เสียง ความทรงจำกับอำนาจ


โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2550

ศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตซึ เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตผู้มีมุมมองและทำการศึกษาเรื่องเสียงและโสตนิเวศ (Acoustic ecology) ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการวิจัยเกี่ยวกับประสบการณ์และความหมายในโลกของเสียงที่เรียกว่า Soundscape ที่ท่านได้ร่วมศึกษากับคุณเคอิโกะ โทริโกเอะ ผู้เป็นภรรยา

ความที่มีพื้นฐานการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้ท่านต้องไปเกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบของเสียงที่มีต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คน จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกคนหนึ่ง แต่ประสบการณ์การวิจัยที่โอกินาวา ได้ทำให้การศึกษาเรื่องเสียงของศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตซึ ขยายขอบเขตจากเรื่องคุณสมบัติและผลกระทบทางกายภาพของเสียงไปสู่มิติทางสังคมวัฒนธรรมและความเป็นมนุษย์

การที่ศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตซึ ต้องไปเกี่ยวข้องกับโอกินาวาก็เพราะมีฐานบินของกองทัพอากาศอเมริกามาตั้งอยู่ที่นั่น และเสียงของเครื่องบินรบที่ขึ้นลงอย่างไม่เกรงอกเกรงใจชาวบ้านที่เคยอยู่อาศัยอย่างสงบสุขมาก่อน ได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของชุมชนที่ต้องทนทุกข์อยู่กับเสียงเครื่องบินรบที่พุ่งทะยานแผดเสียงสนั่นหวั่นไหวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

การไปศึกษาผลกระทบของเสียงเครื่องบิน ทำให้ศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตซึ ได้เรียนรู้ว่า เสียงของเครื่องบินนั้นไม่ได้มีแต่ “ความดัง” เท่านั้นที่คุกคามสุขภาพ แต่ยังมี “ความหมาย” ที่ทำร้ายและทำลายความผาสุกของชาวบ้านได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ความหมายที่ว่านี้ ก่อกำเนิดขึ้นจากประวัติศาสตร์การต่อสู้และการกดขี่ข่มเหงของมหาอำนาจที่กระทำต่อคนท้องถิ่นโอกินาวามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

เป็นประวัติศาสตร์ที่จดจารึกเป็นความทรงจำของสังคมในหลายรูปแบบ

ในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา โอกินาวาถูกมหาอำนาจสับเปลี่ยนกันเข้าครอบครอง จากการเป็นประเทศราชของอาณาจักรจีน มาถูกครอบครองโดยญี่ปุ่น และถูกยกให้อยู่ใต้อำนาจของสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และกลับคืนสู่การปกครองของญี่ปุ่นอีกครั้งเมื่อสัญญาการอยู่ใต้อำนาจของสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดลง ตลอดประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ผ่านมา โอกินาวาได้สะสมความเจ็บปวดและความขมขื่นจนกลายเป็นความทรงจำที่แฝงฝังอยู่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรม

มรดกทางวัฒนธรรมของโอกินาวาจึงเต็มไปด้วยร่องรอยและเรื่องราวที่ตอกย้ำความทรงจำของการถูกกดขี่

ช่วงที่ญี่ปุ่นแผ่อำนาจเข้ายึดครองโอกินาวานั้น ผู้ปกครองชาวญี่ปุ่นใช้อำนาจบังคับไม่ให้ชาวโอกินาวามีอาวุธไว้ในครอบครอง และห้ามไม่ให้มีการฝึกซ้อมอาวุธหรือศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เพื่อไม่ให้ชาวโอกินาวาสามารถกระด้างกระเดื่องต่ออำนาจของตน ชาวโอกินาวาจึงต้องแอบฝึกซ้อมฝีมือการต่อสู้ด้วยการประยุกต์ท่าเต้นรำและการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมเพื่ออำพรางการฝึกฝนด้านการทหาร

การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของโอกินาวาจึงเต็มไปด้วยท่วงทำนองของการต่อสู้ เช่น การเต้นรำที่มีการใช้กลอง การจัดรูปขบวนสวนสนาม และการใช้ไม้พลองประกอบการแสดงด้วยท่วงท่าที่เข้มแข็ง

เป็นศิลปะที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของการกดขี่และการต่อต้านอำนาจ

นักท่องเที่ยวที่ไปโอกินาวามักนิยมซื้อเครื่องแก้วที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น ที่นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังดูแปลกตาอีกด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นแก้วน้ำ แจกัน หรือภาชนะแก้วอื่นๆ ก็มักทำเป็นแก้วหลากหลายสีสันผสมกัน โดยเฉพาะสีขาวใสและสีเขียวกับสีแดง คล้ายสีขวดเบียร์ที่เราใช้ในปัจจุบัน เครื่องแก้วเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของโอกินาวาเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองมานี่เอง

เพราะในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่สองนั้น กองกำลังฝ่ายพันธมิตรได้โจมตีโอกินาวาอย่างหนัก ญี่ปุ่นซึ่งกำลังเพลี่ยงพล้ำเลือกที่จะใช้โอกินาวาเป็นแนวต้าน โดยระดมกำลังคนในท้องถิ่นทั้งคนหนุ่มสาวและเด็กๆ ไปเป็นทหาร เพื่อตรึงกำลังฝ่ายพันธมิตรไว้ไม่ให้รุกต่อไปยังเมืองหลวงได้ ชาวโอกินาวาจำนวนมากต้องล้มตายไป บ้านเมืองถูกเผาไหม้พินาศเป็นเถ้าถ่านและถูกระเบิดทำลายอย่างย่อยยับ

หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ผู้คนต่างดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด อาศัยข้าวของจากเศษซากปรักหักพังของบ้านเรือนเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต

เศษแก้ว ขวด และกระจกแตกจากบ้านเรือนที่ถูกระเบิดทำลาย ถูกกวาดรวมกันเพื่อนำมาหลอมเป็นภาชนะขึ้นใช้ใหม่ จากเศษแก้วเศษกระจกหลากสีผสมกันเผาหลอมใหม่ กลายเป็นแก้วเนื้อสีผสมที่มีทั้งสีเขียวและสีแดงจากขวดเหล้า ขวดเบียร์หรือขวดซี่อิ้ว กับสีขาวใสของกระจกที่แตกตามบ้านเรือนปะปนกันอยู่ในเนื้อเครื่องแก้ว ดูเป็นเอกลักษณ์หลากสีและสวยงามไปอีกแบบ

เป็นศิลปะที่บอกเล่าประวัติศาสตร์อันโหดร้ายของสงคราม

ศิลปะแห่งโอกินาวาไม่ว่าจะเป็นการแสดงหรือเครื่องแก้ว จึงเป็นความงามที่แยกไม่ออกจากความบอบช้ำและการกระทำย่ำยีของมหาอำนาจ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลญี่ปุ่นยกโอกินาวาให้อเมริกาจัดตั้งเป็นฐานทัพ ทหารสหรัฐจำนวนมากเข้ามาอยู่อาศัยในฐานะเจ้าของประเทศ ในขณะที่ชาวโอกินาวากลายเป็นประชากรระดับสอง เงินใช้เงินดอลล่าร์ ภาษาใช้ภาษาอังกฤษ วิทยุโทรทัศน์เป็นรายการสำหรับสังคมอเมริกัน ทหารใช้อำนาจบาตรใหญ่กับคนท้องถิ่น เพราะเมื่อมีเหตุวิวาท ก็จะถูกนำขึ้นศาลทหารของตนเองที่พิจารณาคดีด้วยภาษาอังกฤษและตัดสินด้วยกฎหมายอเมริกัน

ซ่องและสถานเริงรมย์เปิดให้ทหารอเมริกันมาเที่ยวและเสพสังวาสกับลูกหลานชาวโอกินาวา หลายแห่งตั้งชื่อเชิญชวนให้ทหารอเมริกันมาล่าและพร่าพรหมจรรย์ของสาวท้องถิ่น

เด็กสาวลูกหลานชาวบ้านถูกทหารอเมริกันข่มขืน ในขณะที่เครื่องบินรบกรีดเสียงกัมปนาทบาดหู เป็นประสบการณ์เลวร้ายของเสียงซ้ำซากในชีวิตประจำวัน

ศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตซึ ศึกษาผลกระทบของเสียงที่ทำให้เด็กทารกเกิดมามีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าปกติ เด็กนักเรียนมีความจำเสื่อม ผู้ใหญ่เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพจิต และการดำเนินชีวิตประจำวัน

แต่เสียงของเครื่องบินรบที่พุ่งทะยานขึ้นตลอดวันตลอดคืน มีมากกว่าผลกระทบทางกายภาพเหล่านี้

ศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตซึ ได้ทำการวิจัยและได้ต่อสู้ร่วมกับชาวโอกินาวาในการเรียกร้องค่าชดเชยและการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมากว่าสามสิบปีแล้ว และได้บทเรียนสำคัญที่ว่า ผลกระทบของเสียงนั้นไม่ใช่มีแค่ระดับ “ความดัง” หรือเดซิเบลเท่านั้น เพราะมันเป็นเสียงที่แยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์และความทรงจำของการกระทำย่ำยีต่อคนท้องถิ่น มันจึงมี “ความหมาย” และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ข่มเหงที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้มากยิ่งกว่าความดังที่น่ารำคาญเสียอีก

และการใส่ใจกับความหมายที่แยกไม่ออกจากความทรงจำและประวัติศาสตร์นี้เอง ที่จะช่วยให้เราเข้าใจความทุกข์และเห็นถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่ถูกละเมิดและถูกกระทำย่ำยีจากประสบการณ์เสียงในชีวิตประจำวันได้

Back to Top