ประชาธิปไตยและความยั่งยืน



โดย ประชา หุตานุวัตร
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559

เมื่อผมเขียนเรื่อง “ข้อคิดจากการไปเกาหลี” ในคราวก่อนนั้น (ตีพิมพ์ในมติชน เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๙) ได้รับเกียรติจากคอลัมนิสต์ชื่อดัง คือคุณอธึกกิต สว่างสุข (เจ้าของนามปากกา ใบตองแห้ง) กรุณาเขียนถึงด้วยความกรุณา ประเด็นหลักของคุณอธึกกิตก็คือ “คำพูดตรงนี้สะท้อนทัศนะพวกฝ่ายก้าวหน้าในอดีตอย่างชัดเจน ไม่ว่าคนที่ยังอยู่ตรงกลางๆ อย่างอดีตพระประชา หรือพวกเครือข่ายหมอประเวศที่โดดเข้ามาหนุนประชารัฐประหาร พวก NGO พิภพ สมเกียรติ สมศักดิ์ บรรจง ฯลฯ ที่โดดเข้าร่วมพันธมาร ทัศนะที่เหมือนกันคือล้วนไม่เห็นความสำคัญของ "ประชาธิปไตย" เพราะมองแต่ว่ายังไงมันก็ทุนนิยม มันแก้วิกฤติสังคมมนุษย์ไม่ได้ ต้องแก้ด้วยธรรมะ ด้วยการพึ่งตัวเอง ด้วยการตื่นรู้ สร้างสังคมใหม่ขึ้นจากชุมชนฐานรากที่พวกตนไปทำขึ้น”

“วิธีคิดแบบนี้ตรงกันอย่างน่าประหลาด ระหว่างซ้ายเก่ากับสายพุทธ (รสนาโมเดล เคลื่อนไหวประชาธิปไตยหลัง ๑๔ ตุลาแล้วไปสร้างชุมชนวิปัสสนา) คือพวกนี้ปฏิเสธ "รัฐ" ไม่เชื่อเรื่องการสร้างรัฐที่มีระบบ มีหลักเกณฑ์ มีกติกา มีเสรีภาพในการต่อสู้ต่อรองเพื่อจัดสรรผลประโยชน์ (อุดมการณ์คอมมิวนิสต์จริงๆ ก็ไม่ใช่สร้างรัฐ แต่ทำลายรัฐ) หากจะใช้เสรีภาพประชาธิปไตย ก็ใช้เพื่อเป็น "เครื่องมือ" เท่านั้น ไม่ได้ถือเป็นอุดมคติ”


ผมขอเรียนชี้แจงว่า ผมไม่ได้คิดอย่างที่คุณอธึกกิตตีความนะครับ

ประการแรก ผมเห็นความสำคัญอย่างยิ่งของประชาธิปไตยทั้งแบบตัวแทนและแบบทางตรง และผมเห็นเผด็จการเป็นสิ่งเลวร้ายในตัวมันเอง ไม่ว่าเผด็จการฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา หรือเผด็จการโดยธรรม

ประการที่สอง ผมเห็นความสำคัญของ “เรื่องการสร้างรัฐที่มีระบบ มีหลักเกณฑ์ มีกติกา มีเสรีภาพในการต่อสู้ต่อรองเพื่อจัดสรรผลประโยชน์”

ประการที่สาม ท่านทั้งหลายที่คุณอธึกกิตเอ่ยนามมานั้น หลายคนก็เป็นมิตรและเป็นครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพนับถือ แต่ไม่ได้แปลว่าเราเห็นพ้องต้องกันทุกอย่าง เช่นเดียวกันที่ผมรักและนับถือมิตรสหายหลายคนในขบวนการเสื้อแดง และเชื่อว่าเขาเลือกข้างด้วยอุดมคติ ไม่ได้ถูกซื้อตัวอย่างที่เพื่อนอีกฝ่ายกล่าวหา ผมรู้จักบุคคลเหล่านี้หลายท่านเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน พอที่จะรู้ว่าเขาเลือกข้างเพราะความเชื่อของเขาอย่างจริงใจ แต่ความเชื่อนั้นผมไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย

ผมเห็นว่าการเห็นต่างกันนั้นเป็นของดี และจะนำไปสู่การเติบโตทางสติปัญญาของสังคมไทย และผมอยากเห็นสังคมไทยมีวุฒิภาวะพอที่จะปกป้องเสรีภาพของคนที่เห็นต่างจากเรา แม้เราจะไม่ชอบความเห็นนั้นๆ เพราะเสรีภาพในการแสดงออกนั้น เป็นสิ่งสำคัญสุดยอดของสังคมประชาธิปไตย และที่สำคัญยิ่งคือช่วยให้รัฐและผู้ทรงอำนาจในสถาบันต่างๆ มีสติ และใช้อำนาจอย่างประมาทน้อยลง ผมเชื่อว่ารัฐนั้นเป็นสิ่งที่เลวร้ายในตัวมันเองอยู่แล้ว เช่นเดียวกันทุน แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ของสังคมปัจจุบัน เราก็จำเป็นต้องมีทั้งรัฐและทุน ระเบียบสังคมที่ดี คือระเบียบสังคมที่ปกป้องประชาชนจากความเลวร้ายของรัฐและทุน ผมเชื่อแนวคิดที่ว่ารัฐธรรมนูญนั้น มีไว้เพื่อปกครองรัฐและทุน และป้องกันประชาชนจากการทำร้ายของสองสถาบันอันตรายนี้ ในแง่นี้จะถือว่าผมเป็นฝ่ายเสรีนิยมแบบโบราณก็ได้ จะย้อนกลับไปหานักเสรีนิยมฝรั่งยุคแรกก็ได้ หรือจะย้อนไปไกลถึงกาลามสูตรก็ยังได้

อันที่จริงความไม่ไว้ใจทั้งรัฐและทุนนี้ ผมศึกษาจากทั้งพุทธธรรมและคานธี พอๆ กับศึกษาจากฝ่ายอนาธิปัตย์และเสรีนิยม

แม้ผมจะเห็นข้อบกพร่องและข้อจำกัดต่างๆ ของประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง แต่ผมเชื่อว่าอย่างไรเสียก็ยังดีกว่าเผด็จการ แม้จะเป็นเผด็จการโดยธรรม

ผมเชื่อว่าเราจะทำให้ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเลวน้อยลงได้ โดยการสร้างสถาบันเสรีภาพในการแสดงออกให้เข้มแข็งและยั่งยืน สร้างสื่อมวลชนและสื่อทางสังคมที่เข้มแข็ง นี่ประการแรก

ประการต่อมา ต้องสร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็งขึ้นในทุกระดับ ยิ่งเป็นท้องถิ่นมากเท่าไร ยิ่งควรเป็นประชาธิปไตยแบบทางตรงมากขึ้นตามลำดับ คือผมเชื่อเรื่องกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ผมเห็นว่าโครงสร้างที่รวมอำนาจมาที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ นั้น มันล้าสมัยไปแล้ว ภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหนือ กลาง ใต้ อีสาน และท้องถิ่น ชนชาติส่วนน้อยต่างๆ ควรแบ่งอำนาจจากกรุงเทพฯ มากขึ้นเรื่อยๆ การศึกษาควรให้ภาคจัดการมากขึ้น เพื่อให้แต่ละภาค แต่ละถิ่น มีเอกลักษณ์ของตนเอง เพื่อทำให้ลูกหลานเขาพอใจในกำพืดของตนเอง จนเกิดความเคารพตนเอง ตรงข้ามจากสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นต่อมาคือ สถาบันประชาสังคม และเอ็นจีโอรวมทั้งปัญญาชนจะต้องเข็มแข็งและเป็นอิสระจากรัฐและทุน สถาบันนี้ต้องทำหน้าที่สองอย่างคือ หนึ่งเป็นหมาเฝ้าบ้าน คอยเห่าหอนใส่รัฐและทุนตลอดเวลา เมื่อรัฐและทุนละเมิดสิทธิของประชาชน สอง ต้องเป็นตัวบุกเบิกสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ทางเลือกใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ทางสังคม เป็นผู้นำทางสติปัญญา และวัฒนธรรม งานแบบนี้ สถาบันราชการและธุรกิจไม่สามารถทำได้ และผมอยากท้าทายไว้ตรงนี้ว่า ไม่มีทางทำได้ด้วยแม้จะมีทุนและหรืออำนาจมากแค่ไหนก็ตาม

อันที่จริงสถาบันนี้ได้ทำหน้าที่ที่ผมว่ามานี้มาแล้วมากมายในรอบ ๕๐ ปีที่ผ่านมา เรามาเพลี่ยงพล้ำตอนที่บางส่วนของคนในขบวนการเข้าไปสยบต่อรัฐ หรือเข้าไปทำงานกับรัฐด้วยความเชื่ออย่างจริงใจว่าจะนำการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานมาให้ได้ เมื่อการเปลี่ยนขั้นพื้นฐานเกิดไม่ได้ ก็เกิดการแตกกันในขบวนและยังไม่ฟื้นอย่างมีพลังจนทุกวันนี้

เป็นบทเรียนทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้นในลาตินอเมริกาในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเกิดกระแสรัฐบาลสีชมพูขึ้นทั่วพื้นทวีป พอขบวนการเข้าไปคั่วกับรัฐ “ฝ่ายก้าวหน้า” ขบวนการทางสังคมก็อ่อนแอ เมื่อรัฐไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจพื้นฐานได้จริง นอกจากการจัดสวัสดิการบางด้าน กระแสชมพูก็พังลง พร้อมกับความอ่อนปวกเปียกของขบวนการทางสังคมของเกือบทั่วทั้งทวีป ทั้งๆ ที่เคยเป็นขบวนการที่เข้มแข็งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เสรีภาพในการวิพากษ์สถาบันที่ทรงอำนาจ ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง อิสรภาพของสื่อมวลชน การกระจายอำนาจอย่างเข้มข้น ความเข้มแข็งของชุมชน และพลังของฝ่ายประชาสังคม ทั้งหมดรวมกันน่าจะพอที่จะทำให้รัฐเชื่องลงได้ไหม แต่ที่แน่ๆ คือยังไม่พอที่จะทำให้ทุนเชื่องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ที่ทุนไม่ได้สังกัดรัฐประชาชาติอีกต่อไปแล้ว

ในเมื่อการทดลองอันยิ่งใหญ่ของรัฐเผด็จการสังคมนิยมในศตวรรษที่ ๒๐ เพื่อแก้ปัญหาทุนก็ล้มเหลวมาแล้ว เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับทุกฝ่ายที่อยากเห็นความเป็นธรรมในสังคมและความยั่งยืนของสภาพแวดล้อม

ผมขอทดลองเสนอว่า ต้องอาศัยรัฐประชาติแบบเสรีนิยมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สอง ขบวนการประชาสังคมต้องทำงานข้ามรัฐ โยงกับประชาสังคมของประชาชาติต่างๆ ร่วมมือกันยันกับทุน ไม่ให้กลายเป็นสัตว์ป่าที่ดุร้ายทำร้ายทั้งคนและสิ่งแวดล้อมอย่างในปัจจุบัน ประการที่สาม ฝ่ายประชาสังคมต้องขยายปีกออกไปสร้างทุนทางเลือกขึ้น ดังเริ่มทำกันบ้างแล้ว ทำธุรกิจโดยไม่ถือกำไรสูงสุดเป็นเป้าหมายเพียงอย่างเดียว แต่ถือเอาการรับใช้เพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายควบคู่ไปด้วยอย่างจริงจัง ประการที่สี่ ชุมชนที่เข้มแข็ง ต้องมีธุรกิจของท้องถิ่นที่มั่นคง

แต่ทั้งหมดนี้จะทำให้รัฐและทุนเลวร้ายน้องลงได้ สังคมของเราต้องมีระบบคุณค่าพื้นฐานอย่างใหม่ที่ไม่เน้นการเอาชนะธรรมชาติ ไม่เน้นการแข่งกันร่ำรวย เห็นว่าโลภจริตเป็นของดี แต่เห็นว่าการอยู่อย่างเป็นเพื่อนกับธรรมชาติเป็นของดี ความเล็ก ความช้า ความเรียบง่ายเป็นของดี การแบ่งปันเป็นของดี ความร่วมมือเป็นของดี

แต่นี่ผมกำลังฝันหวานเกินไปหรือเปล่า

Back to Top