รอยย่ำโบราณ … บนเส้นทางสู่อนาคต



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 มีนาคม 2552

งานแจมโลก (World Jam) ที่กำลังจะจัดขึ้นในปีหน้าเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่หมายมั่นชีวิตตัวเองกับการรับใช้สังคมจากมุมต่างๆ ของโลกได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็มแรงบันดาลใจให้กันและกัน ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวเมารี ชื่อว่า คีรีทาปู อาลัน เป็นสตรีชาวนิวซีแลนด์ วัย ๒๕ ปี เธอสืบเชื้อสายของคนเมารีและชาวผิวขาว และอยู่ในขบวนการนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่พยายามรื้อฟื้นรากของความเป็นเมารีหรือชนเผ่าดั้งเดิมของนิวซีแลนด์ให้กลับมาสู่วิถีชีวิต

เธอเล่าให้ฟังว่าหนทางชีวิตของเธอนั้นแปลก เพราะช่วงที่เป็นวัยรุ่น ความฝันของเธอคือการได้เป็นทหารเพื่อรับใช้ประเทศชาติ และปกป้องสังคมที่เธอรักจากภัยคุกคามภายนอก เหตุผลอีกอย่างที่มากไปกว่าอุดมคติที่ว่ามานี้ก็คือ เธอเป็นคนชอบใช้ชีวิตกระฉับกระเฉงในฐานของร่างกาย เธอชอบวิ่งและออกกำลังกาย และจะมีอาชีพใดอีกเล่าที่พร้อมจะจ่ายเงินค่าออกกำลังกายให้เธอ นอกจากการเป็นทหาร แต่แล้วโชคชะตาของคีรีก็ไม่เอื้ออำนวยเอาเสียเลย เพราะเธอกลับต้องประสบอุบัติเหตุเข่าหลุดจากการเล่นรักบี้ ความฝันที่จะเป็นทหารของเธอจึงต้องเก็บพับไปเสีย และแม้ว่าเธอจะไม่ยอมแพ้ พยายามสมัครให้ได้รับการเกณฑ์ทหารอีกครั้ง แต่ก็ต้องพบอุบัติเหตุอีกอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่ล้มเหลวทั้ง ๒ ครั้งอาจไม่ใช่เหตุบังเอิญในการตระเตรียมให้คีรีได้มาเดินทางบนเส้นทางที่เดินอยู่ในวันนี้ ในการที่เธอคอยปกป้องอธิปไตยทางจิตวิญญาณให้กับเผ่าพันธุ์ของตน เพราะก่อนหน้านั้นชีวิตวัยเด็กของเธอไม่ได้ราบเรียบ เพราะเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อแม่เลิกทางกัน เธอต้องเติบโตมากับป้าที่สอนเธอให้รู้จักรากเหง้าและจิตวิญญาณของผู้หญิงเมารีที่เคารพท้องทะเลที่ศักดิ์สิทธิ์และแผ่นดินที่มีชีวิต

จากการได้เรียนรู้กับยายและญาติพี่น้องของเธอเองมาโดยตลอด เมื่อเธอเติบโตและได้ศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษา ทำให้เธอเริ่มตระหนักว่า แม้สังคมจะผ่านยุคสมัยของการเป็นเมืองขึ้นอาณานิคม (colonialism) มาแล้ว แต่ยังไม่พ้นการครอบงำในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการครอบงำทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดวิทยาศาสตร์แบบนิวตัน กระแสทุนนิยมที่มาพร้อมกับบริโภคนิยม การกีดกันทางสีผิวที่ดูแนบเนียนมากขึ้น และตัวเลขของชนชายขอบหรือชนเผ่าพื้นเมืองโดยเฉพาะในนิวซีแลนด์ที่ถูกกักขังในเรือนจำก็มีสัดส่วนมากที่สุดและยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวังวนของกระบวนการกีดกัน และความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

เธอได้ตื่นขึ้นมาอุทิศชีวิตของตัวเองในการปลุกผู้คนให้ตื่นขึ้นมารับรู้และเรียกร้องสิทธิในการดำรงอย่างมนุษย์ที่เท่าเทียม และได้กลายเป็นนักรบปกป้องจิตวิญญาณของชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่คู่กับแผ่นดินมายาวนาน

ผมได้มีโอกาสพาคีรีและเพื่อนที่มาด้วยกันขึ้นไปเยี่ยมชุมชนหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย คืนนั้นบรรดาเยาวชน โดยเฉพาะผู้หญิง ได้มานั่งล้อมวงรอบแสงเทียนเพื่อรับฟังเรื่องราวของพี่สาวที่เป็นอาคันตุกะจากแดนไกล คีรีเริ่มต้นเล่าเรื่องของเธอด้วยการลุกขึ้นยืนแล้วร้องสวดเป็นภาษาเมารี สำเนียงดั้งเดิม โหยหวน เต็มไปด้วยความนอบน้อมและความรัก เพื่อสื่อสารกับจิตวิญญาณของสถานที่แห่งนั้น เจ้าป่า เจ้าเขา ขวัญทั้งหลายที่ดำรงอยู่ในโมงยามของรัตติกาล ทุกคนรวมทั้งผมถึงกับนั่งอึ้งกับการ “แสดงออก” ซึ่งจริงๆ แล้วต้องเรียกว่า “การเป็น” หรือ “การดำรงอยู่” ของคีรี สำหรับเธอแล้วจักรวาลทั้งมวลมีชีวิต และพิธีกรรมร่ำร้องกล่าวสาส์นนี้ช่วยทำให้การสนทนาของเราเข้าสู่การเชื่อมต่อกับโลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์และวิถีของบรรพชน ระหว่างพื้นภูมิสยามและตำนานเมารี

นับตั้งแต่เธอได้มาร่วมงานและเรียนรู้กับ World Jam ที่รวมพลคนสร้างสรรค์สังคมรุ่นใหม่ไว้ด้วยกัน วิธีคิดในการเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์สังคมของเธอก็เปลี่ยนจากการต่อสู้และปะทะด้วยความรุนแรงมาเป็นการต่อสู้ภายในตัวเธอเอง และตระหนักถึงเสรีภาพที่บุคคลจะค้นพบได้ในตัวเอง เธอพบคุณค่าของทำงานด้านในไปพร้อมๆ กับการทำงานด้านนอก การเดินทางด้านในที่ค้นพบการไปถึงได้ในแต่ละขณะ การยอมรับและเป็นหนึ่งเดียวกับโลกอย่างที่เป็นก่อนแล้วจึงหล่อเลี้ยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนา การไม่พยายามเป็นผู้ “กระทำ” การเปลี่ยนแปลง (change agent) แต่เป็นผู้เชื่อมโยงและเกื้อหนุนเหตุปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง เหล่านี้ล้วนแต่มาจากประสบการณ์การทำงานกับคนรุ่นเก่าและใหม่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการมองเห็นความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนภายใต้ภูเขาน้ำแข็งแห่งปรากฏการณ์

เมื่อมาเชื่อมโยงกับกระแสการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่มีการกล่าวถึงกันมากขึ้นเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านใน ก็มีโจทย์ว่าทำอย่างไรจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) จะไม่ใช่เป็นเพียงกระบวนการเรียนรู้ด้านใน ที่สร้าง “ความสงบสุข” ให้กับผู้เรียน แต่ช่วยกระตุ้นแรงปรารถนาที่จะแบ่งปัน ช่วยเหลือ และรับใช้สังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง การแบ่งแยกและความทุกข์ เพราะมิเช่นนั้น จิตตปัญญาศึกษาก็จะกลายพันธุ์ไปในทาง “นิวเอจ (New Age)” ที่หลุดลอยไปกับอิสรภาพ และการ “ค้นพบตัวเอง” อย่างไม่ผูกโยงกับทุกขสัจจ์ของยุคสมัย และโดยห่างไกลออกไปจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเองได้ด้วยอย่างน่าเสียดาย

ภาษา พิธีกรรม การแสดงออก หรือเครื่องแต่งกายที่เราสวมใส่ ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนหรือย้ำเตือนสิ่งที่เราเป็น รากเหง้าของเรา แม้ว่ากางเกงยีนส์อาจไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณชนเผ่าเสื่อมสลายลง แต่เมื่อใดก็ตามที่เราหลงใหลไปกับอารมณ์ความเป็นอื่น เมื่อนั้นเราก็หลุดลอยออกไปจากสิ่งจริงแท้ที่เราเป็นอยู่

Back to Top