ชีวิตที่ดีกว่าเดิม
ช่องว่างระหว่างมนุษย์ต้องน้อยลง



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 เมษายน 2556

ในโรงแรมใหญ่กลางเมือง ติดกับเขตท่องเที่ยวกลางคืนของบางกอก แขกกลุ่มหนึ่งจำนวนนับสิบคน แต่งกายด้วยชุดชนเผ่า บางคนไม่สวมรองเท้า เดินคลาคล่ำอยู่บริเวณเคาน์เตอร์เช็กอิน ผู้บริหารโรงแรมตกใจถึงขนาดโทรศัพท์หาฝ่ายขายและฝ่ายการตลาดของโรงแรมเพื่อสอบถามว่าผู้คนเหล่านี้มาจากไหน เมื่อทราบว่าเป็นแขกของโรงแรมที่เดินทางมาร่วมงานเทศกาลความเป็นธรรมซึ่งจัดอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยบนถนนฝั่งตรงข้าม ก็สั่งการให้เชิญผู้คนเหล่านี้ไปนั่งรอกระบวนการเช็กอินในห้องอีกห้องหนึ่งเป็นการพิเศษ และอาจจะเรียกได้ว่าเก็บให้พ้นหูพ้นตานักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นการรักษาภาพลักษณ์ของโรงแรมระดับสี่ดาว ทั้งที่จะว่าไปแล้ว แขกของโรงแรมชุดนี้เพียงแต่แต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าของตน และจ่ายค่าที่พักให้กับโรงแรมเหมือนกับลูกค้าจีนและฝรั่งที่เดินเข้ามาในฐานะทัวริสต์

เมื่อรถจากัวร์สีดำจอดเทียบบริเวณหน้าประตูโรงแรมห้าดาวกลางเมือง พนักงานโรงแรมกุลีกุจอเข้ามาเปิดประตูด้านหลัง ผู้โดยสารที่สวมสูทดำเพียงแต่ก้าวเท้าออกจากรถแล้วเดินเข้าประตูโรงแรมไป คนขับรถยื่นธนบัตรสีแดงให้ใบหนึ่งแล้วพูดสั้น-สั้นว่าช่วยดูรถให้ด้วย เมื่อรับแล้วพนักงานโรงแรมก็ยกกรวยกั้นที่จอดรถด้านหน้าออกแล้วให้สัญญาณเข้าจอด เข้าใจว่าขากลับอาจจะได้รับอีกสักใบสองใบ

อดีตนักธุรกิจหญิงท่านหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อลาออกจากงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง วันหนึ่งไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร เธอรู้สึกอับอายมากที่ต้องเข้าคิวเหมือนลูกค้าธรรมดา-ธรรมดาคนอื่น เพราะปรกติเรื่องเหล่านี้จะมีลูกน้องจัดการให้ หรือเดินเข้าไปแล้วก็จะได้รับการต้อนรับในฐานะแขกพิเศษ
หากเราไปที่ห้างสรรพสินค้าจะพบว่า ที่จอดรถส่วนหนึ่งจะถูกกันไว้ให้ผู้ถือบัตรพิเศษยี่ห้อต่าง-ต่าง ซึ่งหากเปรียบเทียบจำนวนพื้นที่ที่ถูกกันไว้ดูเหมือนจะมากกว่าที่จอดรถสำหรับคนพิการหรือผู้หญิงเสียด้วยซ้ำ แล้วถ้าก้าวเท้าเข้าไปในห้าง พื้นที่บางส่วนก็จะถูกจัดสรรไว้ให้ผู้ถือบัตรสินค้าบางยี่ห้อให้เข้าไปนั่งพักหรือดื่มน้ำชากาแฟแบบไม่จ่ายเงิน สำหรับคนที่ต้องขับรถวนหาที่จอดรถและ/หรืออยากได้ที่นั่งพักเหนื่อยโดยไม่เสียสตางค์ ก็คงต้องคิดหรือรู้สึกที่อยากจะครอบครองบัตรเหล่านั้นบ้างไม่มากก็น้อย

ทุกแห่งทุกหนในเมืองไทยดูเหมือนจะมีการจัดแบ่งพื้นที่ที่แบ่งแยกความเป็นคนพิเศษ-ธรรมดาออกจากกันอย่างเด่นชัด และดูเป็นเรื่องปรกติธรรมดาเสียเหลือเกิน กระทั่งว่าในสำนักงานบางแห่ง หากเดินเข้าไปแล้ว สามารถดูออกได้ไม่ยากว่า ตรงไหนคือที่ของนาย ตรงไหนคือที่ของลูกน้อง และตำแหน่งใครใหญ่เล็กกว่าใคร ก็ด้วยขนาดของพื้นที่หรือขนาดของพาร์ติชันที่กั้นไว้ ส่วนกลุ่มคนที่มีฐานะตำแหน่งต่ำต้อยที่สุดในสำนักงาน อย่างเช่น ผู้หญิงที่เป็นพนักงานทำความสะอาด ผู้ชายที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย อาจจะไม่มีกระทั่งพื้นที่สำหรับนั่งกินข้าวหรือพักกลางวันด้วยซ้ำ และที่รุนแรงมากขึ้นเห็นจะเป็นว่า ห้องพักในคอนโดมิเนียมราคาแพงสำหรับเศรษฐี ลืมออกแบบห้องพักสำหรับคนรับใช้ และต้องใช้ห้องเก็บของที่ไม่มีหน้าต่างไม่มีทางระบายอากาศเป็นที่พักแทน

ความแตกต่างที่สะท้อนผ่านพื้นที่ทางกายภาพเหล่านี้ ยังสะท้อนไปถึงขนาดของเงินเดือนในกระเป๋าของแต่ละคนด้วย ดังผลการสำรวจของบริษัทเฮย์ กรุ๊ปในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ยืนยันว่า เงินเดือนผู้บริหารไทยอาจจะสูงกว่าเงินเดือนพนักงานระดับล่างถึง ๑๐ เท่า ในขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ มีความต่างอยู่เพียง ๓ เท่า เรียกได้ว่ามีช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนสูงเป็นอันดับ ๒ ของเอเชียเลยทีเดียว

แต่เมื่อมองไปที่สัดส่วนรายได้ของรัฐจากภาษี คนรวยที่มีรายได้มากกว่าครอบครองทรัพย์สินมากกว่ากลับเสียภาษีในสัดส่วนที่น้อยกว่าภาษีประเภทอื่นที่เก็บจากทุกคน (ร้อยละ ๔๒.๓ และร้อยละ ๕๑.๒ ตามลำดับ) แล้วก็เช่นเคย – อาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่กลับหัวกลับหางกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างนอร์เวย์ สวีเดน สหราชอาณาจักร

โดยทั่วไปแล้ว สังคมศักดินาไทยเชื่อว่า ยิ่งมีตำแหน่งสูงขึ้น ความรับผิดชอบก็ต้องยิ่งสูงขึ้น ผลตอบแทนก็ย่อมสูงขึ้นตาม ซึ่งก็ไม่ได้ต่างกับความเชื่อแบบทุนนิยมเสรีที่เชื่อเรื่องการแข่งขันว่า ใครเก่งหรือเจ๋งกว่า คนนั้นก็รับผลตอบแทนมากกว่า แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้ยืนยันความเชื่อเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย เพราะกลายเป็นว่า ยิ่งตำแหน่งสูง เงินเดือนมาก แต่จ่ายภาษีให้หลวงน้อยลง คืนกลับมาสร้างสาธารณประโยชน์น้อยลง กระทั่งว่าที่ได้ตำแหน่งสูง เงินเดือนมาก ก็ไม่ใช่เพราะฝีมือ หากเป็นเรื่องของนามสกุล พวกพ้อง เครือข่าย และบ่อยครั้งก็อาศัยสติปัญญาและความสามารถของคนที่ตำแหน่งต่ำกว่าและเงินเดือนน้อยกว่าแทบทั้งนั้น กล่าวโดยย่อ สิทธิพิเศษของผู้คนเหล่านี้ได้รับมาด้วยราคาที่จัดว่าถูกเกินไปและด้วยค่าใช้จ่ายของคนอื่นด้วยซ้ำ

การสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้ ก็ต้องเริ่มจากการมองให้เห็น “วิธีคิด” ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องชอบธรรมนั่นแหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวนโยบายทั้งหลายที่เน้นเรื่องการเติบโต ซึ่งในที่สุดก็จะมุ่งไปที่ประโยชน์ของกลุ่มคนรวย และสร้างภาพลวงตาของการพัฒนาประเทศตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา นั่นคือ เงินในกระเป๋าคนรวยเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าเฉลี่ยตัวเลขจีดีพีสูงขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนจะดีขึ้น เพราะช่องว่างความเหลื่อมล้ำยังดำรงอยู่มาก ดังที่ค่าเฉลี่ยตัวเลขจีนี (Gini coefficient - วิธีวัดการกระจายรายได้หรือการกระจายความร่ำรวย) ของเราอยู่ในอันดับต้นของโลกมาหลายสิบปีแล้ว

แนวนโยบายที่จะทำให้ชีวิตของผู้คนโดยรวมดีขึ้น เป็นสุขร่วมกันมากขึ้น จะต้องเน้นไปที่การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ต้องตั้งคำถามให้มากขึ้น สงสัยกันให้มากขึ้น ว่านโยบายแบบใดนำไปสู่ผลแบบใด และต้องปฏิเสธแนวทางที่สร้างระยะห่างหรือช่องว่างระหว่างมนุษย์กันให้มาก

ในสังคมประชาธิปไตยที่แท้นั้น ไม่ได้สนใจแต่เพียงเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ยังต้องคำนึงถึงภราดรภาพอีกด้วย ผู้คนต้องเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันมากขึ้น เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น แม้จะขัดแย้งในทางความคิด แต่ก็เป็นมิตรต่อกันมากขึ้นในความเป็นมนุษย์

Back to Top