โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559
ครู ตามความเข้าใจของคนทั่วๆ ไป คือผู้ที่มีความรู้ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนหรือลูกศิษย์ในห้องเรียน ในสถานศึกษา
ครูเก่ง คือครูที่มีความรู้ในวิชาที่สอนอย่างลุ่มลึก แตกฉาน เป็นผู้มีเทคนิคการสอนการถ่ายทอดที่ช่วยให้ผู้เรียน เรียนด้วยความสนใจ ใคร่ติดตาม และเข้าใจในสิ่งที่เรียน
ครูดี คือครูที่มีความรักความเมตตาต่อลูกศิษย์ ช่วยเหลือและพัฒนาลูกศิษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเหมาะสมกับสถานภาพและศักยภาพของตนเอง
ครูในอุดมคติ คือครูที่มีคุณสมบัติของครูดีและครูเก่ง
ครูของครู คือผู้ที่สอนลูกศิษย์ให้ไปเป็นครู
ครูของครูที่ดีและเก่ง คือครูที่สอนลูกศิษย์ให้ไปเป็นครูที่ดีและเก่ง
อครูของครูในอุดมคติ คือครูที่มีความสุขในการสอนให้ลูกศิษย์เป็นคนที่มีความสุข ความดี และความเก่ง
ในหลวงของปวงชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นยิ่งกว่าครูของครูในอุดมคติในความหมายที่ให้ไว้
พระองค์ทรงเป็น “บรมครูแห่งแผ่นดิน”
ครู/อาจารย์ทั่วๆ ไปมีความเชี่ยวชาญและสอนโดยตรงเป็นรายวิชา อย่างแยกส่วน พระองค์ทรงมีความเชี่ยวชาญ มีการสอนทั้งโดยตรง โดยอ้อม มากมายหลากหลายวิชา และเป็นแบบสหสาขาวิชาอย่างเป็นองค์รวม
พื้นที่การเรียนการสอนของครู/อาจารย์ทั่วๆ ไปอยู่ในห้องเรียน และ/หรือในสถานศึกษา แต่พื้นที่ของพระองค์อยู่บนภูเขา ในป่า บนดิน ในน้ำ บนอากาศ ในมหาสมุทร แปลงทดลอง พื้นที่จริง ในชุมชน ในพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่ห่างไกล และในเมือง
ครู/อาจารย์ทั่วๆ ไปมีลูกศิษย์เฉพาะที่อยู่ในห้องเรียนในสถานศึกษา แต่พระองค์มีอยู่ทั่วประเทศ ไม่จำกัดเชื้อชาติ สัญชาติ ผิวพรรณ เพศ อายุ และศาสนาที่นับถือ
วิธีสอนของครู/อาจารย์ทั่วๆ ไปคือการบรรยาย และ/หรือให้ความรู้ทางวิชาการแก่ลูกศิษย์อย่างเป็นทางการอย่างเป็นระบบแก่ลูกศิษย์ทุกคนในแบบเดียวกัน แต่วิธีการของพระองค์มีความยืดหยุ่น หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สถานที่ วัตถุประสงค์ บุคคล และกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกันออกไป
การวัด/การประเมินผลของครู/อาจารย์ทั่วๆ ไปมีรูปแบบตายตัว เน้นความรู้ความเข้าใจทางวิชาการ หรือที่เรียกกันว่าผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ ซึ่งถูกลดทอนเหลือเพียงคะแนนที่ได้จากการทดสอบรูปแบบต่างๆ แล้วประเมินจากผลผลิต (Output) แต่พระองค์ทรงเน้นมากกว่าผลผลิต คือทรงเน้นทั้งผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) เป็นระบบ และอย่างเป็นองค์รวม (Holism) เป็นการวัดและการประเมินเพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริง เพราะมีเป้าหมายเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาที่มีความยั่งยืน (Sustainable Development)
เป้าหมายทางการเรียนการสอนของครู/อาจารย์ทั่วๆ ไปอยู่ที่การให้ความรู้ทั้งในทางวิชาการและการปฏิบัติ แต่ของพระองค์ทรงก้าวข้ามไปสู่การพัฒนาคน การพัฒนาชุมชน สังคม เพื่อความอยู่ดี กินดี มีสุข อย่างพอเพียง ของประชาชนโดยรวม พระองค์ไม่ได้ทรงเน้นแค่ความรู้ที่มีคนสะสมไว้ให้เท่านั้น แต่ทรงเน้นการสร้างและพัฒนาความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่บอก พูด หรือบรรยายให้ฟังเท่านั้น แต่พระองค์ทรง “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” เป็นแบบอย่าง ทรงเป็นนักวิจัยมืออาชีพ และโดยเฉพาะนักวิจัยภาคสนามที่แท้จริง
จึงไม่แปลกใจที่คนทั่วโลก และผู้นำประเทศและกลุ่มประเทศต่างๆ ในที่ประชุมของสหประชาชาติต่างแซ่ซ้องสรรเสริญพระองค์ว่าทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ของโลก
แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระองค์ มิใช่มีเพื่อประชาชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังนำไปใช้ได้กับประชาคมโลก เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาของการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะมีความพอประมาณไม่สุดโต่ง ไม่เบียดเบียน มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันบนฐานของความรู้ และความมีคุณธรรม
พระองค์จึงทรงเป็น “พัฒนราชา” (Development King) บรมครูของแผ่นดิน เอกอัครบดินทร์ที่ยิ่งใหญ่ ที่ทั่วโลกยกย่องให้เป็นราชันของราชา (King of Kings)
ความจริง ความดี และความงามของพระองค์ที่ปรากฏเด่นชัดตลอด ๗๐ ปีของการครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม คือแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนประพันธ์บทกวีที่ชื่อว่า “พัฒนราชา” เพื่อถวายแด่พระองค์ด้วยความจงรักและภักดี
พัฒนราชา (Development King)
"พัฒนราชา" สมญาท่าน กว่าสี่พันโครงการสร้างสานให้
พัฒนาป่าน้ำดินทั่วถิ่นไทย เป็นแบบให้โลกเรียนรู้อยู่ยั่งยืน
เศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงชีพ ได้ทฤษฎีใหม่เอื้อคนไทยได้แช่มชื่น
เป็นหัวใจการพัฒนาพายั่งยืน ท้าโลกฝืนทุนนิยมให้ล้มไป
ปรัชญาพ่อพ่อพิสูจน์ทั้งชีวิต เศรษฐกิจพอเพียงพ่อมอบให้
มิใช่แค่ให้คนไทยให้โลกไว้ ทฤษฎีใหม่ฝากให้ไปพัฒนา
พ่อเริ่มไว้พิสูจน์ให้ใช้ได้แน่ ขอเพียงแค่คิดใหม่ให้แน่นหนา
เลิกหลงใหลทุนนิยมจมปัญญา แล้วหันมาพัฒนาอย่างราชัน
พัฒนราชาปัญญาเลิศ ธ ทรงมอบสิ่งประเสริฐสุดสร้างสรรค์
จรรโลงโลกจรรโลงไทยคุณอนันต์ นิจนิรันดร์ราชันแห่งราชา
แสดงความคิดเห็น