มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มกราคม 2550
ชื่อบทความนี้เอามาจากหนังสือที่เขียนขึ้นมาเมื่อสองปีก่อน โดย เซอร์ มาร์ติน รีส นายกราชสมาคมดาราศาสตร์แห่งอังกฤษคนปัจจุบัน (Sir Martin Reese: Our Final Century, 2004) และได้รับการตอบสนองจากนักวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตกแตกต่างกันไป ตั้งแต่เห็นด้วยทั้งหมดไปจนถึงไม่เห็นด้วยเลย เพราะเหมือนกับนวนิยายวิทยาศาสตร์มากกว่า แต่ เซอร์ มาร์ตินไม่ได้เขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์และกล้าหาญพอที่จะบอกว่า เขาหมายความเช่นนั้นจริง เซอร์ มาร์ติน กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า ไม่เพียงแต่อารยธรรมของมนุษย์เท่านั้นที่จะล่มสลายหายไปทั้งหมด แต่แม้เผ่าพันธุ์ของมนุษย์เองก็จะพลอยสูญพันธุ์ไปด้วย นักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงชื่นชมความกล้าหาญของ เซอร์ มาร์ติน รีส ที่กล้าเอาชื่อเสียงมาเป็นเดิมพัน เพื่อยืนยันความเห็นและความเป็นห่วงโลกธรรมชาติของเขาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้เขียนได้นำข้อมูลทั้งหมดนั้น รวมทั้งข้อมูลของ สตีเฟน บายเออร์ (Stephen Byers) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของอังกฤษ ประธานคณะทำงานดินน้ำป่าอากาศนานาชาติ (International Climatic Taskforce) ที่บอกว่า มนุษยชาติมีเวลาเหลืออีกเพียงทศวรรษเดียว และจากหนังสือของ เจมส์ เลิฟล็อค (James Lovelock) ที่จะกล่าวต่อไป พูดในที่ต่างๆ สามสี่รายการก่อนสิ้นปี ๒๐๐๖ ไม่กี่วัน และก่อนการวางระเบิตหลายจุดในใจกลางกรุงเทพฯ ปรากฏว่าผู้ฟังแทบทั้งหมดนั่งนิ่งเงียบกริบไปตามๆ กัน จริงๆ แล้วเรื่องความพินาศหายนะของระบบนิเวศโลก ซึ่งเป็นผลโดยตรงของการทำลายธรรมชาติของมนุษย์ด้วยระบบทุนนิยมเศรษฐกิจเสรีกับเทคโนโลยีล้างผลาญทรัพยากรของโลกนั้น มีนักวิทยาศาสตร์ได้เขียนเอาไว้มากมาย กระทั่ง ริชาร์ด ลีกคีย์ เขียนไว้เป็นหนังสือที่ชี้บ่งสภาพการณ์ที่เราอาจเรียกว่าสภาวะโลกแตกครั้งที่หก (Richard Leakey: The Sixth Extinction, 1996) ว่า “สภาพโลกแตก (mass extinction) ที่เกิดกับโลกแห่งชีวิตมาแล้วห้าครั้งนั้น เราไม่รู้ หรือพิสูจน์ไม่ได้หมดว่าเป็นเพราะอะไร แต่ครั้งต่อไปนี้เรารู้ว่าเกิดจากฝีมีอของเราเอง”
การคาดการณ์อนาคตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของ เซอร์ มาร์ติน รีส นั่น – ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชื่อ บิล จอย ที่ผู้เขียนเอาชื่อบทความของเขาที่ลงใน ไวร์ (Wired) แม็กกาซีนมาตั้งเป็นชื่อหนังสือของผู้เขียนว่า ศตวรรษใหม่ที่โลกไม่ต้องการมนุษย์อีกแล้ว (Why the Future Doesn’t Need Us) เมื่อช่วงต้นศตวรรษ บิล จอย (Bill Joy) เองได้คาดการณ์ไว้คล้ายๆ กับ เซอร์ มาร์ติน รีส หรือในอีกด้านหนึ่งที่เป็นด้านของจิตวิญญาณ ด้วยญาณทัศนะหรือความรู้เร้นลับ (mysticism) ของสัตเปรม ทายาทของคุณแม่ (The Mother) กับ ศรีอรพินโท (Sri Aurobindo) ที่เชื่อว่ามนุษยชาติจะสูญพันธุ์ไปทั้งหมดและชีวิตที่จะวิวัฒนาการขึ้นใหม่แทนมนุษยชาติจะเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีจิตวิญญาณสูงส่งและทรงปัญญาอย่างยิ่ง โดยมีรูปร่างครึ่งแมงกะพรุนครึ่งปลาหมึก (Satprem: Evolution II, 1990)
แท้จริงแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า เซอร์ มาร์ติน รีส คงเชื่อรายงานของคณะทำงานติดตามการเปลี่ยนแปลงดินน้ำป่าอากาศโลก (IPCC) ขององค์การสหประชาชาติที่รายงาน (ครั้งที่สาม) เอาไว้เมื่อปี ๒๐๐๑ (ไอพีซีซีประกาศว่าจะรายงานครั้งต่อไปในปี ๒๐๐๗) แต่รายงานของไอพีซีซีนั้น เป็นทางการและเป็นวิชาการมากเกินไป จนคนทั่วไปหรือผู้อยู่ในอาชีพอื่นๆ หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ในสาขาอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของดินน้ำป่าอากาศ มักไม่ค่อยติดตามอย่างใกล้ชิดหรือไม่สนใจ ความเป็นวิชาการที่ใช้วิธีวิทยา (methodology) ทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้มานานดึกดำบรรพ์ เช่น การทำซ้ำโดยใครที่ไหนก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของกายและพลังงาน อันเป็นเรื่องภายนอกทั้งสิ้น ที่ ธอมัส คุห์น บอกว่าเปลี่ยนใหม่ได้แล้ว (Thomas Kuhn : Structure of Scientific Revolutions, 1962) ความเป็นวิชาการที่เกินไปเช่นนั้นเองที่ทำให้คนทั่วไป โดย เฉพาะนักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์สายสังคมผู้นำประเทศมักไม่ได้รับข้อมูลอันสำคัญอย่างยิ่งนี้เท่าที่ควร ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ของโลกไม่สามารถทำอะไรที่เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการสรรค์สร้างอารยธรรม “สมัยใหม่” ซึ่งก่อความล่มสลายให้กับระบบนิเวศธรรมชาติ ความรับผิดชอบในผลพวงที่ประเทศของตนเหล่านั้นเองเป็นผู้แพร่กระจายอารยธรรมที่ทำลายโลกให้เป็นกระแสโลกาภิวัตน์อย่างไร้หนทางแก้ไขอยู่ในขณะนี้
เจมส์ เลิฟล็อค นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกอีกคนหนึ่งที่พูดเช่นเดียวกับ มาร์ติน รีส, เลิฟล็อคเป็นนักชีวเคมีผู้ตั้งทฤษฏีไกย่า (Gaia theory) หรือโลกที่เป็นประหนึ่งองค์กรชีวิต ที่ทุกวันนี้มีนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยให้การยอมรับ ในอดีตเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การนาซ่า ผู้คำนวณว่า พิจารณาจากการปราศจากสารเคมีที่เป็นของเสีย (ที่ต้องปล่อยออกมาของสิ่งมีชีวิต) สู่บรรยากาศ (ที่มีเพียงเล็กน้อยบนดาวอังคาร) แสดงอย่างชัดเจนว่าดาวอังคารไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ ข้อมูลของ เจมส์ เลิฟล็อค ที่ว่า ดูจะขัดแย้งกับข้อมูลที่องค์การนาซ่าได้มาเมื่อไม่กี่วันมานี้ จากการสำรวจดาวอังคารโดยตรง ที่ชี้บ่งความเป็นไปได้ว่า มีสิ่งมีชีวิตและน้ำอยู่ภายไต้พื้นผิวของดาวนพเคราะห์คู่เแฝดของโลก นั่นไม่ได้แปลว่า เจมส์ เลิฟล็อค คำนวณผิด แต่เพราะ เจมส์ เลิฟล็อคไม่มีข้อมูลที่ได้จากใต้ดินของดาวอังคารมากกว่า
เจมส์ เลิฟล็อค เป็นนักวิทยาศาสตร์อีกผู้หนึ่งที่เชื่อมั่นว่า เผ่าพันธุ์ต่างๆ ของโลกกำลังเดินทางมาถึงจุดพินาศหายนะแทบจะโดยสิ้นเชิงก่อนสิ้นศตวรรษนี้ หรือเมื่อไรที่อุณหภูมิโลกสูงกว่าอุณหภูมิในปี ๑๘๐๐ เกิน ๕ องศาเซลเซียส และจากนั้นอุณหภูมิที่สูงเช่นนั้นหรือกว่านั้นจะอยู่กับโลกเราไปอีกนับเป็นแสนๆ ปี เจมส์ เลิฟล็อค บอกว่า สำหรับเขาเองและนักวิทยาศาสตร์หลากหลายที่ติดตามสภาพดินน้ำป่าอากาศของโลกอย่างใกล้ชิด ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการเปลี่ยนแปลงของดินน้ำป่าอากาศและอุณหภูมิโลกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะต้องเกิดขึ้นในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน “โลกจะร้อนเหมือนเป็น “นรก” ที่มีแต่ความตายอยู่ทุกหนแห่ง ตอนนั้นประชากรโลกที่มีจำนวนมากหลายๆ พันล้านคน จะมีเหลืออยู่เพียง “หยิบมือเดียว” (handful) เท่านั้น” ... “เป็นฝีมือของเราเองที่สร้างความฉิบหายไร้ระเบียบให้กับดาวเคราะห์ดวงนี้ และบ่อยครั้งด้วยความตั้งใจที่คิดว่าดีอย่างเสรีแต่ไร้การควบคุม แม้แต่ขณะนี้ ที่เสียงระฆังบ่งบอกถึงความตายที่ใกล้เข้ามาอย่างชัดแจ้ง แต่เรายังพูดกันถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และการแสวงหาพลังงานทดแทน ราวกับว่าสิ่งที่เรากำลังให้คืนกลับโลก (ที่สุดแสนจะจิ๊บจ๊อย) - ที่เราคิดว่าเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของเรา - ที่โลกแห่งชีวิต หรือไกย่า ควรจะยอมรับ ว่าไปแล้ว เราเหมือนกับเด็กเหลือขอของครอบครัวที่ไร้ความผิดชอบใดๆ นอกจากสร้างแต่ปัญหา หรือเอาแต่จะทำลายและทำร้ายผู้อื่น แล้วคิดว่าเพียงคำขอโทษเท่านั้นก็จบเรื่อง เจมส์ เลิฟล็อค คิดว่าแม้โลกเราจะชอบความหนาวเย็นมากกว่าชอบโลกที่ร้อน แต่ถึงตอนใกล้ๆ สิ้นศตวรรษที่ ๒๑ นั้น คือเมื่ออุณหภูมิโลกอยู่ที่ ๕ องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น เขาเชื่อว่าเมื่อนั้นแทบจะทุกทวีป และแทบทุกมหาสมุทรจะกลายเป็นทะเลทรายหรือน้ำร้อนจัดจนสัตว์น้ำอยู่กันไม่ได้ ยกเว้นเพียงภูมิภาคบางส่วนที่อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือกับขั้วโลกใต้ที่จะเย็นพอเพราะมีน้ำแข็งเหลืออยู่บ้าง และเป็นภูมิภาคนี้เท่านั้นที่อาจมีเผ่าพันธุ์ของมนุษย์กระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ (James Lovelock: The Revenge of Gaia,2006)
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นการคาดการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นเชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างมาก (high probabilities) ไม่ว่าหลายคน – รวมทั้งศรีอรพินโทและสัตเปรมที่เป็นผู้ปฏิบัติจิตมาอย่างยาวนาน - จะเชื่อว่า ไม่เพียงแต่อารยธรรมสมัยใหม่เท่านั้นที่จะหายไปทั้งหมด แต่แม้แต่เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ชาติก็จะพลอยสูญพันธุ์หายไปทั้งหมดพร้อมกันไปด้วย หรือว่าเผ่าพันธุ์จะเหลือเพียง “หยิบมือเดียว” เช่นไม่กี่ล้านคนอย่างที่ เจมส์ เลิฟล็อค ทำนาย ทั้งหมดนั้นมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนและยืนยันว่าต้องเป็นอย่างนั้นมากกว่าไม่เป็นประเด็นคือมันจะเป็นไปได้จริงหรือไม่? คำตอบที่แท้จริงเราคงไม่รู้ เพราะมันดูจะคาบเกี่ยวกันกับสองมุมมองที่ต่างกัน
ประเด็นแรก มองจากทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ ข้อมูลทางโลกดูจะบ่งชี้ไปทางเส้นทางนั้น คือเป็นไปได้ว่าเผ่าพันธุ์ของมนุษย์อาจจะสิ้นสุดก่อนสิ้นศตวรรษที่ ๒๑ นี้ หรือเหลือน้อยเต็มที ดังที่ เซอร์ มาร์ติน รีส และ เจมส์ เลิฟล็อค และนักวิทยาศาสตร์หลายคนคาดคะเน การสิ้นสุดสูญพันธุ์ของชีวิตย่อมมีผลตามมาของวิวัฒนาการใหม่ หรือการเหลือเชื้อพันธุ์ที่น้อยนิด ภายใต้สิ่งแวดล้อมใหม่ย่อมให้โอกาสกับการกลายพันธุ์ก็ได้
ส่วนประเด็นที่สอง หากมองในด้านของจิตวิญญาณที่อยู่ในรูปกายของสัตว์โลกทั้งหลาย จิตจะต้องมีวิวัฒนาการผ่านความเป็นอัตตาตัวตนสู่ความหลุดพ้นทั้งนั้น -
ไม่ว่าจิตจะอยู่ในรูปกายอย่างหนี่งอย่างใด รูปกายจึงเป็นแต่ “ทางผ่าน” โดยมีอัตตาที่ให้ความเป็น “ตัวกูของกู” อันเป็นสาเหตุของทุกข์ รูปกายมนุษย์ -ในด้านหนึ่ง - จึงเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการวิวัฒนาการอันเป็นกฎธรรมชาติหรือหลักการของอิทัปปัจจยตาก็ได้ ดังนั้นหากมองจากด้านจิต การสูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์ของ กายมนุษย์ จึงเป็นเสมือนโอกาสของการมีวิวัฒนาการใหม่ เพื่อให้โอกาสเช่นเดียวกันแก่จิต ทำให้จิตของสัตว์โลกในรูปกายใหม่ สามารถมีวิวัฒนาการทางจิตสู่ความ “หลุดพ้น” ก็ได้ มองจากมุมมองนี้ การสูญสิ้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ไม่มีความสำคัญใดๆ
มองจากประวัติศาสตร์ ผู้เขียนคิดว่า มนุษย์ไม่น่าจะสูญพันธุ์ไปทั้งหมด แต่อาจกลายพันธุ์เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปยาวนานนับแสนปีจากการที่มีโลกร้อนมากๆ อย่างที่ไอพีซีซีคาดการณ์ให้ไว้ ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยเลยว่าสุดท้ายแล้วประวัติศาสตร์ว่าด้วยวิวัฒนาการของโลกกายภาพก็ดี วิวัฒนาการของชีวิตที่มีมาถึงมนุษย์และสังคมของมนุษย์ก็ดี วิวัฒนาการของจิตและจิตวิญญาณที่ยังไม่แล้วเสร็จทั้งยังไกลจากแล้วเสร็จก็ดี ทั้งหมดจะจบลงง่ายดายเช่นนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการทั้งหมดต้องมีความหมาย จริงๆ แล้ว หากเรามองจากด้านของศาสนาต่างๆ - ไม่ว่าเป็นศาสนาที่มีพระเจ้าหรือศาสนาที่ไม่พูดถึงพระเจ้า เช่น ศาสนาพุทธ - ก็ไม่มีศาสนาใดที่ไม่พูดถึงการสิ้นสุดของโลกและสัตว์โลกอย่างไม่เป็นทางการไว้ เพียงแต่ไม่ได้ระบุเวลา
หากมองจากลัทธิพระเวทย์ที่มีมาเป็นอันดับแรกสุดของศาสนาใหญ่ๆ ของโลก คัมภีร์อุปนิษัทเล่มแรกๆ จะพูดถึง “ลีลา” การละเล่นของพรหมมัน (Brahmam) พระเจ้าผู้สร้างกฎธรรมชาติว่าด้วยวิวัฒนาการของโลกและจักรวาล (เฉพาะจักรวาลนี้) ขึ้นมา ก็เพื่อให้มีมนุษย์มีจิตที่สามารถวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ จนสามารถสังเกตและรับรู้ว่าจักรวาลและโลกคือสิ่งใด? รู้ว่าจิตสามารถหลุดพ้นความเป็นตัวตน หรือ “โมกษะ” กลับไปรวมเป็นหนึ่งกับพรหมมันได้อย่างไร? นั่นแปลได้ว่าโลกยังต้องรอคอยให้มนุษย์ส่วนใหญ่มีวิวัฒนาการของจิตเข้าสู่ระดับจิตวิญญาณเสียก่อน แม้ว่าโลกเราในปัจจุบันจะอยู่ในยุคสุดท้าย ที่เรียกว่ากลียุค ซึ่งจะต้องล่มสลายไปพร้อมๆ กับชีวิตอันหลากหลายจากความผันผวนของธาตุสามธาตุ รวมหรือแยกกัน คือ น้ำ ลม และไฟ ก็ตาม
แสดงความคิดเห็น