โดย
ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2556
ถ้าจู่ๆ แขนของเราเกิดไปสัมผัสถูกของร้อน เราจะชักแขนกลับ ปรากฏการณ์นี้เป็นปกติจนเราไม่ได้นึกถึง แต่การทำงานของมันอาศัยระบบที่ซับซ้อนมาก ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นเป็นจำนวน สมมุติว่าเราใช้เซลล์นิวรอน (เซลล์ประสาท) สิบตัวในการรับรู้ความร้อนที่มาถูกตัวเรา เราจะต้องอาศัยเซลล์จำนวนถึง “หนึ่งแสนตัว” ของระบบประสาทกลางซึ่งรวมถึงสมอง และประมวลกลับมาเป็นคำสั่งซึ่งอาศัยเซลล์เพียงหนึ่งตัวเท่านั้นในการสั่งให้กล้ามเนื้อเคลื่อนที่ยืดและหดจนทำให้แขนขยับออกจากความร้อน
คำถามคือ? ทำไมจึงต้องใช้เซลล์จำนวนเป็นแสนตัวเพื่อส่งต่อและประมวลผลสัญญาณที่มาจากเซลล์แค่สิบตัว? สำหรับผมมันดูเกินเลยความจำเป็นไปมาก เพราะถ้าดูจากสัตว์ชั้นต่ำเช่นไฮดรา ซึ่งมีเซลล์นิวรอนเพียงร้อยละ ๓ ของร่างกาย ก็เพียงพอแล้วที่จะเคลื่อนไหวดำรงชีวิตอยู่ได้
สำหรับผมคำตอบก็คือ “มันไม่จำเป็นเลย” ที่เราต้องการเซลล์จำนวนมากมายขนาดนั้น เพราะมันเกินความจำเป็นในการทำหน้าที่พื้นฐานของชีวิต เช่น กิน ขับถ่าย เคลื่อนไหว ดังนั้นการที่เรามีเซลล์ประสาทส่วนกลาง (ซึ่งรวมถึงสมอง) จำนวนมากมายเช่นนี้ ก็อาจจะพูดได้ว่ามันถูกใช้ไปเพื่อการทำงานด้านอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สัตว์ทั่วไปทำไม่ได้
ซึ่งก็คือความสามารถทางด้าน “พุทธิปัญญา” (Cognitive) ในระดับที่สูงที่สุดของห่วงโซ่อาหาร
ความสามารถดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้เพราะสิ่งมีชีวิตมีกระบวนการที่นักชีววิทยา ฟราสซิสโก วาเรลา (Francisco Varela) และฮุมเบอร์โต มาตูรานา (Humberto Maturana) เรียกว่า Structural Coupling หรือ ผมจะเรียกว่าความสามารถในการ “เต้นรำกับพระเจ้า” คล้ายกับ ซิซิฟัส ที่ถูกซีอุสสาปให้ต้องแบกก้อนหินขึ้นไปบนเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเมื่อเขาแบกขึ้นไปถึงที่นั่นมันก็จะตกลงมาที่ตีนเขาตามเดิม การเต้นรำกับพระเจ้าก็คือการที่สิ่งมีชีวิตไม่ย่อท้อที่จะปรับเปลี่ยนตนเองด้วยเจตจำนงอิสระถึงแม้จะต้องคำสาป ซึ่งก็คือขีดจำกัดที่ธรรมชาติให้มา จนทำให้ตัวเองสามารถอยู่รอดและข้ามผ่านอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่าที่ถาโถมเข้ามา โดยการสร้างสรรค์ตัวเองใหม่อยู่เสมอ (autopoiesis)
นักสังคมวิทยา นิกลาส ลูห์มานน์ (Niklas Luhmann) ก็ค้นพบว่าสังคมเองก็ปฏิสัมพันธ์ในทำนองเดียวกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเช่นกัน คือสามารถสร้างตัวเองใหม่ได้ แต่การสร้างตัวเองใหม่ของสังคมไม่ใช่ “ระบบชีวิต” เพราะมนุษย์สมัยปัจจุบันปฏิสัมพันธ์กันด้วยระบบคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ หรือที่ทางพุทธเรียกว่า “สมมุติ” นั่นเอง ความจริง “สมมุติ” จึงไม่ใช่ความจริงในแง่ของ “ปรมัตถ์” หรือความจริงที่แบ่งแยกไม่ได้ ยกตัวอย่างว่าเราอาจเปรียบเทียบว่า “รัฐธรรมนูญ” นั้นเป็นความจริงสมมุติ รัฐธรรมนูญ “ไม่มีหัวใจ” แต่มนุษย์ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายสูงสุดนั้น “มีหัวใจ”
ภายใต้ระบบคุณค่าที่มนุษย์สร้างขึ้นเช่น กฎหมายก็ดี หรือวัฒนธรรมก็ดี การสื่อสารระหว่างมนุษย์ไม่มีทางที่จะราบรื่นอย่างในระดับเซลล์ ปัญหาสำคัญก็คือ “พุทธิปัญญา” นี่เองที่ทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว มีการทดลองในกระต่าย โดยนักวิทยาศาสตร์ตัดการเชื่อมต่อของระบบประสาทที่ไปสู่ขาหลังของกระต่าย โดยไม่ไปยุ่งกับระบบเส้นเลือดหรืออื่นๆ เลย แต่พอปล่อยทิ้งไว้พบว่าขาของกระต่ายลีบเล็กลง ทั้งๆ ที่มันได้รับสารอาหารต่างๆ เท่าเดิม และเมื่อต่อเชื่อมเส้นประสาทกลับมาก็พบว่าขาของกระต่ายสามารถกลับคืนมาแข็งแรงดังเดิม
การทดลองแสดงให้เห็นว่าร่างกายเราไม่สามารถขาดการสื่อสารระหว่างแต่ละส่วนได้ เพราะจะทำให้เกิดการแคระแกร็นของอวัยวะต่างๆ ทั้งๆ ที่ปัจจัยทางด้านอื่นๆ ยังอยู่ครบ ในระดับสังคมก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากเราตัดความสามารถในการสื่อสารของมนุษย์ออกไป การสร้างตัวเองของสังคมก็จะไม่สมบูรณ์ สังคมที่มีการสร้างเงื่อนไขบางอย่างทำให้คนไม่สามารถหันหน้ามาพูดคุยกันได้ นั่นย่อมทำให้สังคมนั้นเกิดความพิกลพิการ ยิ่งเราเข้าใจการสร้างตัวเองของสิ่งมีชีวิตซึ่งดำรงอยู่บนโลกมาเป็นพันๆ ปีอย่างมนุษย์เรา เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์เราคงสิ้นสุดลงตั้งแต่เป็นวุ้นอยู่ที่ไหนสักแห่งในมหาสมุทรแห่งชีวิต ถ้าหากเซลล์กลุ่มหนึ่งปฏิเสธที่จะคุยกับเซลล์อีกกลุ่มหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่าพวกมันเป็นเซลล์คนละประเภทกัน!
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสช่วยออกแบบกระบวนการพูดคุยที่เรียกว่า “มวลมหาประชาคุย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และรายการ “เสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย” กระบวนการพูดคุยนี้ ได้ปรับแปลงมาจากกระบวนการที่เรียกว่า Open Space ซึ่งเป็นการพูดคุยที่ไม่มีการตั้งประเด็นหรือหัวข้อการสนทนาเอาไว้ล่วงหน้า ให้ผู้คนได้มีโอกาสเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็นของตนในบรรยากาศที่บ้านเมืองของเรามีความตึงเครียดทางการเมือง การสนทนาใช้กฎที่เลียนแบบกฎธรรมชาติเพียงข้อเดียว ที่เรียกว่า “กฎสองขา” ซึ่งกำหนดว่าให้เราเดินไปหากลุ่มที่เราสนใจจะคุยด้วยตัวเอง และ “อย่านั่งอยู่เพราะเกรงใจ อย่าไปเพราะเห็นเป็นเพื่อน” มันเป็นการคัดสรรทางธรรมชาติ ให้เรื่องที่ทุกคนสนใจจะคุยมีผู้นั่งฟังอยู่ และถ้าเรื่องนั้นไม่น่าสนใจ หรือไม่มีผู้ใดจะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ผู้คนก็จะใช้กฎสองขาเดินออกมาจากกลุ่มนั้น กลุ่มนั้นก็จะถูกยุบหายไปโดยปริยาย ด้วยวิธีนี้ เราจะไม่ถูก “บังคับ” ด้วยกฎเกณฑ์น่าเบื่อแบบที่ต้องทนนั่งฟังเพราะ “เป็นพิธี” แต่ด้วยวิธีนี้ทุกคนมีสิทธิจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง
นี่คือกระบวนทัศน์ใหม่ของการสร้างสังคมที่จะสามารถรองรับความสลับซับซ้อนของปัญหา ที่จะมาในรูปแบบใดก็ได้ เพราะเราเอา “กระบวนการ” เป็นที่ตั้ง ไม่เอา “นโยบาย” ซึ่งคือระบบคุณค่าที่ถูกผลิตขึ้นโดยคนไม่กี่คนมา “บังคับ” ให้สังคมต้องทำตาม ความรู้เรื่องระบบชีวิตบอกเราว่าอะไรก็ตามที่ไม่สอดคล้อง และไม่ปรับตัวอย่างทันการณ์ก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี และความสามารถในการปรับตัวและสร้างสรรค์ตัวเองใหม่จะมาจากไหนกันเล่า ถ้าไม่ใช่มาจากการที่เซลล์นับแสนล้านตัวในร่างกายของเราทำหน้าที่อย่างเดียวคือ “สื่อสาร” กัน
“กระบวนการพูดคุย” คือการสร้างวงจรป้อนกลับ (feedback loop) ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนสังคมเป็นไปได้ ความเข้มแข็งของสังคมจึงขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่มนุษย์เรา “เชื่อมต่อ” ปฏิสัมพันธ์และรับฟังกันและกัน เปิด “ช่องทางการสื่อสาร” เอาไว้ไปมาหาสู่กันทั้งในทางกายภาพ และทางโลกเสมือนจริง มองในแง่นี้ ท่านผู้อ่านก็คงจะเห็นแล้วว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะปฏิรูปประเทศของเราโดยไม่มีการลุกฮือขึ้นมาสนทนากันในทุกระดับสังคมในระดับ “มวลมหาประชาคุย” และความพยายามของคนกลุ่มใดก็ตามที่บอกให้พวกเรากระทำตรงกันข้ามก็คือ “ฟังและทำตาม” คำสั่งของพวกเขา นั้นคือความพยายามที่จะทำให้การสื่อสารระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ พลเมืองต่อพลเมือง ต้องขาดหายไป เช่นเดียวกับ “ขาของกระต่าย” ถ้าหากถูกตัดการสื่อสารแล้วก็จะมีสภาพแคระแกร็นและเสียหายในที่สุด
การยืนแบบ “กระต่ายขาเดียว” จะมีประโยชน์อะไร ถ้าขาข้างนั้นถูกทำให้ลีบแคระแกร็นไปเสียแล้ว ก็มีแต่จะพังพาบลงมาทั้งหมดเท่านั้น
แสดงความคิดเห็น