เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความเข้าใจ ด้วยการสื่อสารอย่างสันติ



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559

ไอค์ แลสเซเทอร์ (Ike Lasater) ทนายความผู้มากประสบการณ์ในการเจรจาไกล่เกลี่ยเล่าว่า ครั้งหนึ่ง เขาเดินอยู่ในตัวเมืองซานฟรานซิสโกกับเพื่อนผู้หญิงสองคน ทันใดนั้น ชายคนหนึ่งก็เดินเข้ามาประชิด ท่าทางดูก้าวร้าว มือซ้ายกำหมัดอยู่ข้างตัว ผมเผ้าดูสกปรกเหมือนนอนกลางถนนมา คล้ายจะเมายาหรือเมาเหล้า ไอค์เปลี่ยนเข้าสู่โหมดพร้อมสู้ทันที เพราะคิดว่าชายคนนี้คงจะเข้ามาต่อยเขาแน่ ไอค์คิดว่าเขาเรียนไอกิโดมานักต่อนัก คราวนี้ถึงเวลาล้มเจ้าหมอนี่แล้ว

ไอค์เกือบจะลงมืออยู่แล้ว แต่เขากลับเปลี่ยนใจในชั่วพริบตา เขาตั้งสติและพูดกับชายคนนั้นว่า “เวลาที่คุณเข้ามาใกล้ขนาดนี้ ผมรู้สึกกลัว คุณช่วยถอยออกไปสัก ๒-๓ ฟุตได้ไหม” ชายคนนั้นเบิกตากว้างเล็กน้อย ยืดตัวขึ้นแล้วถอยหลังออกไป

ไอค์ถามต่อว่าเขาต้องการอะไร “ฉันต้องการเงิน” ชายคนนั้นพูดแล้วก็แบมือซ้ายที่กำไว้ออก ในมือมีเหรียญไม่กี่เหรียญ

ไอค์รู้สึกทั้งโล่งใจ ทั้งรำคาญใจ ทั้งงง เขายังไม่อยากให้เงินชายคนนั้น ใจเขายังไม่เปิดพอ ไอค์ตระหนักรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจ และเริ่มรู้สึกสงสัย เขาถามชายคนนั้นว่า “คุณต้องการเงินเพราะคุณอยากได้ความช่วยเหลือใช่ไหม”

ชายคนนั้นหน้าตาอ่อนโยนลง แล้วกล่าวคำเหล่านี้ “ใช่แล้ว ฉันต้องการความช่วยเหลือ ฉันต้องการความใส่ใจ ฉันต้องการความอ่อนโยน ฉันต้องการความรัก”


ไอค์ถอนหายใจและรู้สึกใจเปิดรับชายคนนี้ เขาหยิบแบงก์แล้วยื่นไปให้ ชายนั้นมองแบงก์แล้วมองหน้าไอค์ แล้วเขาก็วางศีรษะลงบนอกของไอค์ ร้องไห้และพูดว่า “ขอบคุณ” แล้วก็จากไป...

เพียงแค่ชั่วพริบตา ไอค์สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ที่เกือบจะลงเอยเป็นความรุนแรงให้เป็นความเข้าใจ เขาเลือกที่จะไม่ทำตามสัญชาตญาณการต่อสู้ แต่สื่อสารความรู้สึกของตนเองและขอร้องชายคนนั้น พร้อมกับเปิดรับที่จะทำความเข้าใจความต้องการลึกๆ ของชายที่ดูเหมือนจะเข้ามาทำร้ายเขาด้วย

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้วิธีที่เรียกว่า “การสื่อสารอย่างสันติ” ในการเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่อ่อนโยนระหว่างมนุษย์ คุณไม่จำต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจึงจะทำแบบไอค์ได้ การสื่อสารอย่างสันติ หรือ Nonviolent Communication ที่คิดค้นขึ้นมาโดยดร.มาร์แชล โรเซนเบิร์ก (Marshall Rosenberg) สามารถช่วยให้คนธรรมดาๆ มีทักษะรับมือความขัดแย้งได้อย่างทรงพลัง วิธีการนี้ได้รับการเผยแพร่ไปใน ๖๕ ประเทศทั่วโลก มีการนำไปใช้ในหลากหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาระหว่างประเทศ การเจรจาระหว่างกองกำลังที่สู้รบกัน การเจรจาไกล่เกลี่ยทางกฎหมาย หรือการสานสัมพันธ์ในครอบครัว ในที่ทำงาน รวมไปถึงการคลี่คลายความขัดแย้งภายในตัวเอง

การสื่อสารอย่างสันติมีหลักการพื้นฐานดังนี้

หนึ่ง “มนุษย์ทุกคนมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน และมีความสุขจากการให้และการทำประโยชน์ต่อผู้อื่น” เมื่อได้ยินข้อความนี้ บางคนอาจจะสงสัยว่า “ทุกคนเลยหรือที่มีความกรุณา” การสื่อสารอย่างสันติยืนยันในความเชื่อข้อนี้ เช่นเดียวกับที่ศาสนาต่างๆ สอนว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีความดีงามภายใน ไม่ว่าจะเรียกว่า มนุษย์ทุกคนเป็นบุตรพระเจ้า มนุษย์มีจิตประภัสสร หรือมีเมล็ดพันธุ์ของความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยกันทุกคน โดยไม่มีข้อยกเว้น

เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแวดวงศาสนาเท่านั้น วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ก็ให้ความสำคัญกับการค้นคว้าเรื่องความเมตตากรุณามากขึ้นเรื่อยๆ มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์หนึ่งที่ทำกับเด็กทารกอายุ ๖ เดือน ด้วยการให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับภาพสิ่งมีชีวิตที่ใจดี อบอุ่น กับภาพสิ่งมีชีวิตที่ก้าวร้าว รุนแรง เห็นแก่ตัว โดยใช้ทั้งการให้เด็กดูคลิปวิดีโอ และพบกับเหตุการณ์จริงๆ แล้วใช้วิธีการอันซับซ้อนตรวจการมองของเด็ก ว่าตาของเด็กจับจ้องอยู่ที่ภาพแบบไหน

ผลที่ได้ปรากฏชัดเจนว่า เด็กทารกชอบมองภาพสิ่งมีชีวิตที่ใจดีมากกว่าภาพสิ่งมีชีวิตที่ก้าวร้าว รุนแรง เห็นแก่ตัว เด็กวัย ๖ เดือนเหล่านี้ไม่โตพอที่จะเรียนรู้เรื่องความเมตตากรุณาจากผู้ใหญ่ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่านี่เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่า มนุษย์มีความเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน

ด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งความกรุณานี้เอง ทำให้มนุษย์มีความสุขจากการให้และการทำประโยชน์ต่อผู้อื่น เราคงเคยได้ยินหรือเคยเห็นคนที่พยายามช่วยเหลือคนอื่น แม้จะไม่รู้จักมาก่อน เช่น เมื่อมีคนกำลังจมน้ำ คนที่เห็นก็พยายามจะช่วย ไม่ว่าจะด้วยการเรียกให้คนอื่นมาช่วย พยายามโยนสิ่งของลงไปให้คนที่จะจมน้ำพยุงตัว หรือกระโดดลงไปช่วยด้วยตัวเอง แม้แต่คนที่ทำสิ่งเลวร้าย ภายในตัวเขาก็ยังมีเมล็ดพันธุ์แห่งความกรุณา การสื่อสารอย่างสันติจะช่วยเปิดทางให้เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ได้มีพื้นที่งอกงามขึ้นในใจคน

อย่างเช่นในกรณีของไอค์ เราอาจคิดไม่ถึงว่าการที่ไอค์บอกความรู้สึกกับคนที่ดูเหมือนจะเมาเหล้าเมายาจะได้ผลอะไร แต่มันกลับได้ผล เมื่อไอค์บอกว่าเขากลัวและขอให้ชายคนนั้นถอยออกห่างหน่อย ชายคนนั้นยอมทำตามที่ไอค์ขอ คำพูดที่บอกความรู้สึกสามารถช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจและมีความกรุณาต่อเราได้มากขึ้น เพราะเขาก็เป็นมนุษย์ที่มีความกรุณาเช่นเดียวกับเรา

สอง “เบื้องหลังทุกการกระทำและคำพูดของมนุษย์ ล้วนเป็นการตอบสนองความต้องการลึกๆ บางอย่าง” วิธีเข้าถึงความกรุณาของมนุษย์ในการสื่อสารอย่างสันติก็คือ เราจะมองไปถึงความต้องการลึกๆ ของมนุษย์ ไม่ใช่มองแค่วิธีการที่ผิวเผิน เช่น เงินหรือสิ่งของ หรือการกระทำภายนอก แต่มองทะลุลงไปถึงความต้องการที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน หรือเรียกว่าเป็นคุณค่าในจิตใจก็ได้ เช่น ความสุข ความรัก ความเข้าใจ กำลังใจ การทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น หรืออิสรภาพ

เมื่อมนุษย์ทุกคนมีความต้องการเช่นเดียวกันแล้ว เราจะเข้าใจการกระทำและคำพูดของคนอื่นได้ โดยมองดูว่าลึกๆ แล้วเขาทำไปเพื่อตอบสนองความต้องการอะไร แล้วเราจะเข้าใจเขาได้ เพราะเราเองก็มีความต้องการในฐานะมนุษย์เช่นเดียวกัน วิธีนี้ช่วยบ่มเพาะความสามารถในการเข้าถึงความกรุณาในใจเรา และเปิดโอกาสให้ผู้ที่เราสนทนาด้วยได้สัมผัสกับความกรุณาในใจเขาเอง

กลับมาดูที่ตัวอย่างของไอค์ เขาเลือกที่จะทำความเข้าใจความต้องการลึกๆ ที่อยู่เบื้องหลังการกระทำของชายคนนั้น ไอค์ถามเขาว่า “คุณต้องการเงินเพราะคุณอยากได้ความช่วยเหลือใช่ไหม” คำถามที่เรียบง่ายแต่ใส่ใจเช่นนี้ ช่วยเปิดใจชายคนนั้นให้พรั่งพรูความต้องการที่อยู่ในใจออกมามากมาย และพร้อมกันนั้นก็เปิดใจไอค์ไปด้วยในตัว

สาม “ใส่ใจและให้คุณค่าต่อความต้องการของทุกฝ่าย เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจ ก่อนการคิดแก้ไขปัญหาหรือหาทางออก” ในการสื่อสารกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรารักหรือขัดแย้งด้วย เราจะพยายามใส่ใจและให้คุณค่าต่อความต้องการของทุกฝ่าย ด้วยการรับฟังและให้ความเข้าใจ ก่อนที่จะหาทางแก้ไขปัญหา เพราะหากเราแก้ปัญหาโดยที่ยังไม่เข้าใจหรือยังไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพขึ้นมาได้แล้ว การแก้ปัญหานั้นมักจะไม่ยั่งยืน เปรียบเหมือนคนไข้เวลาไม่สบายแล้วไปหาหมอ หากหมอฟังเพียงคำสองคำแล้วจ่ายยาทันทีโดยไม่ตรวจอาการให้ถี่ถ้วนก่อน การรักษานั้นก็อาจจะไม่ได้ผล เช่นเดียวกัน หากเรายังไม่สามารถเข้าใจกันและกันได้อย่างถ่องแท้ วิธีการแก้ปัญหาก็อาจจะไม่ได้ผลเช่นกัน ดังในตัวอย่างข้างต้น ไอค์ทำความเข้าใจความต้องการทั้งของชายคนนั้นและของตัวเอง จนใจเปิดออก หลังจากนั้น วิธีการแก้ปัญหาจึงค่อยตามมา ไอค์ให้เงินชายคนนั้นอย่างเต็มใจ ซึ่งคุณภาพของการให้จะต่างจากการให้เงินตั้งแต่แรกโดยที่ยังไม่รับรู้ถึงความต้องการลึกๆ ภายในอย่างยิ่ง

ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากเป็นทุกข์กับความขัดแย้ง หากเรามีทักษะในการรับมือความขัดแย้งเช่นการสื่อสารอย่างสันติ เราจะพบว่าทุกความขัดแย้งสามารถเปลี่ยนเป็นโอกาสแห่งความเข้าใจได้

Back to Top