มิติใหม่ในการดูแลสุขภาพ:
เติมหัวใจในการเยียวยา ให้คุณค่าและถนอมรักษาความเป็นมนุษย์

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 สิงหาคม 2550

ผู้เขียนในฐานะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โชคดีมีโอกาสไปศึกษาดูงานและเข้าร่วมประชุมเรื่องมิติใหม่ในการดูแลสุขภาพ (Conference on New Dimensions in Healthcare) ที่ Academy For A Better World (วิชชาลัยเพื่อโลกที่ดีกว่า) ประเทศอินเดีย ได้ประสบการณ์ที่มีคุณค่า แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ (๑๒-๑๖ กค. ๒๕๕๐) แต่ก็น่าจะนำมาเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

การไปครั้งนี้ ผู้เขียนเตรียมตัวเตรียมใจให้ว่างพร้อมที่จะรับและเรียนรู้เต็มที่ ไม่เคยฝึกสมาธิอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนมาก่อน ก็ได้มีโอกาสและตั้งใจฝึกและเรียนรู้การทำสมาธิแบบราชาโยคะ กินมังสวิรัติแบบอินเดียทั้ง ๕ วัน ทำให้สงบ สว่าง สุขใจ และเบาดัวไปเยอะ

อยากจะเขียนเล่าประสบการณ์และผลการสะท้อนความคิดทั้งหมดของผู้เขียน แต่เนื้อที่ของบทความมีน้อย จึงจะขอสรุปภาพรวมของโปรแกรมการประชุมสัมมนา วิธีการหลักที่เขาใช้ แล้วโยงเข้าสู่ประเด็นหลักของหัวข้อการประชุมสัมมนา คือมิติใหม่ในการดูแลสุขภาพ

โปรแกรมการสัมมนามี ๕ วัน เริ่มตั้งแต่ ตี ๔ จนถึง ๔ ทุ่ม สาระสำคัญมีอยู่ ๓ ส่วนใหญ่ ส่วนแรกเป็นเรื่องสมาธิแบบราชาโยคะ มีการทำสมาธิด้วยตัวเองและฝึกการทำสมาธิแบบมีผู้ชี้นำ (Guided Meditation) มีการบรรยายสาระเกี่ยวกับสมาธิแบบราชาโยคะ ๕ ครั้ง ครั้งละ ๑ ชั่วโมง ภายใต้หัวข้อ Meditation Session I-V ครอบคลุมเนื้อหา ๕ เรื่องได้แก่ Discovering Original Spiritual Identity, Awareness of Supreme Being, Method and Basis of Rajyoga, Understanding the Call of Time, และ Understanding the Tree of Religions

สาระในส่วนแรกนี้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นหัวใจของการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ อย่างมีสติและอย่างมีสันติสุข ในตอนเช้าของแต่ละวันจะเริ่มต้นด้วยการทำสมาธิ ทุกช่วงของแต่ละหัวข้อหรือกิจกรรมจะเริ่มต้นและปิดท้ายด้วยการสงบเงียบ (Silence) และกล่าวคำว่า OHM SHANTI (โอม ชานติ - ขอให้มีศานติสุข)

ส่วนที่สองเป็นเรื่องความรู้และทักษะที่สำคัญในการสร้างและพัฒนามิติใหม่ทางการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เนื้อหาครอบคลุมหลายเรื่องเช่น ทักษะในการเป็นผู้นำ มิติด้านคุณค่า (Values) และมิติด้านจิตวิญญาณ (Spirituality) ในการดูแลสุขภาพและการบำบัดรักษาผู้ป่วย

ส่วนที่สามเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงทางการแพทย์และพยาบาล เช่นเรื่อง Soul-Mind-Body Medicine และ Coronary Artery Disease: Present Scenario มีการนำเสนอเรื่องและตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ (Success Stories and Cases) ของการนำมิติใหม่ทางการดูแลสุขภาพไปใช้กับคนไข้ จุดเน้นคือการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ (Health) และการเยียวยา (Healing) เป็นอันดับแรก ควบคู่กันไปกับ การวินิจฉัยโรค (Disease) และการรักษา (Treatment) วิทยากรเป็นแพทย์และพยาบาลที่มีประสบการณ์การทำสมาธิแบบราชาโยคะ ๑๐-๒๐ ปีขึ้นไป

วันสุดท้ายทีมไทยขอไปดูงานที่โรงพยาบาล The Global Hospital and Research Center เป็นโรงพยาบาลที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้บรรยากาสที่สงบ เรียบง่ายในชนบท และได้รับสนับสนุนโดยสมาชิกของ บราห์มา กุมารี (Brahma Kumaris) ตั้งแต่ปี คศ. ๑๙๙๑ โรงพยาบาลนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้บริการด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Healthcare) ที่มีคุณภาพสูงแก่คนในชุมชนและบริเวณโดยรอบ เป็นโรงพยาบาลต้นแบบที่นำเอาแนวคิดและคำสอนของ บราห์มา กุมารี ไปใช้ในการดูแลสุขภาพอย่างได้ผลดี น่าจะมีคนในวงการสาธารณสุขของไทยไปศึกษาดูงานที่นี่อย่างจริงจังบ้าง เพี่อจะได้นำเอาแนวคิดที่เป็นมิติใหม่ในการดูแลสุขภาพมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทย ที่น่าสนใจมากก็คือ โรงพยาบาลแห่งนี้ให้คำปรึกษาแก่คนไข้นอกโดยไม่คิดค่าบริการ ให้การรักษาคนไข้นอกฟรีประมาณ ๗๕% ของคนไข้ทั้งหมด มีการส่งทีมแพทย์และพยาบาลออกไปให้บริการฟรีถึงที่บ้านของคนในชุมชนต่างๆ ทุกๆ สองสัปดาห์ หากพบผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ก็จะมีการจัดรถไปรับ และมีเตียงที่กันสำรองให้คนไข้ในชุมชน ๓๐ เตียง จากทั้งหมด ๑๒๐ เตียงตลอดเวลา ผู้ป่วยที่ยากไร้ได้รับบริการฟรีทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอกหรือใน

โปรแกรมที่ Academy For A Better World จัด และการให้บริการการดูแลสุขภาพที่โรงพยาบาล มีแนวคิด และจุดเน้นร่วมอย่างน้อยที่สุดในเรื่องต่อไปนี้คือ

การคิดทางบวก (Positive Thinking) ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ดี (Positive Lifestyle) จิตอาสาและอาสาสมัคร มีการหยุดคิดทบทวนในสิ่งที่ทำไปเป็นระยะๆ ที่เขาเรียกว่า การควบคุมจราจร (Traffic Control) ทางความคิด การให้คุณค่าในความเป็นมนุษย์ และที่สำคัญคือการทำสมาธิแบบราชาโยคะที่เน้นว่าแต่ละคนคือดวงวิญญาณ (Soul) ที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับดวงวิญญาณสูงสุด (Supreme Soul)

ก่อนกลับได้มีโอกาสแวะซื้อหนังสือและของที่ระลึก ผู้เขียนสังเกตเห็นข้อความดีๆ ที่ติดไว้รอบบริเวณผนังห้องของร้านมากมาย ที่ประทับใจมากที่สุดคือข้อความนี้ Keep Peace in Mind, Love in Heart, Happiness in Relationship เมื่อผู้เขียนนำมาเล่าให้ที่ประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ฟัง และขอความกรุณาท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ช่วยถอดความเป็นภาษาไทยให้ อาจารย์ก็ถอดความเป็นบทกลอนที่แสนจะไพเราะในทันที สมกับที่เป็นราชบัณฑิต

แฝงฝังสันติในดวงจิต
ความรักจงสถิตในใจฉัน
ความสุขในความสัมพันธ์
เป็นศรัทธาคงมั่นแห่งวิญญาณ


การเข้าร่วมประชุมสัมมนา และการดูงานที่โรงพยาบาลผนวกกับการได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหาร และวิทยากรของบราห์มา กุมารี ผู้เขียนขอสรุปเอาเองว่า มิติใหม่ของการดูแลสุขภาพนั้น หัวใจสำคัญคือ

เติมหัวใจในการเยียวยา ให้คุณค่าและถนอมรักษาความเป็นมนุษย์
PUTTING HEART INTO HEALING, COMPASSIONATELY CREATING HUMANISED HEALTHCARE

Back to Top