โดย
ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2555
โลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่โลกยุคข้อมูลข่าวสารที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วกว่ายุคไหนๆ ที่ผ่านมา งานวิจัยเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๑ ประมาณการณ์กันว่า ทุกๆ สองปี ข้อมูลทั้งหมดในโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า แล้วจำนวนข้อมูลทั้งหมดทั่วโลกที่ถูกสร้างในปี ๒๐๑๑ มีมากถึง ๑.๘ ล้านล้านล้านกิ๊กกะไบท์เข้าไปแล้ว ถ้าอยากรู้ว่ามากแค่ไหน ลองคิดกะคร่าวๆ เอาว่า ทุกคนในประเทศไทย ส่งข้อความเอสเอ็มเอส กันคนละ ๓ ข้อความทุกนาทีโดยไม่หยุด จะใช้เวลารวมกันทั้งสิ้นประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ปี
โลกยุคก่อนจะส่งข้อมูลกันทีก็ต้องใช้นกพิราบ คนขี่ม้า ส่งข้อความกันแต่ละที ก็หวาดเสียวว่า นกจะบินถึงผู้ส่งหรือเปล่า คนขี่ม้าจะเป็นอะไรไประหว่างทางหรือไม่ แต่ยุคนี้แค่ไม่กี่คลิก ข้อความก็ไปถึงผู้รับได้แล้ว คนติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น แม้ไม่ได้เจอกันมานาน ก็หากันจนเจอด้วยสังคมออนไลน์และระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ค
ข่าวดีคือ โลกนี้มีอะไรให้ค้นหาอีกมาก มีคนให้รู้จักอีกเยอะ ข่าวร้ายคือ ข้อมูลสูงท่วมหัวจนคนรับไม่ไหว และการติดต่อกันอย่างเร่งด่วนอาจทำให้คนกระทบกระทั่งกันง่ายขึ้น
แล้วใครเล่าที่เป็นคนรับข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น ไม่ใช่ตัวเราเองหรอกหรือ ในตัวเรามีอะไรบ้างที่ทำหน้าที่หลักในการรับข้อมูล เราอาจตอบว่า มีสมอง แล้วก็จิตใจ สมมุติว่ามีเท่านี้ คำถามต่อไปคือ เราจะทำอย่างไรกับสมองและจิตใจของเรา เพื่อให้รองรับและจัดการข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์ในยุคก่อนๆ
ศาสตร์สมัยใหม่เริ่มชี้ชัดใกล้เคียงกันว่า ทั้งสมองและจิตใจของมนุษย์สามารถยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ (neuroplasticity & adaptive mind) เมื่อเรารู้จักการเรียนรู้ที่เข้าถูกทาง เราจะสามารถขยายภาชนะของจิตให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้ (mental capacity) แล้วเราจะพบว่าเรายังคงเรียนรู้ได้อีก และสิ่งที่เรียนรู้ใหม่นั้นจะไม่ใช่ขยะความรู้ ที่เชื่อมโยงอะไรกับชีวิตของเราไม่ได้ เราจะเรียนรู้จากกันและกันมากขึ้น มากกว่าแค่แบ่งปันข้อมูลในเฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์ และไม่ใช่แค่เรียนรู้เพื่อได้รู้มากขึ้น แต่เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองและเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น เราจะเข้าใจกันมากขึ้น เข้าใกล้กันมากขึ้น
ลองพิจารณาคำพูดที่ว่า "สัตว์ที่อยู่รอดได้ ไม่ใช่สายพันธุ์ที่ฉลาดที่สุด หรือแข็งแรงที่สุด แต่เป็นสายพันธุ์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด" ("It is not the strongest of the species that survives, nor the most intelligent, but rather the one most responsive to change.") (คำพูดนี้เป็นของแคลเรนส์ ดาร์โรว์ [Clarence Darrow] ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นคำพูดของชาร์ลส์ ดาร์วิน [Charles Darwin]) เป็นการเปรียบเปรยกับคนฉลาดมีความรู้มากที่สุด หรืออยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุด คนประเภทนี้อาจอยู่ไม่รอดเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง แต่คนประเภทที่มีความสามารถในการปรับตัวต่างหากจะอยู่รอดต่อไป
คนฉลาดและคนมีอำนาจเปรียบเสมือนชาล้นถ้วยคือ เมื่อคนยึดถือความรู้และอำนาจเดิมไว้มาก จะเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมใหม่ไม่ได้อีกต่อไป ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของคนประเภทนี้คือ การไม่สามารถรับความเห็นย้อนกลับได้ (feedback) หากเราเปรียบจิตของเราเหมือนถ้วยน้ำชา ภาชนะจิตของคนฉลาดและมีอำนาจมีความคับแคบ เราจะไม่สามารถรับความเห็นย้อนกลับอะไรได้อีกต่อไป มันจะล้นออกเหมือนชาที่รินจนล้นถ้วยแล้ว คนประเภทนี้จะมีแนวโน้มคิดเอาเองว่า การได้รับความเห็นหรือคำแนะนำใดๆ คือการบ่งบอกว่าฉันยังทำได้ไม่ดีพอ ฉันยังเก่งไม่พอ หรือฉันยังสมบูรณ์แบบไม่พอ เป็นต้น
ความเชื่อบนฐานการทึกทักเอาเองแบบนี้ (Big Assumptions: BA) คือสิ่งที่ทำให้เกิด "กรอบความคิดตายตัว" (fixed mindset) การอยู่รอดในยุคนี้และต่อๆ ไป คนจำเป็นต้องเปลี่ยนมาสู่ "กรอบความคิดแบบเติบโต" (growth mindset) เป็นการพลิกเปลี่ยนจากด้านความรู้และอำนาจ มาสู่การเรียนรู้และปรับตัว นี่คือหนทางที่เรียกว่า "การขยายภาชนะของจิต"
คนเราจะขยายภาชนะของจิตได้อย่างไร
ผมขอใช้ "ไข่ดาว" เป็นภาพเปรียบเทียบสักหน่อย ในไข่ดาวมีพื้นที่สองส่วนคือ พื้นที่ไข่แดง กับพื้นที่ไข่ขาว ในพื้นที่ไข่แดง เราจะมีวิธิคิด วิธีรู้สึก และพฤติกรรมแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ทำอย่างนี้ก็อยู่รอดได้ไปวันๆ แล้ว ไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรอีก มันรู้สึกว่าปลอดภัยดีแล้ว เช่น เป็นหัวหน้าก็ใช้วิธีการสั่งลูกน้องโดยไม่ต้องคำนึงว่าต้องรับฟังอะไรเพิ่มเติม หรือเป็นพนักงานเข้าใหม่ไฟแรง จบมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศ จะมีใครมาแนะนำหรือสอนงานอะไรเพิ่มไม่ได้ เป็นต้น
ในพื้นที่ไข่ขาว เราจะมีวิธีคิด วิธีรู้สึก และพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น หัวหน้านั่งฟังลูกน้องและถามไถ่เพื่อเปิดโอกาสให้รับฟังลูกน้องเพิ่มขึ้นไปอีก หรือพนักงานใหม่ไฟแรงที่พร้อมให้พี่ๆ สอนงาน น้อมรับคำแนะนำ และเรียนรู้ใหม่ได้ทุกวัน เป็นต้น
การขยายภาชนะของจิต คือการขยายพื้นที่ไข่แดงให้ใหญ่ขึ้น อย่างเป็นธรรมชาติ
ในช่วงแรกของการขยายภาชนะของจิต เราจะต้องกล้าก้าวออกจากพื้นที่ไข่แดง เพื่อมาปักหลักอยู่ในพื้นที่ไข่ขาวให้ได้นานพอ ด้วยการทำต่าง คิดต่างไปจากเดิม เราจะรู้สึกเสี่ยง อึดอัด และสั่นไหวในช่วงแรก วัตถุประสงค์ไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ว่า "กูแน่-กูดี" แต่เพื่อ "เก็บข้อมูล" ในพื้นที่ไข่ขาว ตัวอย่างเช่น หัวหน้าที่ลองท้าทายตัวเองให้ฟังลูกน้องจนจบ แทนที่จะตัดบทสั่งไปก่อน ใช้โอกาสนี้จดบันทึกความคิดความรู้สึกที่ทนฟังจนจบ แล้วสังเกตปฏิกิริยาของลูกน้องไปด้วย เป็นการเก็บข้อมูลไปก่อน เมื่อข้อมูลในพื้นที่ไข่ขาวถูกเก็บมากพอ (นั่นหมายถึง ทำต่างซ้ำแล้วซ้ำอีก) กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นที่จิต และพื้นที่ไข่แดงจะขยายออกเอง เมื่อจิตประมวลข้อมูลเหล่านั้นจนเกิดความเข้าใจใหม่ (ที่ต่างไปจาก BA หรือความเชื่อบนฐานการทึกทักเอาเองแบบเดิม)
แน่นอนว่า ระหว่างที่ภาชนะของจิตยังไม่ขยาย มันจะเกิดความรู้สึกอยากจะกลับเข้าไปในพื้นที่ไข่แดง เราก็สามารถกลับเข้าไปพักได้ แต่ให้บอกตัวเองว่าอย่าพักนานเกินไป ให้กล้าก้าวออกมาใหม่ เพื่อเรียนรู้ในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ด้วยการท้าทายทำต่าง คิดต่างอย่างสม่ำเสมอ แล้วเก็บข้อมูลอย่างรอบด้านในพื้นที่ไข่ขาว เมื่อทำอย่างนี้นานพอ ภาชนะของจิตจะค่อยๆ ขยายออก ว่ากันว่า ใช้เวลาช่วงท้าทายนี้สักประมาณ ๓ เดือน ๖ เดือน หรือ ๑๒ เดือน ก็จะเห็นผลการขยายภาชนะของจิตได้อย่างยั่งยืน
เมื่อภาชนะของจิตเราขยายออก เราจะอยู่รอดท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดหย่อน ได้อย่างเข้าใจ ดำรงชีวิตตามสิ่งที่เราเห็นคุณค่า และให้ความสำคัญได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง แทนที่จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของความรู้ที่ท่วมโลกและความทุกข์จากการรักษาอำนาจที่ได้มาแล้วไม่ให้หายไป เราจะเรียนรู้และปรับตัวได้อยู่เสมอ และเป็นคนสายพันธุ์ใหม่ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข
แสดงความคิดเห็น