ถอนรากเหง้าของความรุนแรง


โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2555

เหตุการณ์ความรุนแรงเดือนเมษายน-พฤษภาคมติดๆ กัน ๒ ปี ทำให้สังคมเกิดความทรงจำใหม่เกี่ยวกับเดือนเมษา-พฤษภา ที่จริงความรุนแรงทางการเมืองถึงกับเสียเลือดเสียเนื้อมีมาหลายครั้ง ถ้าจะนับแต่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ก็มีการฆ่านักศึกษาอย่างโหดเหี้ยม เมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ แล้วก็พฤษภามหาวิปโยค ๒๕๓๕ แล้วก็มีเมษายน ๒๕๕๒ เมษา-พฤษภา ๒๕๕๓ แล้วก็ยังผวากันต่อไปว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นอีกและรุนแรงกว่าเดิม เพราะรากเหง้าของความรุนแรงยังดำรงอยู่
นอกจากความรุนแรงทางการเมือง สังคมไทยยังมีความรุนแรงอย่างอื่นๆ อีกมาก ทั้งๆ ที่เป็นเมืองพุทธ เรามีอัตราการฆ่ากันตายสูงกว่าในญี่ปุ่น สูงกว่าในยุโรป สูงกว่าในสหรัฐอเมริกาเป็นอันมาก นี่ก็ความรุนแรง ปีหนึ่งๆ คนไทยยังตายเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนนเกือบ ๒๐,๐๐๐ คน นี้ก็เป็นความรุนแรง ลูกคนจนยังตายมากกว่าลูกคนรวย ๓ เท่า อย่างนี้รุนแรงไหม คนจนถูกฟ้องและดำเนินคดีด้วยข้อหาบุกรุกที่ดินของตนเอง บางคนถูกตัดสินจำคุกและตายในคุกด้วย เราเรียกกันว่าความอยุติธรรมที่ถูกกฎหมาย ชื่อแสดงถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural violence) เมื่อมันเป็นโครงสร้างมันจึงรุนแรงยิ่ง ความรุนแรงอย่างเงียบ (Silent violence) เช่น ความยากจนและความอยุติธรรมก่อให้เกิดความตายและความเสียหายใหญ่โตยิ่งกว่าความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้งมากนัก หรืออีกนัยหนึ่ง ความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้งเป็นส่วนน้อยที่ปะทุขึ้นมาจากฐานใหญ่ของความรุนแรงอย่างเงียบ ทำนองยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ

ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็จะรู้ว่าความรุนแรงมันแก้ไม่ได้ด้วยเพียงแต่ว่าใครบางคนจะไปเกี้ยเซี้ยกับใครบางคน ส่วนว่าใครจะไปรดน้ำรดท่าใครหรือจะสุนทรียสนทนาอะไรกันก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่อยากชวนให้มองรากเหง้าของความรุนแรงในสังคมไทย และช่วยกันถอดชนวนแห่งความรุนแรง ตั้งแต่จิตสำนึกจนถึงโครงสร้าง ดังนี้

(๑) ต้นตอของความรุนแรงในสังคมไทยมาจากการคิดและทำเชิงอำนาจอันสืบต่อมาช้านาน อำนาจทำให้ขาดศีลธรรม ความสัมพันธ์ที่ดี และความก้าวหน้าด้วยปัญญา อำนาจทำให้คิดแบบบนลงล่าง (Top down) ทุกหนทุกแห่ง พ่อแม่ก็คิดเชิงอำนาจกับลูก ครูก็คิดเชิงอำนาจกับนักเรียน นายก็คิดเชิงอำนาจกับลูกน้อง ข้าราชการก็คิดเชิงอำนาจกับราษฎร ฯลฯ การคิดเชิงอำนาจทำให้ไม่เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้ขาดความเสมอภาค ภราดรภาพ และสามัคคีธรรม สัมพันธภาพเชิงอำนาจทำให้ขาดการเรียนรู้จึงขาดความก้าวหน้าด้วยปัญญา การคิดและทำเชิงอำนาจเป็นการใช้สมองส่วนหลังซึ่งเป็นสมองสัตว์เลื้อยคลาน ทำให้บกพร่องในการใช้สมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา วิจารณญาณ และศีลธรรม

สังคมอย่างนี้ขาดความเป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำมากเกิน สังคมที่ขาดความเป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำมากเกิน จะเกิดความขัดแย้งและความรุนแรง ฉะนั้น เราจะต้องสร้างจิตสำนึกและวิธีคิดใหม่ ที่ถอนตัวออกจากอำนาจ

(๒) การปกครองโดยการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง นี้คือโครงสร้างอำนาจที่ไม่ถูกต้องอันนำมาสู่ปัญหาเกือบทุกชนิดในสังคมไทย โดยเฉพาะปัญหา ๔ อย่างใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง ระบบรัฐด้อยสมรรถนะ เพราะเป็นระบบอำนาจไม่ใช่ระบบปัญญา จึงแก้ปัญหาอะไรเกือบไม่ได้เลย เช่น ความยากจน การใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ความยุติธรรม ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ระบบรัฐล้มเหลวทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟมากขึ้นๆ

สอง ระบบรัฐคอร์รัปชั่น ถ้าอำนาจกระจุกที่ไหน คอร์รัปชั่นมากที่นั่น คอร์รัปชั่นจึงเปรียบประดุจมะเร็งร้ายที่กัดกินชาติ

สาม การรัฐประหารทำได้ง่าย เพราะอำนาจกระจุกจึงยึดอำนาจได้ง่าย ถ้าอำนาจกระจายไม่รู้จะยึดตรงไหน

สี่ การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองรุนแรง เพราะอำนาจรวมศูนย์ ใครได้อำนาจทางการเมืองก็กินรวบหมดทั้งประเทศ จึงเป็นแรงจูงใจให้นักธุรกิจการเมืองทุ่มทุนเข้ามาแย่งชิงอำนาจ ทำให้เกิดธนาธิปไตย และการต่อสู้กันรุนแรง แต่ถึงรุนแรงเท่าใด ก็แก้ปัญหาของประเทศไม่ได้ ถ้าอำนาจยังรวมศูนย์

ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวเรื่องชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง สังคมไทยต้องรีบทำความเข้าใจและแก้ไขการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง จึงจะถอดสลักความรุนแรงได้

(๓) ความถูกต้องต้องก่อตัวขึ้น (Self organization) จากหน่วยย่อยข้างล่าง วิกฤตใหญ่ของโลกขณะนี้เป็นความล้มเหลวของระบบใหญ่ เช่น ระบบการเมืองใหญ่ ระบบเศรษฐกิจใหญ่ ระบบการเงินใหญ่ เพราะระบบใหญ่เหล่านี้สร้างความถูกต้องไม่ได้

ระบบที่ซับซ้อนที่สุดคือระบบร่างกายของเรา ร่างกายของเรารักษาความถูกต้องเชิงระบบไว้ได้ เราจึงมีสุขภาพดีและมีความยั่งยืนพอสมควร ความซับซ้อนของร่างกายทั้งหลายมาจากเซลล์ๆ เดียว เซลล์ๆ นี้ต้องมีความถูกต้องทุกอย่าง จาก ๑ งอกเป็น ๒ เป็น ๔, ๘, ๑๖, ๓๒ ... และพัฒนาไปเป็นอวัยวะต่างๆ ทุกอวัยวะมีเซลล์เป็นหน่วยย่อยพื้นฐาน เซลล์ต้องถูกต้องทุกอย่างอวัยวะจึงจะถูกต้อง อวัยวะถูกต้องทุกอย่างร่างกายทั้งหมดจึงจะถูกต้อง

หน่วยย่อยพื้นฐานของสังคมคือชุมชน

ชุมชนคือหน่วยย่อยที่มีความถูกต้องของการอยู่ร่วมกันได้ง่าย ทั้งการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคนและคนกับสิ่งแวดล้อม ชุมชนสามารถจัดระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเป็นประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วมโดยตรง เมื่อชุมชนเป็นระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลจึงจะมีความยั่งยืน ถ้าชุมชนทั่วประเทศมีความเข้มแข็ง ประเทศก็จะตั้งอยู่บนฐานของความถูกต้อง

นั่นคือความถูกต้องต้องก่อตัวขึ้นมาจากความถูกต้องของหน่วยย่อยข้างล่าง

ไม่มีใครสามารถเสกความถูกต้องลงไปจากข้างบนได้ เพราะข้างบนเป็นเรื่องของอำนาจ มายาคติ และความฉ้อฉล เป็นที่แย่งชิงอำนาจกันรุนแรงและบ่อเกิดของความรุนแรง

ถ้าเราเข้าใจสาเหตุของความรุนแรงตั้งแต่จิตสำนึกไปจนถึงโครงสร้าง เราทุกคนก็มีส่วนในการถอดชนวนความรุนแรงได้ โดย

(๑) ปรับโลกทัศน์ วิธีคิด และจิตสำนึกใหม่ มองเห็นว่า เพื่อนมนุษย์และสรรพธรรมชาติทั้งหมดล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความเคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และเคารพในธรรมชาติทั้งหมด มีสัมพันธภาพที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง ก้าวหน้าด้วยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ไม่ใช่ด้วยการใช้อำนาจ การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติจะทำให้เกิดคุณสมบัติใหม่ คือความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) ซึ่งเป็นทุนมหาศาลที่เงินซื้อไม่ได้ ทุนแห่งความเชื่อถือไว้วางใจกันทำให้เกิดความสุขและความสำเร็จ

(๒) ศึกษาเรื่องกระจายอำนาจจากการรวมศูนย์ออกไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองให้ได้มากที่สุด บ้านเมืองจะสงบลงตัว รัฐประหารจะทำไม่ได้ คอร์รัปชั่นจะลดน้อยถอยลง การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองที่ส่วนกลางอย่างรุนแรงอันนำไปสู่ความรุนแรงจะหมดไป เพราะหมดแรงจูงใจ เนื่องจากอำนาจกระจายไปหมดแล้ว

(๓) รวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง การมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันเต็มพื้นที่ของสังคม เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมจากโครงสร้างอำนาจซึ่งเป็นโครงสร้างแนดิ่งมาเป็นโครงสร้างทางราบที่มีความเสมอภาค มีภราดรภาพ และเข้ามาสัมพันธ์ด้วยการเรียนรู้ร่วมกันที่เรียกว่ารวมตัวร่วมคิดร่วมทำ สังคมทางดิ่งหรือสังคมอำนาจมีความเครียดในตัวสูง และระเบิดไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย ในขณะที่สังคมทางราบมีความสงบเย็นในตัวและก้าวหน้าด้วยพลังทางสังคมและทางปัญญา จึงเป็นศานติสังคม

ที่จริงเรามีสถาบันเพื่อการเรียนรู้ที่กว้างขวางใหญ่โต เช่น ระบบการศึกษา ระบบการพระศาสนา ระบบการสื่อสาร ถ้าระบบเหล่านี้ทำเพียง “การสั่งสอน” ให้คิดเหมือนเดิม เราก็ออกจากระบบอำนาจและความรุนแรงไม่ได้ เพราะการคิดเหมือนเดิมคือการคิดเชิงอำนาจ แต่ถ้าระบบเหล่านี้ส่งเสริม “การเรียนรู้” ให้เกิดจิตสำนึกใหม่และโครงสร้างใหม่ เราก็ถอนรากเหง้าของความรุนแรงของสังคมไทยได้

แต่ระบบก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นอกจากคนไทยจำนวนหนึ่งที่มากพอเกิดจิตสำนึกใหม่

Back to Top