โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มีนาคม 2552
ปีที่ผ่านมา ผมโชคดีและมีความสุขมากที่ได้ร่วมทำงานกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะหัวหน้าโครงการถึงสองโครงการ เพราะทั้งสองโครงการมีแนวคิดและแนวปฏิบัติที่มีความสุขเป็นฐาน และเป็นเป้าหมาย มุ่งหวังให้คนในระบบการศึกษามีความสุข สร้างระบบการศึกษาที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized Educare Systems) ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสังคมมีคุณลักษณะ “สุข ดี เก่ง” เป็นคนและสังคมที่มีคุณภาพแท้ (Authentic) ไม่ใช่คุณภาพเทียม (Artificial) หรือเสมือนจริง (Virtual)
โครงการแรกเป็นการขับเคลื่อนเรื่อง “จิตตปัญญาศึกษา” สู่สถาบันอุดมศึกษา โดยได้เชิญผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ เข้าร่วมสัมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอบรมเชิงปฏิบัติการ ๕ ครั้งๆ ละ ๓ วัน ก่อให้เกิดชุมชนปฏิบัติ (Community of Practice) วิทยากรและกระบวนกรด้านจิตตปัญญาศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย อาจารย์จำนวนหนึ่งได้นำแนวคิด แนวปฏิบัติ และวิธีการที่ได้จากการอบรมไปใช้ในการเรียนการสอนและการทำงาน แล้วได้แจ้งให้ทราบด้วยความปีติที่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีทั้งต่อตนเอง ลูกศิษย์ เพื่อนร่วมงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ผมเองก็เป็นปลื้มและมีความสุขไปกับเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาที่ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ
โครงการที่สองเป็นโครงการวิจัยประเมินผลคุณภาพคนไทย: การวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ของคนไทย โครงการวิจัยประเมินคุณภาพคนไทย แบ่งการดำเนินงานออกเป็นสามระยะ ระยะแรกเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ระยะที่สองเป็นการวิจัยเพื่อสร้างเครื่องมือวัด/ประเมิน “สุข ดี เก่ง” และระยะที่สามจะเป็นการประเมินสภาวะ “สุข ดี เก่ง” ของคนไทยทั้งประเทศ และจำแนกตามตัวแปรอิสระต่างๆ เช่น อาชีพ อายุ ระดับการศึกษา...
การวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ซึ่งเป็นระยะแรกของโครงการได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว อยู่ระหว่างการปรับปรุงต้นฉบับรายงานการวิจัยหลังจากที่ได้รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิของสภาการศึกษา
การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นนวัตกรรมทั้งในแง่ของแนวคิด ระเบียบวิธีวิจัย และการพัฒนาตัวชี้วัด ลักษณะพิเศษของการวิจัยครั้งนี้มีหลายประการเช่น
- การใช้ความสุขเป็นฐานของการทำวิจัย (มีความสุขในการทำงาน)
- การไม่ยึดติดอยู่กับระเบียบวิธีวิจัย หรือกรอบทฤษฎีการพัฒนาตัวชี้วัดหนึ่งใด แต่พร้อมที่จะเรียนรู้และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และประสบการณ์ตรงระหว่างการทำวิจัยของทีมวิจัย (งานคือครู-เรียนรู้จากการทำงาน)
- ไม่มีคำนิยามปฏิบัติการ (Operational Definition) สำหรับ ความสุข ความดี ความเก่ง แต่ใช้วิธีการพูดคุยแบบไม่ชี้นำ (Nondirective/Informal Interview) กับผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) ที่ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนว่าเป็นคนที่มีความสุข ความดี ความเก่ง และขอให้ท่านแนะนำผู้มีความสุข ความดี ความเก่ง ตามที่ท่านรู้จักให้ผู้วิจัยเพื่อจะได้คัดเลือกและขอไปพูดคุยด้วยต่อๆ ไป
- การพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ในลักษณะที่เป็นองค์รวม ไม่แยกเป็น “สุข” “ดี” “เก่ง” ออกจากกัน
- แหล่งข้อมูลที่นำมาประกอบการวิเคราะห์/สังเคราะห์ความหมายและตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” มาจากการวิจัยเอกสาร การวิจัยภาคสนาม การประเมินและตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรึกษาหารือระหว่างทีมวิจัย
- ผู้ให้ทุนทำวิจัยส่งคนในสำนักงานเข้ามาร่วมเรียนรู้และร่วมกระบวนการวิจัยกับทีมวิจัย
- ผู้ให้ทุนมีความ “ใจกว้าง” และ “กล้า” พอที่ให้ “ความไว้วางใจ” ผู้ทำวิจัยลองสร้างนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนา
ผลการวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ครั้งนี้ ได้ตัวชี้วัด ๓ ชุด อันเนื่องมาจากวิธีการสังเคราะห์ที่แตกต่างกัน แต่ละชุดมีจำนวนตัวชี้วัดที่ไม่เท่ากัน
ชุดแรกได้จากการสังเคราะห์งานวิจัยเอกสาร (๙๙ ตัวชี้วัด) ผ่านการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษาในโครงการแรกที่จัดโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เหลือ ๒๒ ตัวชี้วัด) กับข้อมูลที่ได้จากการวิจัยภาคสนาม (๗๓ ตัวชี้วัด) ผ่านการพิจารณาความซ้ำซ้อนของทีมวิจัย (เหลือ ๒๕ ตัวชี้วัด) ผลการสังเคราะห์ได้ตัวชี้วัดทั้งหมด ๑๑ ตัว นำตัวชี้วัด พร้อมคำนิยาม ๓ ระดับให้ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการวัดการประเมิน และการวิจัยทางการศึกษาพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ
ชุดที่สอง ได้จากข้อมูลภาคสนามเฉพาะที่ผู้ให้ข้อมูลหลักระบุว่า “สุข ดี เก่ง” เป็นลักษณะเดียวกัน รวมอยู่ในคนๆ เดียว เป็นตัวชี้วัด “รวม” ไม่แยกเป็นส่วนๆ มีตัวชี้วัดทั้งหมด ๒๕ ตัว ผ่านการพิจารณาทบทวนจากทีมวิจัยเหลือ ๒๓ ตัวชี้วัด
ชุดที่สาม ได้จากการสังเคราะห์งานวิจัยเอกสารที่ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ (๒๒ ตัวชี้วัด) กับตัวชี้วัด “ร่วม” (ตัวชี้วัดที่ปรากฏตรงกันในทุกมิติของตัวชี้วัด “สุข” “ดี” และ “เก่ง”) ที่ได้จากการวิจัยภาคสนาม (๑๖ ตัวชี้วัด) ผลการสังเคราะห์ได้ตัวชี้วัดร่วม ๖ ตัวชี้วัด
เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดชุดที่สอง (๒๓ ตัวชี้วัด) และตัวชี้วัดชุดที่สาม (๖ ตัวชี้วัด) พบว่าตัวชี้วัดทั้งหกตัวในชุดที่สามล้วนเป็นตัวชี้วัดที่ปรากฏในชุดที่สอง งานวิจัยนี้จึงนำเสนอผลการวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ของคนไทยในระยะแรกนี้เป็น ๖ ตัวชี้วัด ซึ่งได้แก่
มีความเพียร รักในการเรียนรู้ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ประนีประนอม มีอุดมการณ์ในชีวิต และ มีความพอเพียง ตัวชี้วัด
รวม “สุข ดี เก่ง” ในชุดที่สอง (๒๓ ตัวชี้วัด) ถือเป็นนวัตกรรมทางความคิด/กระบวนทัศน์ทางการวิจัยและการพัฒนาตัวชี้วัด หากมีการพัฒนาวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลให้รอบคอบ รัดกุมขึ้น จะน่าสนใจมากทั้งในแง่ของวิชาการ และการนำไปใช้
ตัวชี้วัด
ร่วม “สุข ดี เก่ง” ในชุดที่สาม (๖ ตัวชี้วัด) และเป็นผลการวิจัยครั้งนี้ ถือเป็นนวัตกรรมทางระเบียบวิธีวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัดที่น่าสนใจ ในแง่ที่เป็นการวิจัยฐานราก (Grounded Research) ที่มีวัฒนธรรมเป็นฐานร่วม ในกรณีนี้จะสังเกตได้จากตัวชี้วัดทั้ง ๖ ตัว มีความเป็นไทยอยู่พอควร เช่น ความพอเพียง ความเพียร และประนีประนอม
ที่น่าสนใจมากในเชิงวิชาการ โดยเฉพาะการตีความ ความหมายของคำที่ผู้ให้ข้อมูลหลักใช้ และสถานการณ์/บริบทประกอบการอธิบาย หากตีความตามผู้ให้ข้อมูลหลักโดยตรง อาจจะมีความหมายแตกต่างหรือไม่ตรงกับที่นักวิชาการ (เฉพาะทาง) เข้าใจก็ได้ เมื่อนำผลการวิจัยมาให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาก็อาจจะตีความไม่ตรงกัน ในการเรียนการสอนด้านการวัดการประเมิน และการวิจัยเชิงคุณภาพ จึงควรต้องนำประเด็นเหล่านี้ไปพิจารณาด้วย
ประเด็นเรื่องตัวชี้วัดรวม ตัวชี้วัดร่วม และการตีความดังกล่าว น่าจะนำไปทำเป็นวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกได้ โดยผมและทีมวิจัยยินดีเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ให้ครับ
การวิจัยและพัฒนาในระยะที่สอง หากได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา หรือหากมีหน่วยงานอื่นที่จะร่วมสนับสนุน ทีมวิจัยก็พร้อมที่จะพัฒนานวัตกรรมการสร้างเครื่องมือ/แบบวัดและประเมิน “สุข ดี เก่ง” เพื่อนำไปประเมินสภาวะ “สุข ดี เก่ง” ของคนไทยในระยะที่สามต่อไป
น่าสนใจไหมครับถ้าเราจะประกาศผลการประเมินสภาวะ “สุข ดี เก่ง” ของคนไทยเป็นประจำทุกปี ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือทุกๆ ๕ ปีควบคู่ไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต พระนักปราชญ์ไทยจากหนังสือ เราจะกู้แผ่นดินกันอย่างไร ได้ให้แง่คิดว่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจนั้นไม่สำคัญเท่าการสูญเสียคุณภาพของคน “เราจึงต้องกู้คนขึ้นมา แล้วคนนี่แหละจะมากู้เศรษฐกิจได้ แล้วจะเป็นเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืนอย่างแท้จริง”
ผมมีความสุขมากที่ได้มีโอกาสทำโครงการที่มีความมุ่งมั่นและเจตนาที่ดีทั้งสองโครงการของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงขอขอบคุณด้วยความจริงใจมา ณ ที่นี้
ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทั้งสองโครงการที่ช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จ ผมได้เรียนรู้จากท่านทั้งหลายมากมายเหลือเกิน
ผมเข้าใจอย่างชัดเจนแล้วว่า ที่ท่านพุทธทาสสอนว่า
จงทำงานอย่างมีความสุข และ มีความสุขกับการทำงาน หมายถึงอะไร และผมเข้าใจชัดเจนแล้วว่าที่ท่านสอนว่า
งานคือครู หมายถึงอะไร
คุณครูทั้งหลาย อาจารย์ที่เคารพ พ่อแม่ที่รัก นักการเมืองที่นับถือ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นยอด นักกฎหมายชั้นเยี่ยม ศิลปินชั้นแนวหน้า...มาช่วยกันเป็นตัวแบบที่ดี ช่วยกันสร้างและพัฒนาคนไทยให้มีคุณลักษณะ “สุข ดี เก่ง” ร่วมกันนะครับ เพราะ “สุข ดี เก่ง” สร้างได้ครับ
ก่อนจบขอฝากแง่คิดไว้นิดหนึ่งว่า “ชาติจะมั่นคง สงบสุข อย่างยั่งยืนได้ด้วยสติและปัญญา การศึกษาจึงต้องพัฒนาคนให้มีสติและปัญญา เพื่อเป็นปัญญาชน”
แสดงความคิดเห็น