การฟื้นคืนหลังการสูญเสีย: กรณีศึกษาในผู้ต้องขังหญิง (๒)
ตอน การตั้งหลักและทิศทางของผู้ต้องขัง



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 กรกฎาคม 2556

ต่อจากบทความเรื่อง “ความสูญเสียเนื่องจากการตกเป็นผู้ต้องขัง” ในฉบับที่แล้ว

เมื่อแรกเข้าไปเป็นผู้ต้องขัง ส่วนใหญ่จะรู้สึกหวาดกลัวและไร้ทิศทาง คำพูดและท่าทีรวมทั้งคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในวันรับตัวมีความสำคัญต่อผู้ต้องขังมาก เจ้าหน้าที่สามารถช่วยให้พวกเธอคลายความหวาดกลัวลงได้แม้จะยังไร้ทิศทางอยู่ก็ตาม

“..เราจินตนาการไปแรกๆ แล้วว่ามันน่ากลัว เจ้าหน้าที่คงจะถือตะบอง ใครทำผิดเค้าต้องลงโทษ แต่พอมาถึง เค้าพูดไม่ให้เรากลัว พูดตลก เค้าจะนำเราตลอดวันแรก... เค้าก็ถามไถ่คดีเป็นยังไง เราบอกคุณยังไม่ได้ตัดสินอะไรเลย แกก็บอกว่าไปอยู่กับแกนะ มาทำมุ้งลวดอะไร แค่คำพูดแกเราก็รู้สึกอุ่นใจแล้ว เพราะว่าเราไม่เคยรู้จักแก ไม่ต้องหยิบยื่นสิ่งของอะไรให้ แค่คำพูดก็เป็นกำลังใจนะคะ…”

หากพิจารณาว่าผู้ต้องขังได้เผชิญภาวะการสูญเสียอัตลักษณ์มา การได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตนในเรือนจำ รวมถึงความเป็นมิตร นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจะทำให้ขาดความรู้สึกไร้ทิศทางเท่านั้น แต่การสูญเสียอัตลักษณ์ยังกระทบต่อความรู้สึกดังกล่าวในระดับที่ลึกกว่า เนื่องจากเป็นการสูญเสียความหมายในชีวิต ช่วงแห่งการรับเข้านี้จึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเป็นเข็มทิศสำหรับการตั้งต้นเพื่อก้าวเดินต่อไป

ระเบียบวินัยอันเป็นความซ้ำซากที่แน่ชัดนั้นมีบทบาทสำคัญ บทบาทที่ว่านั้นมิได้อยู่ในรูปของการช่วยให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันได้เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการสร้างคุณลักษณะบางอย่างขึ้นภายในตัวผู้ต้องขังอีกด้วย

“เริ่มต้นนอนขึ้นมา เราต้องตื่นตีห้าสี่สิบ ทุกคนต้องเรียบร้อยแล้ว ต้องเป็นระเบียบวินัยของใครของมัน ต้องพับตามที่เรากำหนดไว้ พับในรูปแบบไหนชื่อของตัวเองจะออกมา ก็คือ เจ้าหน้าที่ขึ้นไปตรวจแล้วต้องเห็นชื่อเราชัด คือ ออกมาเป็นแนวเดียวกัน ที่นอนอะไรต้องวางเป็นแถวเป็นระเบียบ ถ้าเราไม่อยู่ในกฎระเบียบ ไม่อยู่ในวินัย ของเราจะแตกแถวด้วย มองก็ไม่สวย เริ่มลงจากเตียงนอนมา การอาบน้ำก็มานั่งเข้าแถว...ช่วยกันนับว่ามีกี่คน อาบรอบนี้ ก็คือได้ความอดทน คือถ้าเกิดไม่มีวินัย ไม่มีความอดทน ถ้ากระทบกระทั่งกันเพราะคนเป็นพัน หลังจากอาบน้ำแล้วทานข้าวก็...จะต้องมานั่งรอแถวเพื่อที่จะมารับถาด แล้วพอรับถาดเสร็จแล้ว ถึงตัวเองจะได้ก่อนก็ต้องรอคนทั้งหมดให้พร้อมกัน คือให้รับครบทุกคนแล้วนั่ง ก่อนจะรับประทานก็ต้องปฏิญาณ คือก็ต้องอดทนค่ะ...คือทั้งวันต้องใช้ความอดทนใช้ความพยายามที่จะข่มใจตัวเองว่าไม่ให้กระทบกระทั่งกับคนอื่น”

ข้อความที่ยกมาดูจะเน้นเพียงว่าการอยู่ภายใต้กฎระเบียบทำให้ต้องพัฒนาความอดทน แต่อันที่จริงแล้วยังพบว่ามีคุณลักษณะอื่นๆ พัฒนาขึ้นมาเพื่อปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบและข้อจำกัดอื่นๆ ได้แก่ การมุ่งเป้าหมาย

แต่เป้าหมายในที่นี้มีลักษณะแคบ คือ เป็นเพียงการมุ่งหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกัน

ข้อจำกัดต่างๆ นานาทำให้ผู้ต้องขังต้องตระหนักถึงตนเองทั้งในแง่ของการกระทำและการวางแผน กฎระเบียบรวมถึงข้อจำกัดด้านเวลาและสิ่งแวดล้อมช่วยสร้างความรู้สึกด้านทิศทางให้แก่ผู้ต้องขังอย่างไม่รู้ตัว ผู้ต้องขังต้องฝึกวางเป้าหมาย ไม่ว่าระยะสั้น (เช่น ทำตามกฎระเบียบ ไม่กระทบกระทั่งกับผู้อื่น) หรือระยะที่ยาวกว่า (เช่น การจัดสรรเวลา การอ่านหนังสือ)

ด้วยสภาพที่ต้องอยู่ในที่ต้องขัง ความตระหนักถึงตนเองและการมีเป้าหมายทิศทางเพื่อดำรงตนในข้อจำกัดต่างๆ จึงได้รับการกระตุ้นทุกวัน

การทำสิ่งที่ซ้ำซากจำเจและขาดอิสระ ที่มักเข้าใจกันว่าเป็นปัจจัยในการลดทอนความเป็นปัจเจกบุคคล การเห็นคุณค่าในตัวตนและเป้าหมายในชีวิต ที่จริงแล้วจึงกลับกลายเป็นเครื่องมือสำหรับการฟื้นฟูความตระหนักในตนเองและความรู้สึกถึงทิศทางในชีวิตของผู้ต้องขัง

“สิ่งที่หนูแบ่งเวลานะคะ เวลาที่นี่มีค่ามากกว่าอื่นใดเลย ทุกอย่างจำกัดเวลาเราหมดเลย ถ้าเราแบ่งไม่ถูก มันจะทำให้เราผิดที่ผิดทางไปหมด พอถ้าเกิดอีกอย่างคือ ถ้าเราไม่ไปกินข้าวตรงเวลาก็อด ถ้าเราทำงานไม่เรียบร้อยเราก็โดนว่า เราได้เงินจากการทำงาน ก็ต้องคิดแล้วว่าตรงนี้ต้องเอาไปทำอะไรบ้าง ๓ เดือนครั้ง ต้องไปจ่ายค่าเล่าเรียน ๖ เดือนครั้ง ต้องมาแยก ว่าปันผลได้เท่าไหร่ต้องไปจ่ายเท่าไหร่...”

เรื่องเล่าของผู้ต้องขังดังกล่าว แสดงถึงความสอดแทรกกันไปมาระหว่างความตระหนักในตนเอง เป้าหมาย และการรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา ความรับผิดชอบดังกล่าวน่าจะเป็นองค์ประกอบที่อธิบายกลไกการสร้างความตระหนักในตนเองและความรู้สึกถึงทิศทาง

นอกเหนือจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว การมอบหมายความรับผิดชอบก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมความตระหนักดังกล่าว

ลองอ่านเรื่องเล่าของผู้ต้องขังรายนี้

“ถามว่าเปลี่ยนไหม เปลี่ยนเยอะเลย เมื่อก่อนเราไม่มีเวลามานั่งคิดเล็กคิดน้อย คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ ถึงมีแต่มันไม่เยอะ เรามีเวลาทบทวนสิ่งที่ผ่านมา ถ้าเราไม่เห็นแก่เงินนิดเดียว เราไม่ต้องมาขนาดนี้ ทำให้เราใจเย็นขึ้น มีสติขึ้น เมื่อก่อนทำอะไรก็ทำ เราไม่ได้คิดเลย เดี๋ยวนี้ทำอะไรต้องคิดไว้ก่อน...เมื่อก่อนอยู่ข้างนอก ไม่มีเวลามานั่งคิดเล็กคิดน้อย แต่พอมาอยู่ข้างในนี้ มีเวลาคิดทบทวนเหมือนว่า เช่น สมมุติเราขายยา เราพลาด เราก็มานั่งทบทวนนะ เอ้อ...จริง...เราไม่น่าจะไปทำมันเลย สิ่งที่เราได้มากับสิ่งที่เราได้มาอยู่ในนี้มันไม่คุ้มกันเลย มันอยู่ตั้ง ๘ ปี แต่สิ่งที่เราทำพลาดนิดเดียว ก็มีเวลาคิดสิ่งที่ว่า เราเคยทำผิดพลาดมาจากข้างนอก แล้วเข้ามาอยู่ข้างใน คือ ได้ทบทวนหลายๆ สิ่ง”

การมีเวลาอยู่กับตนเองมากขึ้น เปิดโอกาสให้ได้คิดทบทวน อันเป็นการมองย้อนถึงตนเองในฐานะผู้กระทำที่ต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของตนเอง

โดยสรุป กฎระเบียบและความซ้ำซากจำเจที่ต้องปฏิบัติ ช่วยให้ผู้ต้องขังตั้งหลักและทิศทางได้สำเร็จ เหล่านี้คือขั้นตอนที่สองของการปรับตัว

ยังมีต่อเป็นตอนสุดท้าย คือ “กระบวนการฟื้นคืน” ...

Back to Top