การจัดการความรู้แล้ว



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 ตุลาคม 2553

สัญชาตญาณการอยู่รอดยังคงทำงานในชีวิตมนุษย์ เราเรียนรู้ที่จะจดจำความผิดพลาด และป้องกันตัวเองไม่ให้ต้องประสบกับความยากลำบากนั้นอีก เราจึงฝึกให้ตัวเองคิดล่วงหน้า และเตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อม จนการคิดคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนกลายเป็นโหมดอัตโนมัติที่ทำงานทุกครั้งเมื่อมีสิ่งกระตุ้นให้รู้สึกถึงความไม่มั่นคง ซึ่งสำหรับในบางคน มันทำงานมากจนเกินความต้องการของเจ้าตัว บางทีดูเหมือนว่าเขาห่วงหรือวิตกกังวลเรื่องงาน แต่พอค้นเข้ามาในตัวเองจริงๆ แล้ว สิ่งที่เขาเป็นห่วงคือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการห่วงว่าเขาจะได้รับการยอมรับ ในฐานะคนทำงานสำเร็จ คู่ควรแก่การยกย่อง และได้รับความรักจากเพื่อนร่วมงานหรือไม่ เขาผูกยึดคุณค่าของตัวเองไว้กับผลสำเร็จของงาน ที่อาจส่งผลต่อการมีอาชีพที่มั่นคงอีกด้วย

บางครั้งเราเป็นห่วงตัวเองมาก จนบางทีแทบจะนอนไม่หลับเพราะโหมดปกป้องได้คาดการณ์ และวางแผนล่วงหน้า ด้วยความวิตกกังวล กระบวนการซักซ้อมความคิดเชิงปกป้อง (Defensive Mental Rehearsal) ดังกล่าว ทำงานได้เพราะมนุษย์เรามีความทรงจำ เมื่อเคยพลาด เคยเจ็บ หรือเคยประสบภัยที่เสี่ยงต่อการสูญเสีย เราจะอาศัยความทรงจำเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนและพัฒนายุทธศาสตร์ หรือวิธีการรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน

ในงานที่ผมทำ คือการสร้างกระบวนการเรียนรู้และช่วยเหลือให้กลุ่มคนหรือองค์กรเกิดการเรียนรู้ เนื่องจากมีเหตุปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ผมจำต้องใส่ใจกับรายละเอียดของงานทุกขั้นตอน แต่ยังไม่วายหลวมตัวยอมให้ตัวเองทำงานอยู่ในโหมดปกป้องมานานนับสิบปี แม้ความระแวดระวังและการตระเตรียมให้เกิดความพร้อมจะช่วยทำให้พัฒนาตัวเองอย่างรัดกุมและรอบคอบมากขึ้น แต่ไม่สามารถรับประกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือควบคุมผลลัพธ์ปลายทางให้ได้ดังที่คิดไว้ล่วงหน้า อีกทั้งความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นก่อนการเริ่มต้นของงาน ก็ดึงพลังและความสุขสันติออกไปจากชีวิตไม่น้อย จนบางครั้งคิดจะเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างนี้ เช่น งานแปลหรือเขียนหนังสือ เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบในช่วงของการตระเตรียมงานทางความคิดในใจตัวเองคือ เราจะสร้างภาพล่วงหน้าว่ากลุ่มคนที่เราจะได้พบเจอนั้นจะเป็นแบบไหน เราควรจะพูดเรื่องอะไร หรือต้องทำกิจกรรมอะไรให้เหมาะสมกับพวกเขา เพื่อให้เขายอมรับและอื่นๆ อีกมากมาย แต่พอเอาเข้าจริงๆ การณ์มักกลับไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เราต้องเริ่มใหม่ มองใหม่ทุกครั้ง ต้องลืมสิ่งที่ตระเตรียมไว้ก่อน แต่นำสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าเป็นครู ทำความเข้าใจกับอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการที่อยู่ตรงหน้า ปรับตัวเข้ากับมันแล้วจึงจะสามารถนำพาสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไปได้ในทิศทางที่จะตอบสนองความต้องการของเขาและของเราด้วย

บังเอิญผมอ่านพบถ้อยความที่น่าสนใจในหนังสือ The Three Laws of Performance: Rewriting the Future of Your Organization and Your Life โดย Steve Zaffron & Dave Logan ที่ออกมาใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ ความว่า "หัวใจสำคัญของการเป็นเซียนในแขนงวิชาหรือแนวคิดอะไรก็ตาม คือการเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นอย่างไร้ข้อคิดเห็นล่วงหน้า หากมองสิ่งต่างๆ ตามที่เป็น แล้วสร้างผลลัพธ์จากสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้น" ความเห็นนี้ช่วยอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับเกือบทุกๆ การอบรมที่ทำมาได้อย่างดี นั่นคือสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปดังคิด เป็นเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้เราไม่สามารถทำตามแผนการที่วางไว้ได้

ผมชอบประโยคนี้เพราะมันทำให้คิดอะไรออกอีกหลายอย่าง ในการทบทวนบทเรียนจากการทำงานอบรมที่ผ่านมา บ่อยครั้งเราตระเตรียมงานมากมาย แต่พอเอาเข้าจริงๆ สิ่งที่เราต้องพึ่งพิงอย่างยิ่งคือ ปัญญาญาณภายใน ที่เชื่อมเข้าหาสถานการณ์ตรงหน้า ที่เรียกร้องความเข้าใจจากเรา เราจำต้องสร้างจากสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่ใช่จากความคิดของเรา เหมือนกับการทำอาหาร ถ้าเราเตรียมความคิดว่าจะทำนั่นทำนี่ แต่เอาเข้าจริง วัสดุที่มีมาให้ตรงหน้า มันต้องทำอย่างอื่น เราก็ไม่ควรขัดขืนจะทำตามความคิดล่วงหน้าของเรา เพราะอาหารก็จะจืดชืดหรือไม่เป็นรสเอาเสียเลย เหมือนกับการเริ่มต้นจากศูนย์ทุกครั้ง แล้วสังเกตว่าพลังของอะไรหนอที่ต้องการการปลดเปลื้องออกมา

เราอาจทำกิจกรรมต่างๆ ได้ที่เตรียมไว้ แต่นั่นก็เพื่อจะได้สังเกตดูอย่างใกล้ชิดว่า วาระที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนกลุ่มที่เรากำลังทำงานด้วยแท้จริงแล้วคืออะไร

นอกจากนี้ ระยะหลัง นอกจากการจัดงาน Dialogue แล้ว ผมยังจัดงานการถอดองค์ความรู้ขององค์กร หรือ Knowledge Sharing ที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ (KM) บทเรียนจากการทำงานด้านการจัดการความรู้ ทำให้เห็นว่า เวลาเราทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือถอดบทเรียนขององค์กรในเรื่องวิธีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะสังเกตเห็นเนื้อหาบางอย่างสดแทรกเข้ามา นั่นคือประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงาน ผมเลยได้บทเรียนอย่างหนึ่งว่า การจัดการความรู้จะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นหากมีการจัดการความสัมพันธ์ไปด้วย ความสัมพันธ์ที่ผู้คนรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจและมีไมตรีต่อกันเป็นหัวใจสำคัญต่อการแบ่งปันและสร้างความรู้ใหม่ในองค์กร

แต่ในองค์กรที่สนใจแต่เป้าหมายหรือผลลัพธ์ของงาน อาจละเลยเรื่องการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ไปอย่างไม่ตั้งใจ บ้างก็อาจพยายามหลีกเลี่ยงการต้องเผชิญหน้ากับความไม่ลงตัวของขั้วขัดแย้งต่างๆ แล้วมุ่งไปในเรื่องการทำงาน เพราะไม่ต้องการให้ปัญหาคาราคาซังหรือเลวร้ายลงไปอีกด้วยการ "เปิดประเด็น" จนเกิดอาการ "งานเข้า" ได้ในภายหลัง ด้วยขาดทักษะในการสื่อสารหรือความสามารถในการคลี่คลายความขัดแย้งเหล่านี้ด้วยตัวเอง การไม่พูดถึงปัญหาความสัมพันธ์จึงเป็นการหมักปัญหาไว้จนอาจเรื้อรัง และนับวันยากจะเยียวยา

ดังนั้น “ความรู้แล้ว” ที่มาจากการตีความหรือการคาดคะเนล่วงหน้าอาจเป็นอุปสรรคในการเข้าใจ ความรู้ที่มีชีวิตที่อาจแฝงเร้นอยู่ในจิตใจของผู้คนปัจจุบัน โดยเฉพาะความรู้หรือประสบการณ์ที่ถูกกีดกันหรือกดทับเอาไว้ด้วยอำนาจที่เหนือกว่าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจจากการมีตำแหน่งหน้าที่เหนือกว่า สถานภาพทางสังคมหรือทางวิชาการ หากองค์กรที่ต้องการสร้างความรู้ร่วมสามารถปลดเปลื้องพันธนาการที่ยึดกุมความรู้จากความกลัวผิด ความกลัวเสียหน้า หรือไม่ได้รับการยอมรับ ที่ถูกละเลย เช่น ประสบการณ์ของคนทำงานเข็นเปล เหล่านี้ออกมาได้ ศักยภาพในการเรียนรู้ร่วมกันขององค์กรหรือสังคมจะเพิ่มขึ้นได้มหาศาล แต่นั่นอาจหมายถึงผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเหนือกว่า จำต้องจัดการกับความรู้แล้วของตัวเองให้ไม่ไปกดข่มความรู้หรือ ความรู้สึกอื่นๆ ให้ได้เสียก่อน

3 Comments

Athitha Kongsup กล่าวว่า...

อ่านแล้วชอบมากค่ะ เพราะว่าช่างตรงกับประสบการณ์ที่ได้พานพบเสียนี่กระไร ความสัมพันธ์เป็นตัวแปรสำคัญยิ่งในการเติบโต และความสุขขององค์กร

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นบทความที่อ่านแล้วรู้สึกว่าตรงใจเลยครับ และผมมีความเห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความรู้นั้นนอกจากจะเป็นการยากที่จะค้นคว้า ศึกษาและทำความเข้าใจแล้ว หากเราจัดการความรู้ไม่ดี ไม่เหมาะสม การมีความรู้ก็อาจจะเปล่าประโยชน์ และในยุคนี้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ ล้วนถูกผู้มีอำนาจและอิทธิพลบดบังและครอบงำมากทีเดียว
ส่วนย่อหน้าที่คุณณัฐฬสเขียนว่า "บังเอิญผมอ่านพบถ้อยความที่น่าสนใจในหนังสือ The Three Laws of Performance: Rewriting the Future of Your Organization and Your Life โดย Steve Zaffron & Dave Logan ที่ออกมาใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ ความว่า "หัวใจสำคัญของการเป็นเซียนในแขนงวิชาหรือแนวคิดอะไรก็ตาม คือการเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นอย่างไร้ข้อคิดเห็นล่วงหน้า หากมองสิ่งต่างๆ ตามที่เป็น แล้วสร้างผลลัพธ์จากสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้น"..... ผมมีความเห็นว่าการที่เราไม่ตัดสินใจอะไรก่อนฟัง ก่อนเห็น และก่อนอ่านนั้นเป็นสิ่งที่ดี ที่ผู้รักการเรียนรู้ควรสร้างนิสัยแบบนี้ ผมนึกถึงสุนทรียสนทนาที่บอกให้เรารู้จักห้อยแขวนความคิด ซึ่งเป็นอีกคำหนึ่งที่กินใจผมเรื่อยมา
ยินดีทืี่ได้อ่านบทความและขอเป็นกำลังใจให้กับการสร้างสรรค์งานเขียนชิ้นต่อๆ ไปนะครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
Back to Top