โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2547
ชื่อบทความนี้เป็นประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ อ่านแล้วสับสน แปลเป็นข้อความธรรมดาได้ว่า คนที่เหลิงย่อมลืมตัว
ความลำพองใจ เป็นสภาวะของจิตที่ฮึกเหิมห้าวหาญ มีอัตตาตัวตนที่ยิ่งใหญ่ ความรู้สึกเช่นนี้สะสมเพิ่มพูนขึ้นทีละน้อย เริ่มต้นจากการทำงานหนัก เหนื่อยยาก ต้องบากบั่นต่อสู้ถีบตัวขึ้นมาจากความต่ำต้อย จนในที่สุด ความสำเร็จ ชื่อเสียง ชัยชนะ คำสรรเสริญเยิรยอ ทรัพย์สินเงินตราก็หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว เกิดการรับรู้ว่าตนเองนั้นใหญ่กว่า เหนือกว่า เก่งกว่า ดีกว่าใครๆ ในกลุ่มเดียวกัน
นักกีฬาที่เริ่มต้นด้วยความขยันหมั่นฝึกซ้อม น้อมรับคำสอนของผู้ฝึกด้วยความมุ่งมั่นที่จะไปสู่จุดหมายคือชัยชนะ ครั้นเมื่อเขาสามารถไต่อันดับขึ้นไปสู่อันดับสูงสุด ชื่อเสียง เงินทอง ก็ถาโถมเข้ามาอย่างน่าพิศวง จิตเริ่มฟุ้งซ่าน ใช้เงินเป็นเบี้ย เที่ยวกินดื่มอย่างไม่หยุดยั้ง ในที่สุด ความประมาทได้นำพาเขาไปสู่ความพ่ายแพ้
นักพูดฝีปากเอก นักสร้างภาพยนตร์ที่ดังเพราะสร้างหนังได้ติดตลาด ดารานักร้องที่คนชื่นชมคลั่งไคล้อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง นักเรียนที่เรียนเก่ง และกำหนดตนเองว่าจะต้องเป็นที่หนึ่งตลอดเวลา ฯลฯ เขาเหล่านี้ หลงอยู่ในวังวนของความเด่นความดัง ขาดการกำหนดรู้ว่า ชื่อเสียงเงินทองเหล่านั้นย่อมมีวันหมดไป ความลำพองใจทำให้เขาพูดอะไรก็ได้ด้วยมั่นใจว่าทุกคนต้องฟังเขาพูด เขาทำอะไรอย่างไรก็ได้ ทุกคนต้องชื่นชมนิยมในสิ่งที่เขาทำ ท่าทางของเขาจึงฮึกเหิมอยู่เสมอ ไม่ชอบคำท้วงติงตักเตือน และทนไม่ได้ถ้าจะพบกับความพ่ายแพ้
หลักพุทธธรรมได้เตือนสติเราอยู่เสมอมิให้มีความประมาท หลักนั้น คือ โลกธรรม ๘ แสดงถึงความธรรมดาของโลกและของสัตว์โลก ว่าจะต้องเป็นไปเช่นนั้น
โลกธรรม ๘ ได้แก่
มีลาภ - เสื่อมลาภ
มียศ - เสื่อมยศ
มีสรรเสริญ - มีนินทา
มีสุข - มีทุกข์
สภาวะ (conditions) ดังกล่าวนี้เป็นของคู่กัน ด้านหนึ่งเป็นส่วนที่น่าปรารถนา อีกด้านหนึ่งเป็นส่วนที่ไม่พึงปรารถนา ถ้าบุคคลใดเข้าใจสภาวะเช่นนี้ จิตก็จะประจักษ์ว่า ทุกสถานการณ์ย่อมมีความแปรปรวนและเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา เมื่อประสบชัยชนะก็ไม่หลงระเริงจนลืมตัว เมื่อพ่ายแพ้ก็ไม่จมอยู่กับความทุกข์ทนหม่นไหม้ การมีสติกำหนดรู้ เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต จึงก่อเกิดปัญญาที่จะประคับประคองตนให้สง่างามอยู่ด้วยความไม่ประมาท
โลกธรรม ๘ เป็นหลักธรรมที่นำมนุษย์สู่จิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) ในแง่ของความหลุดพ้นจากสภาวะจิตที่บีบคั้น เมื่อพลาดหวัง ความหลุดพ้นจากสภาวะจิตที่หลงลำพองในอัตตาตัวตนเมื่อประสบความสำเร็จ คนที่หลงตนย่อมมีจิตเล็กคับแคบ คิดอะไรไปไม่พ้นตัวเอง แต่จิตสำนึกใหม่นั้นนำให้บุคคลคิดกว้าง คิดไกล สู่เพื่อนมนุษย์ และธรรมชาติแวดล้อมที่เกื้อกูลกัน เมื่อคนเรามีจิตใหญ่ หรือจิตสำนึกใหม่ ย่อมมองตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งในโลก เป็นคนหนึ่งในสังคมที่ต้องมีส่วนร่วมและมีส่วนให้พึ่งพาอาศัยกัน คนที่มีจิตสำนึกใหม่ แม้จะเห็นคุณค่าในตนเอง แต่ก็มีความอ่อนน้อมยอมรับความสำคัญและคุณค่าของผู้อื่นด้วย
พื้นฐานของจิตสำนึกใหม่ คือความรักและเมตตาธรรม ซึ่งนำไปสู่ความดีและความงามของชีวิต เมื่อใดก็ตามที่ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา เศรษฐกิจ วิถีดำเนินชีวิต และความคิดความเชื่อ ไม่ใช่ชนวนแห่งการแบ่งแยก ขัดแย้ง ดูหมิ่น สร้างปมเขื่อง และปมแค้นในหมู่คน เมื่อนั้น ความสงบสุขย่อมเกิดขึ้น คนเราจะรับฟังกันมากขึ้น เห็นใจเข้าใจกันมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะมีการกำหนดสติและใช้ปัญญามากขึ้นนั่นเอง สติได้ติดตามเตือนทุกครั้งที่คนเกิดความลำพองใจ เขาจึงควบคุมตนเองได้ ไม่ให้เหลิง ไม่ประมาท มีความตระหนักรู้ว่ามายาภาพทั้งหลายที่ฟูเฟื่องดุจฟองสบู่นั้นไม่แน่นอน สักวันหนึ่งก็เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
มายาภาพแห่งความสำเร็จนั้น มีอำนาจรุนแรงมาก สามารถปลุกเร้าความเชื่อมั่น ความอิ่มเอิบใจ ความเคลิบเคลิ้มหลงใหล จนคิดว่านั่นเป็นความสุขเหลือเกิน การฝึกตนให้มีจิตสำนึกใหม่ ช่วยให้เราเข้าถึง
ความจริงที่แฝงฝังอยู่ในมายาภาพเหล่านั้น จิตใจจึงเป็นกลางไม่ฟุ้งซ่านเมื่อกำลังเฟื่อง และไม่หดหู่เมื่อกำลังฟุบ
เมื่อนนทุกมีนิ้วเพชร ชี้ตรงใครก็ตายหมด เกิดความลำพองใจ กำเริบเสิบสาน หลงอำนาจ ในที่สุดก็ประมาท ร่ายรำชี้อกตนเองตาย
เผด็จการที่เหลิงอำนาจ บังอาจชี้นิ้วฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจนล้มตายเป็นหมื่นเป็นแสน จิตของเขายิ่งเล็ก คิดแคบเข้าข้างตนเอง เขาจะไม่เข้าใจเลยว่า ความทุกข์และความผิดบาปได้ก่อตัวรุมเร้าเขาทีละน้อย จนในที่สุด เขาก็จะสิ้นอำนาจ และหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง
อีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้คนที่เหลิงเกิดความประมาท ก็คือกลุ่มคนที่แวดล้อม ซึ่งอาจเป็นกลุ่มแฟนคลับ ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อร่วมกินร่วมเที่ยว ซึ่งพร้อมจะสรรเสริญชื่นชมเพื่อฉกฉวยประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้องของตน
ผู้เรืองอำนาจและไม่ประมาท ควรจำคำรำพันของพระนางมัทรีในวรรณคดีมหาเวสสันดรชาดก ตอนหนึ่งว่า "...ยามมีบุญ คนเขาก็วิ่งมาเป็นข้า พึ่งพระเดชเดชาให้ใช้สอย เฝ้าป้อยอสอพลอพลอยทุกเช้าค่ำ แต่เมื่อเพลี่ยงพล้ำ คนก็กระหน่ำซ้ำซ้อมซัก ดุจราชหงส์ปีกหักตกปลักหนอง กาแกก็จะแซ่ซ้องเข้าสาวไส้..."
เมื่อลำพองใจ ตัวตนก็ใหญ่คับฟ้า จิตกลับเล็กลง
เมื่ออ่อนน้อมยอมรับ ตัวตนก็น้อยนิด จิตกลับกว้างใหญ่
เสียงเตือนที่ดังที่สุด คือเสียงจากภายใน เตือนตนเอง
เตือนให้รู้ตัว ไม่ลืมตัว
จิตที่ฝึกแล้วจึงพ้นจากความวิบัติ ดังนี้
แสดงความคิดเห็น