มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 27 กุมภาพันธ์ 2553
“ความคิด” ของมนุษย์เป็นพลังงานชนิดหนึ่งครับ
นักชีววิทยาชาวอังกฤษชื่อ รูเพิร์ต เชลเดรก ได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า
“สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีสนามของพลังงานร่วมกันอยู่” ที่เขาเรียกว่า “Morphic Resonance Field”
“สนามพลังของความคิดที่ร่วมกัน” นี้ ก็เหมือนกับที่มนุษย์ใช้บรรยากาศร่วมกัน เมื่อโลกร้อนขึ้นทุกคนก็จะถูกกระทบเช่นเดียวกันหมด ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
เชลเดรกได้สังเกตพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตต่างๆ มากมาย และเขารายงานว่ามีปรากฏการณ์ต่างๆ มากมายที่สนับสนุนสมมติฐานเรื่อง “สนามพลังร่วม” ที่ว่านี้ ตัวอย่างเช่น
เมื่อหลายร้อยปีก่อน ไร่นาในอังกฤษถูกวัวควายเดินย่ำจนเสียหาย ชาวนาก็เลยขุดร่องกั้นและวางแผ่นเหล็กเป็นช่องที่ใหญ่พอให้สัตว์เท้ากีบอย่างวัวควายเดินเข้าไปได้ แต่ไม่สามารถเดินผ่านได้ เพราะเมื่อฝูงวัวควายเดินเข้าไป กีบเท้าจะหลุดติดเข้าไปในช่องเหล็กที่ว่านี้ แผ่นเหล็กที่ว่านี้เรียกว่า “แคทเทิ้ลกริด” (Cattle Grid)
ปรากฏว่าในเวลาต่อมาวัวควายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าไม่เคยไปเที่ยวหรือไปดูงานในเกาะอังกฤษ เมื่อเห็นแผ่นแคทเทิ้ลกริดวางอยู่ วัวควายเหล่านี้จะเดินหนีไปเลย แถมคนอเมริกันยังหัวใส ไม่ต้องเสียเวลาทำแคทเทิ้ลกริดจริงๆ เพียงระบายสีบนพื้นให้เหมือนภาพของแคทเทิ้ลกริดเท่านั้น บรรดาวัวควายก็จะเดินเลี่ยงไปไม่ยอมเหยียบในพื้นที่ที่ระบายสีแบบนั้นอีกด้วย
ครั้งหนึ่งเมื่อนกชนิดหนึ่งในเมืองหนึ่งของอังกฤษ เรียนรู้ที่จะเจาะปากขวดนมวัวที่คนรีดนมวัวนำมาส่งและวางไว้หน้าบ้านในตอนเช้าได้ ก็ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ระบาดไปทั่วยุโรป ทั้งๆ ที่นกชนิดนี้เป็นนกเล็กๆ ที่ไม่สามารถบินไปไหนไกลๆ ได้
ในส่วนของมนุษย์ เราพบว่ามนุษย์ในแต่ละส่วนของโลกสามารถมีความคิดที่เหมือนๆ กันได้ ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้นไม่ได้มีการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยเลย เช่น มนุษย์ในแต่ละซีกโลกเริ่มรู้จักการเกษตรในเวลาไล่ๆ กัน ประดิษฐ์อักษรขึ้นมาใช้ในเวลาไล่ๆ กัน
หรือแม้แต่ “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” ของ ชาร์ล ดาร์วิน ก็มีหลักฐานว่า ในปีเดียวกัน มีนักชีววิทยาชาวมาเลเซียก็พูดถึงทฤษฎีในทำนองที่คล้ายคลึงกันมาก แต่ ชาร์ล ดาร์วิน ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ค้นพบ เพียงเพราะเขารายงานเร็วกว่า แต่ประเด็นก็คือ “ทำไมมนุษย์ในแต่ละซีกโลกถึงคิดถึงเรื่องราวเดียวกันได้ในเวลาใกล้เคียงกัน?”
ถ้ามองตามสมมติฐานของ รูเพิร์ต เชลเดรก นี้ มนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งก็น่าจะมี “สนามพลังร่วม” อยู่ด้วยกันกับมนุษย์ทั้งหกพันกว่าล้านคนบนโลกใบนี้
หมายความว่า ในขณะที่เรากำลังคิดอะไรอยู่ จะถูกบันทึกเข้าไปในสนามพลังร่วมของมนุษย์ และความคิดที่วิ่งอยู่ในหัวเราส่วนหนึ่งก็มาจากสนามพลังที่ว่านี้ด้วย
หรือหมายความว่า “ความคิดใดๆ” ของท่านผู้อ่านแต่ละท่านในขณะนี้ กำลังมี “ผลกระทบ” กับ “สนามพลังร่วมของมนุษย์” และ “กลับกันในทำนองเดียวกันด้วย”
เอ็กฮาร์ท โทลล์ (Ekhart Tolle) ผู้เขียนหนังสือขายดีที่ชื่อ The Power of Now และ The New Earth บอกไว้ว่า “พวกเราทุกคนควรจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความคิดที่อยู่ในหัวของเราว่า เราจะต้องไม่ยอมปล่อยให้ตัวเราทำให้โลกใบนี้ต้องปนเปื้อนไปด้วยความคิดด้านลบต่างๆ ของเราเอง”
คำสอนในพุทธศาสนา ท่านก็สอนให้เรา “คิดดีพูดดีทำดี” อยู่เสมอๆ ท่านติช นัท ฮันห์ พระชาวเวียดนามก็พูดถึงเรื่องทำนองนี้เสมอว่า เราจะต้องรับผิดชอบต่อ “สิ่งที่เราคิด” พูดและทำ
คือคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า โอเค เรื่องการพูดการกระทำที่ไม่ดีนั้นส่งผลกระทบในเชิงลบได้ แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจว่า “การคิด” คือเพียงแค่คิดจะมีผลกระทบมากมายขนาดนั้นได้จริงๆ เชียวหรือ?
ท่านผู้อ่านอาจจะลองนึกภาพเรื่องนี้เป็นแบบเดียวกันกับที่โรงงานอุตสาหกรรมหรือรถยนต์ทำให้บรรยากาศส่วนรวมปนเปื้อนไปด้วยก๊าซพิษ ฉันใดฉันนั้นเลยครับ
“บ่อพลัง” หรือ “สนามพลังของความคิด” ที่เป็น “ของส่วนรวม” นั้น สามารถ “ส่งผลกระทบ” ถึงมนุษย์ทุกๆ คน ไม่เว้นเราๆ ท่านๆ เลยครับ
วิธีการที่ดีก็คือ เราจะต้องฝึก “การรับรู้” ของเราให้ “ฉับไว” อยู่เสมอ
เราต้อง “รู้ทันความคิด” ที่กำลังก่อเกิดก่อตัวอยู่ในหัวสมองของเรา
“ความคิดด้านลบ” จะเกิดได้ยากขึ้น ถ้าเรา “รู้ตัวรู้ทัน”
และหากว่าเรายังสามารถ “ดำรงการรู้ตัวรู้ทันให้ยาวขึ้นอีก” แม้จะมีความคิดด้านลบผลุบขึ้นมาบ้าง พลังงานของความคิดด้านลบที่มีการรู้ตัวเกาะติดอยู่นี้ จะไม่รุนแรงมากเท่าความคิดด้านลบที่พลุ่งพล่านฟุ้งซ่านแบบม้าพยศ
ผมรู้สึกเห็นด้วยกับ เอ็กฮาร์ท โทลล์ เป็นอย่างยิ่งว่า บางทีแล้วสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง “หน้าที่สำคัญพื้นฐาน” ของเขาก็คือ “การรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองกำลังคิดอยู่” นั่นเอง
“รับผิดชอบ” เหมือนกับที่เราจะไม่สร้างควันพิษให้กับชั้นบรรยากาศ “รับผิดชอบ” เหมือนกับที่เราจะพยายามรณรงค์ประหยัดพลังงานเพื่อลดภาวะโลกร้อน เหมือนกับที่เราจะดูแลสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเราให้ดีให้สะอาด ไม่ทิ้งขยะให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อน เหมือนกับที่เราจะดูแลคนใกล้ชิดของเราหรือดูแลร่างกายของเราเองให้สะอาดอยู่เสมอ
“ความคิด” ของมนุษย์นั้นเป็นพลังงานอย่างหนึ่ง “ความคิดที่ไม่ดี-ด้านลบต่างๆ” ก็เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานที่ทำให้ “สนามพลังส่วนรวม” ปนเปื้อน
ถ้าเราอยากให้โลกใบนี้ดีขึ้นจริงๆ เราต้องเริ่มด้วยการ “รับผิดชอบ” ต่อ “สิ่งที่เรากำลังคิดอยู่ในหัวของเรา” นั่นเอง
คำอธิบายด้วยสมมติฐานเรื่อง “สนามพลังร่วม” ของ รูเพิร์ต เชลเดรก ในบทความนี้คงพอจะช่วยให้เกิดเข้าใจในเชิงวิทยาศาสตร์ได้บ้างกระมังครับ
2 Comments
เพราะความคิด เกิดจาก เซลล์สมอง ทำงาน ด้วยแหล่งพลังงานคือ ไมโตรคอนเดรีย
เซลล์สมอง มีมากกว่า 10 ล้านๆเซลล์ ย่อมแผ่คลื่นพลังงาน อย่างมากมาย แต่เครื่องมือของมนุษย์วัดได้หยาบๆในรูปคลื่น ไม่สามารถตีความเป็นรูป รส กลิ่น เสียง ได้ เรายังไม่มีเครื่องมือที่ละเอียดพอ ยกเว้น เครื่องจักรชีวภาพ คือ มนุษย์นั่นเองที่สามารถ ดังฌาณสมาบัติ ที่พระพุทธเจ้าค้นพบ แต่มนุษย์ทุกวันนี้มิอาจเข้าใจ เพราะใฝ่พึ่งพาแต่สิ่งนอกตัว มิอาจเข้าใจในคำ"อัตตาหิอัตตโนนาโถ"อย่างแท้จริง
คลื่นพลังงาน แผ่ไปไกลเพียงใด? ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด เพราะพลังงานไม่มีวันสูญหาย ตามกฎพลังงาน
นั่นคือ คลื่นพลังงานความคิด ยังคงอยู่ กระจายอยู่ ในทุกๆที่ๆพลังงานพึงผ่านไปได้ แม้กาลเวลาจะเนิ่นนานสักเพียงใดก็ตาม
ปิ๊งแว๊บ จึงเกิดได้ในทุกๆคน ที่เข้าใจเข้าถึง สมาธิขั้นสูงๆถึงฌานสมาบัติได้ ไม่ว่า ไอแซ็คนิวตัน ไอน์สไตน์ ศิลปินเอกต่างๆ มากมาย หากจะนับรวมพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ คงมีมากมายมหาศาล นับไม่ถ้วน
แสดงความคิดเห็น