สองด้านของความเป็นมนุษย์



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มีนาคม 2552

คงไม่มีภาพยนตร์เรื่องใดในปีนี้ที่ได้รับทั้งคำชมและคำประณามมากเท่ากับ The Reader ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลระดับโลกหลายรางวัลรวมทั้งตุ๊กตาทองสำหรับดารานำฝ่ายหญิง แต่ในเวลาเดียวกันก็มีนักวิชาการและนักเขียนมีชื่อหลายคนพากันโจมตีภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับตัวละครฝ่ายหญิงคือ ฮันน่า ชมิตซ์ ซึ่งเป็นอดีตผู้ดูแลค่ายกักกันชาวยิวที่เมืองเอาชวิตซ์อันลือชื่อ

หนึ่งในบรรดาข้อกล่าวหาที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ สร้างภาพของฮันน่าให้ดูดี ทำให้ผู้ชมรู้สึกเห็นใจกับชะตากรรมของเธอในตอนท้าย ทั้ง ๆ ที่เธอไม่เพียงมีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง หากยังมีส่วนทำให้นักโทษถึง ๓๐๐ คนถูกไฟคลอกตายในโบสถ์ซึ่งใช้เป็นที่คุมขังชั่วคราว โดยเธอไม่ยอมช่วยเหลือคนเหล่านั้นแม้แต่จะเปิดประตูโบสถ์ให้

ผู้ชมมารู้ภูมิหลังดังกล่าวของเธอเมื่อภาพยนตร์ดำเนินไปได้ครึ่งเรื่องแล้ว เมื่อเธอต้องขึ้นศาลหลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปแล้วเกือบ ๒๐ ปี แต่ก่อนหน้านั้นผู้ชมรู้แต่ว่าเธอเป็นพนักงานเก็บเงินในรถราง ที่บังเอิญมารู้จักกับเด็กหนุ่มวัย ๑๕ แล้วภายหลังมีสัมพันธ์ฉันชู้สาวทั้ง ๆ ที่เธอมีอายุมากกว่าถึง ๒๑ ปี

ภาพของฮันน่าตั้งแต่ต้นเรื่องคือผู้หญิงที่มีน้ำใจ ช่วยเหลือเด็กแปลกหน้าที่ป่วยประหนึ่งพี่สาว (หรือแม่) ไม่มีวี่แววของคนใจร้ายหรือใจหิน แม้ว่าเธอจะมีความโกรธเกรี้ยวก้าวร้าวอยู่บ่อยครั้ง แต่นั่นก็อาจเป็นเพราะความทุกข์บางอย่างที่เธอเก็บงำไว้ในใจ

การเสนอภาพของเธอไม่ต่างจากผู้หญิงทั่วไป ที่น่าเห็นใจ ทั้ง ๆ ที่เคยร่วมประกอบอาชญากรรมอันเลวร้ายในอดีต ทำให้หลายคนรับไม่ได้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ (รวมทั้งนวนิยายชื่อเดียวกันซึ่งโด่งดังมากว่าสิบปีแล้ว) ดูเหมือนว่าในสายตาของคนเหล่านั้น ฮันน่าควรมีภาพของ “ผู้ร้าย” ที่น่ารังเกียจตั้งแต่แรกเลย

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พฤติกรรมของเธอเมื่อครั้งเป็นผู้คุมนักโทษชาวยิวนั้นเป็นสิ่งที่ผิดจริยธรรมอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีพฤติกรรมเช่นนั้นจะต้องเป็นยักษ์มารสถานเดียว คนเหล่านี้ก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี แต่ความจริงอย่างนี้ยากที่ผู้คนจะยอมรับกันได้

เมื่อใครสักคนทำสิ่งชั่วร้าย เรามักอดไม่ได้ที่จะวาดภาพคนนั้นว่าเป็นคนเลว หาความดีไม่ได้ หนักกว่านั้นคือไร้ความเป็นมนุษย์ ในทัศนะของคนเป็นอันมาก ความเป็นมนุษย์นั้นจำกัดไว้เฉพาะกับคนที่มีแต่ความดี แต่คนเช่นนั้นเราจะหาได้จากที่ไหนในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะไม่มีใครที่ดีล้วน ๆ ถึงจะเป็นคนดีก็มีด้านที่ไม่ดีอยู่ เพราะมนุษย์นั้นมีความอ่อนแอ ที่ทำให้พ่ายแพ้ต่อกิเลสอยู่เนือง ๆ กิเลสเหล่านี้เองที่ทำให้คนดีสามารถทำสิ่งไม่ดีอย่างที่เราอาจนึกไม่ถึง

กิเลสนั้นไม่ได้หมายถึงการโหยหาปรารถนาสิ่งเย้ายวน เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจ หรือเพศรส เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความยึดติดในอุดมการณ์ ความเชื่อ หรือมาตรฐานความถูกต้องในแบบของตน จนหลงคิดไปว่า “กู” คือความถูกต้อง ใครที่คิดหรือทำไม่เหมือนกู ก็แสดงว่าเป็นคนไม่ดี และเมื่อเป็นคนไม่ดีแล้วก็สมควรกำจัดออกไป มี “คนดี” ไม่น้อยที่ถูกครอบงำด้วยความคิดแบบนี้ ผลก็คือกลายเป็นคนลุแก่อำนาจ หนักกว่านั้นก็เป็นเผด็จการและทรราชไป

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า เหมา เจ๋อ ตุง, พอลพต หรือ บิน ลาเดน จัดอยู่ในกลุ่มนี้

ความจริงอย่างหนึ่งที่เรายอมรับได้ยากก็คือ คนที่สามารถออกคำสั่งให้สังหารคนเป็นแสนหรือเป็นล้านได้นั้น ไม่จำต้องเป็นคนใจคอวิปริตผิดมนุษย์ก็ได้ คนที่ “ปกติ” ก็สามารถทำได้ เมื่อ อดอล์ฟ ไอค์มานน์ ผู้รับผิดชอบแผนการสังหารชาวยิวถึง ๖ ล้านคน ได้รับการตรวจสภาพจิตหลังจากถูกจับได้ ผลการวินิจฉัยยืนยันว่าเขาเป็นคน “ปกติ” เหมือนคนทั่วไป ถึงแม้จะพูดไม่ได้ว่าเขาเป็นคนดีก็ตาม

ในทำนองเดียวกันคงเกินเลยไปที่จะบอกว่าผู้บัญชาการค่ายกักกันชาวยิวเป็นคนดี แต่อย่างน้อยก็พูดได้ว่าคนเหล่านี้มีความเป็นมนุษย์และมีด้านดีหลายด้านไม่ต่างจากเรา รูดอล์ฟ เฮิสส์ ผู้บัญชาการค่ายกักกันเอาชวิตส์ ได้ชื่อว่าเป็นคนรักครอบครัว ใจดีกับลูก ๆ และมีน้ำใจกับมิตรสหาย ส่วน ฟรานซ์ สตังเงล ผู้บัญชาการค่ายกักกันเทรบลิงกาก็เป็นคนสุภาพ พูดเสียงเบา ๆ ทั้งสองคนหาใช่คนโหดเหี้ยมไม่ เช่นเดียวกับ ไอค์มานน์ เฮิสส์ เคยเขียนในบันทึกส่วนตัวว่าเขาไม่รู้สึกเกลียดชังชาวยิวเป็นส่วนตัว แต่อะไรเล่าที่ทำให้ทั้งคู่บัญชาการสังหารชาวยิวนับหมื่นนับแสนได้อย่างไม่รู้สึกสะทกสะท้าน (เฮิสส์เคยกล่าวว่า “ถึงแม้ว่ากำลังทำภารกิจกำจัดชาวยิวอยู่ ผมก็ยังใช้ชีวิตตามปกติ”) คำตอบก็คือ เพราะเขาเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง คนเหล่านี้ไม่เคยตั้งคำถามกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ใจจดจ่ออยู่กับการทำงานให้ดีที่สุด

เมื่อใจจดจ่อเต็มที่อยู่กับงานการ อย่างอื่นก็ไม่อยู่ในความสนใจ รวมทั้งความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ที่เป็นชาวยิว อย่างเดียวที่เฮิสส์และสตังเงลสนใจก็คือ ทำอย่างไรจะกำจัดชาวยิวให้ได้มากที่สุดตามเวลาที่กำหนด ใจของเขาจะจดจ่ออยู่กับรายละเอียดเชิงเทคนิค เช่น ตารางเวลารถไฟที่ขนนักโทษมายังค่าย ขนาดและความจุของรถไฟ ชนิดของเตาและวิธีการรมแก๊สพิษ ฯลฯ ใจที่หมกมุ่นอยู่กับข้อมูลเหล่านี้ โดยมุ่งที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ย่อมไม่เหลือที่ว่างให้แก่ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจนักโทษ ยิ่งเขาเก็บตัวอยู่แต่ในสำนักงาน ทำแต่งานบริหาร โดยไม่เคยไปรับรู้หรือเป็นประจักษ์พยานในการสังหารนักโทษเลย เสียงร่ำร้องของคนเหล่านั้นจึงแทบไม่มีโอกาสเข้ามาอยู่ในมโนสำนึกของเขาเลย นักโทษเหล่านี้จึงเป็นแค่ตัวเลข หรือมีสถานะไม่ต่างจากวัตถุดิบในโรงงาน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าด้วยวิธีการแบบนี้จะทำให้สตังเงลได้ชื่อว่า “ผู้บัญชาการที่ดีที่สุดในโปแลนด์”

ใจที่มุ่งแต่ “งาน” จนมองไม่เห็น “คน” สามารถทำให้คนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ กลายเป็นคนที่ไร้น้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะหากเขาอยู่ในอาณัติที่เราต้องจัดการให้ได้ นี้คือเหตุผลเดียวกับที่ฮันน่า ไม่ยอมเปิดประตูโบสถ์เพื่อให้นักโทษหนีไฟออกมา เธออธิบายต่อศาลอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอมีหน้าที่ต้องควบคุมคนเหล่านั้นให้ไปถึงที่หมาย หากเปิดประตูโบสถ์ นักโทษเหล่านั้นก็จะต้องหนีกระจัดพลัดพรายไปหมด

ฮันน่าไม่มีท่าทีรู้สึกผิดกับการกระทำเช่นนั้น เพราะเธอคิดว่าเธอพยายามทำหน้าที่ของเธอให้ดีที่สุด (แต่กลับอับอายที่ตนเองเป็นคนไม่รู้หนังสือ จนยอมรับโทษหนักเพื่อปกปิดความจริงข้อนี้) ท่าทีอย่างนี้ย่อมทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะตัดสินว่าเธอเป็นคนใจหินโหดเหี้ยม ดังนั้นจึงรับไม่ได้ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะแสดงด้านดีของเธอออกมาให้ผู้ชมเห็นอกเห็นใจ แต่จะว่าไปแล้วนี้คือการเสนอภาพความเป็นจริงของปุถุชนคนหนึ่ง ซึ่งแม้จะทำความเลวร้ายด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ก็ไม่ได้เลวไปเสียหมด หากยังมีส่วนดีอีกมากมาย ใช่หรือไม่ว่านี้แหละคือความเป็นมนุษย์ที่มีในเราทุกคน

ผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะมองอะไรเป็นขาว-ดำอย่างชัดเจน ใครที่เป็นคนดีก็ขาวหมด ส่วนคนชั่วก็ดำหมด แต่แท้จริงแล้วขาวกับดำ ดีกับชั่ว ก็ปะปนอยู่ในตัวคนเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นความไม่ดีของใครบางคน แล้วเหมารวมว่าเขาเลวไปหมด เมื่อนั้นก็เป็นการง่ายที่เราจะเห็นเขาเป็นยักษ์มารหรือผีห่าซาตานที่สมควรขจัดออกไปจากโลกนี้ แต่รู้หรือไม่ว่า เพียงแค่คิดเช่นนั้นเราก็กำลังจะกลายเป็นยักษ์มารไปแล้ว

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ทุกวันนี้เราไม่ได้เหมาว่าใครบางคนเป็นคนเลวเพียงเพราะเห็นความไม่ดีบางด้านของเขาเท่านั้น หากยังมีแนวโน้มที่จะมองว่าคนที่คิดต่างจากเราก็เป็นคนเลวไปด้วย ซึ่งหมายความต่อไปว่าคนเหล่านั้นสมควรถูกขจัดให้สิ้นซาก ใช่หรือไม่ว่านี้คือความคิดที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งในสังคมไทย โดยเฉพาะระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง

เสื้อเหลืองและเสื้อแดง แม้จะคิดต่างกันในทางการเมือง ก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่เป็นเพราะความยึดติดในความถูกต้องของตนอย่างเหนียวแน่น (ไม่ว่าทางศีลธรรมหรือทางการเมือง) จึงง่ายที่จะมองเห็นคนที่คิดหรือทำต่างจากตนเป็นคนเลวร้าย ชนิดที่หาความดีหรือความเป็นมนุษย์ไม่ได้เลย ดังนั้นจึงพร้อมที่จะใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้เพื่อขจัดคนเหล่านั้นออกไปจากวงสนทนา จากเวทีการเมือง จากเมืองไทย หรือจากโลกนี้ไปเลย

อย่ายอมให้สีของเสื้อมาบดบังความเป็นมนุษย์ของเขา ถึงแม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน แต่ทั้ง ๒ ฝ่ายก็มีหลายอย่างที่เหมือนกัน เช่น ความเป็นคนไทย อยากให้บ้านเมืองมีสันติสุข รักสุขเกลียดทุกข์ มีพ่อแม่และคนรักที่ห่วงใย ฯลฯ จะว่าไปแล้ว สิ่งที่ทั้ง ๒ ฝ่ายมีเหมือนกันนั้น มากกว่าสิ่งที่ต่างกันด้วยซ้ำ การเห็นแต่ความต่าง จนมองข้ามความเหมือน ทำให้เกิดการแบ่งเราแบ่งเขาอย่างชัดเจน และคิดแต่จะเอาชนะซึ่งกันและกัน

ใจที่หมกมุ่นอยู่กับงานการ อาจทำให้มองไม่เห็นคนได้ ฉันใด ใจที่จดจ่ออยู่กับชัยชนะทางการเมือง ก็ทำให้มองเห็นคนเป็นเบี้ยได้ฉันนั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่เราถอดเสื้อสีและหัวโขน หันหน้ามาสนทนากันในฐานะบุคคล เราจะเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันได้ง่ายขึ้น อันที่จริงแม้จะไม่ถอดหัวโขน เพียงแค่มีโอกาสมารู้จักกันตัวต่อตัว แทนที่จะเห็นหรือตอบโต้ผ่านสื่อ ก็สามารถลดอคติ และเห็นด้านดีของกันและกันได้มากขึ้น ยิ่งมีเวลาส่วนตัวอยู่ด้วยกัน หรือทำงานร่วมกัน ก็อาจกลายเป็นเพื่อนกันได้

เมื่อนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกับคนทำสัมปทานป่าไม้ในโอเรกอนและแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกันมาช้านาน มาร่วมกันปลูกต้นไม้ ปกป้องลำธาร ความเป็นมิตรก็เกิดขึ้น และสามารถพูดคุยกันด้วยเหตุผลได้มากขึ้น ในปี ๒๕๓๔ ได้มีการนำเอาผู้นำคนผิวดำจากพรรคสภาแอฟริกันแห่งชาติ (ANC ซึ่งมี เนลสัน แมนเดลา เป็นผู้นำ) กับผู้นำพรรคเนชั่นแนลลิสต์ของคนขาวในแอฟริกาใต้ มาสนทนากันในกระท่อมชนบทช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แม้จะมีความระแวงและเกลียดชังกันมาก่อน แต่ในชั่วไม่กี่วันทั้งสองก็เริ่มมีความไว้วางใจและเคารพกันมากขึ้น สัมพันธภาพดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่นำไปสู่การเจรจาระหว่างรัฐบาลคนผิวขาวกับพรรคของคนผิวดำ จนกระทั่งมีการโอนถ่ายอำนาจให้คนดำอย่างสันติในที่สุด

ประสบการณ์ของหลายคนที่มีส่วนร่วมในการสานเสวนาระหว่างเสื้อเหลืองและเสื้อแดงในช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติเหมือนกัน และไม่ได้เป็นคนเลวร้ายป่าเถื่อนอย่างที่วาดภาพเอาไว้ กิจกรรมดังกล่าวน่าที่จะทำอย่างต่อเนื่องและขยายวงให้กว้างขึ้น แม้คนที่เข้าร่วมได้จะมีจำนวนไม่มากก็ตาม แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถส่งผลได้ยาวไกล

เราคงไม่สามารถหวังว่าความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงจะหมดสิ้นไปในเร็ววัน เพราะความขัดแย้งของทั้ง ๒ ฝ่ายเชื่อมโยงกับความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะคลี่คลายได้ แต่อย่างน้อยทั้ง ๒ ฝ่ายก็ควรไม่ควรทำความขัดแย้งทางการเมืองให้กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างเทพกับมาร หรือระหว่างธรรมกับอธรรม อย่างน้อยก็ควรมองเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน อย่าทำลายความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายจนมองเห็นเขาเป็นตัวเลวร้ายหรือผีห่าซาตาน ขณะเดียวกันควรใจกว้างเมื่อผู้อื่นเห็นความเป็นมนุษย์หรือความดีของเขาแม้เรายังมองไม่เห็นก็ตาม เพราะนั่นอาจเป็นปัญหาของเรา มิใช่ปัญหาของเขา

ลองมองให้กว้าง ก็จะพบว่าคนที่สวมเสื้อคนละสีกับเรานั้น มีหลายอย่างที่เหมือนเรา และมีเพียงบางอย่างเท่านั้นที่ต่างจากเรา ลองมองให้ไกลก็จะพบว่า ในอดีตเรากับเขาก็เคยเป็นเพื่อนกัน หรือเดินบนเส้นทางเดียวกันมาก่อน และในอนาคตก็อาจร่วมเส้นทางเดียวกันอีก ใช่แต่เท่านั้น ลองมองให้ลึกก็จะพบว่า เขาก็มีความดีด้วยเช่นกัน อาจจะไม่ยิ่งหย่อนกว่าเราเลย

จริงอยู่เขาอาจทำอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกต้องหรือเกินเลยไปบ้าง แต่ก็อย่าให้สิ่งนั้นปิดบังสายตาของเราจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา ก่อนจะตัดสินเขา อย่างน้อยเราก็ควรถามตัวเองว่าแน่ใจแล้วหรือว่าเราเองก็ไม่ได้ทำเช่นเดียวกับเขา

อย่าลืมว่ายิ่งเราเห็นผู้อื่นมีความเป็นมนุษย์น้อยลงเพียงใด ความโกรธเกลียดที่ตามมาจะทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราลดน้อยถอยลงเพียงนั้น

One Comment

assur กล่าวว่า...

ทำยังไงให้มีป้ายกำกับสองด้านละค่ะ

Back to Top