คู่มือหมอมนุษย์

โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2550

วิชาแพทย์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับความรุดหน้าทางเทคโนโลยี วิทยาการสาขาอื่นๆ เพราะเมื่อมนุษย์ค้นพบอะไรใหม่ๆ การนำกลับมาใช้ประโยชน์กับตัวมนุษย์เองจะอยู่ในความสำคัญระดับต้นๆ ดังนั้นเราจึงได้ยิน ได้อ่านข่าวสารเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ที่ใช้องค์ความรู้ล่าสุดจากวิทยาศาสตร์สาขาใหม่ๆ อยู่เกือบตลอดเวลา ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังสูงขึ้นต่อมาตรฐานการตรวจ วินิจฉัย และการรักษาโรค หมอที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เพียงแค่เปิดคู่มือการใช้เครื่องมือก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ เครื่องมือพิเศษบางประเภทสามารถตรวจวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ สามารถหารอยโรคได้ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม หรือในบางกรณี สามารถบอกโรคได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ หรืออาการแสดงของผู้ป่วยเลย ใครๆ ก็เกิดความรู้สึกต้องการอยากจะได้ประโยชน์จากการตรวจวินิจฉัยจากเครื่องมือพิเศษเหล่านี้มากขึ้น

การที่แพทย์มีเครื่องมือเหล่านี้ช่วย เป็นผลดีอย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีข้อควรคำนึง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใหม่ๆ เข้ามาแทนกิจกรรมที่แต่เดิมทำโดยมนุษย์ ในกรณีนี้คือ ศิลปะการสัมภาษณ์ การตรวจร่างกายของคนไข้ เพื่อนำมาซึ่งการวินิจฉัย อันเป็นศิลปศาสตร์ที่สำคัญในการเป็นแพทย์ เราต้องพิจารณาให้ดีว่า เครื่องมือเหล่านั้น “ได้ให้” ทุกสิ่งทุกอย่างทดแทนได้ทั้งหมดจริงหรือไม่
เมื่อคนๆ หนึ่งเจ็บป่วย จนกระทั่งตัดสินใจว่าจำเป็นต้องไปหาความช่วยเหลือจากหมอ ความทุกข์นั้นมักจะมีความรุนแรงที่มากพอสมควรทีเดียว การไปพบหมอ ไม่ใช่กิจกรรมที่สุนทรีย์สำหรับคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการไปหาหมอที่คลินิก หรือที่โรงพยาบาล ทั้งของรัฐบาล หรือของเอกชนก็ตาม คนไข้เมื่อไปพบหมอ อาจจะเป็นหมอที่ไม่เคยพบเห็นหน้าค่าตามาก่อน ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมาก่อน เป็นการเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้า ที่ถามคำถามต่างๆ มากมาย บางคำถามก็เป็นเรื่องส่วนตัว ที่แม้แต่คนใกล้ชิดของคนไข้เองก็อาจจะไม่เคยได้รับการบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้มาก่อน เสร็จแล้วก็ยังต้องให้คนแปลกหน้าท่านนี้ตรวจร่างกายของเราอย่างละเอียดลออ ยอมหมดทุกอย่าง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะ “ความไว้วางใจ” กระนั้นหรือ? ถ้าใช่ ความรู้สึกไว้วางใจนี้เกิดขึ้นมาจากไหน? เพราะเราเองก็ไม่เคยรู้จักหมอคนนี้มาก่อนเลย

เมื่อเกิดกิจกรรมปฏิสัมพันธ์กันระหว่างหมอและคนไข้ ตั้งแต่ครั้งแรกสุด และทุกๆ ครั้งต่อๆ มา หมอจะมีการประเมินคนไข้ตลอดเวลา ตั้งแต่วินาทีแรกที่พบกัน มีการสำรวจรูปร่าง หน้าตา อายุอานาม การแต่งกาย การพูดจา สำนวน สำเนียง กิริยาอาการต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการรวบรวมข้อมูล แต่ในขณะเดียวกัน คนไข้ก็ทำอย่างเดียวกับหมอเหมือนกัน มีการสังเกตสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วเหมือนกัน เพราะนี่คือช่วงเวลาที่หมอและคนไข้กำลังสร้างความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และปฏิสัมพันธ์นี้เองที่เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ (doctor-patient relationship) และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้น (หรือไม่เกิดขึ้น) ระหว่างนี้ก็คือ ความไว้วางใจ นั่นเอง คนเราจะมีความไว้วางใจกับคนที่มีกิริยามารยาทดี พูดจาไพเราะอ่อนหวาน มีความจริงใจ ที่แสดงออกมาทั้งทางวาจา และทางอวจนภาษา ได้แก่ ภาษากาย ทุกรูปแบบ และความไว้วางใจนี้เองมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้เกิดความร่วมมือ ให้ประวัติที่ถูกต้อง เข้าใจในโรคที่เป็น ยอมทำตามที่หมอได้แนะนำ และสามารถบอกเล่าถึงความกังวล ความไม่แน่ใจ ความทุกข์ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหมอสามารถนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบเป็นการรักษาที่สมบูรณ์แบบ และเป็นองค์รวมได้ดีที่สุด

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีสูงสุดแค่ไหน ก็ไม่สามารถจะสร้างขึ้นมาแทนที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันได้

ดังนั้น คนที่จะเรียนและทำหน้าที่เป็นหมอที่ดีต่อไปในอนาคต ถึงแม้ว่าจะต้องติดตามความก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆ ให้ดี ศึกษาและเข้าใจในข้อบ่งชี้และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยคนไข้ให้ได้มากที่สุดก็ตาม แต่หมอไม่ใช่แค่เทคนิเชียน หรือเพียงคนที่ใช้เครื่องมือเป็น แต่หมอจะต้องเป็น มนุษย์ที่แท้ ที่มีจิตใจเมตตากรุณา ที่มีความสามารถปลูกสร้างความสัมพันธ์อันดี ได้กับคนทุกรูปแบบ สร้างความไว้วางใจได้กับคนทุกชั้นวรรณะ เวลาที่หมอได้เพิ่มมาจากการมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะต้องทุ่มเทให้กับกระบวนการกิจกรรมต่างๆ ที่จะเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างหมอกับคนไข้ให้ดีที่สุด เราจะต้องไม่ยอมให้การมีเครื่องมือที่ดี กลายเป็นเรื่องของการเพิ่มยอดจำนวนคนไข้ที่จะตรวจเพิ่มขึ้นได้เท่านั้น แต่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะใช้เวลา ทำความรู้จัก กับคนไข้ที่กำลังทุกข์อยู่นั้นให้มากขึ้นต่างหาก

ในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่าง วิ่งไปอย่างรวดเร็ว มนุษย์ก็ยังต้องการความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ยังต้องการความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่ไม่ใช่แค่ ความสัมพันธ์โดยอาชีพ (professional relationship) เท่านั้น แต่เป็น สัมผัสของมนุษย์ (human touch) ที่จะช่วยสอดประสานสังคมให้ดี ให้อยู่รอดได้อย่างมีความสุข คู่มือที่หมอควรจะเปิด จึงไม่เพียงแค่คู่มือการใช้เครื่องมือวิเศษพิสดารในปัจจุบันเท่านั้น แต่เป็นคู่มือการดำรงชีวิตอยู่ คู่มือการอยู่ในสังคม คู่มือการสื่อสารอย่างมีเมตตากรุณา เหล่านี้จึงเป็นคู่มือหมอมนุษย์ที่แท้จริง

Back to Top