โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2556
ผมเป็นเด็กบ้านนอก เกิดที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ผมอยู่ในวงการศึกษามาตลอดชีวิต ทั้งในฐานะที่เป็นนักเรียน นักศึกษา นิสิต และในฐานะครูฝึกสอน อาจารย์มหาวิทยาลัย วิทยากร และวิทยากรกระบวนการ ผมเรียนครูมาตลอดหลังจบการศึกษาระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ (สมัยนั้นเรียกสั้นๆ ว่าโรงเรียนชาย) เป็นนักเรียน มศ.๑ รุ่นแรก เข้าเรียนระดับประกาศนียบัตรการศึกษาตอนต้น (ป.กศ. ต้น) ที่โรงเรียนฝึกหัดครูอุตรดิตถ์ ๒ ปี ได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อระดับอนุปริญญาที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ๒ ปี (ป.กศ.สูง คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ) แล้วได้รับการคัดเลือกให้ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา (พิษณุโลก) เป็นรุ่นบุกเบิกอีกสองปี (ก.ศบ. คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ) ทั้งสามแห่งหล่อหลอมความเป็นครูให้กับผม ผมเรียนรู้และประทับใจในตัวอาจารย์ที่เป็นต้นแบบให้ผมหลายคน ผมโชคดีที่ได้เป็นศิษย์เก่าหลายที่ จึงได้มีโอกาสพบครูอาจารย์ในดวงใจหลายคน ทั้งสามแห่ง ผมมีโอกาสได้ฝึกสอนตามหลักสูตรที่กำหนดไว้
ตอนออกฝึกสอนระดับประถมศึกษาที่อุตรดิตถ์ ผมตื่นเต้น
ไม่กล้าที่จะสอน เพราะ
กลัวจะสอนไม่ได้
กลัวจะสอนไม่ดี จึงต้องเตรียมการสอนหนักมาก ตอนนั้นอายุประมาณ ๑๗ ปี ยังเป็นเด็กอยู่มาก ผมสอนตามหลักสูตร ตามรายวิชาที่ได้รับมอบหมายจากครูพี่เลี้ยงให้สอน
ตอนออกฝึกสอนระดับมัธยมศึกษาที่เชียงใหม่ ผมยังคงรู้สึกกลัวที่จะสอน และไม่ค่อยกล้าที่จะสอนเท่าไหร่ ตอนนั้นอายุประมาณ ๑๙ ปี คราวนี้ผมเลือกฝึกสอนวิชาภาษาอังกฤษ รู้สึกตื่นเต้น กลัวและเกร็งทุกครั้งที่มีอาจารย์นิเทศมานั่งดูอยู่หลังห้อง พยายามสอนตามรูปแบบ ขั้นตอน และเทคนิควิธีการสอนตามที่อาจารย์สอนเรามา...Listen carefully. Repeat after me. One more time, please. Good. Very good. Excellent.…
ตอนออกฝึกสอนที่วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ผมเริ่มรู้สึกท้าทาย ไม่ค่อยกลัวเพราะมีประสบการณ์มาแล้วสองครั้ง แต่ก็ยังไม่ค่อยกล้าสักเท่าไหร่ เพราะเกรงว่าจะสอนได้ไม่ดี ไม่ถูกต้องตามรูปแบบมาตรฐานการสอนตามเทคนิควิธีและทฤษฎีการสอนที่เรียนมา
ผมได้เกรด “A” จากการฝึกสอนทุกครั้ง ทำให้รู้สึกมั่นใจเพิ่มมากขึ้นว่า ผมเลือกเดินมาถูกทางแล้ว (ที่จริงไม่มีทางเลือก เพราะไม่รู้จะเรียนอะไรดี เพราะที่จังหวัดอุตรดิตถ์ตอนนั้นก็ไม่มีอะไรให้เลือกเรียนมากนัก)
เมื่อมีโอกาสได้เข้าเรียนปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาการศึกษา (รุ่นแรก) ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากที่จบปริญญาโท (จิตวิทยาการศึกษา) ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปัจจุบัน) ได้เป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ และสอนเต็มที่หนึ่งปี สอบชิงทุนของจุฬาฯ ไปเรียนปริญญาเอกด้านปรัชญาการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า (University of Minnesota) สหรัฐอเมริกา จบกลับมาสอนระดับปริญญาโท/ปริญญาเอกที่จุฬาฯ และรับเชิญไปสอนพิเศษอีกหลายที่ เป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานของรัฐ เอกชน และองค์การระหว่างประเทศ ผมพัฒนาความ
กล้าที่จะสอน เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่กลัวที่จะสอนอีกต่อไป
ยิ่งสอนยิ่งกล้าที่จะสอน ยิ่งสอนยิ่งสนุก เพราะเราในฐานะผู้สอน (ผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยากร เจ้าพ่อการวิจัยอนาคต เจ้าอาศรมจิตตปัญญาศึกษา...) สามารถหลอกล่อให้ผู้เรียน (ผู้เข้ารับการอบรม ผู้ฟัง) ติดกับดักของเรา สามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาถูก-ผิดด้วยตรรกะ ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ ด้วยทฤษฎีทางวิชาการต่างๆ...
คำชื่นชม คำเยินยอที่ได้รับอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำให้ผมไม่กลัวการสอนอีกต่อไป มีแต่ความกล้าที่สอน
จากความกลัวสู่ความไม่กลัว จากความไม่กล้าสู่ความกล้า ผม
กล้าที่จะสอน แม้กระทั่งบางเรื่องที่ผมไม่ค่อยถนัด เพราะเกรงใจผู้เชิญที่เขาเชื่อมั่นในตัวเราว่าเราสอนได้
ความไม่กลัวที่จะ
สอน (ในความหมายเดิมที่รู้และเข้าใจกันโดยทั่วไป) และความกล้าที่จะสอนของผมเริ่มสั่นคลอนและถึงจุดพลิกผัน เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกกลัวที่จะสอน ไม่กล้าที่จะสอน และพัฒนามาเป็น
กล้าที่จะไม่สอน เมื่อผมมีโอกาสได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะในมิติของจิตวิญญาณ (สุขภาวะทางจิตวิญญาณ) และต่อมาได้รับเชิญจากคุณหมอประเวศ วะสี ให้เป็นสมาชิกและเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ แล้วนำไปสู่การเป็นผู้ร่วมบุกเบิก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษาในประเทศไทย ทั้งในมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนในทุกประเภทและระดับการศึกษา หน่วยงานและองค์กรต่างๆ
บนเส้นทางสายใหม่ของการศึกษา สายที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “จิตตปัญญาศึกษา” หรือ คำในภาษาอังกฤษคือ “Contemplative Education” ผมได้เรียนรู้ว่า การสอนตามแนวคิดและแนวปฏิบัติแบบดั้งเดิมที่ทำกันอยู่ ให้ความสำคัญกับเทคนิค วิธีการสอนของผู้สอน (ครู อาจารย์ วิทยากร) มากกว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงของผู้เรียน (นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ฟัง ผู้เข้ารับการอบรม) ผู้สอนจึงมีอิทธิพลหรืออำนาจเหนือผู้เรียน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนจึงโน้มเอียงเป็นแบบบนลงล่าง กดดันหรือกดทับการเรียนรู้ของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใด เช่นการท่องจำ การคิดวิเคราะห์ การอภิปราย และการโต้แย้งทางวิชาการ รวมไปถึงการวิจัย
บนเส้นทางสายจิตตปัญญาศึกษา ผมเรียนรู้ว่า
การเรียนรู้ที่แท้จริง เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้
สอนไม่ได้ เลียนแบบไม่ได้ ไม่มีมาตรฐานให้เลียนแบบหรือเทียบเคียง ไม่มี best practice ให้ลอกเลียน ไม่ต้องเทียบเคียง (benchmark) กับใคร ที่ไหน และอย่างไร แต่ละคน (ผู้เรียนรู้) มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ผู้เรียนรู้จึงต้องเรียนรู้ ค้นพบ สร้างและพัฒนารูปแบบ และวิธีการเรียนรู้ที่เป็นของตนเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นได้ เรียนรู้กับ/และจากผู้อื่นได้ แต่เลียนแบบกันไม่ได้ ครู อาจารย์มีบทบาทเป็นกระบวนกรที่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง ไม่ใช่การสอนแบบเดิม และในการทำหน้าที่กระบวนกรนั้น ครู อาจารย์ก็อยู่ในฐานะของผู้เรียนรู้ร่วมไปกับผู้เรียนรู้ด้วย เราจึงต้องกล้าที่จะไม่สอน แต่พร้อมที่จะเป็นผู้เรียมรู้ร่วมไปกับผู้เรียน
Courage to teach nothing but learning together.
แสดงความคิดเห็น