มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 สิงหาคม 2551
เหตุปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสรรพสิ่ง เป็นสัจจธรรมข้อหนึ่งที่ผู้รู้ สัพพัญญูหลายท่าน ได้ศึกษา จำแนก จารึก ต่างกรรมต่างวาระ ในบริบทแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน เกิดขึ้นในทุกสังคม ทุกวัฒนธรรม ทุกความเชื่อ ผลแห่งการนำเอาความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณากับปรากฏการณ์นานาประการ ทำให้เกิดภูมิปัญญาในระดับต่างๆ ที่นำไปใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งในระดับอภิปรัชญา
เราสามารถสังเกตเห็นผลแห่งความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงได้หลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นกลไกจักรกล ผลของแรงกายภาพ อาทิ แรงน้ำ แรงกล แรงลม หรือในบางครั้ง เราสามารถสังเกตผลของความเกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยงชนิดอื่น ในที่นี้คือ ของจิตสำนึก ที่มีการแสดงผลปรากฏออกมาได้เช่นกัน
มีคำกล่าวของ วิลเลียม โอ’เบรียน (William O’Brien) ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารของบริษัทฮันโนเวอร์ประกันภัย (Hanover Insurance Company) ว่า “ผลสัมฤทธิ์แห่งการกระทำนั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะ ภายในของผู้กระทำ” หรือของ โจเซฟ จาวอร์สกี (Joseph Jaworski) ที่กล่าวว่า “ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ของการทำกิจกรรมใดๆ อยู่ที่ชั่วโมงก่อนหน้าที่จะเริ่มทำกิจกรรมนั้นๆ ” และอื่นๆ อีกมากมาย เน้นถึง ความสำคัญในการหล่อหลอม “เจตจำนง” ความตั้งใจมุ่งมั่นในความต้องการอย่างที่สุด ที่อยากจะให้ ผลลัพธ์ใดๆ ก็ตามที่เรากำลังจะทำนั้นเกิดขึ้นมาให้ได้
ในการดำรงชีวิตของเราในแต่ละวัน มีสัดส่วนไม่น้อยที่เราใช้เวลาไปอย่างอัตโนมัติ ไม่ได้ใส่ใจ ตั้งใจอะไร มากนัก แต่ก็จะมีบางเวลาที่เรามีสติ มีสมาธิ และตั้งใจมั่น ที่จะทำงาน ทำกิจกรรม ทำกิจใดๆ ให้สัมฤทธิ์ผล และเมื่อเราสังเกตดีๆ จะพบว่า ผลงานของกิจกรรมที่เราตั้งใจและไม่ตั้งใจทำนั้น ช่างแตกต่างกัน แม้แต่ กิจกรรมบางชนิดที่เรามีความชำนาญจนแทบสามารถจะทำได้โดยอัตโนมัติ เราก็จะพบปรากฏกาณ์ที่เมื่อเรา “ใส่ความตั้งใจ มุ่งมั่น” ลงไปด้วยแล้ว เราสามารถทำให้งานนั้นสมบูรณ์ มากขึ้นได้อีก หรือเรามีจิตอันเป็นสมาธิ สงบนิ่ง และสุนทรีย์ มากขึ้นอีกในการทำกิจกรรมนั้นๆ
มีนักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์หลายท่าน ตั้งสมมติฐานว่า นอกเหนือจากการมีสมาธิ จิตตั้งมั่น ทำให้งานเพิ่มสัมฤทธิ์ผลได้ ลำพัง “เจตจำนง ความตั้งใจมั่น ที่จะทำให้อะไรเกิดขึ้น” ที่เรียกว่า อินเทนชัน (Intention) นี้ สามารถทำให้เกิดผลทางกายภาพต่อสรรพสิ่งโดยตัวมันเองได้หรือไม่ เกิดเป็นงาน วิจัยเชิงสังคม เชิงจิตวิทยา และวิทยาศาสตร์พื้นฐานในหลายๆ สาขาที่หันมาสนใจกับ คุณสมบัติอีกประการของมนุษย์ นั่นคือ “เจตจำนง หรือ Intention กับสรรพสิ่งทางกายภาพ”
ลินน์ แมคแท็กการ์ต (Lynne McTaggart) ได้รวบรวมผลงานการวิจัยที่เกี่ยวกับ “เจตจำนง และผลทางกายภาพ” เขียนลงในหนังสือชื่อ Intention Experiments มีตัวอย่างที่น่าสนใจ ไปถึงตัวอย่าง ที่น่าทึ่ง น่าตื่นเต้น เมื่อคำนึงถึงผลกระทบต่อความเข้าใจในศักยภาพที่แท้ของมนุษย์ ถ้าหากเราสามารถ นำเอา “เจตจำนง” ที่ว่านี้มาใช้กันอย่างแพร่หลายได้
มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแบบเรื่องเล่า และผลการวิจัยที่มีระเบียบการวิจัยที่รัดกุม ถูกต้องตามหลักการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เรื่องความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของเจตจำนงและผลทาง กายภาพ อาทิ การให้กลุ่มผู้เยียวยา (healer) ที่ใช้พลังทางการตั้งเจตจำนง รวมกันส่งความต้องการในการ ทำให้คนไข้ที่เป็นเอดส์ในโรงพยาบาลมีอาการดีขึ้น มีเม็ดเลือดขาวที่แข็งแรงและจำนวนมากขึ้น มีภูมิคุ้มกัน ที่ดีขึ้น ผลปรากฏว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยโรคเดียวกัน ระยะเดียวกัน ที่ไม่ได้รับการส่งแรงแบบนี้ มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับเจตจำนงที่ดีนั้น สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ มากกว่า ตัวอย่างเลือดแสดงผลที่ดีขึ้นกว่าผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่ง ปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันจากกลุ่มทรานส์เซนเดนซ์ เมดิเทชัน (Transcendence Meditation - TM) พบว่าอาจจะทำให้ผลดีนี้เกิดขึ้นในมิติอื่นๆ ได้ อีกด้วย อาทิ อัตราการเกิดอาชญากรรม ความรุนแรงในชุมชน ฯลฯ ถ้าหากจำนวนของผู้ที่ส่งเจตจำนงที่ดี มีมากพอในชุมชนนั้นๆ
ไม่ว่าผลการทดลองดังกล่าวจะจริงหรือไม่ก็ตาม หากเรามาพิจารณาสถานการณ์ของบ้านเมือง ในปัจจุบัน โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม มนุษย์ได้ส่ง “เจตจำนง” ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ตามสภาวะ ทางจิตของเราออกไปตลอดเวลา ปรากฏการณ์ แมส ฮิสทีเรีย (mass hysteria) ที่แรงคลื่นอารมณ์ของ คนจำนวนมากเกิดความเชื่อมต่อกัน โน้มน้าวซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดพฤติกรรมของกลุ่มไปในทิศทางใด ทิศทางหนึ่งได้ หรือบรรยากาศในสนามกีฬา สนามฟุตบอล ที่มีการเชียร์ทีมของแต่ละฝ่าย คนที่เคยไป สัมผัสกับบรรยากาศแบบนี้โดยตรง จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มีความแตกต่างต่ออารมณ์ความรู้สึกของ ตนเองเมื่อเปรียบเทียบกับการชมกีฬาทางโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือเมื่อเราอยู่ในที่ที่อาจจะถูกเบี่ยงเบน ความสนใจไปจากเหตุการณ์นั้นๆ ได้
สมมติฐานเรื่องนี้หากเป็นจริง ก็มีนัยสำคัญที่น่าสนใจมากแฝงอยู่ พวกเราอาจจะเริ่มตั้งคำถามต่อ ตัวเองว่า ณ ปัจจุบัน เจตจำนงที่เป็นสมุหะของสังคม ของชุมชนเรา เป็นไปในทิศทางใด เป็นไปได้หรือไม่ ที่ความร้อน อุณหภูมิ หรือแม้กระทั่งปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming) ณ ปัจจุบัน ไม่เพียงแต่มา จากก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในบรรยากาศ แต่เสริมด้วยผลกระทบจาก “อุณหภูมิแห่ง เจตจำนง แห่งอารมณ์” ของสรรพสิ่งที่มีชีวิตบนโลกนี้ด้วย?
ปรากฏการณ์นี้เป็นได้ทั้งข่าวดีและข่าวร้ายในเวลาเดียวกัน ข่าวร้ายก็คือ ผลเสีย มลภาวะทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ นี้ เราเองเป็นผู้มีส่วนในการทำให้เกิดไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งสิ้น แต่ข่าวดีก็คือ ในเมื่อ เราทุกคนมีส่วนทำให้เกิด ก็หมายความว่าเราทุกคนสามารถทำอะไรบางอย่างต่อความก้าวหน้าของ ปรากฏการณ์นี้ได้เช่นกัน
ถ้าหากโลกในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยเจตจำนงด้านลบ ความโกรธเกลียด ความโลภ ความเศร้าซึม ความท้อถอย ความมักง่ายเห็นแก่ตัว ความโง่เขลา อวิชชา สิ่งต่างๆ เหล่านี้น่าจะถูกลบล้าง เยียวยา ได้ด้วยเจตจำนงด้านตรงกันข้าม ได้แก่ ความรัก ความเพียงพอ ความเมตตากรุณา ความมุ่งมั่น ปัญญาที่มองเห็น และเข้าใจในความเกี่ยวโยงแห่งสรรพสิ่งต่างๆ การเริ่มต้นจากการหล่อหลอมเจตจำนง ความมุ่งมั่น เป็นฉันทาคติที่ส่งผลไปถึงการธำรงชีวิต ด้วยอิทธิบาท ๔ พรหมวิหาร ๔ และฆราวาสธรรม ๔ ขอให้เรามีเจตจำนงความมุ่งมั่นในการทำงาน โดยทำงานเพื่อธรรมะ เพื่อความดี เพื่อความสงบสันติ เพื่อความเพียงพอ โลกนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้เพื่อลูกหลานของเรา
One Comment
"ถ้าหากโลกในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยเจตจำนงด้านลบ ความโกรธเกลียด ความโลภ ความเศร้าซึม ความท้อถอย ความมักง่ายเห็นแก่ตัว ความโง่เขลา อวิชชา สิ่งต่างๆ เหล่านี้น่าจะถูกลบล้าง เยียวยา ได้ด้วยเจตจำนงด้านตรงกันข้าม ได้แก่ ความรัก ความเพียงพอ ความเมตตากรุณา ความมุ่งมั่น ปัญญาที่มองเห็น และเข้าใจในความเกี่ยวโยงแห่งสรรพสิ่งต่างๆ"
ผมกลับมองต่างจากท่านผู้เขียนบทความว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามองว่ามีด้านลบด้านบวก เมื่อนั้นจิตของเราก็ไม่สามารถเป็นอิสระได้ เพราะเกิดความขัดแย้งขึ้นในความคิด เราจะไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งใดได้ ถ้าเราไม่เข้าใจแม้เพียงตัวเราเอง
แสดงความคิดเห็น