มังคุด, พุทธศาสนา และอมาตยา เซน



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 มกราคม 2554

ไปเที่ยวจันทบุรีช่วงปีใหม่ ผมไปติดใจเข้ากับต้นมังคุดอายุเป็นร้อยปีที่นี่ พ่อของเพื่อนซึ่งเป็นชาวจันทบุรีแต่กำเนิดเล่าให้ฟังว่า มังคุดเป็นพืชเก่าแก่โบราณ จนถึงทุกวันนี้เรายังไม่มีวิธีในการเร่งผลผลิตของมังคุด ด้วยวิธีการหรือเทคโนโลยีทางการเกษตรใดๆ เราได้แต่เฝ้ารอคอย แล้วหวังว่าเขาจะออกผลให้เราทานในปีนี้ แต่ถ้าไม่ได้เราก็ต้องรอปีหน้า หรือปีต่อๆ ไป

ผมติดใจกับสิ่งที่ยืนยงอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง ในโลกที่มนุษย์คิดว่าเราสามารถจัดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ตามใจของเรา ด้วยความรู้ของเรา “ต้นมังคุด” ยังยืนยงท้าทายเป็นสัญลักษณ์ของความไม่ยี่หระในความสามารถอันใหญ่ยิ่งของมนุษย์…

*********

ปีใหม่เป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลอง การพบปะเพื่อนเก่าหลังจากที่ไม่เจอกันมานานนับปี ผมพบเจอกับคนอย่างน้อย ๔-๕ คนที่บ่นเรื่องการงานของตนเอง รุ่นพี่คนหนึ่งที่จันทบุรี เพิ่งลาออกจากงานธนาคารซึ่งตนเองทำงานมายี่สิบกว่าปี เขาเล่าว่าไม่มีวันไหนที่เขาจะไม่วิตกกังวลเรื่องการทำยอดขายให้กับธนาคาร บ่าสองข้างแทบทรุด เพราะถูกรุ่นน้องใช้เป็นบันไดเหยียบเดินข้ามหัวเขาไปไม่เว้นแต่ละวัน

ชีวิตของพี่ชายคนนี้ ถูกกำหนดด้วยตัวเลข “เป้าหมาย” ที่สำนักงานใหญ่กำหนดให้ ไม่ต่างอะไรกับชีวิตของพวกเราหลายๆ คนที่ถูกกำหนดด้วยอะไรต่างๆ ที่เราคิดว่ามันจำเป็นสำหรับชีวิตของเรา

หากย้อนทบทวนสักนิดใครกันหนอเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย ทำให้เราต้องวิ่งเป็นหนูถีบจักร เขาอาจจะเป็นชาวต่างชาติคนหนึ่งซึ่งรวยมาก คอยนั่งบัญชาการอยู่ในคฤหาสน์หรูๆ ที่ไหนสักแห่ง เขาสามารถยกหูโทรศัพท์สั่งเศรษฐกิจของโลกให้หมุนไปทางซ้ายหรือขวาตามความต้องการ เขาผู้นี้กระมังเป็นผู้สร้างเงื่อนไข สร้างโครงสร้างที่ครอบงำ ให้เราตกเป็นทาสต้องทำตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...

แล้วทำไมต้องทำตามโครงสร้างที่ครอบงำนี้ บางคนบอกว่าเราไม่มีทางเลือก เพราะโครงสร้างที่กำหนดมาแล้วอย่างเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นเล่นกับความอยากได้อันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ ตราบใดที่เรายังมีความอยาก เราก็เสร็จเขา เมื่อหนีไม่พ้นเราก็เลยต้องผันตัวมาเล่นเกมส์ของเขา เล่นให้ดีที่สุดเพื่อที่จะได้แซงหน้าผู้อื่นขึ้นไป เพราะเราไม่อยากเป็นผู้ที่ถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง หรือถูกเหยียบเอาไว้เบื้องล่าง…

ผู้ใหญ่ใจดีหลายคนทนเห็นสังคมไทยเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ประชาชนคนไทยถูกโกง ถูกหยามศักดิ์ศรี มีความเหลื่อมล้ำอยู่ทั่วไปไม่ได้ พวกเขาจึงรวมตัวกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทย

การปฏิรูป คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือรูปแบบ (Reform) ถ้าเราเชื่อว่ารูปแบบนั้นไม่เป็นธรรม เราก็ปรับเปลี่ยนที่รูปแบบให้เกิดความเป็นธรรม เราจะสร้างสังคมที่ยุติธรรมได้ แนวคิดเช่นนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าโครงสร้างย่อมกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ เราจึงพยายามคิดหาโครงสร้างที่เหมาะสม นโยบายที่เหมาะสม ชะรอยว่า บทเรียนที่เราฉีกรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับนั้นจะไม่ทำให้พวกเขาเข้าใจว่าตัวหนังสือที่กำหนดโดยบุคคลชั้นแนวหน้าเพียงกระหยิบมือนั้นไม่ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนได้ ขนาดคนคุณภาพอย่างท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ยังเคยทดลองและล้มเหลวมาแล้ว

ไม่แปลกใจเลยที่ อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งเพิ่งมาเยือนประเทศไทยเร็วๆ นี้ มีท่าทีอ้อมแอ้มเวลาตอบคำถามเรื่องความยุติธรรมกับสังคมไทย สุดท้ายเขาฟันธงว่าประเทศไทยมีคำตอบสำหรับปัญหานี้อยู่แล้ว โดยบอกว่าอย่าเสียเวลาถามหาความยุติธรรม แต่ถามหา “ความตื่นรู้” ของประชาชนคนไทยกันเสียก่อนเถิด ไอ้หลานชาย

ผู้สัมภาษณ์ยังพาซื่อถาม “อัน ‘ความตื่นรู้’ นั้นอยู่ ณ หนใดกันเล่าท่าน วานบอก”

เซน ถอนหายใจเฮือกก่อนตอบว่า ก็ตื่นรู้ หรือ รู้แจ้ง คำนี้ผมยืมคำของพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของท่านเองนั้นมาใช้ ไม่ได้คิดอะไรใหม่หรอกจะบอกให้ แล้วการจะไปหาความรู้แจ้งไม่ต้องไปที่ไหนไกล ไม่ต้องไปเดินทั่วประเทศไทยให้เสียงบประมาณชาวบ้านที่เขามารอรับ (อันนี้ผมพูดเอง ลุงไม่ได้พูด) ให้ทำเพียงสองอย่างดังนี้ (ตามที่ผมสรุปความ)

๑. ให้รู้จักติเตียนตนเอง (Reflection)

๒. ให้รู้จักสนทนาอย่างบัณฑิต (Dialogue)

พระพุทธเจ้าสรรเสริญเรื่องคุณของการติเตียนตนเองเอาไว้มาก คนไทยหัวฝรั่งเรียกให้งง เอ๊ย ให้ร่วมสมัยว่าการใคร่ครวญ ส่วนการสนทนาอย่างบัณฑิตเรากระเดียดไปเรียกว่าสุนทรียสนทนา ซึ่งความเป็นจริงแล้วถึงไม่สุนทรีย์ก็ต้องพูดคุยกัน เพื่อเป็นไปเพื่อการฝึกฝนตนเอง ตามแนวทางข้อที่ ๑. เรื่องการติเตียนตนเอง เพราะถ้าเราติเตียนตนเองไม่ได้ เราก็ไม่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ และถ้าเราเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ สังคมก็ไม่มีทางเปลี่ยน ต่อให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยอีกร้อยคณะก็ตาม

อาจเป็นเพราะการติเตียนตัวเองเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีใครอยากเสียเซลฟ์ คนส่วนใหญ่ก็เลยหันมาบริภาษโครงสร้างต่างๆ ในสังคมว่าเป็นต้นเหตุของความเลวร้าย ความไม่เสมอภาค ความเหลื่อมล้ำในสังคมของเรา ไม่เว้นแม้แต่ศาสนาที่นักวิชาการเดี๋ยวนี้มองกันว่าเป็นตัวร้ายที่ฉุดรั้งความเจริญของสังคมเอาไว้ ไม่ให้ไปถึงความศิวิไลซ์ที่พวกเขาพากันนึกฝัน หรืออย่างเบาก็มองว่าศาสนาเป็นเพียงเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่มีหน้าที่ในการ “ผดุงสังคม” อีกต่อไป

ไม่มีหน้ากระดาษพอที่จะตอบโต้ความเห็นเหล่านี้ แต่ผมอยากจะพูดว่ากระแสการมองโลกแบบใหม่กำลังเกิดขึ้นในหมู่คนกลุ่มเล็กๆ ทั่วโลก คนเหล่านั้นหันมาทบทวนตนเองโดยศึกษาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญาเก่าแก่ จากการน้อมใจเข้าพูดคุยสนทนาอย่างบัณฑิต คนเหล่านั้นไม่ได้หยุดการแสวงหาความรู้แจ้งจากการวิเคราะห์วิจารณ์ หรือการใช้เหตุผล แต่เริ่มหันมามองเข้าด้านใน เพื่อแสวงหาความจริงในอีกด้านประกอบกันอย่างเป็นองค์รวม เขาเปลี่ยนท่าทีในการเย้ยหยันโลกมาเผชิญหน้ากับความเป็นจริงภายในตัวเขาซึ่งไม่ได้สวยงามเสมอไป เมื่อพบมาร เขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับมารโดยไม่ให้มันครอบงำเขาอยู่ตลอดเวลา เมื่อรู้แล้วจึงก้าวเดินต่อไป ใช้ชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หนูถีบจักรที่ถูก ‘เขา’ บงการโดยไม่รู้ตัว

คนแบบนี้ยังมีอยู่น้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี ผมสงสัยว่าในหัวใจของมนุษย์เราคงจะมีความกล้าหาญบางอย่างที่ไม่สยบยอมกับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมซึ่งอยู่ภายนอก และมารซึ่งอยู่ภายใน พี่ชายนายแบงก์ของผมในที่สุดก็ลาออกไปทำสวนผลไม้ ทุกวันนี้เขายิ้มกว้างกว่าที่เคย และกระตือรือร้นที่จะแลกเปลี่ยนสนทนากับใครก็ตามที่สนใจจะคุยกับเขาเรื่องบ้านโฮมสเตย์ อันเป็นโครงการในฝันของเขา เขาจูบลาเงินเดือนก้อนใหญ่ที่ขโมยศักดิ์ศรีของความเป็นคนไปจากตัวเขา ทุกวันนี้เขามีเวลาอยู่กับครอบครัว และเพื่อนมากขึ้น พี่ชายคนนี้ได้เริ่มต้นทบทวนตนเอง และได้ทำในสิ่งที่เขารัก ผมไม่รู้ว่าแบบนี้จะเรียกได้ไหมว่าเขากำลัง ‘ผดุงสังคม’ ในแบบของเขา และถ้าถามกันจริงๆ เขาคงไม่สนเรื่องความรู้จ้ง รู้แจ้งอะไรนั่น แต่ที่แน่ๆ เขารู้ว่าวันนี้เขาต้องการอะไรจากชีวิตของเขา แบบนี้จะเรียกว่า “รู้ตน รู้กาล รู้ประมาณ” จะได้ไหม....

********

...ต่อไปนี้เวลาผมมองต้นมังคุด ความรู้สึกที่เกิดคือความมั่นคงในใจ ที่รู้ว่าในโลกนี้ยังมีบางสิ่งที่ดำรงอยู่นอกเหนือการก้าวก่ายของมนุษย์ มังคุดเป็นผลไม้ชนิดเดียวที่ไม่กลายพันธุ์ ผลมังคุดที่เราทานในวันนี้จึงมีหน้าตาและรสชาติไม่แตกต่างจากเมื่อร้อยหรือพันปีที่แล้ว เฉกเช่นเดียวกับสัจธรรมที่แม้เวลาล่วงเลยไปเท่าใดก็ยังถูกหยิบยกมาพูดถึง ยังยืนท้าทายให้มาพิสูจน์ และยังคงให้ผลอยู่กับผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้

Back to Top