มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2550
คำพังเพยที่ว่า “มนุษย์เอาแต่เคี่ยวเข็ญเทวดา ฝนตกก็แช่ง ฝนแล้งก็ด่า” คือคำพังเพยที่ชี้บ่งถึงพฤติกรรมมนุษย์ต่อจักรวาลแห่งปรากฏการณ์ เป็นการแสดงออกของอัตตาอหังการ์ของวัฒนธรรมหรือการดำรงอยู่ของเรา พร้อมกันนั้น คำพังเพยที่ยกมา ก็เป็นเบื้องหลังของบทความนี้ ความทระนงอวดดีของอัตตาอหังการ์ที่มนุษย์เรามีจากการนำเอาตัวเองเป็นไม้บรรทัดหรือเป็นศูนย์กลาง “มนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้ไม่เคยผิด” นั่นคือความคิดและพฤติกรรมที่ได้มาจากระดับจิตที่วิวัฒนาการเพียงครึ่งทางหรือระดับของอัตตาอหังการ์และเหตุผล ตามทฤษฎีของ เค็น วิลเบอร์ (Ken Wilber) ที่สอดคล้องกับของ ฌอน เก็บเซอร์ (Jean Gebser, self-egoic rational or mental) และนักคิดอีกหลายคน
ความคิดและพฤติกรรม - ที่ส่วนหนึ่ง - ได้กลายมาเป็นรากฐานของศิลปะและวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในปัจจุบัน ศิลปวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นกับศิลปินแต่ละคนและกับสังคมโดยรวมมาตั้งแต่เมื่อ ๔,๐๐๐ – ๕,๐๐๐ ปี ก่อนเป็นต้นมา ในด้านของศิลปะนั้น ส่วนใหญ่มากๆ จะเน้นด้านกายและวัตถุ (กำหนดโดยผู้ชมหรือคนส่วนใหญ่) ของปัจเจกชนที่เป็นศิลปินนั้นๆ พร้อมๆ กับแผ่กระจายเป็นกระแสสังคมหรือเป็นวัฒนธรรมโดยรวมของเผ่าพันธุ์หนึ่ง ก่อนจะแผ่ขยายเป็นอารยธรรมของสังคมใหญ่ในยุคสมัยต่างๆ เช่น เป็นอารยธรรมของสุเมอเรีย ของอียิปต์สมัยราชวงศ์ในยุคหลัง ของกรีกและโรมัน ของอารยธรรมตะวันตกและอเมริกัน กระทั่งได้กลายเป็นอารยธรรม “สมัยใหม่” เป็นกระแสโลกาภิวัตน์อยู่ในปัจจุบัน
นั่นคือตลอดเวลาของการดำรงอยู่ของมนุษย์ในช่วงเวลากว่า ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว นั่นคือระดับจิตแห่งอัตตาตัวตนที่หลงมัวเมาอยู่กับกายวัตถุ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงจากเส้นกร๊าฟฐานดิ่ง (vertical) เป็นเส้นกร๊าฟฐานราบ (horizontal) จากด้านลึกแห่งจิตใจสู่ด้านกว้างแห่งรูปกาย ที่ในเร็ววันนี้ กำลังก้าวสู่จุดจบของอารยธรรมกายวัตถุ จุดจบของอารยธรรม “สมัยใหม่” ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล (anthropocentric) แห่งกระบวนทัศน์เก่าหรือพาราไดม์เก่า และนั่นคือเหตุผลที่นักคิดและนักปราชญ์ระดับโลก ไม่ว่า พิตทริม โซโรกิน, ธอมัส คุห์น, เออร์วิน ลาซโล หรือแม้แต่ ฟริตจ๊อฟ คาปร้า ฯลฯ วิเคราะห์ว่าปัจจุบันนี้ สังคมโลกกำลังก้าวมาถึงจุดจบของกระบวนทัศน์เก่า - กระบวนทัศน์ของรูปกายและวัตถุ - แล้ว ขณะนี้เรากำลังย่างก้าวเข้าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ทางจิตวิญญาณแล้ว ดังที่ผู้เขียนนำมาเขียนเล่าไว้ในที่ต่างๆ ตลอดมาจนทุกวันนี้
นั่นคือการเปลี่ยนย้ายที่เราอาจมองเห็นไม่เด่นชัดนัก แต่แม้ในบ้านเรา หากมองหาให้ดี เราอาจค้นพบและมองเห็นว่า เรื่องของคุณธรรมจริยธรรมนำสังคม ความพอดีพอเพียงที่ยั่งยืน กำลังเริ่มขึ้นและท้าทายกระแสทุนและกายวัตถุอย่างรุนแรง แม้ว่าการเปลี่ยนย้ายจะยังไม่แน่นอน แต่หวังว่าจิตใจจะเอาชนะกายวัตถุในช่วงสุดท้ายโดยไม่เสียหายมากนัก เพราะเรากำลังตีจากกระบวนทัศน์เก่าที่อยู่กับเราอย่างแนบแน่นถึงกว่าหนึ่งร้อยชั่วคน ทำให้เรามีความเคยชินกับมันและคิดว่านั่นคือธรรมชาติหรือเป็นนิสัยสันดานดิบของมนุษย์ – ที่ในด้านหนึ่งไม่ได้ต่างไปจากสัตว์หน้าขนทั้งหลาย – ที่แก้ไขอะไรไม่ได้ และผู้เขียนคิดว่า การตีจากกระบวนทัศน์เก่าและการเปลี่ยนแปลงระดับโลก จากกายและวัตถุสู่จิตและจิตวิญญาณในคราวนี้ มีหลักฐานหรือเหตุผลพอจะเชื่อได้ว่า อาจจะทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่มากๆ ที่ไม่พร้อมหรือไม่เข้าใจในวัฏจักรของการเปลี่ยนแปลง ที่มีธรรมชาติและดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลาง (ecocentric) ต้องจ่ายค่าทดแทนหรือต้องประสบกับความทุกข์ทรมานด้วยภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ นานา กระทั่งต้องสังเวยด้วยชีวิตเป็นจำนวนที่ไม่น้อย ดังผู้เขียน - ที่ไม่เคยมองโลกในแง่ร้าย หรือต้องการแช่งชักหักกระดูกกำพืดหรือเผ่าพันธุ์ของตัวเอง – ได้นำเสนอเป็นบทความต่างๆ ไปมากแล้ว จึงจะไม่เล่าซ้ำในที่นี้อีก
เนื่องจากบทความนี้ เป็นเรื่องของการวิเคราะห์เฉพาะแต่ศิลปะกับวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ในยุคนี้สมัยนี้หรือกระบวนทัศน์เก่าที่กำลังจบสิ้นลงไปในช่วงเวลานี้ ศิลปะที่ส่วนใหญ่มักจะเน้นเฉพาะกายหรือวัตถุ - ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม เป็นนาฏศิลป์การแสดง เป็นภาพวาดหรืองานแกะสลัก กลอนกวี ฯลฯ - ที่เราคิดว่าเป็นความงาม ล้วนแสดงความสำคัญของกายและวัตถุ หรือความจริงตามที่ตาเห็น (vision-logic) ของจักรวาลแห่งปรากฏการณ์ หรืออย่างดีอาจจะมีความหมายด้านลึกซ่อนเร้นเอาไว้บ้าง เช่น ภาพวาดในเชิงนามธรรม (abstract) แต่ความหมายลึกๆ หรือคุณค่าแท้จริงนั้นๆ ก็มักจะถูกซ่อนจนแม้แต่เจ้าของผู้สร้างงานศิลปะเองบางคน อาจไม่สามารถอธิบายความลึก (depth) อันซ่อนเร้นอยู่ภายในให้ผู้ชมเห็นเป็นเช่นเดียวกัน – ในทุกๆ ครั้ง - ได้อย่างเป็นเอกภาพ
อย่างไรก็ตาม จากผลของการวิจัยหลากหลายในช่วงเวลาที่ยาวนาน ทำให้นักจิตวิทยาและนักสังคม-มนุษย์วิทยาส่วนหนึ่งเชื่อว่า วิวัฒนาการของจิตแห่งปัจเจกของมนุษย์แต่ละคน กับวิวัฒนาการของจิตแห่งสังคมโดยรวมหรือวัฒนธรรมนั้น ไม่ได้เป็นผลที่มีเหตุปัจจัยสืบเนื่องระหว่างกัน คือไม่ใช่ว่าเพราะจิตและพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลเป็นสาเหตุที่ก่อผลให้กับสังคมโดยรวม หรือไม่ใช่จิตแห่งปัจเจกสร้างวัฒนธรรม ทั้งไม่ใช่ในทางกลับกัน ว่าวัฒนธรรมเป็นกรอบหรือก่อให้จิตของแต่ละปัจเจกบุคคลวิวัฒนาการตามสังคมโดยรวมไปในทีหลัง แต่ทั้งสอง – ปัจเจกและโดยรวม – ต่างวิวัฒนาการไปพร้อมๆ กันและสัมพันธ์กัน จากสนามจิตร่วมสากล (หรือสนามจิตร่วมของเผ่าพันธุ์) เช่น สนามเอ็ม-ฟิลด์ (m-field) ของ รูเพิร์ต เชลเดรก จิตไร้สำนึกที่ต่อเนื่องของจักรวาล หรืออาร์คีไทป์ (unconscious continuum or archetype) ของคาร์ล จุง ตามที่นักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยาจำนวนหนึ่งเชื่อในปัจจุบัน (Sheldrake, Jung, Habernas, Gebser, Erich Jantsch, Ken Wilber, etc.) นั่นคือ ทั้งจิตแห่งปัจเจกและจิตร่วมแห่งสังคม หรือวัฒนธรรม ต่างมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน และวิวัฒนาการไปด้วยกันและพร้อมๆ กัน โดยเริ่มมาตั้งแต่มีมนุษย์คนแรก (โฮโมซาเปียนส์) เกิดขึ้นบนโลก และมีวิวัฒนาการผ่านระดับจิตต่างๆ จากจิตดึกดำบรรพ์หรือระดับธรรมชาติหยาบดิบ (archaic or nature) สู่ระดับมายกลหรือหลับลึก (magic) สู่ระดับนิยายปรัมปรา หรือหลับใหล (mythic) และสู่ระดับจิตแห่งอัตตาอหังการ์ (self-rational) ที่เน้นการแข่งขันและการเอาชนะธรรมชาติ เน้นกายวัตถุและเทคโนโลยี นั่นคือระดับจิตที่มีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อกว่า ๔,๐๐๐ ปีก่อนและยังคงมีอยู่กับเราตราบปัจจุบัน
ส่วนในด้านวัฒนธรรมโดยรวมของสังคมใหญ่ หรืออารยธรรม “สมัยใหม่” ซึ่งได้กลายเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน (ที่เน้นกายกับวัตถุเหมือนกัน เช่น งานศิลปะของปัจเจกบุคคลที่กล่าวมาข้างบน) ก่อนอื่น เราต้องรู้ว่าธรรมชาติของจักรวาลหรือสังสารวัฏนั้น ล้วนเป็นอนิจจัง – คือไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงโดยเชื่อมโยงกันกับทั้งหมดตลอดเวลา - รูปกายหรือวัตถุก็เช่นนั้น จิตหรือจิตวิญญาณก็เช่นนั้น
ดังนั้น เราจะหวังให้จิตของมนุษย์ ไม่ว่าโดยปัจเจกหรือโดยรวมที่หมายถึงวัฒนธรรมมีความเสถียรคงที่เป็นอสังขตธรรมเหมือนกับนิพพานคงไม่ได้ จึงย่อมจะเหมือนกับธรรมชาติอื่นที่ไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ดังที่นักคิดนักปราชญ์ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ตั้งแต่เริ่มมนุษย์หรือโฮโมซาเปี้ยนส์คนแรกมีขึ้นมาบนโลก จิตของปัจเจกบุคคลและจิตของสังคมโดยรวมหรือวัฒนธรรมต่างได้เปลี่ยนแปลงระดับมาตลอด (จากระดับอาร์เขก สู่ระดับเมจิก สู่ระดับมีตธิก (archaic - magic - mythic)) จนกระทั่งมาเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อ ๔,๐๐๐ กว่าปีก่อน เป็นระดับตัวตนและเหตุผลตามที่ตาเห็น และคงอยู่ในระดับนั้นจนวันนี้ เพราะฉะนั้นอารยธรรมในกรอบที่ใหญ่กว่าก็ดี หรือวัฒนธรรมในกรอบที่เล็กกว่าก็ดี หรือศิลปะในด้านของปัจเจกก็ดี ทั้งหมดต่างก็ได้ความคิด มโนทัศน์ และพฤติกรรมจากระดับจิตที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ - ประสานเป็นความเจริญงอกงามของระบบและสถาบัน ของชุมชนและดินแดน เข้ากับความงดงามของวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของเผ่าพันธุ์ที่ได้มาจากคุณธรรมจริยธรรม (morality) อันเป็นหลักที่ยึดเหนี่ยวให้เผ่าพันธุ์หรือสายพันธุ์นั้นๆ สามารถดำรงชีวิตร่วมกัน – นั้นคือลักษณะรูปแบบของสังคมประเทศชาติและวัฒนธรรมหลากหลายของกระบวนทัศน์เก่าที่เรามีอยู่ตั้งแต่กว่า ๔,๐๐๐ ปีก่อนจนบัดนี้
ซึ่งสำหรับปัจเจกบุคคล นั่นคือระดับจิตแห่งอัตตาอหังการ์และเหตุผลดังที่ได้กล่าวมา และสำหรับวัฒนธรรมและอารยธรรมที่มีวิวัฒนาการระดับเดียวกัน นั่นคือการแยกส่วนแยกดินแดนเป็นสังคมเป็นประเทศชาติที่มีภาษา ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี เรียกว่าวัฒนธรรม (หรืออารยธรรมในกรอบที่ใหญ่กว่า) ดังที่เป็นอยู่ทั่วไปในโลกปัจจุบัน
และทุกวันนี้ เรากำลังเปลี่ยนย้ายรูปแบบทางสังคมวัฒนธรรมที่ว่านั้น จากกระบวนทัศน์เก่าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ หรือจากระดับจิตแห่งตัวตน (personal) และเหตุผล สู่ระดับผ่านพ้นตัวตน (transpersonal) ระดับธรรมจิตหรือจิตวิญญาณระดับแรกๆ (spirituality) อันเป็นเส้นทางต้นๆ สู่นิพพาน ซึ่งสำหรับจิตแห่งปัจเจกและสังคมโดยรวมล้วนเป็นเช่นนั้น ดังที่ผู้เขียนเคยนำมาเล่า เรียกว่า “ผู้สร้างสรรค์วัฒนธรรม” (Cultural Creatives or CC - Paul H. Ray) ในสหรัฐอเมริกาและในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมมากๆ ของยุโรป และเป็นระดับเดียวกับวิวัฒนาการของจิตแห่งสังคมหรือวัฒนธรรมที่กำลังก่อตัวอยู่ในที่ต่างๆ เช่น ความประหนึ่งเป็นคนชาติเดียวกันและวัฒนธรรมเดียวกันของชาวยุโรป – ที่ไม่ว่าประชาชนของยุโรปเหล่านั้นจะมาจากประเทศใดหรือมีวัฒนธรรมย่อยๆ ของตนอย่างไร -
ในอีกด้านหนึ่ง และดังที่นักคิดนักเขียนส่วนมากได้กล่าวไว้ ระดับจิตแห่งปัจเจกบุคคลระดับใหม่นี้ - หากวิวัฒนาการทางจิต (ที่ร่วมกันมากับกายหรือชีววิวัฒนาการตั้งแต่ต้น) ต้องใช้เวลานานกว่าวิวัฒนาการของกายที่เพิ่งจะวิวัฒนาการมาได้เพียงครึ่งทางดังที่เรามีอยู่ในเวลานี้ – คือกว่าที่เราทุกคนจะมีวิวัฒนาการทางจิตถึงนิพพานได้ และกว่าจิตของสังคมหรือวัฒนธรรมจะสามารถก้าวสู่ระดับเดียวกันได้หรือเป็นอารยธรรมใหม่ของโลกได้ คงต้องใช้เวลายาวนานใกล้เคียงกัน - ไม่ว่าเราจะเรียกยุคสมัยนั้นว่า ยุคพระศรีอารยเมตไตรย เมสไซย่า แชงการิลล่า หรือนิวเยรูซาเล็ม หรืออย่างไร - ทั้งหมดนั้น แทบจะทุกศาสนาได้มีระบุไว้ จนดูประหนึ่งว่า ชื่อของยุคเหล่านั้น เป็นชื่อเดียวกันของอารยธรรมโลกในอนาคตที่ไกลโพ้น
แสดงความคิดเห็น