ช่องว่าง

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 มกราคม 2550

ช่องว่างที่จะเขียนถึงในบทความนี้ ไม่ใช่ช่องว่างทางกายภาพที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไป

แต่เป็นช่องว่างที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง เพราะขาดความเข้าใจและพร่องการยอมรับ

เป็นช่องว่างที่เต็มไปด้วยความอิจฉา ริษยา ใส่ร้าย ป้ายสี เพราะขาดความรักและพร่องความเมตตา

ช่องว่างที่เต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ เพราะขาดคุณธรรมและพร่องจริยธรรม

ช่องว่างที่เต็มไปด้วยอวิชชา ความไม่รู้เท่าทันธรรมชาติของสรรพสิ่ง เพราะขาดสติและพร่องปัญญา

ในช่วงชีวิตของผู้เขียน ได้ผ่านพบและคุ้นเคยกับช่องว่างดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึก และความคิดที่หลายหลาก

บางช่องว่าง ทำให้งุนงง สงสัย ใคร่จะรู้ อยากจะเข้าใจ

บางช่องว่างทำให้โกรธ และบางครั้งถึงกับเกลียด ไม่อยากรู้ ไม่อยากเข้าใจ

ส่วนหนึ่งเพราะไปผูกพันกับสิ่งที่ผ่านพบ พอยึดติดเลยคิดแคบ ขาดสติ

เมื่อตอนเป็นเด็กก็เคยนึกโกรธพ่อ-แม่ และพี่ชาย ที่ไม่ยอมให้เราออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย พอเราหนีไปเที่ยวก็ถูกตี และเหตุผลที่ถูกตี พ่อแม่บอกว่า ที่ตีก็เพราะรักและเป็นห่วง เราก็นึกอยู่ในใจแบบเด็กๆ ว่า ถ้ารักและเป็นห่วงแล้วตีทำไม ถ้ารักลูกจริงทำไมไม่ให้ลูกไปเที่ยวเล่นอย่างมีความสุขกับเพื่อนๆ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของช่องว่างระหว่างวัย

เมื่อตอนได้ทุนจุฬาฯ ไปเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ได้เรียนรู้ด้านปรัชญา และโดยเฉพาะอนาคตนิยม (Futurism) ก็สงสัยใคร่รู้ เริ่มติดใจกับแนวคิดใหม่ของวิชาอนาคตศาสตร์ ที่ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับวิชาประวัติศาสตร์ ระเบียบวิธีวิจัยอนาคตก็แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระเบียบวิธีวิจัยที่เคยเรียนมาก่อน ยิ่งทำให้น่าสนใจใคร่รู้เพิ่มขึ้น เห็นความแตกต่างระหว่างศาสตร์มากขึ้น กลายเป็นช่องว่างระหว่างศาสตร์ เพราะไปยึดติดศาสตร์ที่ตนเองเรียนรู้ แล้วเอาเกณฑ์ของศาสตร์นั้นไปตัดสินอีกศาสตร์หนึ่งอย่างขาดสติ ปัญญาเลยพร่องไป

เมื่อตอนทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยจากหลายประเทศ และโดยเฉพาะเมื่อตอนทำงานเป็นครูสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยให้อาสาสมัครหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา ก็ประสบและเรียนรู้ช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมได้มากขึ้น ทำให้เข้าใจและยอมรับความแตกต่างได้ดีขึ้น

ตอนนี้เป็นคุณพ่อของลูกชาย ๒ คนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ช่องว่างระหว่างพ่อ-ลูก ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ คล้ายๆ สมัยที่เราเป็นเด็ก เพียงแต่สถานการณ์แตกต่าง

เพราะรักและห่วงใยลูก เราจึงคอยเตือนสติและให้คำชี้แนะ แต่ลูกบอกว่าจู้จี้ ขี้ระแวง มองโลกในแง่ร้าย....

ช่องว่างระดับโลก ก็เห็นได้ชัดเจน มีการแบ่งแยกประเทศต่างๆ ออกเป็นกลุ่มๆ ตามภูมิภาค ตามความเชื่อ ตามกลุ่มเศรษฐกิจ ตามระดับการพัฒนา ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ และอื่นๆ ...
โลกนี้ช่างเต็มไปด้วยช่องว่าง ช่องว่างที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง ช่องว่างที่ขาดความเข้าใจ จึงพร่องไปในเรื่องของการยอมรับและเคารพความแตกต่าง นำไปสู่ความขัดแย้งหลากหลายรูปแบบ

ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ถูกทำให้กว้างขึ้น ภายใต้โลกาภิวัตน์ และการบังคับให้มีการแข่งขันเสรี ที่ไม่มีความยุติธรรม

การพัฒนาที่ดำเนินอยู่ นอกจากจะไม่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและภูมิธรรมของท้องถิ่นแล้ว ยังจงใจทำลายให้หมดสิ้นด้วยการกำหนดมาตรฐานโลกด้านต่างๆ ที่ฝ่ายได้เปรียบ (ประเทศที่พัฒนาแล้ว) เป็นผู้กำหนด

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนต้องตั้งคำถามกับทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาในปัจจุบัน งานวิจัยชิ้นนี้รายงานว่า ช่องว่างระหว่างการมีชีวิตรอดจากโรคมะเร็ง (Cancer Gap) ของชาวยุโรปตะวันตก (ที่รวยกว่า) กับชาวยุโรปตะวันออก (ที่ยากจนกว่า) มีเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

งานวิจัยนี้บ่งบอกถึงความได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างคนรวยกับคนจนในเรื่องของโอกาสที่จะมีชีวิตรอดจากมะเร็งโรคร้าย โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม

พัฒนาการด้านความรู้และเทคโนโลยี กำลังขยายช่องว่างชีวิตของคนรวยกับคนจนใช่หรือไม่

ดูเหมือนความร่ำรวยหรือความมั่งมี จะช่วยยืดชีวิตให้รอดจากโรคร้ายได้มากขึ้น เพราะคนรวยสามารถเข้าถึงการรักษาที่แพงกว่าได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนดีหรือคนเลว

อันที่จริง ความรวยหรือความมั่งมี อาจจะไม่ช่วยให้คนรวยคนมั่งมี มีสุขภาวะ (Well-Being) โดยเฉพาะสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual Well-Being) ที่ดีขึ้นก็ได้

บางคนยิ่งมีเงิน (ทุน) มาก ก็ยิ่งทุกข์มาก เพราะอยากมีมากขึ้น จึงต้องดิ้นรนมากขึ้น

เมื่อทำงานหรือทำธุรกิจระดับพออยู่ พอกิน พอใช้ในชุมชนแล้ว ก็อยากขยายกิจการมีเครือข่ายสาขาระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อให้เหลืออยู่ เหลือกิน เหลือใช้ ตามแนวทางของทุนนิยม และเสรีนิยม ในยุคโลกาภิวัตน์

โดยไม่เคยหยุดคิดอย่างมีสติและปัญญาว่า แนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่ความสุข (Happiness) ความสันติสุข (Peacefulness) ทั้งในระดับบุคคลคือตนเอง ครอบครัว ชุมชน ประเทศ และมวลมนุษยชาติที่แท้จริงหรือไม่

หรือลองคิดแบบสุดโต่งว่า ถ้าทุกคน ทุกชุมชน ทุกประเทศ คิดและทำไปในทางเดียวกันหมดตามแนวทางของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม โลกของเราน่าจะเต็มไปด้วยการแข่งขันมากกว่าความร่วมมือ เต็มไปด้วยการแย่งชิงความได้เปรียบมากกว่าการมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แล้วโลกของเราจะน่าอยู่จริงหรือ

การพัฒนาที่พึงประสงค์ น่าจะเป็นการพัฒนาที่เอื้อให้คนทั่วโลก มีพื้นฐานการดำรงชีวิตที่พอเพียง ในด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย ไม่ใช่ยิ่งพัฒนา ยิ่งขยายช่องว่างเพิ่มขึ้นเหมือนในปัจจุบัน

หรือเราน่าจะลองมาตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า ทำไมแนวทางการพัฒนาดังกล่าวจึงขยายช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้น

เคยสงสัยและหยุดคิดบ้างหรึอไม่ว่าทำไมคนรวยบางคนมีทรัพย์สินเงินทองมากกว่างบประมาณประจำปีของบางประเทศ

ทำไมนักกีฬา หรือดาราดังบางคนของบางประเทศมีรายได้มากกว่าครู หมอ หรือนายกรัฐมนตรี หลายพันหลายหมื่นเท่า

ทำไมนักกีฬาทีมชาติที่ได้ชัยชนะกลับมาได้รางวัลเป็นเงินมากมาย แต่ครูสอนลูกศิษย์ด้วยความรักความทุ่มเทตลอดปีมีแต่เงินเดือนที่น้อยนิด

หรือนี่คือวิปริตทางสังคม มะเร็งทางความคิดที่ก่อกำเนิดและแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม

หรือนี่คือมะเร็งทางกายภาพ ที่ก่อกำเนิดและแพร่ขยายอย่างไร้ขีดจำกัด ไร้พรมแดนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

ดูเหมือนมะเร็งร้ายกำลังเจริญเติบโตกลืนกินอวัยวะสำคัญ และความคิดของเราอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ครบวงจร อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพในเชิงทำลายล้างสูง ดังจะเห็นได้จาก

วัฒนธรรมของท้องถิ่น และความเป็นไทย กำลังถูกกลืน

ทรัพยากรท้องถิ่น และทรัพยากรของชาติกำลังถูกกอบโกยทั้งจากคน / องค์กรในประเทศ และระหว่างประเทศ

เงินและวัตถุครอบงำจิตใจ

มุ่งชัยชนะโดยการยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้แก่ผู้อื่น

ทุกอย่างขายได้ ไม่ว่าจะเป็น “สิทธิ” “ศักดิ์ศรี” และ “อวัยวะ” ของมนุษย์

คนที่ไม่รู้จักประมาณตน กลายเป็นคนมีเครดิต

คนที่ทำเรื่องที่ไม่ถูกต้องให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย กลายเป็นมืออาชีพ

คนที่สุขุมรอบคอบ กลายเป็นคนเชื่องช้าไม่กล้าตัดสินใจ ฯลฯ

เราควรจะคิดและดำเนินชีวิตตามกระแสอย่างขาดสติและพร่องปัญญา ที่ดูเหมือนจะขยายช่องว่างที่เต็มไปด้วยความแตกต่างและแตกแยก หรือเราควรจะคิดและดำเนินชีวิตอย่างรู้เท่า รู้ทัน อย่างเข้าถึงและเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่ง

มาช่วยกันเชื่อมช่องว่างที่เต็มไปด้วยความแตกต่างและแตกแยก โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านสุนทรียสนทนา และจริยประพฤติ เพื่อสร้างความเข้าใจ การยอมรับ และความเคารพระหว่างกัน ด้วยความรัก ความเมตตา และความเอื้ออาทรในแต่ละความคิดของแต่ละชีวิต เพื่อรังสรรค์ความเป็นหนึ่งบนความหลากหลาย เพื่อให้โลกนี้น่าอยู่ พออยู่ อย่างพอเพียงสำหรับทุกชีวิตและทุกสิ่ง

Back to Top