พิธีกรรม ... เติมความศักดิ์สิทธิ์และความหมายให้กับชีวิตยุคใหม่

โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 มกราคม 2550

วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวไทยมีพิธีกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิต เพราะช่วยเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร บอกกล่าว หรือให้ความหมายแก่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต รวมทั้งแสดงความเชื่อ และตำนาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม การรับรู้หรือมองโลก และการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น หลายๆ พิธีกรรมแสดงถึงความเคารพนอบน้อมต่อผืนแผ่นดิน ระบบนิเวศและเทพเทวาที่ปกป้องคุ้มครองสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนี้ พิธีกรรมยังช่วยเชื่อมร้อยให้เกิดความผูกพันระหว่างคนในชุมชน รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญของการแสดงความเชื่อ ความศรัทธา และแนวปฏิบัติร่วมกันในทางศาสนาอีกด้วย

ในขณะที่ความเชื่อดั้งเดิมนั้นผูกโยงอยู่กับความจริงที่มองไม่เห็น ชีวิตของคนสมัยใหม่ที่สมาทานความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์เชิงประจักษวาส จะเชื่อเฉพาะแต่สิ่งที่ตาเนื้อมองเห็นและเป็นไปตามแนวคิดเหตุผลนิยม มีผลให้กระบวนการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงมิติของความศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตถูกลดทอนไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งนี้ โดยที่พิธีกรรมส่วนมากก็หาได้มีการปรับเนื้อหา วิธีการ หรือชุดภาษา ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อให้คนสมัยใหม่เข้าถึงได้อย่างสร้างสรรค์แต่อย่างใดไม่

อย่างไรก็ตาม บนหนทางแห่งการพัฒนามิติทางจิตวิญญาณไปควบคู่กับความเป็นชุมชนแห่งการพึ่งพาอาศัยและการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมสมัยใหม่นั้น พิธีกรรมจะยังคงเป็นส่วนสำคัญและพึงได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมอย่างสร้างสรรค์ และในท่ามกลางความหลากหลายของความเชื่อความศรัทธานั้น การน้อมรับ ชื่นชม และเรียนรู้จากความแตกต่างหลากหลายของผู้คนถือเป็นเรื่องที่สำคัญ อันจะเป็นต้นทุนหรือรากฐานแห่งการดำรงสันติภาพอันแท้จริงของสังคม

ทั้งนี้ บทบาทในการเข้าถึงมิติอันศักดิ์สิทธิ์และการพัฒนาจิตนั้น ไม่จำต้องจำกัดอยู่ในชุมชนนักบวชเท่านั้น ฆราวาสหรือประชาชนคนธรรมดาที่แม้ไม่สมาทานศาสนาหรือลัทธิใดๆ ก็น่าจะเข้าถึงได้ ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้ชี้ให้เห็นว่า พื้นฐานร่วมกันของทุกศาสนาคือความรักนั่นเอง

พิธีกรรมต่างจากกิจกรรมอย่างไร พิธีกรรมมีหลายประเภท เช่น การยืนเคารพธงชาติ สวดมนต์หน้าเสาธงทุกเช้าตามโรงเรียนต่างๆ นั้น เป็นกิจกรรมที่ตอกย้ำความเชื่อในเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แม้ว่าเด็กนักเรียนจำนวนมากจะทำพิธีกรรมเหล่านี้ไปอย่างเสียมิได้ ทำเพราะรู้สึกว่าต้องทำ จึงอาจขาดแรงบันดาลใจและความตั้งใจไปบ้าง แม้กระนั้น ความเชื่อในเรื่องความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็จะถูกฝังอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ดังนั้น ในแง่นี้พิธีกรรมคือ กิจกรรมที่ทำซ้ำๆ เป็นหมู่คณะ แต่จะมีความหมายอย่างไรกับผู้ปฏิบัตินั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการตีความหรือการให้ความหมายของแต่ละคน ไม่สามารถยัดเยียดหรือบังคับให้ยอมรับเหมือนกันได้

กิจวัตรประจำวันในฐานะพิธีกรรม พฤติกรรมบางอย่างที่ทำซ้ำๆ แล้วทำให้ชีวิตรู้สึกดี มีแบบแผนหรือทำให้รู้สึกปลอดภัย เช่น การดื่มกาแฟหรือชา อ่านหนังสือพิมพ์ก่อนออกไปทำงาน (มนุษย์ทุกวันนี้มีเวลาอย่างที่ว่าน้อยมาก) การหอมแก้มลูกก่อนนอน การสวัสดีคุณยายก่อนก้าวเท้าเดินออกไปโรงเรียน การเดินออกกำลังกายตอนเช้า การรับประทานอาหารเย็นร่วมกันในครอบครัว การออกไปดูหนังทุกวันเสาร์ การดูข่าวตอนเช้าก่อนอาบน้ำ เป็นต้น กิจวัตรเหล่านี้ แม้จะดูง่ายๆ ไม่ได้มีความหมายในเชิงศาสนาหรือความศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ช่วยให้ชีวิตมีแบบแผนบางอย่างรองรับ ทำให้รู้สึกว่ามีความเป็นปกติอยู่ ซึ่งสำหรับแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ดังนั้น จะเห็นว่ามนุษย์สามารถสร้างกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นพิธีกรรมขึ้นมาเองได้ตลอดเวลา

นอกเหนือจากนั้น เราอาจค้นพบว่าพิธีกรรมมีหลากหลายมิติ ในเป้าหมายและบริบทที่แตกต่างกันออกไป ผมขอตั้งข้อสังเกตบางประการเพื่อเป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์พิธีกรรมเอง ได้แก่

พิธีกรรมมีฐานะที่เป็นกิจกรรมเพื่อการตื่นรู้ อยู่กับปัจจุบันขณะ ช้าลงแต่มีสติเพื่อมองสิ่งต่างๆ ให้เห็นมิติที่ลึกลงไป พิธีกรรมเป็นเรื่องทางกาย การลงไม้ลงมือ และลงใจ ไปพ้นเรื่องภาษาหรือความคิด ทำงานกับจิตไร้สำนึก พิธีกรรมมีจุดเริ่มต้น สิ้นสุดที่ชัดเจน พิธีกรรมคือกิจกรรมที่มีความตั้งใจ หรือการอธิษฐาน บวกกับการเปิดรับพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของจักรวาลที่มีชีวิต

ทั้งนี้หลายๆ พิธีกรรมอาจเป็นโอสถที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการเยียวยารักษาอาการทางจิตและกายได้ด้วย ดังที่ เดนนี่ ซาร์เจ้นท์ (DENNY SARGENT) ผู้เป็นทั้งนักเขียน ศิลปิน และนักสร้างสรรค์พิธีกรรมที่นำมาจากจารีตประเพณีต่างๆ ของโลก หลังจากที่ได้ศึกษาความรู้เชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี เขาได้เขียนไว้ในหน้งสือเรื่อง พิธีกรรมของโลก (Global Ritualism: Myth & Magic Around the World) ว่า

“ถ้าเราสามารถลอกเอาเปลือกนอกที่เก่าคร่ำของพิธีกรรมที่ทำซ้ำซากจนเหมือนหุ่นยนต์ ซึ่งอยู่ล้อมรอบตัวเราออกได้ เราจะได้พบขุมทรัพย์อันกว้างใหญ่ไพศาล ที่บรรจุทั้งความรู้ ตำนาน รูปแบบ การรับรู้ และความคิด ซึ่งเราสามารถเลือกหยิบเอามาสร้างตำนานหรือพิธีกรรมให้สูงส่งสักเท่าใดก็ได้ นอกจากมนุษย์ทุกคนจะมีสัญชาตญาณในการสร้างพิธีกรรมอยู่แล้วตามปกติ มนุษย์ยังมีทางเลือกอยู่อีกด้วย ดีกว่าที่จะเพียงปฏิบัติตาม (หรือถูกบังคับ) พิธีกรรมเก่า ซึ่งถูกถ่ายทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า เราจงมาช่วยกันเลือกพิธีกรรมของเราเอง พิธีกรรมซึ่งจะช่วยให้เราสมหวังในจุดมุ่งหมายสำคัญของชีวิตมนุษย์ ๓ ประการ อันได้แก่ ความสงบที่แท้จริง ความสุข และอิสรภาพ”


ผมอยากเชิญชวนมาสืบค้นร่วมกันว่า เราจะร่วมกันสร้างหรือรื้อฟื้นพิธีกรรมบางอย่างกลับมาใช้อย่างไรให้

๑. เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และประกอบพิธีกรรม ทั้งในส่วนของกิจกรรมเองและการให้ความหมาย

๒. เพื่อช่วยให้มนุษย์เข้าถึงมิติอันศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตในยุคสมัยใหม่ได้ในขณะที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว โดยหลายคนปฏิเสธที่จะสมาทานความเชื่อหรือแนวปฏิบัติของศาสนาหรือลัทธิใดๆ เพราะอาจรู้สึกว่าไม่สามารถเข้าถึง หรือพิธีกรรมที่ทำกันอยู่ไม่สามารถสื่อความหมายให้สอดคล้องกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นหากมีพิธีกรรมที่สามารถทำหน้าที่เชื่อมร้อยจิตวิญญาณมนุษย์เข้าด้วยกันอย่างไปพ้นข้อจำกัดของความเชื่อทางศาสนา ก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย

๓. หากพิธีกรรมช่วยให้เกิดความอ่อนโยนและมองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างเชื่อมโยงได้ ย่อมเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่แปรเปลี่ยนจิตใจให้เบ่งบานและวิวัฒน์ได้

๔. หากเราสามารถพัฒนาพิธีกรรมที่เรียบง่าย เข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย แต่ไม่ฉาบฉวย ไม่รุ่มร่ามและซับซ้อนจนเกินไปนัก ก็น่าจะช่วยน้อมนำผู้คนให้เข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น

ผมขอยกตัวอย่างพิธีกรรมง่ายๆ ที่สามารถทำกันเองในครอบครัว หรือแวดวงมิตรสหายในวาระพิเศษ เช่น งานวันเกิด โดยสามารถให้คนใกล้ชิดได้บอกกล่าวแก่เจ้าของวันเกิดถึงความเปลี่ยนแปลงหรือการเติบโตที่สังเกตเห็นในตัวเจ้าของงานวันเกิด หรืออาจกล่าวถึงว่าเจ้าของวันเกิดมีคุณค่าหรือความหมายอย่างไรกับเรา เพียงเท่านี้ก็อาจเพิ่ม “ความหมาย” ให้กับงานวันเกิดที่มีเสียงเพลงและการสังสรรค์กันให้พิเศษมากขึ้นก็ได้

ทั้งนี้ ผู้สร้างและประยุกต์ใช้พิธีกรรม พึงคำนึงถึงเงื่อนไขหรือปัจจัยจำเพาะในสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของตนเอง เพื่อทำให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้อง และมีประสิทธภาพ บนพื้นฐานของการเคารพนอบน้อมต่อมรดกทางปัญญาและวัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่สั่งสมกันมา ไปพร้อมๆ กับการเปิดรับและเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายอย่างถ่อมตน ซึ่งจะช่วยให้เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้แนวลึกที่ผสมผสานโบราณธรรมที่หลากหลายมาเกื้อกูลการดำรงอยู่ การพัฒนาจิตมนุษย์ และความเป็นชุมชนได้อย่างสมสมัย กลายเป็นปัจจุบันธรรมที่มีพลังและนำพาสังคมอนาคตที่บรรสานสมดุล เป็นสุข และพอเพียงตามที่เราต่างปรารถนาให้บังเกิดขึ้นร่วมกัน

Back to Top