การเชื่อมโยงหลอมรวม ปฐมบทของกระบวนกร



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 มิถุนายน 2554

เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้เขียนคำถามมาถึงผมว่า

"อาจารย์วิศิษฐ์คะ อยากอ่านประสบการณ์การเชื่อมโยงกับผู้เข้าร่วมหรือนักเรียน ไม่ทราบว่าจะหาอ่านได้จากไหนบ้างคะ"

ผมตอบโดยแนะนำไปว่า พาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) พูดไว้เยอะใน Courage to Teach และบาเช (Bache) เขียนไว้ในหนังสือ The Living Classroom และตบท้ายด้วยว่า เออ! หรือผมจะเขียนเองด้วยดีไหม? อันที่จริงผมได้เขียนไว้บ้างแล้วตามที่่ต่างๆ อย่างน้อยในหนังสือคู่มือกระบวนกร แต่ช่วงนี้รู้สึกว่าอย่างไรก็คงต้องเขียนใหม่ด้วย โดยไม่ต้องกลัวซ้ำ เพราะว่ามาบัดนี้คงเขียนได้ดีกว่าเดิม เนียนกว่าเดิม ลุ่มลึกกว่าเดิมกระมัง (มีบางคนบอกว่าผมเขียนได้อ่านง่ายกว่าเดิม?)

สิ่งที่ผมกำลังเขียนอยู่ในช่วงนี้ก็คือเรื่องของ “สนาม” เรื่องการชุบตัวในสนาม ที่่จริงก็ยังเขียนได้ไม่เสร็จสมบูรณ์ดี และคงหาโอกาสเขียนต่อ แต่คิดว่ามาตอบเรื่องนี้ก่อน คงเป็นประโยชน์กับหลายๆ คนที่ทำงานกระบวนการอยู่

ว่าด้วยปรัชญาก่อน

ที่พูดถึงเรื่องสนาม ก็เพราะว่าการเชื่อมต่อหลอมรวม (bonding หรือ connect) กับผู้คนนั้น ต้องทำความเข้าใจใหม่ด้วย ว่าอะไรคือพื้นฐานแห่งการดำรงอยู่ของเรา? วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่าบอกเราว่า เราดำรงอยู่อย่างเอกเทศ แต่ละคนไม่ได้มีอะไรเชื่อมถึงกัน เราจะติดต่อสื่อสารกันก็โดยผ่านการพูดจา การเขียนอ่าน และอะไรอื่นๆ แต่ไม่ได้พูดเรื่องสนาม เรื่องพื้นฐานการดำรงอยู่อย่างอื่นที่แตกต่างออกไป บาเชพูดไว้ในหนังสือ The Living Classroom ของเขาว่า ด้านหนึ่งเราเป็นตัวตนที่ดำรงอยู่อย่างเอกเทศ อีกด้านหนึ่ง คือในระดับจิตไร้สำนึก เราเชื่อมโยงถึงกันหมด มันเป็นสนามที่เชื่อมร้อยพวกเราไว้ด้วยกัน เหมือนกับจะกล่าวว่า ที่จริงเราเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว เพียงแต่เราไปมีมายาการว่าเราดำรงอยู่อย่างแยกออกจากกันเท่านั้นเอง
สามแดนหรือความเป็นจริงสามระนาบของมินเดล

ผมอยากพูดถึง อาโนลด์ มินเดล กับโมเดลสามระนาบความเป็นจริงและสามแดนของเขา (ผมว่าบาเชก็พูดเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ใช้คนละภาษา) มินเดลพูดถึงโลกในชีวิตประจำวันที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า มันเป็นอย่างนี้ๆ นะ ซึ่งเราจะเรียกว่า “โลกสมมติของส่วนใหญ่” ดังเวลานี้ โลกสมมติของคนส่วนใหญ่เป็นโลกของปัจเจก ทุกคนแย่งกันเรียน แย่งกันทำงาน แย่งทรัพยากรที่มีอยู่น้อยลงทุกที ครอบครัวขยายที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบเดิมก็เรียวลงไป หมู่บ้านก็ล่มสลาย หามิติความเป็นชุมชนไม่ค่อยจะได้แล้ว

ลึกลงไปคือ “แดนฝัน” แดนฝันเป็นความเป็นจริงระดับจิตวิทยา เป็นโลกภายในของเรา ในแดนฝัน ความเป็นปัจเจก ความเป็นตัวตนของเราหากคลายลงได้ เราก็จะเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ได้มากขึ้น แต่หากเรามีปมทางจิตวิทยา และเราไม่ได้ตื่นรู้ในแดนฝัน เราก็จะฉายภาพปัญหาของเราออกไปนอกตัว ฉายไปทาบทับคนอื่น สิ่งอื่น คือเราจะเห็นปัญหาอยู่นอกตัวตลอดเวลา แต่เราจะไม่กลับเข้ามามองเห็นปัญหาของตัวเอง ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่าการฉายภาพ (projection) ออกไปนั้นเอง

ลึกลงไปอีกเป็น “แก่น” เป็นส่วนลึกสุดของตัวตนของเรา ซึ่งกว้างขวางและลุ่มลึกกว่าตัวเรา หากเป็นแก่นแกนของจักรวาล เป็นบรมธรรม เป็นจิตเดิมแท้หรือพระเจ้า เราไม่อาจเข้าไปในแดนนี้ได้โดยตรง (หรืออย่างน้อยปุถุชนอย่างเรายังเข้าไปไม่ได้) แต่ส่วนลึกของเราหรือจักรวาลนี้จะติดต่อเราผ่านสิ่งเย้ายวน หรือนิมิต หรือญาณทัศนะหรือเสียงแรกของเราเอง อีกช่องทางหนึ่งคือมันผ่านสาส์นมาทางผู้เฒ่า หรือมนุษย์ที่แท้ ที่ดำรงอยู่อย่างมีเลือดเนื้อ เหมือนมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่คนเหล่านี้สามารถติดต่อกับส่วนลึกของเขาได้ ติดต่อกับน้ำพุภายในของเขาได้ สาส์นของเขาก็คือสาส์นจากแก่นจากบรมธรรมนั้นเอง
ทำไมต้องพูดถึงสามแดนหรือโลกสามระนาบนี้ด้วย?

ที่ต้องพูดถึงก็เพราะว่า โลกในทุกวันนี้เราพากันจำกัดตัวเองอยู่ในโลกที่เป็นสมมติบัญญัติของเสียงส่วนใหญ่เท่านั้น ซึ่งคับแคบและมีข้อจำกัดมาก และที่จริงก็กำลังก่อปัญหามากมายไม่รู้จักจบสิ้น มันเป็นโลกที่ถูกตีกรอบแคบ และไม่สามารถเข้าถึงความเป็นจริงอันเป็นกลางตามธรรมชาติได้ เป็นวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่า ที่เข้าถึงความเป็นจริงแค่หนึ่งในสามของท้ังหมดเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอที่จะแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าได้

แต่เมื่อเราลงลึกลงไปยังแดนฝัน สะพานเชื่อมเข้าสู่โลกของจิตไร้สำนึก เราจะเห็นความเป็นไปได้ที่กว้างกว่า เห็นความเชื่อมโยงของผู้คน อย่างไม่แยกเขาแยกเรา เราจะเริ่มเห็นเขาในเรา และเห็นเราในเขา นอกจากนี้ ในแดนฝัน เรายังได้เปิดช่องทางติดต่อกับบรมธรรม จิตเดิมแท้ หรือส่วนลึกที่สุดของเราได้ด้วย ผ่านสิ่งเย้ายวน หรือนิมิต หรือญาณทัศนะ หรือเสียงแรก หรือเด็กน้อย หรือครูภายในของเราทั้งหลาย เรายังสามารถคลี่คลายปมทางจิตวิทยาของเรา อันเกิดจากทุกข์และบาดแผลทางใจในอดีต แทนที่จะส่งออก ฉายปัญหาออกไปยังผู้คนและปรากฏการณ์ เรากลับมาคลี่คลายและเยียวยาปมปัญหาภายในของตน เพื่อหลุดพ้นไปจากความคับแคบอันเกิดจากการหดตัวของเราเอง
ยกระดับขึ้นสู่ปาฏิหาริย์

ในหนังสือ The Living Classroom ของบาเช ได้พูดถึงการเรียนการสอนสองระนาบที่เกิดขึ้นในห้องเรียนของเขา สำหรับคนที่เปิดใจรับรู้เรียนรู้เรื่องของสนาม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการพ้องพานอย่างที่หนังสือ The Secret บอกเล่า เขาจะรู้สึกว่าเกิดเรื่องดีๆ ขึ้นกับเขาตลอด อยากทำอะไรก็ได้ทำ อยากเรียนรู้เข้าใจอะไร มันก็เกิดขึ้นกับเขา เรื่องยากก็กลายเป็นง่าย สำหรับคนที่ต้องการเรียนเนื้อหาประเด็นความ ก็เรียนได้สนุกท้าทาย และพอใจบทเรียนที่บาเชนำเสนอ ดังนั้นจึงมีคนสองกลุ่มนี้อยู่ด้วยกันในชั้นเรียนเดียวกันนั้นเอง

ที่จริงในระนาบของคนทั่วไป ปกติ สามัญ อันยังไม่พร้อมจะเปิดออกไปสู่อีกโลกหนึ่ง ยังไม่พร้อมจะเข้าไปเล่นกับสนามพลัง สนามปัญญาร่วม พวกเขาก็ยัง (ในวิถีหนึ่งใด) ได้สัมผัสสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนเหมือนกัน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามันคืออะไร และมันก็อาจจะก่อผลการเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับชีวิตของพวกเขาได้เช่นกัน แม้จะน้อยกว่า ช้ากว่า แต่การทำงานของสนามก็อาจจะเป็นไปอย่างที่พวกเขาไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วย
ดูแลแรงต้านหรือเด็กนรก

ในหนังสือ Courage to Teach ของพาล์มเมอร์ มีอนุบทหนึ่งที่เขาพูดถึง students from hell หรือจะใช้ภาษาไทยตรงไปตรงมาก็คือ “เด็กนรก” เวลาทำงานกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เราก็อาจจะเจอกับ “ผู้ใหญ่นรก” ด้วยก็เป็นได้ ซึ่งบทเรียนก็จะยากขึ้นไปอีก สำหรับการที่เรายังต้องการเชื่อมโยงหลอมรวมกับผู้เข้าร่วมทั้งหมด ส่วนใหญ่คนที่มีปัญหา ไม่ต้องการเรียนรู้เหล่านี้มักจะถูกเกณฑ์มา และองค์กรมักจะส่งคนมีปัญหาให้มาเรียน แทนที่จะส่งคนที่พร้อมจะเรียนมา

แน่นอน คนที่ต้านการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ที่จริงพวกเขาไม่ได้ต้านกระบวนกร แต่เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด มันเกิดขึ้นในโลกภายในของเขาเอง (อันนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ผมจะเรียกร้องเวลาทำเวิร์คชอปให้เป็นอย่างน้อยสี่วัน มิฉะนั้นโอกาสจะขับเคลื่อนเยียวยาคนเหล่านี้จะยากมาก)
ทางออก

หนึ่ง หากเราทำงานภายในกับตัวกระบวนกรเองมากพอ เราจะรู้ว่า แรงต้านทั้งหมดไม่ได้ต้านเรา แต่มันเป็นพลังงานที่ถูกกักขัง นิ่งเน่า แช่แข็งในตัวของคนเหล่านั้นเอง มันเป็นความอ่อนแอ อ่อนปวกเปียกที่ไม่น่ากลัวอะไรเลย ลึกๆ ของคนเหล่านี้ต้องการโผเข้าหาเรา เข้ามารับการกอด และการโอบอุ้มดูแล

สอง หากเราหักหาญกับพวกเขาในโลกสมมติที่เป็นอยู่ เราจะไม่ได้อะไรเลย หากเปิดการทำงานเข้าไปในแดนฝัน กิจกรรมที่นำพาให้เล่นบ้าง กิจกรรมที่ไปทำงานกับจิตไร้สำนึกผ่านศิลปะวิถีบ้าง เช่นกิจกรรม active imagination1 ของมินเดล (อันนี้ต้องมาเรียนกันในเวิร์คชอป) พวกเขาก็จะสนุก ลดตัวลงมาเป็นเด็กน้อย พลังงานพวกเขาก็จะแปรเปลี่ยน กระแสต้านก็จะลดลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

สาม ลึกไปกว่านั้น หากเรารับมินเดลในส่วนที่ดีที่สุดเข้ามา อย่างที่จะเกิดขึ้นได้ในกระบวนการกลุ่มโดยหลักการของประชาธิปไตยแนวลึก สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการกลุ่มก็คือ เราปล่อยผีออกมาได้ เราขัดแย้งได้ เราเป็นคนเลวได้ เห็นแก่ตัวได้ โดยนั่นเป็นเพียงเสี้ยวส่วนของเรา และยังเป็นเพียงชั่วขณะของเรา มันไม่ได้เป็นเราทั้งหมดและตลอดเวลา ทุกคนออกมาเล่นเสี้ยวส่วนอันดำรงอยู่ชั่วขณะเหล่านี้ได้อย่างอิสระเสรี เราไม่ต้องดัดจริตเป็นคนดีตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในระดับกลุ่มและระดับปัจเจกมีการปลดปล่อยเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว เป็นการยกระดับขึ้นสู่ปาฏิหาริย์เหมือนกัน

สี่ บรมธรรมหรือจิตเดิมแท้จะสื่อสารกับกลุ่มได้อีกทางหนึ่ง คือผ่านผู้เฒ่าที่ดำรงตนเป็นมนุษย์ที่แท้ อันนี้ไม่ต้องถึงกับเป็นผู้วิเศษ และไม่ได้ว่าจะต้องแก่ชรา ความเป็นผู้เฒ่าอาจจะมาจากคนที่เด็กกว่าก็ได้ แต่เขาสื่อสารกับบรมธรรมได้ เข้าถึงจิตเดิมแท้ได้ หรือ ชั่วครั้งชั่วคราวก็ได้ และสื่อแสดงออกมาในกลุ่ม ความมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นได้อีกในช่องทางนี้

ทั้งหมดนี้อาจจะช่วยตอบคำถามข้างต้นได้ไหม? มีประโยชน์ไหม?

Back to Top