จิตไม่ว่าง



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 สิงหาคม 2551

ย้อนไปเมื่อสมัยผมเรียนอยู่มัธยมปลาย ก็ประมาณยี่สิบปีมาแล้ว ผมเป็นเด็กวัยรุ่นที่สนใจในเรื่องราวต่างๆ มากมาย ผมหลงใหลการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นชีวิตจิตใจ ผมชอบอ่านหนังสือทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นนิยาย เรื่องสั้น หรือหนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธนิกายเซน รวมทั้งเรื่องลึกลับอื่นๆ แต่สิ่งที่ไม่ค่อยชอบจะอ่านก็คือหนังสือเรียน ด้วยความที่สนใจในเรื่องราวหลากหลายเช่นนี้ ผมพบว่าการจะหาใครสักคนที่พูดคุยได้ถูกคอในเรื่องที่ชอบนั้นเป็นเรื่องยากยิ่ง ไม่ช้าไม่นานผมจึงได้พัฒนานิสัยแปลกๆ ขึ้นมาอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือนิสัยในการ “สนทนากับตนเอง” ในใจ บทสนทนาที่เกิดขึ้นและดำเนินไปในหัวของผมอาจจะเป็นเช่นนี้

ผม ๑ : “แกคิดยังไงกับเรื่องนี้...”

ผม ๒ : “ไม่รู้นะ ผมว่ามันยังไม่ใช่ จริงๆ แล้วถ้าเขาทำอย่างนั้นมันน่าจะดีกว่านี้...แล้วคุณคิดว่าไง”

ผม ๑ : “แต่ผมว่ามันไม่ใช่อย่างนั้นหรอก การที่เขาทำอย่างนั้นมันเพราะเขาอาจจะคิดดีแล้ว แล้วทำไมแกไม่คิดบ้างว่า เขา...”

ผม ๒ : “เออ...มันก็อาจเป็นได้…”

บทสนทนาในหัวแบบนี้ จะดำเนินไปเรื่อยๆ บางครั้งก็ติดพันต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่าจะเดินทางขึ้นรถเมล์ ระหว่างเดินไปโรงเรียน ระหว่างรอสั่งก๋วยเตี๋ยวที่ร้านประจำ หรือแม้แต่ตอนที่เคี้ยวตุ้ยๆ กลืนอาหารลงคอไปอย่างไม่รู้รสชาติ ผมคุ้นชินกับการปล่อยความคิดให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา ในบางครั้งเมื่อหมกมุ่นมากๆ ก็ถึงกับพึมพำกับตัวเองไปด้วย บางครั้งเพื่อนๆ รุ่นพี่รุ่นน้องในโรงเรียนมาทักทายก็เดินเลยผ่านเขาไป ไม่รับรู้ ไม่ได้สังเกตเห็น ไม่ทักตอบ จนใครต่อใครมองว่าเป็นคนที่ค่อนข้างจะมีอะไรแปลกๆ อยู่สักหน่อย อาการที่จมจ่อมกับความคิดตนเองจนไม่ได้รับรู้เรื่องราวภายนอกนี้ดำเนินไปเป็นกิจวัตร มาเริ่มรู้สึกตัวว่าเป็นเช่นนี้เมื่อได้พูดคุยกับน้องสาวถึงนักเรียนรุ่นน้องคนหนึ่งซึ่งเธออ้างว่าผมรู้จักเป็นอย่างดี แต่ผมยืนยันกับเธอว่าผมไม่รู้จัก และไม่เคยเห็นเขาคนนั้นมาก่อนเลย ด้วยความสงสัย ผมจึงถามว่าผมไปรู้จักเขาตั้งแต่เมื่อใด น้องสาวผมจึงตัดพ้อว่า

“โธ่...ใครๆ เขาก็รู้จักพี่ทั้งนั้นแหละ พี่นั่นแหละที่ไม่รู้จักเขา!”

ภาพเหตุการณ์ในอดีตเหล่านี้ได้ผุดพรายขึ้น ในระหว่างที่ได้อ่านหนังสือที่กัลยาณมิตรของผมแนะนำให้ แต่ละหน้าที่ผ่านไป ทำให้ผมกลับไปใคร่ครวญกับอดีตของตนเองและพบว่าจิตใจของผมวิ่งวุ่นจนไม่ได้เว้นว่าง และใช้ชีวิตเหมือนกับ “คนเดินละเมอ” ตามที่บรรยายเอาไว้ในหนังสือทุกประการ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า The Power of Now แต่งโดย เอกคาร์ท โทลเลอ (Eckhart Tolle) ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคุรุทางจิตวิญญาณระดับโลกผู้หนึ่งที่ยังอยู่ร่วมสมัยกับเรา พระไพศาล วิสาโล ได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเขาลงใน มติชนรายวัน ด้วยชื่อเรียบง่ายว่า “อิสรภาพจากตัวตน” หนังสือเล่มนี้ของเขาได้รับความนิยมอย่างสูง และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า ๓๓ ภาษา ทั่วโลก

เอกคาร์ท โทลเลอ เล่าให้ฟังว่า มนุษย์เรานั้นมักจะทำทุกอย่างเพื่อให้จิตของเรา “ไม่ว่าง” การที่ต้องอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ทนไม่ได้เอาเสียเลย บางคนเมื่ออยู่ในบ้านคนเดียวก็ลุกเดินขึ้นไปเปิดโทรทัศน์ แม้จะไม่ได้ดูแต่ขอให้ได้ยินเสียงก็ยังดี หรือบางคนเมื่อต้องรอคอยอะไรบางอย่าง ก็ต้องควักโทรศัพท์มือถือขึ้นมาโทรหาเพื่อน หรือไม่ก็กดเล่นเกมไปพลางๆ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเมื่ออยู่ในวงสนทนาจะเปิดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กขึ้นมาเล่นเกมไพ่ Solitaire แล้วปากก็พูดคุยไป ส่วนมือก็ขยับเล่นไปเรื่อยๆ เมื่อจบเกมแล้วก็เริ่มใหม่ จะต้องมีอะไรสักอย่างที่ทำให้มนุษย์เรา “กลัว” การอยู่ว่างๆ เราจึงได้หากิจกรรมทางร่างกายและทางสมองมาป้อนให้กับตัวเองตลอดเวลาโดยไม่เว้นว่าง

เอกคาร์ทอธิบายว่า เหตุที่คนเราไม่อยากจะอยู่ว่างๆ เป็นเพราะในความว่างนั้น “ตัวตน” ของเราจะปลาสนาการไปชั่วคราว ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ตัวตน” ของเรายอมรับไม่ได้ เพราะอัตตานั้นย่อมจะพยายามทุกวิถีทางที่จะดำรงอยู่ มิเช่นนั้นก็ต้องกลายไปเป็นอนัตตา ปัญหาร้อยแปดพันประการ รวมทั้งความทุกข์ยากในชีวิตของมนุษย์นั้นก็มีที่มาจากอัตตาตัวตนของเรานี้นั่นเอง ปัญหาก็คือถ้าหากเรากำจัดตัวตนของเราออกไปแล้วเราจะเหลืออะไร? ตัวตนของเราไม่ใช่หรือที่จะบอกว่าเราคือใคร? และเราเกิดมาทำไม?

แท้จริงแล้ว เอกคาร์ทไม่ได้บอกให้กำจัดตัวตนของเราออกไป เขาเพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงการดำรงอยู่ในสิ่งที่เขาเรียกว่า Being ซึ่งเป็นสภาวะที่จะเผยออกมาเมื่อเราข้ามพ้นไปเสียจากการยึดโยงอยู่กับอัตตา หรือสิ่งที่เป็นตัวตนปลอมๆ ของเรา ตัวตนปลอม (False Self) เกิดขึ้นมาจาก “ความคิด” ของเราเองที่ไปสร้างมโนภาพต่างๆ ที่เราคิดว่าเป็นตัวของเรา การสร้างมโนภาพนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการนั่งฝัน นั่งจินตนาการ แต่เกิดขึ้นและดำเนินไปโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวตลอดเวลาตั้งแต่เราเป็นเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จากสภาพแวดล้อมทางครอบครัว สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นปัจจัยภายนอก และโดยที่ไม่รู้ตัว เราก็เรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “ตัวฉัน” และ “ของฉัน” และด้วยเหตุนี้คนส่วนใหญ่จึงต้องตกเป็นทาสของ “ความคิด” ประดิษฐ์ปรุงของตนอย่างช่วยไม่ได้ ถ้าหากเราคิดว่าเรื่องนี้ฟังดูเหลือเชื่อและไม่น่าเป็นไปได้ ลองถามตัวเองว่าครั้งสุดท้ายที่เราพูดกับตัวเองในทำนองว่า “ถ้าเป็นฉัน ฉันจะไม่ทำอย่างนั้น” คือเมื่อใด

สิ่งที่ตัวตนปลอมของเรานั้นกลัวที่สุด ก็คือจิตที่รู้เท่าทันอยู่ในปัจจุบันขณะ ถ้าเปรียบตัวตนปลอมเป็นหมาไนที่หิวกระหาย สิ่งที่มันชื่นชอบที่สุด ก็คือการได้แทะเล็มซากเหง้าชีวิตของเราในอดีต เอกคาร์ทบอกว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นชีวิต (Life) ของเรานั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงสถานการณ์แห่งชีวิต (Life Situation) แต่ผู้คนส่วนใหญ่เสียเวลาง่วนอยู่กับการฉายวิดีโอเทปม้วนเก่ากลับไปกลับมาอยู่ในหัวของเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่ตระหนักว่าเขากำลังถูกบงการจาก “หมาไน” ตัวร้าย หรือตัวตนจอมปลอมที่หล่อเลี้ยงพลังของตัวมันเองให้ดำรงอยู่จากซากอดีตที่ผ่านเลยไปอย่างไม่มีวันกลับ

นอกจากอดีตแล้ว สิ่งที่ตัวตนปลอมของเราชื่นชอบอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการลอยล่องอยู่ในความคิดคำนึงถึงอนาคต มันจะคอยบอกกับเราว่าวันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ เราจะดีขึ้นถ้าหากเรามีสิ่งนั้น เป็นเจ้าของสิ่งนี้ และชีวิตของเราจะไม่สมบูรณ์เลยถ้าหากขาดเสียซึ่งวัตถุสิ่งของ และอื่นๆ สุดแล้วแต่ที่ตัวตนมันจะเสกสรรมาให้วิ่งวุ่นอยู่ในความคิดคำนึงของเรา ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ทีวีสีพลาสมาจอแบนรุ่นใหม่ รถมินิคันเล็กรุ่นล่า บ้านหลังงาม แฟนใหม่ งานใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ หรือแม้กระทั่งรัฐบาลใหม่... ทั้งหมดนี้ เอกคาร์ทบอกว่าตัวตนปลอมมักจะทำสำเร็จอย่างแยบคาย ผลก็คือเราจะอยู่ในความวิตกกังวลและความโหยหาในสิ่งที่ยังมาไม่ถึงอยู่เป็นนิจ และนี่คือความหมายที่เป็นรูปธรรมของการ “ตกนรก” ทั้งเป็น ก็คือหากเราไม่จมปลักอยู่กับอดีต ก็ละเมอเพ้อพกถึงอนาคต

เอกคาร์ทบอกเป็นนัยว่า หากเราสามารถตระหนักรู้ว่า ความทุกข์ทั้งหมดที่เรามีอยู่นี้ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าผลที่เกิดจากปฏิบัติการ “ลับ ลวง พราง” ของตัวตนจอมปลอมที่ “เห็นแก่ตัว” ของมันเอง จนนำพาชีวิตของเราเข้าสู่วังวนของความ “หลง (อยู่กับ) ตัวเอง” อย่างไม่มีที่สิ้นสุดแล้ว เราก็จะสามารถเป็นอิสระจากตัวตนปลอมๆ นี้ได้ อิสรภาพใหม่ที่ผุดบังเกิดขึ้นจะเผยให้เห็นถึงตัวตนจริงแท้ภายในที่อยู่ในมนุษย์ทุกผู้คน การเข้าถึงจิตเดิมแท้นี้ ก็คือการตื่นโพลงเข้าสู่การรู้แจ้ง หรือเป็นสภาวะของการ “ตรัสรู้” นั่นเอง

พอเราได้ยินคำว่า “ตรัสรู้” จิตใจที่วุ่นวิ่งของเราก็ทำงานอีกครั้ง บางคนอาจจะบอกกับตัวเองว่ามันเป็นสิ่งที่สูงส่งจนเกินกว่าที่จะทำได้ในชีวิต “ของฉัน” บ้างบอกว่ามันเป็นเรื่องสำหรับพระสงฆ์ที่ปลีกวิเวกออกไปอยู่ตามป่าเขา หรือบางคนก็มองว่าการตรัสรู้ในระดับนั้นคงเกิดได้ในสมัยพุทธกาลเท่านั้น บ้างก็บอกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวและมีความสำคัญน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการหาเลี้ยงปากท้อง...ฯลฯ

...ถ้าความคิด แล ความเห็น เช่นที่ว่ายังแซ่เซ็งก้องอยู่ ก็ให้รู้ว่าจิตของท่านเริ่มที่จะ “ไม่ว่าง” และกำลังเริ่มเข้าสู่วงวัฏแห่งปฏิบัติการของ “ความคิด” อีกครั้ง ถึงเวลาหรือยังที่จะหยุดความคิดและจิตที่วิ่งวุ่น มาเริ่มต้นกันเสีย “เดี๋ยวนี้” เลยจะดีมั้ย

One Comment

solitary man กล่าวว่า...

เราทุกคนใช้ลมหายใจเดียวกับพระพุทธเจ้า
ดังนั้นเราทุกคนสามารถเข้าถึงสภาวะแห่งการตรัสรู้ได้
และเราทุกคนสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้
แต่น่าเสียดายที่เราอีกหลาย(ร้อยหลายพันล้าน)คนยังอยู่ห่างจากการตื่นอีกหลายร้อยหลายพันปีแสง

Back to Top