มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2547
ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจคำว่า เราคนยุค “สมัยใหม่” ที่ผู้เขียนใช้ ว่าหมายถึงเราคนส่วนใหญ่ที่มักไม่คิดว่า โดยกระบวนการวิวัฒนาการ ไม่มีอะไรใหม่ไปได้ตลอดกาล และในความจริงแล้ว “สมัยใหม่” ที่ว่าก็กำลังจะกลายเป็นกระบวนทัศน์เก่ายิ่งขึ้นทุกขณะ (คำว่ากระบวนทัศน์ในที่นี้ คือรูปแบบ (กรอบ แนวและวิธีคิด) ของความคิด (ปัจเจกและโดยรวม) ว่าด้วยโลก ชีวิตและสังคม.)
โดยกระบวนทัศน์เก่าที่อยู่กับเรามากว่า ๓๐๐ ปีกระทั่งทุกวันนี้ คือกระบวนทัศน์ที่ตั้งบนหลักสองประการ (โดยเฉพาะประการหลัง) คือหนึ่ง วัฒนธรรมหรือความรู้ที่ยอมรับร่วมกันเป็นความเชื่อ เป็นคุณค่า และความหมาย ที่เป็นฐานของความคิดต่อการดำรงอยู่ หรือวิถีชีวิตของเรา กับสอง ความรู้ที่ได้มาจากวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยเฉพาะชีววิทยา ‘เก่าเดิม’ ที่เราคิดว่า ‘ใหม่’ และถูกต้องครบถ้วนดีแล้ว ทั้งสองประการคือรากฐานของระบบสังคมทุกๆ ระบบในปัจจุบัน ที่ผู้เขียนกำลังชี้บ่งว่า “ไม่สมบูรณ์” หรือ “ผิด” กระบวนการธรรมชาติ
นักประสาทวิทยาหรือนักวิทยาศาสตร์กายภาพแห่งความเป็น “สมัยใหม่” แต่ ‘เก่าเดิม’ นั้น ไม่รู้จักคำว่าจิตวิญญาณ หรือจิตทั้งแผงที่นักวิทยาศาสตร์ทางจิตยุคใหม่ใช้กัน (consciousness) การที่ผู้เขียนมักนำคำว่าจิตวิญญาณมาใช้ ก็เพื่อให้แยกจากคำว่าจิตเฉยๆ ซึ่งในสายตาของนักวิทยาศาสตร์กายภาพหรือคนยุค “สมัยใหม่” เป็นสิ่งเดียวกับจิตใจ (มนัส) หรือจิตรู้ (mind or conscious mind) หรือสมอง นั่นเอง
อิทธิพลของวิทยาศาสตร์กายภาพดังกล่าว ได้สรรค์สร้างสังคม “สมัยใหม่” กับคนยุค “สมัยใหม่” ให้คิดว่า จิตเป็นสิ่งที่โผล่ปรากฏขึ้นมาจากการทำงานที่ซับซ้อนของสสารวัตถุ ซึ่งในที่นี้คือสมอง (epiphenomenon or mind is emergent property of matter) อันเป็นองค์ความรู้ส่วนน้อยนิดในเรื่องของจิตทั้งหมดและจะยังคงน้อยนิดอยู่เรื่อยไป เพราะองค์ความรู้ที่ได้มาจากวิทยาศาสตร์ “สมัยใหม่” ล้วนเป็นเรื่องของ “จิตรู้หรือจิตใจที่สัมพันธ์กับสมอง” (conscious mind or brain-mind) ซึ่งเป็นประเด็นทางกายภาพด้านเดียวทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความรู้เรื่องจิตทางกายภาพ โดยสรีระและหน้าที่ของสมอง จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดและรู้กันในหมู่นักวิทยาศาสตร์เฉพาะทางเท่านั้น แต่ก็มีความสำคัญยิ่ง ควรที่สาธารณชนโดยเฉพาะผู้สนใจในเรื่องของจิตจะต้องรู้ไว้บ้างว่า การที่ชีวิตทุกชีวิต รวมถึงชีวิตที่ไม่ซับซ้อนเช่นไวรัสหรือแบกทีเรีย มีความแตกต่างกัน ก็เพราะเครื่องมือที่บริหารจิตหรือสมองมีขนาดและความละเอียดซับซ้อนแตกต่างกันนั่นเอง แม้ว่าโดยหลักวิวัฒนาการ สัตว์ที่มีความซับซ้อนยิ่งกว่าพืชและแบกทีเรีย จะยังคงมีโครงสร้างระบบประสาทหรือสมองเก่าที่ได้วิวัฒนาการผ่านไปแล้วอยู่ ดังเช่น สมองของงูและตะกวด แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่และซับซ้อนกว่าปลาบ้าง แต่สมองส่วนซึ่งทำหน้าที่ให้จิตพื้นฐานหรือสัญชาตญาณ จะประกอบด้วยสมองส่วนท้าย (hindbrain) ที่เรียกว่าอาร์-คอมเพล็กซ์ เหมือนสมองของปลาแทบทั้งหมด ในขณะที่นกและแมมมอล หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขั้นต่ำ จะมีสมองส่วนกลางหรือระบบลิมบิก (limbic) ที่ให้อารมณ์ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมปรุงแต่งสัญชาตญาณเพิ่มขึ้นมา ครอบอยู่โดยรอบ ด้านหน้าของอาร์-คอมเพล็กซ์ และโดยมีความโยงใยสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ส่วนสัตว์ชั้นสูง เช่นหมาแมวนั้น จะมีสมองส่วนหน้า (forebrain) ใหญ่กว่าหนูหรือกระต่าย สำหรับสมองส่วนหน้าในลิงหรือชิมแปนซีซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก โดยเชื่อมโยงกับสมองส่วนลิมบิกและสมองส่วนท้ายอย่างแนบแน่นนั้น จะมีหน้าที่ให้ปัญญาความคิดที่เชื่อมโยงปรุงแต่งอารมณ์และสัญชาตญาณ และสิ่งที่ทำให้มนุษย์ซึ่งมีสมองใหญ่และซับซ้อนที่สุดแตกต่างจากสัตว์ ก็เพราะมนุษย์มีสมองส่วนหน้า เรียกว่านิโอคอร์เท็กซ์ ทำหน้าที่เชื่อมโยงอย่างสลับซับซ้อนกับสมองส่วนกลางและสมองส่วนท้าย ที่สัตว์ชนิดต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วมีอยู่เท่าๆ กับที่มนุษย์มี ดังนั้น ความแตกต่างอันซับซ้อนที่ทำให้มนุษย์อยู่เหนือชีวิตอื่นใด คือปัญญาและอัตตาตัวตนจากความจำที่ระลึกได้ (secondary repertory and Self) ต่างหาก ที่ทำหน้าที่ควบคุมและปรุงแต่งอารมณ์ที่ไปปรุงแต่งสัญชาตญาณต่ออีกทีหนึ่ง วิชาประสาทวิทยาที่พัฒนาเป็นองค์ความรู้มาตลอดศตวรรษกระทั่งถึงวันนี้ เรียนรู้และพิสูจน์สมอง-จิต หรือจิต แต่เพียงแค่นั้น คือเฉพาะสรีระวิทยาและหน้าที่พื้นฐานว่าด้วยการรับรู้ การสนองตอบทางระบบประสาทความรู้สึกและกล้ามเนื้อ รวมทั้งการควบคุมการทำงานของอวัยวะ ของเซลล์ และระบบต่างๆ ของร่างกาย
ผลงานวิจัยและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์กายภาพในรอบศตวรรษมานี้ ล้วนเป็นเรื่องรายละเอียดหรือการปรับเปลี่ยนแก้ไขประเด็นที่รู้บ้างแล้วเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เพียงห้าสิบปีก่อน เราคิดว่าสมองรับภาพผ่านตาเหมือนกับการผ่านเล็นส์กล้องถ่ายรูป แต่ปัจจุบันเรารู้ว่าสมองรับสัญญาณหรือข้อมูลในรูปของพลังงานที่ประกอบด้วยเสป็คตรัมของคลื่นแสง เล็นส์จะมีหน้าที่รวมประสานเสป็คตรัมของคลื่นเหล่านั้นให้เป็นเนื้อเดียวกันพร้อมๆ กับกำหนดจุดความเข้มหรือโฟกัส แล้วเรติน่าจะสร้างรูปแบบความพัวพันของคลื่นขึ้นมา จากนั้นสมองส่วนที่ทำหน้าที่แปล (visual cortex) ก็จะแปลและสร้างรูปแบบที่ว่านั้นให้เป็นภาพ
ข้อมูลก็เป็นรูปแบบหนึ่งของพลังงานหรือจิตที่บริหารโดยสมอง ข้อมูลจากภายนอกที่เข้ามาถึงสมองนั้น เรียกว่าการรับรู้ (perception) แต่ยังไม่ถือว่ารู้ เพราะการรู้ (cognition) คือสิ่งที่ตามมาหลังจากที่ข้อมูลได้รับการวิเคราะห์ เฉพาะข้อมูลที่สำคัญเราจะเก็บ (retention) ไว้เพื่อระลึกกลับคืน (re-cognition or recall) อันเป็นหน้าที่ของความจำ (memory) การทำงานของกระบวนการเหล่านี้ เมื่อค่อนศตวรรษมาแล้ว เราคิดว่าจะต้องมีร่องรอยของรูปแบบที่เรียกว่า “เอ็นแกรม” (engram) อันเป็นผลของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของกิ่งก้าน (dendrites) เซลล์ประสาท นักประสาทวิทยาจำนวนมาก รวมทั้ง คาร์ล ลัชคีย์ วิลเดอร์ เพ็นฟีลด์ ศัลยแพทย์ชาวแคนาดาที่มีชื่อเสียง หรือแม้แต่เซอร์ จอห์น เอ็คเคิลส์ ประสาทสรีระแพทย์รางวัลโนเบล ในช่วงแรกๆ ต่างก็พยายามค้นหาเอ็นเแกรมที่ว่านี้ แต่ถึงแม้จะตัดสมองสัตว์ทดลองออกไปทั้งหมด ไม่ว่าสมองซาลามานเดอร์หรือสมองหนู (หลังจากที่ฝึกให้พวกมันจำเวลาหรือสถานที่วางอาหารได้) ก็ปรากฏว่า แม้ความทรงจำของสัตว์ทดลองทุกตัวจะเชื่องช้าลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีอยู่เป็นอย่างดี วิลเดอร์ เพ็นฟิลด์ ถึงได้พูดกับจอร์จ วอลด์ นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลจากฮาร์วาร์ดไว้ก่อนตายว่า “อย่าไปหาจิตในสมองเลย มันไม่ได้อยู่ที่นั่นหรอก” ส่วนเซอร์ จอห์น เอ็คเคิลส์ ก็พูดว่าจิตอยู่ในสนามจิตนอกสมองเท่าๆ กับที่อยู่ในสมอง ซ้ำยังประกาศว่าตนเองได้ค้นพบตำแหน่งของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกาย ว่าอยู่ที่กลีบปรีฟร็อนตัล (prefrontal) ที่เรียกว่าเอสเอ็มเอ (SMA) แล้วอีกด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษที่แล้ว ได้เกิดทฤษฎี “เครือข่ายเซลล์สมอง” ขึ้นมาหลายทฤษฎีที่พยายามจะอธิบายการทำงานของจิตรู้ (neural networks theories) ทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับกันมาก คือทฤษฎีของเจอรัลด์ อีเดลแมน นักชีววิทยารางวัลโนเบลชาวอเมริกัน ที่บอกว่า กระบวนการที่ให้จิตรู้ (mental process) นั้นเป็นผลงานของกลุ่มเซลล์ประสาทที่อยู่ในทุกส่วนของสมอง ซึ่งแข่งขันกันเพื่อจะมีปฏิสัมพันธ์กับสัญญาณหรือคลื่นพลังงานที่มาจากภายนอก ทฤษฎีเหล่านี้ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า กลุ่มเซลล์ประสาทหรือเซลล์สมองที่มีเป็นจำนวนพันถึงล้านๆ ตัว จะจับกันเป็นเครือข่ายในสองรูปแบบ คือหนึ่ง เป็นไปเองตามโค้ดทางพันธุกรรม (primary repertory) กับสอง พัฒนาเป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันอย่างซับซ้อนยิ่งขึ้น (secondary repertory) จากการกระตุ้นเตือนอย่างซ้ำซ้อนของข้อมูลจากภายนอกหรือความคิดจากภายใน ที่ร่วมกันให้รูปแบบการโผล่ปรากฏของจิตรู้และความทรงจำใหม่
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กายภาพของสมอง โดยหลักการก็มีเพียงแค่นั้น เพียงแต่ซับซ้อนและละเอียดขึ้น จนทำให้เรารู้ว่ากระบวนการที่จิตรู้ของเรา เป็นความคิด มโนทัศน์ (concept) กระทั่งข้อมูลที่เป็นนามธรรมต่างๆ ต้องอาศัยกระบวนการบริหารข้อมูลที่ซับซ้อน และข้อมูลบางส่วนเกิดจากสมองจัดหามาให้จากภายใน แต่กระทั่งวันนี้ กระบวนการทางประสาทสรีระวิทยาต่อการเกิดของจิต แม้ในส่วนที่เป็นจิตรู้ก็ยังเหมือนเดิม คือ “ไม่รู้” อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าวิทยาศาสตร์กายภาพของสมองไม่สำคัญ วิทยาศาสตร์อาจตอบความล้ำลึกลี้ลับในเรื่องของจิตหรือจิตวิญญาณไม่ได้เลย แต่วิทยาศาสตร์กายภาพก็ทำให้เราสามารถเข้าใจและควบคุมผลการบริหารของสมอง ที่เรียกว่าจิตใจและอารมณ์ได้
แสดงความคิดเห็น