โดย นพ.กิจจา เจียรวัฒนกนก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2551
Now I become myself.
It’s taken time, many years and places.
I have been dissolved and shaken,
Worn other people’s face ….(May Sarton "Now I Become Myself")
หลายคนคงรู้จักเรื่องแฮร์รี พอตเตอร์ กันดี เพราะเป็นหนังสือที่ขายดีจนแทบไม่มีเด็กในเมืองคนไหนจะไม่รู้จัก เรื่องราวของพ่อมดน้อยแฮรี่เต็มไปด้วยจินตนาการและการผจญภัยอันน่าตื่นเต้น แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ชื่นชอบหนังสือเรื่องนี้ ติดตามอ่านกันจนถึงภาคอวสานอย่างใจจดใจจ่อ
ในเรื่องแฮร์รี พอตเตอร์ มีตอนหนึ่งกล่าวถึงคุกอัซคาบัน เป็นคุกอันน่าหวาดกลัวที่สุด เพราะผู้คุมวิญญาณจะทำให้นักโทษต้องได้รับโทษทัณฑ์ด้วยการเผชิญกับความหวาดกลัวของตนเอง ดูดทึ้งความสดใส ความสุขออกจากวิญญาณของนักโทษจนหมดสิ้น ถ้าคุกเช่นนี้มีอยู่จริง การมีชีวิตในนั้นคงเลวร้ายกว่าความตายเสียอีก
แม้ว่าจะไม่มีคุกอัซคาบันอย่างเต็มรูปแบบอย่างในหนังสือ ทว่าผู้เขียนสังเกตว่ามีหลายครั้งในชีวิตที่ได้เผชิญกับคุกภายในใจที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน เป็นการคุมขังที่กักขังชีวิตเราให้ไม่สามารถสัมผัสกับความสุขอย่างแท้จริง เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ตื่นขึ้นมาโดยไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้กับชีวิตในทุกๆ วันใหม่ กำแพงของมันบางครั้งก็ชัดเจน สามารถมองเห็นได้ว่ามีสิ่งใดที่ปรารถนาต้องการ แต่หลายครั้งมันก็ไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้ไม่อาจมีความสงบสุขได้
มีที่มาของความพร่ามัวนั้นมันซ่อนตัวอย่างแนบเนียนในส่วนลึกของอัตตา สิ่งนั้นคือความกลัว แต่ไม่ใช่ความกลัวธรรมดาๆ หากเป็นความกลัวในความกลัว ที่เรากลัวเกินกว่าจะยอมรับมัน จนสามารถหาข้ออ้างต่างๆ ที่ดูสมเหตุสมผล เป็นข้ออ้างไม่ให้ยอมรับในสิ่งที่เป็นความกลัวของตัวเอง สิ่งที่ตามมาทำให้ตัวตนภายในได้รับการคุมขังอย่างแนบเนียนด้วยกำแพงของการดำรงตนเพื่อให้ดูดี กลัวที่จะยอมรับความต้องการดูแลตัวตนภายใน และตกแต่งความล้มเหลวที่ผ่านมาโดยการสะกดจิตตนเองด้วยภาพที่ว่า “ศัตรูอยู่แต่ภายนอก และโลกยังไม่พร้อมสำหรับผม”
ทว่าชีวิตย่อมดำเนินมาอย่างสมบูรณ์แบบ ชีวิตไม่เคยผิดพลาด ทุกความสำเร็จและล้มเหลวเป็นผลลัพธ์ที่ถูกต้องเสมอ ทุกผลของการกระทำเป็นเสมือนหลักบอกระยะทางของการดำเนินชีวิตว่าไปด้วยกันกับโลกนี้ได้ดีหรือไม่ ทุกหลักกิโลเมตรมีบทเรียนของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค มันทำให้เราได้ทบทวนว่าสิ่งที่ต้องการนั้นมีความหมายกับชีวิตอย่างไร แรนดี พอส์ช (Randy Pausch - ศาสตราจารย์ด้านคอมพิวเตอร์ประจำมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) กล่าวใน The Last Lecture เกี่ยวกับอุปสรรคว่า “กำแพง (อุปสรรค) มีเหตุผลของมัน: มันทำให้เรารู้ว่าเราต้องการสิ่งที่คาดหมายนั้นมากเพียงใด และผู้ที่จะได้รับต้องเป็นผู้ต้องการสิ่งนั้นอย่างแท้จริง กำแพงช่วยพิทักษ์สิ่งนั้นเพื่อมอบต่อเจ้าของที่แท้จริง”
บทเรียนของผู้เขียนเริ่มต้นจากคำถาม ผู้เขียนถามตัวเองว่า ตนเองกำลังทำอะไรอยู่ และกำลังพยายามทำให้สิ่งใดเกิดขึ้น เมื่ออุปสรรคทำให้ไม่สามารถได้รับสิ่งที่ต้องการ มันไม่ได้เป็นการสูญเสียความพยายามโดยเปล่าประโยชน์ เพียงแต่ผู้เขียนไม่ค่อยได้มาทบทวนว่าอะไรกันแน่ที่เป็นสิ่งที่ต้องการ มันมีต้นกำเนิด ‘มาจากตัวตนที่แท้จริง (authentic self)’ หรือ ‘มาจากความกลัว’ ด้วยความกลัวว่าจะไม่ได้รับการยอมรับนับถือ เราก็ต้องแสวงหาเครื่องประดับให้กับภาพลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นฐานะ ตำแหน่ง ด้วยความกลัวที่จะถูกปฏิเสธ เราก็ต้องยอมทำในสิ่งที่ไม่ชอบเพื่อให้ผู้อื่นชื่นชม การให้มิได้เกิดจากความสุขที่เป็นผู้ให้ แต่เป็นไปเพื่อซื้อความยอมรับนับถือจากผู้คน (รวมถึงตนเองด้วย ทำให้รู้สึกว่าเราดีพอที่จะนับถือตัวเองได้) เรากลบเกลื่อนความทุกข์ของการแบ่งแยกการกระทำออกจากตัวตนที่แท้จริงเช่นนี้โดยบอกตัวเองว่า เราเป็นผู้เสียสละ ความทุกข์ของเราเกิดจากการเอาเปรียบของผู้อื่น
การกระทำซึ่งมาจากตัวตนที่แท้จริงภายในนั้นแตกต่างจากสิ่งที่มาจากความกลัวอย่างไร คำตอบของผู้เขียนสำหรับตัวเองในเวลานี้คือ ให้ถามความรู้สึกของตัวเอง หากรู้สึกว่าตนเองมีพลังทำในสิ่งนั้น มีความสุขใจเมื่อได้ทำ สามารถหาเวลา และหนทางทำในสิ่งนั้นได้อยู่เสมอ ผู้เขียนคิดว่าสิ่งนั้นแหละที่ใช่ความต้องการจากภายใน ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทำเพราะความกลัว ซึ่งจะรู้สึกถึงความด้อยของตนเอง แสวงหาการยอมรับของผู้อื่น และหากหลีกเลี่ยงได้ก็จะไม่ทุ่มเทความพยายามให้ มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าเมื่อใดสิ่งนั้นจะสิ้นสุดลงเสียที
ในความทุกข์ยากของการถูกจองจำด้วยความกลัว ความทุกข์จากการปฏิเสธความต้องการของตัวตนภายใน เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง อาจนำสู่การกระทำที่ปลดปล่อยอิสรภาพให้กับตัวเรา เหมือนกรณีของ โรซา ปาคส์ (Rosa Parks) หญิงผิวดำวัยสิ่สิบปีได้ตัดสินใจกระทำขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๕๕ เมื่อเธอกระทำในสิ่งที่สังคมในยุคนั้นไม่อนุญาต โดยไปนั่งที่นั่งด้านหน้าในรถประจำทางซึ่งสงวนไว้สำหรับคนผิวขาว เมื่อหลายปีผ่านไป นักศึกษาได้ถามว่าเหตุใดเธอจึงนั่งในที่นั่งตอนหน้าของรถบัสในวันนั้น คำตอบของเธอไม่ได้เป็นเรื่องของกระบวนการประท้วงเพื่อต่อต้านการเหยียดผิว ความประสงค์ของเธอในตอนนั้นเป็นสิ่งที่เรียบง่าย ทว่าลึกซึ้ง เธอตอบว่า “เพราะว่าฉันเหนื่อย” แต่ความเหนื่อยของเธอไม่ได้หมายถึงเพียงร่างกาย หัวใจของเธอก็เหน็ดเหนื่อย ทั้งชีวิตของเธอเหนื่อยหน่ายกับการต้องเล่นตามกฎเกณฑ์ของลัทธิเหยียดผิว ซึ่งไม่ยอมรับความต้องการมีตัวตนที่แท้จริงของเธอ
ชีวิตที่แบ่งแยกจากตัวตนอันแท้จริงเป็นชีวิตที่เหนื่อยหน่าย ในบางครั้งที่เรารู้สึกว่าไม่มีเรี่ยวแรงทำอะไรเลย เป็นเพราะใช้พลังงานไปกับการเล่นตามกฎของผู้อื่น เพื่อกักขังความต้องการของความจริงภายใน ปฏิเสธว่าตัวเองไม่มีคุณค่าพอที่จะยืนยันความต้องการ ผู้เขียนเคยพยายามทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นความกล้าหาญ เพื่อเปลี่ยนแปลง มันดีขึ้นสักพัก แต่ความกลัว เจ้าเพื่อนเก่า ก็กลับมาใหม่ หรือจนกว่าเราจะยอมรับทุกผลลัพธ์ที่ตามมาจากการกระทำนั้นๆ อย่างกล้าหาญ เห็นบทเรียนจากความล้มเหลว เฝ้าดูความกลัวของตัวเองด้วยความไม่กลัว เมื่อนั้นการเรียนรู้ในบทเรียนจึงจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ผู้เขียนไม่ต้องการเรียนรู้เพื่อจะเป็นคนอื่นอีกต่อไปแล้ว แต่หวังเพียงว่าจะได้ดำเนินชีวิตของตนเองอย่างแท้จริงเท่านั้น
เราทุกคนต่างครอบครองของขวัญล้ำค่า เป็นเครื่องมือเพื่อนำตัวตนที่แท้จริงออกมาปรากฏสู่โลก สิ่งนั้นคือตัวของเรา ด้วยร่างกายและความคิด เราสามารถนำสิ่งที่ตัวตนภายในเรียกร้อง สร้างให้เป็นจริงขึ้นมาผ่านการกระทำ ความผิดหวังในผลของการกระทำเป็นเหมือนยาที่แม้จะเป็นประโยชน์ แต่มีรสขม มันช่วยเตือนให้ผู้เขียนได้ทบทวนตนเอง หากสิ่งที่ต้องการนั้นเป็นตัวตนของเรา มันก็คุ้มค่าที่จะเจ็บตัวกับการเดินผ่านกำแพงอุปสรรค มันเพียงแค่เตือนว่าเรายังกระทำเพื่อรับใช้ตัวตนภายในได้ไม่ถูกต้อง ในที่สุด เราอาจได้เรียนรู้ว่าจะกระทำในเรื่องที่ “มิอาจไม่กระทำ” ได้อย่างไร เพราะสิ่งนั้น เป็นเสียงที่มาจากภายใน ซึ่งเป็นของขวัญเฉพาะของตนเอง เรามีหน้าที่เรียกคืนสิทธิอันชอบธรรม ที่จะนำของขวัญนี้มาสู่โลก โดยผ่านการกระทำซึ่งมาจากความจริงแท้ของตนเอง
(บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากบทความ Now I Become Myself จากหนังสือ
Let Your Life Speak ของ Parker J. Palmer)
One Comment
ขอบคุณ สำหรับข้อคิด รู้สึกแล้ว...ว่าต้องทำ...ทำอะไร สักอย่างแล้ว
แสดงความคิดเห็น