โดย
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 กรกฎาคม 2556
ต่อจากตอน “การตั้งหลักและทิศทางของผู้ต้องขัง” ในฉบับที่แล้ว
เมื่อผู้ต้องขังหญิงเข้าสู่เรือนจำใหม่ๆ หลังจากเผชิญกับความสูญเสียตนเองและอัตลักษณ์แล้ว ผู้ต้องขังหญิงจำเป็นต้องตั้งหลักและรู้สึกถึงทิศทางในชีวิตให้สำเร็จ จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนที่สาม คือ “กระบวนการฟื้นคืน”
บทบาทของเจ้าหน้าที่มีส่วนอย่างมากในการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงจากการสูญเสียตนเองและอัตลักษณ์ กฎระเบียบที่เคร่งครัดและซ้ำๆ ช่วยให้ผู้ต้องขังหญิงสามารถตั้งหลักและรู้สึกถึงทิศทางในชีวิตต่อไปได้
สำหรับกระบวนการฟื้นคืนจะดำเนินไปบนพื้นฐานสำคัญ ได้แก่บริบทความสัมพันธ์ที่สะท้อนมิตรภาพ ความเห็นอกเห็นใจ และความเมตตากรุณา
ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจเป็นไปในระหว่างผู้ต้องขังด้วยกัน หรือระหว่างผู้ต้องขังกับเจ้าหน้าที่ก็ได้ ข้อความเหล่านี้น่าจะแสดงประเด็นนี้ได้ดี
“…ตอนนั้นเราเป็นลม เวียนหัว เค้ามาถาม...ไม่รู้จักเค้าเลยค่ะ เค้าถามว่าอยากได้อะไร เราบอกยา เค้าก็รีบไปหาให้นะ เราก็มานั่งนึกว่าเค้าเป็นใคร ทำไมมาเรียกหาเรา...เราก็ประทับใจนะว่า ทั้งๆ ที่เราไม่รู้จักเลย มันก็เหมือนความอบอุ่น ซึ่งข้างนอกไม่มีเลยนะ แบบนี้ไม่มีถาม ฉะนั้น ประทับใจและจะไม่มีวันลืมเลยนะ ยากเนาะที่เค้าจะเข้ามาถามเราอย่างนี้ ที่นี่ตื่นขึ้นมาก็ยิ้ม จุดนี้ถึงบอกว่าโชคดีที่มาติดคุก ได้เจออะไรหลายๆ อย่าง”
อย่างไรก็ตาม อัตลักษณ์ที่ฟื้นคืนผ่านการได้รับความยอมรับนี้ ไม่จำเป็นต้องไปถึงระดับความตระหนักในคุณค่าของตนเองก็ได้ ความยอมรับนั้นกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็นความเคารพ ดังกล่าวแล้วว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องของความเคารพ การขาดซึ่งความยอมรับจึงเป็นการไม่ได้รับความเคารพและเป็นการสูญเสียความรู้สึกถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์
ในเมื่อคุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นเงื่อนไขของคุณค่าของปัจเจกบุคคล การสูญเสียดังกล่าวจึงกระทบต่อความตระหนักในคุณค่าของตนเองหรือความยกย่องตนเองด้วย แต่การได้ความเคารพดังกล่าวกลับมา ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าได้ความยกย่องตนเองกลับมาพร้อมกันด้วย ข้อนี้เกี่ยวเนื่องกับความแตกต่างระหว่างคุณค่าของมนุษย์ (เรื่องของความเคารพ) และคุณค่าของปัจเจกบุคคล (เรื่องของความยกย่อง) ที่กล่าวไว้ในบทความตอนแรก “ความสูญเสียเนื่องจากการตกเป็นผู้ต้องขัง” ซึ่งตีพิมพ์ไปเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ แล้ว
ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แสดงว่า การทำหน้าที่หรือการทำงานยังมีบทบาทมากกว่าเรื่องการเสริมสร้างความตระหนักในตนเองและสำนึกรับผิดชอบ กล่าวคือยังมีบทบาทในการส่งเสริมความตระหนักในคุณค่าของตนเองอีกด้วย ตัวอย่างเช่น
“...ทำไมเค้าไม่เห็นคุณค่าของเราเหรอ ก็ย้ายไป แรกๆ ก็กดดันเพราะว่าทำอาหารไม่เป็น จากคนที่ว่าล้างจานก็ไม่เป็น แต่ไม่อยากให้คนอื่นหาว่าเราเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ พี่เจ้าหน้าที่นั่นแหละ คอยบอกสอนเรา แล้วเวลาแม่งานทำอะไรยังไง เราก็คอยจำว่า แกงเท่านี้ใส่อะไรๆ จำมาๆ และเริ่มพัฒนาตัวเอง พยายามจากที่ล้างจานไม่เป็น จับหม้อ จับอะไรหล่นแตกตลอด จนหลังๆ เริ่มฝึกทำอาหาร ทุกวันนี้ทำอาหารออกมาอร่อย ใครๆ ถามมีอีกไหมๆ เราก็ปลื้มกับตรงนั้นค่ะ วิธีของตัวเองคือจะใช้งาน งานที่ทำให้เรามีคุณค่าขึ้น...”
คุณค่าในตนเอง ความสุขจากความสำเร็จในการงาน ทำให้ผู้ต้องขังรายนี้ลืมความผิดพลาดในอดีตและตั้งต้นอัตลักษณ์ใหม่ที่นิยามด้วยความสำเร็จนี้ การทำงานกลายเป็นเป้าหมายที่กำหนดการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นไปอย่างกระตือรือร้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเกิดใหม่ของอัตลักษณ์ (ใหม่)
สังเกตเห็นได้ว่า ความรู้สึกถึงคุณค่านั้นคลุมไปทั้งอัตลักษณ์ เนื่องจากมีบทบาทเกินกว่าความใคร่รู้และมุ่งมั่นพัฒนาตนเกี่ยวกับการงาน แต่ยังแผ่ขยายไปถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย โดย ณ ที่นี้จะเห็นว่าอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้มีการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์กับผู้อื่นในรูปแบบใหม่
ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (United National Rules for the Treatment of Woman Prisoners and Non-custodial Measures for Woman Offenders) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “ข้อกำหนดกรุงเทพฯ” (Bangkok Rules) เป็นหลักปฏิบัติที่สามารนำมาส่งเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงให้สามารถเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในตนเอง โดยผ่านกระบวนการ ๓ ขั้นตอน คือการสูญเสีย การตั้งหลักและทิศทาง และการฟื้นคืน ดังที่บรรยายมา
แสดงความคิดเห็น