พี่มาก..และโรคแห่งยุคสมัย



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 เมษายน 2556

ไปดูมาหรือยัง ภาพยนตร์ไทยที่ร้อนแรงพอๆ กับอุณหภูมิเดือนเมษายน พี่มาก..พระโขนง

ถ้าคิดว่ามันเป็นแค่หนังตลกที่ขายดารา ขายแก๊ก ก็ถูกครับ แต่มันมีอะไร “มาก” กว่านั้น

หนังไทยเรื่องนี้ผู้สร้างได้นำเอามายาคติที่มีอยู่ในสังคมไทยมา “รื้อสร้าง” เสียใหม่ โดยเปลี่ยนมุมมองที่เราคุ้นชินไปสวมแว่นของตัวละครซึ่งแต่เดิมเคยรับบทเป็น “ตัวรอง” อย่างพี่มาก ผ่านมโนทัศน์ของคนยุค Gen Y ซึ่งมีลักษณะ “ยั่วล้อ” กับคุณค่าและขนบที่แต่เดิมถูกจัดว่าเป็นสิ่งต้องห้าม หรือของศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยโบราณ​ ก็ถูกแทนด้วยภาษา “งุงิ” ความกล้าหาญในอุดมคติของบุรุษไทย ถูกแทนด้วยความแอ๊บแบ๊วสไตล์เกาหลี ความกลัวอย่างไม่มีเหตุผลก็พยายามจะแทนด้วยคำอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างเรื่องการยืดแขนของแม่นาค แต่ถึงแม้จะอธิบายได้ วิเคราะห์ได้ ก็ไม่วายที่จะกลัวอยู่ดี เพราะนี่คือ “โรคแห่งยุคสมัยของเรา”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ มองในแง่ปัจเจก สะท้อนให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากับสิ่งที่จุงเรียกว่า “ชาโดว์” ความลับดำมืดที่ถูกกักเก็บเอาไว้ในเบื้องลึกของจิต ส่วนในแง่สังคม ฟูโกต์บอกว่าเมื่อเราไม่เข้าใจอะไร เราก็มีแนวโน้มที่จะทำให้มัน “เป็นอื่น” แล้วใช้มาตรการต่างๆ เข้ามากระทำการโดยหวังว่าเราจะสามารถควบคุมมันได้ จัดการมันได้อย่างชอบธรรมและแนบเนียน เช่น จัดให้ต้องมีการแบ่งระหว่างคนปกติ กับคนบ้า, เด็กปกติ กับเด็กไฮเปอร์, คลั่งเจ้า กับไม่เอาเจ้า หรือแม้กระทั่ง “คน” กับ “ผี” แต่สังคมไทยนั้นแปลกประหลาด เพราะการจัดแบ่งนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อจะบอกว่าอะไรควรหลีกเลี่ยงเท่านั้น แต่ยังบอกด้วยว่าสิ่งใดควรจะให้ความเคารพ ควรเทิดทูนบูชา

ยกตัวอย่างเช่น เรายกให้พระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งๆ ที่รู้ว่าพระสงฆ์ (ถ้ายังไม่ใช่พระอริยะ) ก็เป็นเพียงแค่ “ลูกชาวบ้าน” ซึ่งถูกสมมุติขึ้นมาให้ทำหน้าที่เป็นพระเท่านั้น แต่ชาวบ้านก็พร้อมใจให้ความเคารพนับถือในฐานะ “พระ” ไม่ใช่ “ไอ้แดงลูกอีเมี้ยน” หรือ “ไอ้มาร์คผัวเก่านังนาค” อีกต่อไป คนไทยจึงเข้าใจเรื่องบทบาทที่เลื่อนไหลเป็นอย่างดี และโอบกอดสิ่งที่ดูเหมือนย้อนแย้งนั้นเอาไว้ด้วยความเข้าใจ

หรือเปล่า?

อย่าเพิ่งรีบเห็นด้วยไปกับข้อสรุปของผู้เขียนที่เป็นการมองอย่างหยาบ เพราะเราย่อมเห็นจากตัวอย่างจริงในสังคมของเรา ว่ามีคนจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะ “ลดทอน” ความรุ่มรวยของมนุษย์ให้เหลือเพียงป้ายแปะ โดยสับสนระหว่าง “ท่าที” ที่บุคคลแสดงออก กับ หัวจิตหัวใจของความเป็นคน กล่าวคือ มองไม่เห็นคนเป็นคน...

...เมื่อไม่เห็นว่าเป็นคน ก็ต้องเห็นว่าเป็น “ผี”

เรื่องของ “พี่มาก” กับ “น้องนาค” สะท้อนให้เห็นกระบวนการทำให้ใครที่มีความแตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคม ต้องกลาย “เป็นอื่น” คือ เป็น “คนบ้า” เป็น “ผี” ซึ่งความรู้ทางสังคมศาสตร์พาเราไปต่อไม่ได้ คือวิเคราะห์ได้ สาธยายได้ แต่ไม่ได้บอกว่า “แล้วต้องทำไงต่อ?” จึงจะนำพาให้คนหมู่มาก “ข้ามผ่าน” ปมอุบาทว์ที่ช่วยกันผูกเอาไว้คนละไม้คนละมือโดยไม่รู้ตัว

เพราะความรู้ทางสังคมศาสตร์ถูกสร้างด้วย “ความคิด” และตรรกะ ต่อให้คิดไปไกลแค่ไหนก็เป็นปัญญาชั้นรองที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า “จินตามยปัญญา” ผู้นำทางจิตวิญญาณทุกคนรู้ดีว่าจะต้องพ้นไปจาก ข้อจำกัดนี้ เพราะมันคือกรงขังอันแน่นหนาของพยัญชนะที่เราพาตัวเข้าไปด้วยจำยอม แต่พังภินท์ราวกับซากศพที่เขาขุดขึ้นมาเวลาล้างป่าช้าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสัจธรรม

เมื่อสังคมศาสตร์มาถึงทางตันในการให้ทางออกจาก “ด้านมืด”ทางจิตวิญญาณของสังคม แล้วเราจะออกจากสภาพนี้ได้ยังไง?

เดการ์ตบอกว่า “ฉันคิด ฉันจึงมี (ตัวตน)” ซึ่งผมยอมรับอย่างหมดหัวใจ แต่มองในมุมกลับ ถ้าฉันสามารถออกจาก “กระบวนการของความคิด” ได้ ฉันก็ย่อมเป็นอิสระจากตัวตนปลอมๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากความคิด และเข้าถึง “ความจริง” ที่มีอยู่จริง ซึ่งไร้ชื่อ พระพุทธเจ้าราวกับจะบอกใบ้เอาไว้แล้วถึงปัญญาขั้นที่สาม “ภาวนามยปัญญา” ซึ่งไม่อิงความคิดหรือจินตนาการ พระเซนตั้งคำถามที่คิดจนหัวแทบแตกก็ตอบไม่ได้ ปรมาจารย์ไทฉีฉวนพูดถึง “จิ้ง” คือพลังที่มองไม่เห็นราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่นั่นก็ยากเหลือแสนในทางปฏิบัติ เพราะการ “ภาวนา” ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการ “ภาวนึก” คือคิดเรื่อยเปื่อยไป โดยไม่เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับจิต หรืออาจจะเห็นอาการบางอย่างแต่ก็คิดวิเคราะห์ต่อไป จนสับสนปนเปเคลิบเคลิ้ม และพอมองไม่เห็นผลอะไร เลยมีแต่ความอ่อนล้า ง่วงงุน เปลี่ยนไปเป็นการ “ภาวนอน” คือหลับดีกว่าสบายแฮ

เมื่อภาวนากลายเป็นภาวนอน คือภาวะหลับใหล เราจะไม่เห็น “ผี” ที่หลบซ่อนและเข้าประสมในจิต ตัวปัญญาซึ่งทำหน้าที่จับพิรุธ “ผี” ก็ไม่สามารถทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เราจึงต้องอาศัยปัญญาในระดับนึกคิดวิเคราะห์หาเหตุผลเข้ามากลบเกลื่อนอธิบาย ซึ่งมักจะไม่สำเร็จเพราะไม่ได้เข้าไปเห็นและเอาชนะสภาวะซึ่งเป็นตัวปัญหา แต่กลับกลายเป็นการทุ่มพลังทั้งหมดไปเพ่งโทษเอากับ​ “ผี” ซึ่งอยู่ภายนอกตัว ไม่ว่าจะเป็น ผีระบบ ผีสถาบัน ผีศาสนา ผีคอมมิวนิสต์ ผีทุนนิยม ผีอำมาตย์ ผีเอ็นจีโอ ผีสลิ่ม ฯลฯ

...แต่ไฉนลืมกลับมาจัดการกับ “ผี” ที่อยู่ในใจตัวเอง

เพราะถึงจะยังไม่มีความสามารถปลดเปลื้อง “ผี” ในตัวเรา ให้ไปที่ชอบๆ ได้ แต่อย่างน้อยก็ควรจะสามารถ “อยู่ร่วม” กับผีในใจตัวเองได้ ซึ่งคงไม่ถึงกับต้องไปร่วมเตียงกับผีอย่างกรณีของพี่มาก แต่ต้องรู้จัก “ผี”​ ของเราให้ดีพอที่จะไม่ให้มันลุกขึ้นมาอาละวาด ลุกลามจนเผาใจเจ้าของ เพราะใจไม่เหมือนกับห้างดัง เมื่อถูกเผาแล้วซ่อมแซมใหม่ได้ แต่จิตใจเมื่อเสียหายไปแล้ว กู้คืนได้ยากแท้.

Back to Top