มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2554
หากวาดเส้นเวลาย้อนกลับไปจนถึงปีพ.ศ. ๒๔๗๕ เรามองเห็นพัฒนาการของการเมืองไทยอย่างไรบ้าง?
น่าสนใจมากที่เราจะพบว่า ใบหน้าของนักการเมืองแทบไม่เปลี่ยนไปจากเดิมเลย คนที่อยู่ในการเมืองตั้งแต่สี่ห้าสิบปีที่แล้วก็ยังอยู่ในการเมืองเหมือนเดิม นักการเมืองหน้าใหม่แทบจะไม่มีเลย หรือถ้ามี หากไล่เรียงวงศาคณาญาติดู ก็จะพบว่าเป็นลูกหลานว่านเครือของคนหน้าเดิมนั่นเอง ฉะนั้นเอง จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ หากการเมืองในระบบประสบกับความคับแคบตีบตันมาโดยตลอด จนกระทั่งบรรลุสู่ความล้มเหลว และนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองและการปะทะกันของประชาชนบนท้องถนน
ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นก็คือ การเมืองภาคประชาชนกลับมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีการเกิดขึ้นขององค์กรพัฒนาเอกชนมากมาย มีการรวมกลุ่มกันของภาคประชาชนเป็นเครือข่ายต่างๆ และดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ที่พ้นไปจากความหมายเดิม จากที่เคยจบลงเพียงการไปออกเสียงเลือกตั้ง มอบอำนาจในการตัดสินใจให้กับรัฐบาลและหรือฝ่ายค้านไปตลอดสมัย ไปสู่การติดตามตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองตลอดจนการเฝ้าระวังการดำเนินการทางนโยบายของรัฐ – ไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อการเมืองในระบบล้มละลาย การเมืองนอกระบบกลับเฟื่องฟูอย่างที่ไม่เคยเป็น
แต่ - เราก็ไม่อาจทอดทิ้งการเมืองในระบบไปได้อย่างสิ้นเชิง กำหนดเลือกตั้งกำลังกวักมือเรียกเราอยู่ไหว-ไหว ดูเหมือนไม่มีทางอื่นใดที่จะต้องเลือกนักการเมืองจิตใหญ่เข้าไป
ฟังดูน่าขำ – แต่กระบวนการกลั่นกรองคุณภาพนักการเมืองแบบทางการยิ่งน่าขำกว่า
เป็นไปได้ล่ะหรือ ว่าการอายุ ๒๕ ปีถือว่าเริ่มมีจิตใหญ่?
เป็นไปได้ล่ะหรือ ว่าการมีวุฒิปริญญาตรีทำให้มีจิตใหญ่?
เป็นไปได้ล่ะหรือ ว่าคนถูกฟ้องล้มละลายเป็นคนจิตเล็ก?
แล้วถ้าเผื่อจะมีสถาบันมาตรวิทยาทางจิตมากำหนดคุณสมบัตินักการเมืองที่ดี น่าจะมีอะไรบ้าง?
หากเขาหรือเธอเคยได้รับการเลือกตั้งติดต่อกันมาหลายปี เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ แต่หากผลงานไม่มี ความดีไม่ปรากฏ อยู่ได้ด้วยการต่อรองเกี้ยเซี้ยตำแหน่งทางการเมือง จิตนั้นใหญ่หรือเล็ก?
หากเขาหรือเธอเคยบริหารธุรกิจครอบครัวหมื่นล้านมาได้ และเชื่อว่าเขาหรือเธอก็จะบริหารประเทศได้ – ว่าแต่ว่า นั้นเป็นธุรกิจประเภทไหน? และคนถนัดหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองจะกลายร่างเป็นคนที่ทำงานใหญ่เพื่อบ้านเมืองได้ข้ามวัน จะมีขนาดจิตใหญ่เช่นเดียวกับคนที่ต้องทำให้สังคมส่วนรวมได้ประโยชน์สูงสุดล่ะหรือ?
หากเขาหรือเธอพร่ำพูดแต่คุณธรรม ทำตัวเป็นไม้บรรทัด วัดความดีงามของคนอื่นว่าต่ำต้อยกว่าของตน ขนาดจิตเขาหรือเธอมีเท่าไหร่?
การแยกแยะประเภทของนักเลือกตั้งนี้ไม่ได้เป็นไปแค่เพื่อจัดวรรณะคนตามขนาดของจิต แต่ก็เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยคัดกรองนักการเมืองเข้าไปในสภาเพิ่มเติมจากเงื่อนไขเดิม-เดิม
คุณสมบัติพื้นฐานทางจิตใจไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่คือแก่นแท้ของเรื่องทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะ “การเมือง” ไม่ใช่อะไรอื่น หากเป็นเรื่องของเมือง เรื่องของสังคม เรื่องของประเทศ และเรื่องของส่วนรวม คนที่ไม่เคยทำอะไรอย่างแท้จริงเพื่อประโยชน์ส่วนรวมย่อมไม่เหมาะสมกับการเมือง คำว่าจิตใหญ่มิใช่ขนาดของหัวใจในเชิงกายภาพ แต่หมายถึงการมีจิตสาธารณะที่จะทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง คนที่ทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น เราเห็นกันได้ตั้งแต่เขาวัยเยาว์ ตั้งแต่วัยเด็กที่ไปโรงเรียน ไม่ใช่เด็กทุกคนห่วงใยเพื่อน ห่วงใยกิจกรรมโรงเรียน ในห้องเรียนหนึ่งห้อง เพื่อนย่อมรู้ได้ว่าใครจะเป็น “นักการเมืองที่ดีของห้องเรียน” ในโรงงานมีพนักงานเป็นพันคน พนักงานด้วยกันย่อมรู้ว่าใครเป็น “นักการเมืองที่ดีของโรงงาน” ซึ่งคนคนนั้นคงจะไม่ใช่แค่คนที่มีทักษะสื่อสารกับคนอื่น แค่เป็นคนที่รู้กฎระเบียบเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน และไม่ใช่แค่คนพาเพื่อนไปเลี้ยงเป็นคราว-คราว แต่ต้องหมายถึงคนที่มีจิตใจที่ใหญ่พอที่จะเสียสละและทำสิ่งหลายอย่าง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพนักงานโดยรวม แล้วสำหรับการเป็นสมาชิกประเทศไทยนี้เล่า พวกเราประชาชนไทยในวันนี้ พอจะดูออกไหมว่าใครคือ “นักการเมืองที่ดีของเรา”?
เพื่อนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลาย หากคำว่า “การเมือง” ทำให้รู้สึกว่าเราไม่เกี่ยว ทำให้เรารู้สึกรังเกียจกระอักกระอ่วน ทำให้เรารู้สึกเหนื่อย และตัดสินใจอะไรไม่ถูก แล้วเราจะเดินไปเข้าคูหาเลือกตั้งในวันที่ ๓ กรกฏาคมนี้ได้อย่างไร หากมีโอกาส ผู้เขียนอยากขอเชิญชวนท่านใช้เวลาที่เหลือก่อนวันเลือกตั้ง เปลี่ยนคำว่า “การเมือง” ที่ได้ยิน ได้ฟัง ในรอบตัว เป็นคำว่า “การส่วนรวม” เปลี่ยนคำว่า “นักการเมือง” เป็นคำว่า “นักทำงานเพื่อส่วนรวม” เปลี่ยนสิ่งที่เรามองด้วยความสับสน เป็นการทำความเข้าใจเรื่องนี้กันใหม่อย่างถึงราก แน่นอน การเปลี่ยนถ้อยคำความหมายแบบใหม่ อาจทำให้เราเกิดความคิดและมุมมองใหม่ต่อเรื่องการเมืองได้ ซึ่งเราน่าจะต้องตั้งใจนั่งทบทวนการตัดสินใจของตนเองให้รอบคอบกันอีกครั้ง
ขอเป็นกำลังให้ทุกท่านในการค้นหาคำตอบสำคัญให้พบ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายสูงสุดเพื่อประโยชน์ของพวกเราทุกคนอย่างแท้จริง เพื่อให้อุดมคติแห่งเรื่องการเมืองได้กลับมา เพื่อให้พวกเราได้ “นักการเมืองจิตใหญ่” ที่เป็นคนทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงในสังคมไทยของเรา
แสดงความคิดเห็น