มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2550
ช่วงที่ผ่านมามีการสนทนาในหมู่เครือข่ายที่สนใจเรื่องการพัฒนาจิตบนเวบไซต์ของสถาบันขวัญเมือง เรียกว่า “วงน้ำชาเสมือน” ( www.wongnamcha.com) ที่เราสามารถพบปะสังสรรค์กันได้ทุกวัน โดยไม่ต้องอยู่ที่เดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ออกรสเหมือนได้ซดน้ำชากาแฟและเห็นหน้าค่าตาหรือได้ยินน้ำเสียงกันจริงๆ แต่ก็ได้สร้างสีสันมากมายให้กับการสืบค้นเนื้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต การพัฒนากายจิตของตัวเอง รวมถึงสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ยุคนี้
ในจำนวนผู้ร่วมสนทนา คนที่กระตือรือล้นมากที่สุดคือพี่เม (เมธาวี เลิศรัตนา) ที่มักจะนำเอาเรื่องราวดีๆ และความเข้าใจในวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่มาบอกเล่าและเทียบเคียงกับเรื่องราวของชีวิตต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่ และได้ช่วยหยิบยกงานเขียนของนายแพทย์ประสาน ต่างใจ ผู้เป็นที่ศรัทธาและเคารพยิ่งมาขยายผลทางความคิดอยู่อย่างสม่ำเสมอ
เรื่องหนึ่งที่ดูเหมือนจะกลายเป็นเนื้อเป็นตัวเธอไปแล้วคือ ทฤษฎีไร้ระเบียบหรือทฤษฎีเคออส (Chaos Theory) ซึ่งช่วยอธิบายปรากฏการณ์และพฤติกรรมของระบบธรรมชาติและจักรวาล ทั้งเล็กและใหญ่ ที่มีธรรมชาติอันซับซ้อนเกินกว่าจะสามารถทำนายหรือคาดการณ์อย่างตรงไปตรงมาได้ ยิ่งระบบเศรษฐกิจและสังคมทุกวันนี้เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น เมื่อสิ่งหนึ่งขยับอีกอย่างก็ขยับเคลื่อนไหวตาม ถือได้ว่าเป็นระบบชีวิตที่มีความไหวตัวสูงมาก อย่างที่ไม่สามารถควบคุมกำกับได้ดังใจคิด
ใครคิดจะทำอะไรทุกวันนี้อาจต้องคิดแล้วคิดอีก หลายคนต้องไปพึ่งพาเรื่องราวทางจิตวิญญาณ หรือสิ่งที่มองไม่เห็น หรืออำนาจเหนือธรรมชาติที่ไม่สามารถอธิบายได้ เพื่อนำมาเผชิญหน้ากับความโกลาหลปั่นป่วน ไร้ระเบียบแบบแผนอันชัดเจนที่ชีวิตเผชิญอยู่ อย่างเสียไม่ได้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าปรมาจารย์ทั้งหลายที่อธิบายเรื่องราวของสิ่งที่มองไม่เห็น หรือสามารถทำนายทายทักฟันธงลงไปในชีวิตอันอลหม่าน เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างมั่นใจมากขึ้น หรือแม้แต่การตลาดด้านวัตถุมงคลทั้งหลาย จึงกำลังมาแรงยิ่งกว่าสิ่งใดๆ อาจถึงคราวที่นักพูดและหมอผีทั้งหลายจะได้กลับมาเป็นผู้นำที่เริ่มน่าเชื่อถืออีกครั้งในยุคไฮเทคนี้
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเรื่องเคออสนี้ อาจช่วยทำความเข้าใจกับการดำเนินชีวิตธรรมดาไม่มากก็น้อย เพราะเป็นการมองว่า โลกเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง เชื่อมโยง เคลื่อนไหว ไม่เป็นไปได้ดัง "ใจเรา" ที่มักมีแนวทาง กรอบคิดอะไร "ชัดเจน" โลกรอบๆ ตัวเราหมุนเปลี่ยนไปในความน่าจะเป็นทั้งมวล ทว่า เราจะยินยอมให้ตัวเราได้เริงระบำไปพร้อมๆ กับความอลหม่านสับสนได้อย่างไร
เป็นเรื่องน่าแปลกว่า ช่วงที่ผ่านมานี้ผมได้รับสาส์นแห่งการเรียนรู้นี้อยู่เรื่อยๆ ราวกับว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญและต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังมีนัยสำคัญในเรื่องการบริหารองค์กรที่ต้องการให้เกิดความสร้างสรรค์ นวัตกรรม การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที ซึ่งในความเกาะติดนัวเนีย ก็ยังต้องเปิดพื้นที่ให้กับความไร้ระเบียบ ที่ถือว่าเป็นโอกาสแห่งการพัฒนา ดังที่ มาร์กาเร็ต วีทลี่ คุรุแห่งการบริหารองค์กรในกระบวนทัศน์ใหม่ ถือว่าหากไม่ยอมเชื้อเชิญเคออสเข้ามาในการทำงาน ก็อย่าได้หวังให้เกิดความสร้างสรรค์ใดๆ อีกทั้งจะไม่ช่วยให้ส่วนต่างๆ ขององค์กรได้เกิดความมุ่งมั่นในการจัดการตัวเองดังที่ระบบชีวิตพึงจะเป็นอีกด้วย
เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเข้าเรียนการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสร้างสรรค์ ๕ จังหวะกับคุณทิม โบรทัน (Tim Broughton) ถือได้ว่าเป็นกระบวนการภาวนาในกายที่เคลื่อนไหว ซึ่งช่วยพัฒนาสติ และความตื่นรู้ได้อย่างรื่นรมย์ รูปแบบของระบำภาวนาจนเหงื่อแตกนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยนักเต้นหญิง และผู้ค้นคว้าทางจิตวิญญาณชาวอเมริกัน ชื่อ กาเบรียล รอธ (Gabriel Roth) ที่ตอนนี้กำลังแพร่หลายเป็นอย่างยิ่งในสังคมยุคสมองโตแต่ตัวลีบ ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้วิถีแห่งการดูแลสภาวจิตนั้นมีความรื่นรมย์ได้ ไม่จำเป็นต้องทนทุกข์ทรมานเพื่อให้กายจิตดีขึ้นเสมอไป เพราะแม้แต่ในทางพุทธเอง ก็มิได้ส่งเสริมการปรนเปรอหรือทรมานชีวิตไปทางด้านใดด้านหนึ่ง
แต่ละจังหวะจะมีคุณภาพเฉพาะในดนตรี ซึ่งจะสื่อหรือสะท้อนโลกภายในของเราให้ออกมาในการร่ายรำ หนึ่งในจังหวะทั้งห้าคือ เคออส (Chaos) หรือจังหวะแห่งความไร้ระเบียบแบบแผน เป็นภาวะแห่งการเวียนวนอลหม่าน ไม่มีหลักยึด จะเรียกได้ว่าเป็นอนิจจังไปเสียทั้งหมดก็คงไม่ผิดนัก โดยการเต้นทำให้เรารู้สึกได้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับคลื่นพลังแห่งความปั่นป่วนนั้น เพียงแค่ยอมรับให้เราและภาวะเช่นนี้ไม่แยกออกจากกันอีกต่อไป
เมื่อย้อนกลับมามองการดำเนินชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม ความไร้ระเบียบมักกระตุ้นให้เราต้องเผชิญกับภาวะแห่งความหมิ่นเหม่ ความไม่รู้ และเปราะบาง ซึ่งเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ว่าสิ่งที่เราเห็นหรือรับรู้อยู่นั้นไม่จำต้องเป็นดังที่เราคิดหรือคาดหวังไว้ และเราต้องพร้อมที่จะถูกทำให้ "ขัดใจ" ซึ่งอาจขัดกับหลักของแนวคิดที่มุ่งเน้นเป้าหมายแน่นอน ซึ่งได้กลายเป็นแนวคิดหลักของสังคมยุคอุตสาหกรรมนิยมไปแล้ว แม้แต่บ้านเราที่เคยพึ่งพิงแนวคิดแบบ “ธรรมชาติ” และความพอเพียง และเน้นความสัมพันธ์ที่ประสมกลมกลืนกันอย่างมีส่วนร่วม ก็ยังหนีไม่พ้นการพยายามจัดการ ควบคุม แยกส่วน โดยถือว่าจะมีผลจากงานที่กระทำลงไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นแนวคิดแห่งการควบคุมกำกับโลกและชีวิตให้เป็นไปดังใจคิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างมากมายมหาศาล แต่ก็เกิดขึ้นพร้อมกับความขัดแย้งและความทุกข์เช่นกัน
การได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ที่ต้องการการเยียวยาความสัมพันธ์ภายในเพื่อพัฒนาต่อไปให้ก้าวหน้ามั่นคง โดยเอาหัวใจของความเป็นมนุษย์เป็นสาระสำคัญนั้น สิ่งที่ผมได้พบอยู่เรื่อยๆ คือ แบบแผนความสัมพันธ์หรือโครงสร้างอำนาจในองค์กรได้ก่อให้เกิดโรคร้ายแห่งยุคสมัย ผู้คนเจ็บป่วยทางความรู้สึก ความเหลื่อมล้ำสูงต่ำไม่ทัดเทียม ก่อให้เกิดอาการไม่อยากทำงาน ไร้แรงบันดาลใจ รู้สึกด้อยค่า ไม่มีส่วนร่วมในการคิดทำ ความทุกข์เหล่านี้แพร่หลาย เรื้อรัง และบางรายถึงขั้นสาหัสจนไม่อาจทนได้อีกต่อไป เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนคุณสมบัติหนึ่งขององค์กรเหล่านี้ คือการไม่สามารถยอมรับหรือยอมรับได้น้อยมากต่อภาวะไร้ระเบียบหรือการไม่สามารถจัดการต่อความเป็นองค์กรจัดการตัวเองของมนุษย์ ซึ่งจะมีผลให้เกิดความสร้างสรรค์น้อยตามไปด้วย
อาจถึงคราวที่เราจำต้องกลับมาเฝ้ามองความโกลาหลที่เกิดขึ้นอย่างสงบนิ่ง ที่มิได้หมายความว่าหยุด หากเลื่อนไหลไปกับภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างตื่นรู้และเป็นหนึ่งเดียวกันให้มากขึ้น เพื่อจะได้มองเห็นสิ่งที่ดำรงอยู่ที่ลึกลงไปจากระดับปรากฏการณ์ที่ผิวเผิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองว่าตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวและโลกที่เรามองเห็นเช่นกัน เมื่อนั้นการกระทำใดๆ ก็จะผุดออกมาจากความเป็นหนึ่งเดียวกัน มากกว่าความแยกส่วนและความขัดแย้ง
แสดงความคิดเห็น