ปฏิบัติบูชา

โดย วิจักขณ์ พานิช
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 มีนาคม 2549

...เวลานี้คือชั่วโมงแห่งความมืดมนทางจิตวิญญาณ ท่ามกลางโรคภัยไข้เจ็บที่ไร้ยารักษา ความอดอยาก ทุกข์ยาก สงครามแห่งความโลภและความเกลียดชัง พัดโหมกระหน่ำ ถ่าโถมกระทบโลกแห่งพุทธธรรมให้สั่นคลอนอ่อนแรง สงฆ์หลายสำนักกำลังทะเลาะเบาะแว้ง ด้วยความยึดมั่นในทิฐิมานะและผลประโยชน์ สร้างความขมขื่นแห่งการแตกแยก แม้พุทธธรรมจะยังเต็มเปี่ยมด้วยธรรมรสแห่งปัญญาอันได้ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นจวบจนปัจจุบัน ด้วยการฝึกฝนปฏิบัติจริงของเหล่าอริยธรรมาจารย์ผู้ปฏิบัติชอบ แต่กระนั้นผู้คนกลับหลงมัวเมา ได้แต่ถกเถียงหลักพระธรรมในเพียงเปลือกนอกเชิงปรัชญา มนตราและพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์หมดแล้วซึ่งคุณค่าและความหมาย กลายเป็นเพียงเรื่องความเชื่องมงายไร้สติ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบกำลังสูญเสียธรรมบันดาลใจ หมดแรงเวลาไปกับกิจนิมนต์ตามบ้าน แสดงธรรมและพิธีกรรมเล็กน้อย เพียงหวังผลตอบแทนทางวัตถุ

ณ เวลานี้ จะมองไปทางใด ก็แทบจะไม่พบพุทธสาวกผู้ยังดำรงไว้ซึ่งวินัยสูงสุด อันกอปรด้วยไตรสิกขาครบองค์สาม; ศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นรากฐานของการฝึกฝนตนเอง เพื่อการเข้าสู่ความดี ความงาม และความจริงภายใน; เมื่อไร้ซึ่งผู้ปฏิบัติชอบบนเส้นทางแห่งอารยะนี้แล้ว พุทธธรรมก็ถูกใช้เพียงเพื่อเป้าหมายทางการเมืองและทางสังคม เป็นเพียงการสร้างภาพ ความน่าเชื่อถือ เพื่อเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือผลประโยชน์ส่วนตนเพียงเท่านั้น พลังกุศลทางธรรมที่แท้กำลังจางหาย ไร้ซึ่งการปฏิบัติบูชา จะหาผู้อุทิศกายถวายชีวิตเพื่อพุทธธรรมอย่างแต่ก่อนได้ยากยิ่ง จิตธรรมสั่นคลอน สะท้อนการสูญเสียศรัทธาในไตรรัตนะ...

เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
(แปลจาก Sadhana of Mahamudra)



หากเราย้อนมองอดีต เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อจะได้ไม่ก้าวผิดซ้ำรอยเดิมอีก เราจะพบว่า ยามใดที่ธรรมาจารย์ผู้ปฏิบัติชอบได้จากโลกนี้ไป พลังแห่งการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ของท่านที่ส่งผลต่อผู้คนและสังคมในวงกว้าง จะก่อให้เกิดพลวัตรที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในสังคมของคนรุ่นถัดไป พลวัตรอันนี้ได้ถูกชี้ให้เห็นโดยนักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ชื่อ แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เขาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “การเปลี่ยนแปลงจากศักยภาพการสร้างสรรค์ของปัจเจก สู่วัตรปฏิบัติที่ตายตัว”

สิ่งแรกที่เกิดขึ้น คือความพยายามที่จะให้คำนิยาม หาบทสรุป กับผลงานอันมหาศาล หรือความคิดสร้างสรรค์อันหลากหลายของธรรมาจารย์ผู้นั้น บนพื้นฐานของความกลัว ไม่ว่าจะเป็นความกลัวการสูญเสีย ความไม่กล้าที่จะก้าวเผชิญบนเส้นทางแห่งการฝึกฝนตนเองโดยปราศจากอาจารย์ สิ่งที่ตามมาก็คือ องค์กรทางศาสนา หรือ สายปฏิบัติที่เต็มไปด้วยกฎกรอบ อันเป็นความพยายามที่จะสร้างตัวตายตัวแทนให้แก่ธรรมาจารย์ท่านนั้น

แต่กระนั้นก็ยังมีพลวัตรในอีกลักษณะหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน มันคือปรากฏการณ์ที่ศักยภาพของธรรมาจารย์ได้ถูกหลอมรวมและก้าวข้ามโดยศิษย์ ผู้ได้รับแรงดลใจในการฝึกฝนปฏิบัติตนอย่างไม่ย่อท้อ ศักยภาพของปัจเจกจึงได้ถูกถ่ายทอด ส่งผ่านสู่ผู้คนรุ่นถัดไปอย่างไม่ถูกตัดขาด พลวัตรนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการอุทิศตนของผู้กล้า ผู้อยู่นอกกฎกรอบขององค์กรทางศาสนาใดๆ ผู้ซึ่งมองเห็นความทุกข์ในสังสารวัฏอย่างชัดแจ้ง นำไปสู่แรงบันดาลใจในการฝึกฝน อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างสุดความสามารถ

พุทธธรรมที่มีชีวิตนั้นจะต้องเป็นพุทธธรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตและเหตุปัจจัยของผู้คนในสังคมปัจจุบันได้อยู่เสมอ การประยุกต์ที่ว่าหาใช่เป็นการเสกสรรปั้นแต่ง เพิ่มลูกเล่นทางภาษา หรือทำหน้าปกหนังสือธรรมะให้น่าอ่านมากขึ้น แต่มันหมายถึง การปฏิบัติบูชา นำปณิธานสูงสุดของธรรมาจารย์ท่านนั้นๆมาปฏิบัติอย่างถวายชีวิต จนสามารถนำไปสู่กระบวนการการเรียนรู้ หลอมรวมศักยภาพในตนเอง เข้าสู่สายธารธรรมแห่งการตื่นรู้ สู่ธรรมรสแห่งพุทธธรรมอันหอมหวน เชื้อชวนให้คนรอบข้างได้มาแบ่งปัน

เราทุกคนในฐานะผู้ปฏิบัติธรรมเดินตามรอยของเหล่าอริยปัจเจก เฉกเช่น ท่านอาจารย์พุทธทาส จำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงความหมายและคุณค่าของการปฏิบัติบูชาให้ลึกซึ้ง การปฏิบัติบูชาของศิษย์เป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ความงอกงามทางธรรมอันหลากหลาย เป็นการสร้างสรรค์ใหม่ๆที่มีชีวิต เป็นหนทางแห่งการก้าวข้ามข้อจำกัดของเหตุปัจจัยในอดีต สู่การแตกหน่อธรรมอันเป็นสิ่งสร้างสรรค์อันน่าจะเกิดขึ้นได้ ด้วยพื้นฐานการฝึกฝนด้านในอย่างจริงจังของศิษย์ หน่อพระธรรมที่ว่านี้จะแตกต่างออกไปในสภาวะการรู้แจ้งของแต่ละบุคคล ซึ่งหาใช่เป็นเรื่องเสียหาย เพราะความหลากหลายของการตื่นรู้ในปัจเจกนี้เอง ที่จะทำให้พุทธธรรมสามารถสืบสานเป็นธารใจให้ผู้คนรุ่นหลังได้ดื่มกินอย่างไม่รู้หมดรู้สิ้น

แต่สิ่งที่ผู้เขียนมองเห็นในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของท่านอาจารย์ในปีนี้ นอกเสียจากความพยายามที่จะศึกษา รวบรวมรักษา ตีความและเผยแพร่ คำสอนของท่านอาจารย์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง อีกด้านหนึ่งก็ดูจะหนีไม่พ้นแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิดงานเฉลิมฉลอง นิทรรศการ งานปาหี่ใหญ่โต วิจิตรวิลิศมาหรา วูบวาบ ตระการตา แต่หาเนื้อแท้ แก่นสาระ มาเป็นอาหารทางจิตวิญญาณกันแทบไม่ได้ ทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องงานเฉลิมฉลอง ก็ได้ยินแต่กระบวนการยกย่องท่านอาจารย์ขึ้นเป็นปูชนียบุคคล แบกท่านไปวางไว้บนแท่น บนหิ้ง เพื่อจะได้กราบไหว้บูชากันได้อย่างถนัดถนี่ มืออ่อน เท้าอ่อน ปากก็แซ่ซ้องสรรเสริญ อย่างไร้ซึ่งจิตวิญญาณของการปฏิบัติบูชาเอาเสียเลย

เรากำลังถูกหลอกหลอนด้วยผีท่านอาจารย์พุทธทาส ผีในที่นี้ คือ ความทรงจำเดิมๆที่เรามีต่อท่าน เป็นความทรงจำที่เราไม่ยอมปล่อยวาง จนกลายเป็นการยึดติดในตัวบุคคล ไร้ซึ่งการนำหัวใจแห่งคำสอนมาปฏิบัติ หลอมรวม และก้าวข้ามประสบการณ์ในอดีต สู่การเรียนรู้เหตุปัจจัยในปัจจุบันขณะ สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ ความทรงจำที่เราพยายามสงวนรักษากันไว้นั้น หาใช่ “พุทธทาส” ที่แท้แต่อย่างใด ผู้คนพยายามจะรักษารอยเท้าของท่านราวกับว่ามันมีชีวิต ถึงเวลาที่เราจะต้องตระหนักได้แล้วว่า รอยเท้าที่เราบูชาหาใช่ฝ่าเท้าที่ท่านอาจารย์ใช้เดินแต่อย่างใด เรากำลังกราบไหว้รอยเท้า โดยหารู้ไม่ว่าเราเองกำลังย่ำอยู่กับที่ ไร้ความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณใดๆ

เหมาะสมแล้วหรือที่จะปฏิบัติต่อท่านอาจารย์ราวกับท่านเป็นวัตถุ? ท่านอาจารย์ไม่ใช่ตึกอิฐแดงที่สวนโมกข์ ท่านอาจารย์ไม่ใช่เสาห้าต้น ท่านอาจารย์ไม่ใช่ลานหินโค้ง ท่านอาจารย์ไม่ใช่สระนาฬิเกร์ ท่านอาจารย์ไม่ใช่โรงมหรศพทางวิญญาณ ท่านอาจารย์ไม่ใช่หนังสือธรรมโฆษณ์ ไม่ใช่กาพย์กลอน รูปหล่อ รูปปั้น รูปวาดใดๆ

....แต่ท่านอาจารย์ คือ เส้นทางของผู้แสวงหาคุณค่าในตน “พุทธทาส” คือ การมอบกายถวายชีวิตแก่ไตรรัตนะ เพื่อประโยชน์สุขที่แท้แก่เพื่อนมนุษย์ “พุทธทาส” คือ การเสียสละชีวิตเพื่อการฝึกฝนภาวนา ลดทิฐิอัตตา เรียนรู้คุณค่าและศักยภาพที่แท้ของจิตที่ว่างจากมายาภาพตัวตน ท่านอาจารย์ คือ สายธารธรรม คือ ความงามที่สัมผัสได้ในชีวิตนี้ ด้วยการฝึกฝนด้านใน สู่จิตใจที่ขยายกว้าง นำมาซึ่งความพร้อมที่จะรับฟังเสียงแห่งความทุกข์ (ศีล) น้อมนำใคร่ครวญ ฝึกฝนสัมผัสความทุกข์นั้นด้วยหัวใจที่ตั้งมั่น (สมาธิ) จนสามารถมองเห็นธรรมชาติอันผันแปรไม่จริงแท้แห่งทุกข์ (ปัญญา) นำไปสู่แรงใจในการอุทิศชีวิตทั้งชีวิตเพื่อร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้อื่น การทำให้ดูอยู่ให้เห็นของผู้ปฏิบัติจริงเป็นการแสดงธรรมในความว่าง ให้เห็นหนทางที่จะร่วมทุกข์กับเพื่อนมนุษย์โดยจิตไม่ต้องเป็นทุกข์ ท่านอาจารย์คือความตื่นรู้ภายในตน คือ คุณค่าและความงามแห่งการสร้างสรรค์ทางปัญญา ที่ผุดบังเกิดขึ้นจากความง่ายงามตามธรรมดาของจิตที่ถูกฝึกฝน

การสืบสานปณิธาน “พุทธทาส” จึงหาใช่การวัดรอยเท้าของท่านว่ากว้าง ยาวเท่าไร หนทางเดียวที่จะสืบสานปณิธานพุทธทาสให้คงอยู่ ก็คือ การให้ความสำคัญกับการปฏิบัติภาวนา ให้คุณค่ากับเส้นทางแห่งการเรียนรู้ฝึกฝนจิตใจ จนได้เข้าไปสัมผัสพลังแห่งการตื่นรู้ สู่การดำรงจิตใจในพื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้ด้านใน หลอมรวมเป็น “พุทธทาสภายใน” ที่ไม่มีวันตาย

เพราะท่านอาจารย์พุทธทาสไม่เคยสอนให้เรายึดมั่นอยู่ในอดีต ไม่เคยสอนให้เรายึดติดในตัวบุคคล ท่านสร้างสรรค์หนทางหลากหลายให้ผู้คนได้หันกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ และปัจจุบันขณะนี่เอง คือสิ่งที่เราควรยึดติด ซึ่งก็คือ การไม่ติดกับรอยเท้าใดๆ

รอยเท้าเป็นเพียงเครื่องนำทางสู่กระบวนการเรียนรู้แห่งชีวิต เพื่อจะใช้สองเท้าที่เรามี ย่างก้าวบนเส้นทางของการปฏิบัติภาวนา วิปัสสนาคุณค่าภายในตน นี่คือสิ่งที่เราทุกคนน่าจะนำมาใคร่ครวญพิจารณา เพื่อการปฏิบัติบูชา สืบสานปณิธานพุทธทาสในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลที่ใกล้จะมาถึงนี้

หุบปากประกาศ หมายความว่า แสดงอยู่ที่เนื้อที่ตัว เป็นของจริงกว่าที่จะเปิดปากประกาศ ซึ่งส่วนมากก็เป็นแต่เรื่องพูด หรือ ดีแต่พูด...ที่เอามาพูดเป็นคำพูดได้นั้นไม่ใช่ธรรมะ...

พวกเรามีหลักอย่างนี้กันหรือเปล่า? คือว่าสิ่งที่แท้จริงเป็นสิ่งที่พูดด้วยปากไม่ได้ แต่ต้องแสดงด้วยการกระทำ หรือว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเท่านั้น จนมันปรากฏอยู่ข้างใน...

ธรรมะแท้จริงพูดไม่ได้ด้วยปาก ธรรมะแท้คัดลอกไม่ได้ ถ่ายทอดด้วยปากไม่ได้ ไม่มีทางที่จะเลอะเทอะ ส่วนธรรมะพูดได้ด้วยปาก ด้วยเสียงนั้น มีทางคัดลอกได้ แล้วก็เลอะเทอะ ยิ่งพูดมากก็ยิ่งผิดมาก ก็ยิ่งเลอะเทอะมาก

พุทธทาสภิกขุ (จาก “อบรมพระธรรมทูต”)

Back to Top