โดย
ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2555
มาร์กาเร็ต วีทลีย์ นักเขียนและนักบริหารจัดการชาวอเมริกันผู้เสนอแนวคิดเรื่องผู้นำในกระบวนทัศน์ใหม่ที่สอดคล้องกับชีวิต ได้ยึดหลักความรู้และความเข้าใจจากการค้นพบทางชีววิทยามาเป็นสมมุติฐานใหม่และแรงบันดาลใจในการนำเสนอแนวคิดของ “องค์กรจัดการตัวเอง” หรือ “องค์กรแห่งการเรียนรู้” ในแวดวงของการบริหารจัดการแนวใหม่ที่เอื้อต่อการสร้างองค์กรที่เชื่อมสัมพันธ์ถึงกันภายใน อย่างเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและท้าทายตลอดเวลา
สมมุติฐานแรกที่อาจต่างออกไปจากสมมุติฐานที่ว่าชีวิตต้องการความอยู่รอดและจำต้องได้รับการควบคุมให้อยู่ในกรอบและทิศทางที่เหมาะสมนั้น คือสมมุติฐานที่น่าสนใจที่สุดของชีวิตในชีววิทยาสมัยใหม่ นั่นคือ ชีวิตต้องการและสามารถสร้างตัวเองได้ (autopoiesis) และปรารถนาที่จะสร้างสิ่งใหม่อยู่เสมอ
หลักฐานสำคัญในเรื่องนี้เห็นจะหนีไม่พ้นความหลากหลายทางชีวภาพที่มีมากมายมหาศาลในระบบธรรมชาติ ที่แสดงถึงความสร้างสรรค์ในระดับที่แทบไม่ใช่เป็นไปเพื่อความอยู่รอดอย่างที่เราเคยใช้ในการอธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง
ความใหม่ดูประหนึ่งว่าไม่เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเท่านั้น แต่เป็นเพราะความใหม่คือการค้นหา โอกาส ความเป็นไปได้ของการดำรงชีวิต การบรรลุถึงอิสรภาพในการเป็นสิ่งต่างๆ ดังที่ เคลวิน เคลลี อธิบายไว้ว่า ชีวิตคือการแสวงหาและการค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ๆ รูปแบบใหม่ๆ ของการแสดงออก นักชีววิทยาชื่อ ฟราสซิสโก วาเรลา และฮุมเบอร์โต มาตูรานา สังเกตเห็นว่า ชีวิตไม่ได้ตอบสนองต่อสิ่งที่เรียกว่า “ผู้ที่แข็งแรงกว่าจึงอยู่รอด” แต่ตอบสนองต่อพื้นที่หรือโอกาสที่ยิ่งใหญ่กว่า สำหรับการทดลองของ “ความอยู่รอดของสิ่งที่ปรับตัวได้ดีที่สุด” มีการออกแบบการทดลองหลายรูปแบบ มีความเป็นไปได้ของการปรับตัวที่หลากหลาย และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ใช้ความอิสระในการลองผิดลองลองถูกนี้มากกว่ามนุษย์เสียอีก ด้วยความที่มนุษย์เรามักเรียกร้องความสมบูรณ์กับทุกเรื่อง นับตั้งแต่ลองผิดลองถูกครั้งแรก
ความอิสระในการลองผิดลองถูกที่ชีวิตจะเปลี่ยนตัวเองเป็นรูปแบบที่จะดำรงชีวิตและสืบเผ่าพันธุ์ที่นำมาซึ่งความหลากหลายอันไร้ขีดจำกัด ในการเล่าเรื่องราวของจักรวาลของฉัน ฉันอยากจะเปล่งเสียงให้ความใหม่เป็นคุณค่าที่ได้รับการเชิดชูจากทุกชีวิต เป็นสิ่งที่อำนวยให้ชีวิตมีการค้นพบใหม่ๆ ความจำเป็นและความสามารถในการสร้างตัวตนเป็นแรงผลักดันที่เราเห็นในการทดลองของมนุษย์อย่างเด่นชัด แต่เรามีความเข้าใจผิดอย่างมากในองค์กรของเรา
สมมุติฐานที่สองคือ ชีวิตมีความต้องการที่จะเชื่อมโยงกับชีวิตอื่น เพื่อสร้างระบบของความสัมพันธ์ที่ สมาชิกแต่ละคนได้รับการสนับสนุนจากระบบที่สร้างขึ้น มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมองแต่ละชีวิตอย่างแยกส่วน ในโลกธรรมชาติ ดังคำพังเพยแอฟริกันโบราณที่ว่า “เมื่ออยู่ลำพัง ฉันเห็นสิ่งที่วิเศษมากมาย แต่ไม่มีสิ่งใดเลย ที่เป็นของจริง” นักชีววิทยา ลินน์ มาร์กูลิส แสดงถึงการตระหนักรู้เดียวกันนี้เมื่อเธอพูดว่า การเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อใครนั้น เป็นความคิดทางการเมือง (ของมนุษย์) ไม่ใช่ความคิดทางชีววิทยา ในทุกหนทุกแห่ง ชีวิตได้แสดงตนในสายความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ยุ่งเหยิงและไร้ระเบียบ จากความสัมพันธ์นี้ ชีวิตสร้างระบบที่สร้างความมั่นคงและสนับสนุนกันมากกว่าชีวิตที่อยู่เพียงลำพัง สิ่งมีชีวิตปรับแต่งตัวเองให้สนองตอบต่อเพื่อนบ้านและสิ่งแวดล้อมของมัน การตอบสนองต่อกันและกันได้ก่อกำเนิดและสร้างสรรค์ระบบที่ซับซ้อนขององค์กรที่เราเห็นในธรรมชาติ ชีวิตเป็นการแสวงหาระบบ มันแสวงหาการรวมตัวเป็นองค์กร องค์กรเป็นการเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ องค์กรจัดการตนเองเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างระบบที่เราเฝ้าดูอยู่และพิสูจน์ให้โลกเห็นวิธีการจัดการที่มาจากภายใน
ชีวิตเป็นระบบจัดการตนเองที่สามารถสร้างสรรค์ตัวเอง สร้างโครงสร้างและวิถีทาง รวมทั้งเครือข่ายของการสื่อสาร คุณค่าและความหมาย พฤติกรรมและมาตรฐาน แทนที่จะคิดถึงองค์กรเป็นสิ่งที่สร้างจากโครงสร้าง แผนการ การออกแบบ หรือบทบาทหน้าที่ ที่จริงแล้วองค์กรเกิดมาจากการมีปฏิสัมพันธ์และความต้องการของสมาชิกแต่ละคนที่ตัดสินใจมาอยู่ด้วยกัน
การปะทะกันระหว่างสมมุติฐานเก่าและใหม่มีให้เห็นได้ในทุกแห่ง เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราเห็นการปะทะกันนี้ในองค์กรที่ถูกสร้างมาเพื่อให้กำเนิดกระบวนทัศน์ใหม่ รวมถึงองค์กรไม่แสวงผลกำไรทั้งหลาย รวมไปถึงวัดและองค์กรเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้คนขององค์กรเหล่านี้ได้สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ พวกเขารวมตัวกันเพราะพวกเขารู้ว่าไม่สามารถทำความฝันให้เป็นจริงแต่โดยลำพัง ต้องมีองค์กรเพื่อทำให้เกิดขึ้น เป็นความปรารถนาของมนุษยชาติที่นำพวกเขาให้สร้างองค์กรเพื่อทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น เพื่อนำสิ่งที่ดีมาสู่โลก เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้อื่น ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มาจากกระบวนทัศน์ใหม่
กระนั้นก็ตาม เมื่อพวกเขาเริ่มต้นงานสร้างองค์กร ความคิดเก่าและนิสัยเก่าก็ถูกนำออกมา องค์กรเหล่านี้ครอบเอาโครงสร้างและบทบาทวางแผนงานที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ใช้การสั่งการและการควบคุม กำกับในการนำองค์กร เมื่อเวลาผ่านไป องค์กรที่ถูกสร้างเพื่อตอบโจทย์กระบวนทัศน์ใหม่ก็กลายเป็นสำเนา ของโครงสร้างที่แข็งกระด้างของกระบวนทัศน์เก่า ผู้คนเกิดความไม่พอใจต่อองค์กรที่พวกเขาสร้างขึ้น เพราะในเวลานี้มันกลับเป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างสรรค์ ความหวัง และความฝันของพวกเขา
บทเรียนจากชีววิทยาใหม่ได้นำภาพขององค์กรที่แตกต่างจากเดิม มันสอนเราว่าเมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันได้ ก็จะมีความสามารถสร้างองค์กรให้เป็นรูปเป็นร่าง สร้างแผนงาน คุณค่า และวิสัยทัศน์ เราเป็นองค์กรจัดการตนเองเฉกเช่นเดียวกับชีวิตทุกชีวิต และกระบวนทัศน์ใหม่ยังให้รายละเอียดกระบวนการจัดตั้งองค์กร ที่สร้างความตกตะลึงในภาพที่ตรงข้ามกับภาพของการจัดตั้งองค์กรแบบเก่าที่มีการวางแผนมาเป็นอย่างดี เพราะมีการสอดประสาน ได้รับการสอดส่องดูแลเป็นอย่างดี เราสามารถสรุปกระบวนการสร้างระบบของชีวิตอย่างง่ายๆ ว่า ชีวิตแสวงหาการรวมเป็นองค์กรโดยใช้ความยุ่งเหยิง (Chaos) เป็นวิธีการสร้างระบบ องค์กรเป็นกระบวนการ ไม่ใช่โครงสร้าง
ในขณะเดียวกัน กระบวนการสร้างระบบได้สร้างความสัมพันธ์ขึ้นจากการมีเป้าประสงค์ร่วมกัน แลกเปลี่ยนและสร้างข้อมูลข่าวสาร เรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ให้ความสนใจกับผลของการกระทำของเรา ร่วมกันปรับตัว ร่วมกันวิวัฒน์ สร้างปัญญาในขณะที่เราเรียนรู้ ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงจากทุกทิศทุกทาง ระบบชีวิตให้รูปแบบองค์กรของตัวเองและวิวัฒน์รูปแบบนั้นๆ เป็นรูปแบบใหม่ๆ อีก เพื่อสร้างความหมาย สื่อสาร และเพื่อสังเกตว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ความสามารถเหล่านี้จะปลุกความมีชีวิตอย่างแท้จริงให้กับองค์กร และสนับสนุนความเป็นองค์กรจัดการตนเอง
เราค้นพบโลกที่ชีวิตให้กำเนิดตัวเองโดยใช้แรงขับที่ทรงพลังสองประการคือ ความต้องการมีอิสระในการสร้างตัวตนและความต้องการที่จะเอื้อมหาความสัมพันธ์กับชีวิตอื่น แรงทั้งสองไม่เคยจางหายไปจากชีวิต แม้ในขณะที่เราปฏิเสธมัน เราไม่สามารถลบล้างมันได้ มันมีความพร้อมที่จะแสดงออกมาเสมอ แม้ในองค์กรมนุษย์ที่พยายามกดทับมันไว้อย่างที่สุด ชีวิตไม่เคยหยุดการยืนยันความต้องการในการสร้างตัวตนของมัน และชีวิตไม่เคยหยุดแสวงหาความสัมพันธ์
หากเรา ในฐานะผู้นำพยายามที่จะสั่งการและควบคุมองค์กร โดยละเลยที่จะตระหนักถึงแรงขับของชีวิต ชีวิตจะออกแรงต้านความประสงค์ของเราเสมอ แล้วแทนที่จะเรียนรู้จากชีวิต เรากลับมีแนวโน้มที่จะมอง พฤติกรรมเหล่านี้ว่า ”ยากต่อการควบคุม” เป็นเหตุตัดสินใจใช้การนำที่บังคับควบคุมยิ่งขึ้น ความล้มเหลวและความรู้สึกไม่พอใจในองค์กรเป็นผลมาจากการปฏิเสธแรงขับของชีวิต
เรียบเรียงจาก Finding Our Way โดย มาร์กาเร็ต วีทลีย์
แสดงความคิดเห็น