จิตและยกระดับของจิตให้เกิดความตื่นรู้และอิสรภาพทางปัญญา

กระบวนการเรียนรู้ที่ฝึกเชื่อมโยงจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึกเช่นนี้ นำไปสู่สุขภาวะทางจิตวิญญาณอย่างไม่มีข้อสงสัย อีกทั้งยังโยงใยไปถึงสุขภาวะองค์รวมของชีวิต แม้กระนั้นแนวคิดนี้ก็เหมือนเรือน้อยลอยกลางกระแสธารการศึกษาที่ไหลเชี่ยวและมีแก่งหินระเกะระกะอยู่ตลอดทาง

ปัจจุบัน การเรียนการสอนยังคงเน้นวิธีกระตุ้นให้เร่งรีบ แข่งขันอย่างเคร่งเครียด บันไดแห่งความสำเร็จทางการศึกษายังสูงชัน มองเห็นนักเรียนพยายามปีนป่ายอย่างสุดแรง

แม้จะมีการปฏิรูปการศึกษามานานแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและกิจกรรมการเรียนรู้กันขนานใหญ่ที่ปรากฏผลอยู่บ้าง แต่ที่ยังเปลี่ยนไม่ได้ คือ การเน้นเนื้อหาทั้งที่เป็น text และ content ซึ่งผู้เรียนต้องยึดถืออย่างแน่วแน่ กอบโกย เกรงกลัว และจะละเมิด “บท” ที่กำหนดไว้มิได้

ความรู้ได้ถูกแบ่งแยกไว้เป็นอาณาจักรของศาสตร์แต่ละสาขา พรมแดนที่มองไม่เห็น ได้ตีกรอบไว้ว่าเป็นส่วนของวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ฯลฯ เป็นขอบเขตที่โอบล้อมกักขังความคิดและชีวิตของแต่ละคนไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ในทางขวางนั้นเล่า การเรียนรู้ยังตัดแบ่งเป็นวัยและช่วงชั้น ตำราวิชาครูบางเล่มยังบอกว่า เด็กไม่สามารถรู้และคิดได้อย่างผู้ใหญ่ เนื้อหาสาระที่เรียนจึงต้องลำดับความยาก-ง่าย จำนวนน้อย-มาก เรียนก่อน-หลัง จากหลักการเช่นนี้ เด็กเล็กจึงยังไม่ควรเรียนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมายาวนาน (เพราะเด็กยังย้อนอดีตไม่เป็น?) ทั้งๆ ที่นักเรียนอนุบาลสามารถอ่านสมุดภาพโลกดึกดำบรรพ์และรู้จักไดโนเสาร์พันธุ์ต่าง ๆ ดีกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ

กระบวนการเรียนรู้ที่แข็งขึงตึงตัวจึงเกิดการเรียนรู้ที่ผิวเผิน ความรู้จากภายนอกก็รู้ไม่แจ้งชัด จึงก้าวไม่ถึงความรู้ฝังลึกที่ผู้เรียนสามารถคิด พินิจ กลั่นกรอง สะสม แล้วนำมาใช้ประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมได้จริง

มองอีกแง่มุมหนึ่ง การเรียนรู้ที่รวบรวมความรู้ภายนอกตัวเราและนอกสังคมของเรา เป็นการหลงทางเช่นนั้นหรือ ผู้เขียนเชื่อว่า เนื้อหาความรู้ หลักและวิธีการของศาสตร์ต่าง ๆ ยังมีความจำเป็นที่สร้างฐานการพัฒนาความคิดและความสามารถของบุคคล ตำราเนื้อหาสาระที่ วิศิษฐ์ วังวิญญู ใช้คำแทนว่า “บท” นั้นเป็นต้นทุนที่ต้องสืบค้นและเพิ่มค่าด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ จนรู้แจ้งชัดเจน ดังที่วิศิษฐ์ ใช้ประเมินว่า “ตีบทแตก”

การแสวงหาความรู้ยังแยกเป็น ๒ กระบวนการ คือ เรียนเพื่อความรู้รอบ (general knowledge) กับการเรียนมุ่งรู้ดิ่งเดี่ยว (technical knowledge)

ความรู้รอบเกิดจากการเชื่อมโยงและหลอมรวมสาระของศาสตร์ต่าง ๆ อย่างกลมกลืนได้สัดส่วนสมดุลกัน นำไปใช้ประโยชน์ได้

ความรู้ดิ่งเดี่ยวมุ่งไปสู่การฝึกหัดฝึกฝนจนเชี่ยวชาญในหลักทฤษฎีและเทคนิคเฉพาะที่จำเป็นต่อวิชาชีพ

หรืออีกนัยหนึ่ง ความรู้ดิ่งเดี่ยวอาจมุ่งวิเคราะห์ตนเองอย่างลึกซึ้ง จากรูปกายภายนอกลงสู่การทำงานของจิตภายในตน จนเห็นแจ้งในระบบความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตที่ละเอียดซับซ้อน เข้าใจความจริงของชีวิตและอิ่มเอมในอารมณ์ สภาวะเช่นนี้เป็นจุดหมายการเรียนรู้ของปัจเจกบุคคล

มนุษย์ต้องเรียนให้รู้รอบและรู้ดิ่งเดี่ยวในด้านใดด้านหนึ่งตามสัดส่วนที่เหมาะกับแต่ละชีวิต

ต้องเรียนรู้ภายในตน จิตสำนึกของตน และฝึกหัดขัดเกลาตนเองอยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สังคม เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเกิดผลกระทบต่อทุกคนในโลกกว้าง

ตามนัยแห่งพุทธธรรม การพัฒนามนุษย์จึงเน้นความสมดุลทั้งวิถีทางโลกและวิถีทางธรรม กระบวนการเรียนรู้มีลักษณะก้าวเวียน (spiral) และยืดหยุ่นตามเหตุปัจจัยของชีวิต

กระบวนการเรียนรู้ที่สมดุลจึงเกิดผลที่งอกงามสูงขึ้น และพร้อมกันนั้นก็หยั่งรากลึกลงสู่ภายใน เปรียบดังต้นไม้ใหญ่ที่สูงตระหง่านเพียงใด ก็ย่อมหยั่งรากลึกลงเพื่อยืนต้นอยู่ได้อย่างมั่นคง

ดุลยภาพของการเรียนรู้ จึงนำสู่ความเจริญไพบูลย์ดังนี้

Back to Top