ทะเลแห่งความคิด

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2550

ในการประชุมครั้งหนึ่ง เรื่องการศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ พญ. สุมาลี นิมมานนิตย์ เล่าให้ฟังว่า มีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท (Neuro Science) ไปถามองค์ทะไลลามะว่า “ทำไมคนคนหนึ่งถึงฆ่าตัวตาย” องค์ทะไลลามะซึ่งมักจะอธิบายคำถามต่างๆ ด้วยธรรมะอย่างรวดเร็ว แต่กับคำถามนี้ท่านเงียบไปครู่หนึ่ง แล้วตอบว่า “I don’t know (เราไม่รู้)” ผู้เชี่ยวชาญคนนั้นก็เกิดอาการโกรธ คิดว่าท่านแกล้ง จึงถามว่า “ทำไมท่านไม่รู้” องค์ทะไลลามะก็บอกว่า “ความคิดมนุษย์นั้นมากมายกว่าพันล้านความคิด เราไม่สามารถรู้ความคิดทั้งหมดนั้นได้ และเราก็ไม่รู้ว่าความคิดไหนถึงทำให้คนคนหนึ่งฆ่าตัวตาย” ผู้เชี่ยวชาญแย้งกลับว่า “แต่มีงานวิจัยระบุว่า ความคิดและอารมณ์ต่างๆ เกิดจากปฏิกิริยาเคมีในสมอง รวมทั้งความคิดฆ่าตัวตายก็น่าจะเป็นผลจากปฏิกิริยาเคมี” องค์ทะไลลามะจึงถามกลับว่า “ในทางกลับกัน ความคิดและอารมณ์ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีในสมองได้ไหม” ผู้เชี่ยวชาญคนนั้นตอบไม่ได้ ว่าแล้วก็เก็บกระเป๋า ตามไปเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่รู้กับองค์ทะไลลามะ

จากเรื่องเล่าข้างต้น กระทบใจของผู้เขียนในตอนนั้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจากการที่ผู้เขียนมีพื้นฐานการคิดจากวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งผ่านการฝึกให้คิดเป็นระบบวงจร (Feedback Loop) เมื่อได้ยินคำถามขององค์ทะไลลามะดังนั้น ก็รู้สึกทันทีว่า อันที่จริง เรายังไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับธรรมชาติของอารมณ์และความคิด และเราก็ไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่า เป็นสารเคมี หรือ พลังงาน หรือ อื่นใด เรายังไม่ทราบเลยจริงๆ และทุกวันนี้เราก็เพียง สมมติ ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เท่านั้น

แต่สิ่งที่เรารู้แน่ๆ คือ ความคิด เป็นตัวเจ้าปัญหา และปัญหาต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นบนโลก ก็เกิดจากความคิดมนุษย์นั่นเอง ผู้เขียนประทับใจอีเมล์ที่ส่งมาจาก ดร. สิวินีย์ สวัสดิ์อารี นักควอนตัมฟิสิกส์ที่นำวาจาของไอน์สไตน์มาเขียนตอนท้ายของจดหมายว่า “The world we have made as a result of the level of thinking we have done this far creates problems that we cannot solve at the same level at which we created them. (โลกที่เราสร้างขึ้น อันเป็นผลมาจากระดับการคิดของเรามาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้นั้น ได้สร้างปัญหา ซึ่งเราไม่สามารถแก้มันได้ด้วยการคิดระดับเดียวกับที่เราสร้างปัญหานั้นๆ)” ปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากการคิดที่รุนแรง ย่อมไม่สามารถแก้ด้วยการคิดที่รุนแรง ใช่หรือไม่ และแน่นอนระดับการคิดที่เหนือกว่าก็คือ ไม่คิดแบบรุนแรง และเหนือไปกว่านั้นอีกระดับก็คือ รูปแบบของการคิดแบบใดๆ ย่อมจะหยุดได้เมื่อเราหยุดคิด หยุดปรุงแต่ง ซึ่งจะว่าไปก็ดูเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติจริง อาจจะเป็นเรื่องยากที่สุดสำหรับมนุษย์เลยก็ว่าได้

แล้วทำอย่างไรจึงจะหยุดคิดได้ โดยเฉพาะความคิดที่สร้างปัญหา? ด้วยคำถามนี้เอง จึงเป็นเหตุให้เกิดการศึกษาธรรมชาติความคิดของมนุษย์อย่างใหญ่หลวงทั่วโลก เพราะเป็นความหวังของมนุษยชาติในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ มีคนจากหลากหลายสาขาวิชาช่วยกันมอง ช่วยกันศึกษา ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ ศาสนาและปรัชญา ฯลฯ แต่สิ่งคู่ขนานที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ มนุษย์ยอมเหนื่อยและลงทุนอย่างมากกับการศึกษาเรื่องความคิดของตัวมนุษย์เอง แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งชัดเจน

จนกระทั่งทุกวันนี้ มีวิชาต่างๆ ที่แนะนำให้มนุษย์แต่ละคนเรียนรู้เพื่อจัดการกับความคิดของตนเอง เช่น เทคนิคการจับประเด็น (Summarizing Technique) ความคิดที่เป็นองค์รวม (Holistic Thought) การคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic Thinking) และอื่นๆ อีกมากมาย ฟังดูน่าเหนื่อยใจไม่น้อย เกิดเป็นมนุษย์ทำไมต้องเรียนอะไรเยอะแยะขนาดนี้ ถึงจะเอาชีวิตรอดจากปัญหาที่ตนเองก่อขึ้นได้ ซ้ำยังไม่พอ เมื่อผู้เรียนแต่ละคนสามารถคิดได้อย่างเป็นระบบแล้ว ก็ยังไม่พึงพอใจต่อคนรอบข้างที่คิดไม่เป็นระบบเหมือนตนเอง เกิดความอยากที่จะเปลี่ยนความคิดของคนอื่น เนื่องจากไม่สามารถอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่ได้คิดแบบเดียวกันกับเราได้อย่างมีความสุข ดังเช่นที่เห็นกันทุกวันนี้ เราจะมีความชอบใจ ไม่ชอบใจ กับเรื่องต่างๆ ข่าวต่างๆ เพราะเขาคิดเหมือนเราบ้าง ไม่เหมือนเราบ้าง บางคนใช้ความคิดไม่เป็นระบบ บางคนใช้อารมณ์ในการคิดและกระทำ ซึ่งในทันทีที่เรารับรู้รับทราบไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เราก็จะให้คุณค่าต่อเรื่องนั้นมากบ้าง น้อยบ้าง ในใจของเราทันทีโดยอัตโนมัติ และปัญหาก็เกิดขึ้นทันทีเช่นกัน เมื่อเราประเมินค่าว่าความคิดของคนอื่นมีปัญหา เราก็จะเกิดความต้องการที่จะเปลี่ยนความคิดของคนอื่น และในทางกลับกัน คนอื่นก็อาจจะมองว่าความคิดของเราเป็นปัญหา เขาก็ย่อมที่จะต้องการเปลี่ยนความคิดของเรา ปัญหาก็จะยิ่งทวีคูณขึ้น เมื่อความคิดได้ผันแปรไปเป็นวาจาบ้าง การกระทำบ้าง ซึ่งเมื่อเรากล่าวออกไป หรือกระทำตามความคิดของเราที่หยิบฉวยได้ในขณะนั้น ก็จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของคนที่ไม่ได้คิดอย่างเดียวกับเราไม่มากก็น้อย และเขาก็อาจจะกระทำการกระทบกระเทือนเรากลับมาเช่นกัน แต่ถ้ามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของความแตกต่างหลากหลาย ไม่ยึดถือเป็นอารมณ์ก็แล้วไป แต่ในกรณีที่เราไม่สามารถเท่าทันปรากฏการณ์เช่นนี้ ก็อาจเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน จนกระทั่งเป็นการกระทำแบบต่างๆ ที่แสดงถึงความไม่พอใจต่อกัน เป็นต้น

แล้วมนุษย์แต่ละคนจะทำอย่างไร ในการเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์ต่อความคิดที่ไม่ตรงกับเรา? ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่มนุษย์น่าจะศึกษาเรียนรู้ เพื่อจะได้ลดปัญหาบนโลกนี้ให้น้อยลงบ้าง ซึ่งมนุษย์แต่ละคนสามารถฝึกฝนได้ทันที ครูบาอาจารย์มักจะแนะนำว่า ก่อนที่จะตอบปัญหาต่างๆ ข้างต้นนั้น มนุษย์จำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจธรรมชาติของความคิดเสียก่อน โดยเริ่มจากการวางพัก ความจำ ที่เป็นรายละเอียดของเรื่องราวที่เราชอบใจ หรือไม่ชอบใจไว้ก่อน จากนั้นจะพบว่าธรรมชาติของความคิดในมนุษย์แต่ละคนไม่แตกต่างกัน นั่นคือ ปริมาณความคิดมีจำนวนมากมายมหาศาล และรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ ชั่วพริบตา เดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นเรื่องนู้นเรื่องนี้ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนคลื่นในทะเล มากมายเหลือคณานับ ซึ่งคนแต่ละคนจะหยิบความคิดหนึ่งๆ ขึ้นมาเป็นวาจาหรือการกระทำนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะทางร่างกายบ้าง ทางจิตใจบ้าง และความคิดที่เกิดขึ้นในใจบางครั้งนั้น เจ้าของความคิดเอง ยังรู้สึกไม่พอใจกับความคิดที่ตนมีอยู่เลยด้วยซ้ำ อาจจะโทษตัวเอง โกรธตัวเอง

อันที่จริง ความคิดไม่ว่าจะมีเรื่องราวอะไร ล้วนเป็นธรรมชาติที่ไม่มีใครสามารถสั่งการให้เกิดขึ้นได้ ผุดขึ้นมาจากไหนก็ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครอธิบายได้ เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราก็สามารถให้อภัยความคิดของตนเองและผู้อื่น อย่างเข้าใจและเห็นใจ ย่อมจะเกิดความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เพียงเฝ้าดูธรรมชาติของความคิดที่เกิดขึ้นภายในตนเองอย่างเป็นปัจจุบัน ย่อมจะเห็นความเป็นธรรมดา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป อย่างรวดเร็ว ก็ไม่น่าจะไปทุกข์ตามเรื่องราวของมัน และตราบใดที่เรามีกำลังไม่ไล่ตามความคิด และสามารถกระโดดออกมาเป็นผู้ชมโรงละครความคิดภายในของตน ก็จะไม่หยิบฉวยเอาความคิดไหนเป็นที่ตั้งในการกระทำสิ่งต่างๆ ที่ไร้ประโยชน์ โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ได้แก่ การเอารัดเอาเปรียบ หรือการกระทำที่รุนแรง ทำร้ายตนเองและผู้อื่น เป็นต้น

ตราบนั้นก็จะไม่มีสิ่งใดที่กระทบกระเทือนจิตใจเราได้ ท่ามกลางทะเลความคิดที่เหมือนและไม่เหมือนกับเรา ผู้เขียนขอตบท้ายด้วยเพลงกล่อมเด็กของปู่ย่าตายาย ไว้ให้ผู้อ่านได้ชื่นใจ ท่านเหล่านั้นน่าจะเข้าใจความเป็นมนุษย์ รวมทั้งธรรมชาติของชีวิต ความคิดและจิตใจได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว

“น้องเอยมะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง คงถึงสักวันหนึ่งเอย (คนเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย)”

Back to Top