โดย
ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2556
ผมเคยสงสัยมานานแล้วว่าทำไมเพื่อนหลายคน โดยเฉพาะเพื่อนผู้หญิง มีพฤติกรรมแบบ ตอนเช้าเข้าวัด ตกบ่ายดูหมอ ทั้งสองอย่างดูไม่น่าจะไปด้วยกันได้ เพราะถ้าหากคนเราเชื่อในศาสนา ก็ไม่น่าจะเชื่อหมอดู เพราะไม่มีศาสนาไหนจะสอนให้เชื่อหมอดู มีแต่ให้เชื่อในคำสอนของศาสดาซึ่งหมายถึงพระเจ้า หรือหลักธรรมของศาสนานั้นๆ
ต่อเมื่อได้มาศึกษางานของ โคลด เลวี-สโทรสส์ (Claude Levi-Strauss) และนักคิดสายโครงสร้างนิยม ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าเราจัดให้ “การไปวัด” กับ “การดูหมอ” อยู่ในกลุ่มของกิจกรรมเดียวกันได้ ด้วยเหตุที่มันทำหน้าที่อย่างเดียวกัน คือการบรรเทาความวิตกกังวลของมนุษย์ที่มีต่ออนาคตอันไม่แน่นอน หรือพูดง่ายๆ มันเป็นวิธีการที่มนุษย์แสวงหาการ “หลักประกัน” ให้กับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นวันพรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า หรือแม้กระทั่งโลกหน้า (ถ้าหากเขาเชื่อว่ามี)
ถ้ามองแบบนี้ “การดูหมอ” ดูจะมีภาษีดีกว่าการเข้าวัดไม่น้อย เพราะคนส่วนใหญ่เข้าวัดไปเพื่อกราบไหว้พระพุทธรูป ถ่ายรูป แล้วก็เดินตัวปลิวออกมา น้อยคนที่จะเข้าวัดเพื่อไปฟังเทศน์ฟังธรรม การสนทนากับพระนักบวช เรื่องหัวข้อธรรมคำสั่งสอนก็ยิ่งน้อยลงไปอีก แต่กับ “หมอดู” ซึ่งมีสถานภาพเป็นคนธรรมดา ทำให้ไม่เกิดอาการเกร็งที่จะถามอะไรตรงๆ เช่น เมื่อไหร่จะได้แต่งงาน ผู้ชายที่มาจีบอยู่ใช่เนื้อคู่หรือไม่ งานที่ทำจะรุ่งเรืองหรือรุ่งริ่ง ฯลฯ มองในแง่นี้ “การดูหมอ” จึงตอบโจทย์ของการลดความวิตกกังวลในอนาคตมากกว่าการเข้าวัด
เราสามารถนำความเข้าใจเรื่องนี้มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ “แม่ชีแก้กรรม” ซึ่งอยู่ในกระแสความสนใจเมื่อสองสามปีที่ผ่านมาได้ ว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลย เพราะแม่ชีให้คำตอบในสิ่งที่โลกสมัยใหม่ให้ไม่ได้ แม่ชีทำให้อนาคตซึ่งมีความไม่แน่นอน ปัจจุบันซึ่งยุ่งเหยิง อดีตซึ่งแก้ไขอะไรไม่ได้ กลายเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และบริหารจัดการได้ ดังนั้น จึงตอบโจทย์ของมหาชนได้มากกว่า อย่างน้อยก็มากกว่าการให้นั่งหลับตา หลังขดหลังแข็ง และไม่รู้สึกว่าได้อะไรเลย
ในทำนองเดียวกัน เรามักจะได้ยินคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า พวกที่ชอบเข้าวัดไปทำบุญสร้างวัตถุมงคล สร้างโบสถ์ พอกลับมาอยู่ในที่ทำงานกลับเห็นแก่ตัว และชอบเอารัดเอาเปรียบคนอื่นมากกว่าพวกที่ไม่ชอบเข้าวัดเสียอีก แสดงว่าการเข้าวัดไม่ได้ช่วยทำให้คนกลายเป็นคนดีเลย การมองแบบนี้เป็นการมองที่ผิดพลาด เพราะไปหลงติดอยู่กับรายละเอียด จึงมองไม่เห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นกำลังลงทุนกับอนาคตระยะยาว ไม่ต่างอะไรกับการลงทุนกับอนาคตของนักเล่นหุ้นในตลาดหุ้น แต่กับเพื่อนที่เล่นหุ้น เราไม่คาดหวังให้เขาต้องมีพฤติกรรมต่างไปจากเดิม แต่กลับไปคาดหวังกับเพื่อนที่พึ่งกลับมาจากวัด
ความเข้าใจเรื่องนี้ยังบอกกับเราว่า การจัดตั้งแผนกซีเอสอาร์ (CSR) ขึ้นมาเพื่อทำจิตอาสาให้กับสังคม อาจจะดีกว่าการเกณฑ์พนักงานไปปฏิบัติธรรม เพราะซีเอสอาร์ยังทำหน้าที่ตอบโจทย์ของการ “ลงทุนในอนาคต” มากกว่า เนื่องจากการถูกบังคับไปปฏิบัติธรรม คนส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกว่าได้ลงทุนอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะถ้าการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นแบบที่ไม่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ให้เห็นว่าได้บรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ เห็นนิมิต เห็นดวงแก้ว ก็ยิ่งไม่ตอบโจทย์ของการทำให้อนาคตเป็นสิ่งที่บริหารจัดการได้ และไม่ทำให้ปมที่มีมาในอดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขหรือเข้าใจได้
เช่นเดียวกับผู้ที่วิจารณ์ว่า คนที่ชอบสะสมวัตถุมงคลเป็นพวกงมงาย เพราะศาสนาไม่น่าจะสอนให้ยึดติดกับวัตถุภายนอก ก็เป็นผู้ที่ไม่เข้าใจว่าวัตถุมงคลนั้นทำหน้าที่เชื่อมโยงโลกที่มองไม่เห็นกับโลกที่มองเห็นเอาไว้ด้วยกัน การห้อยแขวนวัตถุมงคลจึงช่วยให้ผู้ที่สวมใส่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับโลก โลกที่เต็มไปด้วยความแปลกแยก โลกสมัยปัจจุบันที่ถูกครอบด้วยกระบวนทัศน์ของวิทยาศาสตร์ ซึ่งให้ความชอบธรรมในการพูดถึงบางสิ่ง ในขณะเดียวกันก็ปิดกั้นและเก็บกดไม่ให้พูดถึงบางสิ่ง ผู้ที่แขวนพระอีกนัยหนึ่งก็เป็นการประกาศว่าตนเองเป็นขบถต่อวาทกรรมแบบวิทยาศาสตร์ที่ครอบงำพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบัน เมื่อความเป็นขบถอยู่ตรงข้ามกับความงมงาย จึงเกิดคำถามว่าแล้วใครกันแน่ที่ “งมงาย” ?
ส่วนคนที่ออกมาบอกว่า เพราะเหตุใดศาสนาซึ่งสอนให้คนเป็นดี แต่คนที่นับถือศาสนากลับมีพฤติกรรมรุนแรง เช่น ถ้อยคำในอดีตที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” หรือทำไมจึงมีสงครามศาสนา ก็หลงติดในรายละเอียดจนมองไม่เห็นว่า สิ่งที่เขาทำนั้นไม่ใช่ความรุนแรง (ในทัศนะของเขา) แต่เป็นการ “สร้างหลักประกันให้กับอนาคต” ตามความเชื่อของเขาต่างหาก (ส่วนจะถูกต้องตามหลักคำสั่งสอนหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ เราย่อมเข้าไปแก้ปัญหาโดยการปรับความเข้าใจของศาสนิกจากความคลาดเคลื่อนสุดโต่งให้เกิดปัญญามากขึ้น เพราะถ้าหากเขาเข้าใจว่าสิ่งที่ตนเองทำและเข้าใจว่ากำลังสร้างหลักประกันให้กับอนาคต แท้จริงแล้วเป็นการเดินตรงกันข้ามกับหลักธรรมคำสั่งสอนของศาสดา เขาจึงจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยความยินยอมพร้อมใจ ด้วยปฏิบัติการภายในใจตัวของเขาเอง ไม่ใช่การบังคับควบคุมจากภายนอก
กล่าวโดยสรุป ถ้ามองตามหลักโครงสร้างนิยม เราจะพบว่าคนส่วนใหญ่ถูกลวงด้วยสภาพที่ปรากฏภายนอก หรือถูกทำให้ไขว้เขวเพราะรายละเอียด จนมองไม่เห็น “กลไกที่ซ่อนเร้น” ซึ่งทำหน้าที่ของมันอยู่ตามปกติ การทำความเข้าใจเรื่องหน้าที่และความสัมพันธ์ของส่วนย่อยจะทำให้เราเข้าใจว่ากลไกบางอย่างอาจจะถูก “แทนที่” ด้วยกลไกในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกันได้ ส่วนการแทนที่สิ่งหนึ่งด้วยอะไรถึงจะดีนั้น เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกันต่อไป
แสดงความคิดเห็น