ความรู้กับสภาวะแห่งการรู้

โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2547

เดวิด โบห์ม เป็นนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ชั้นนำของโลก เขาเป็นชาวอเมริกัน เกิดในปี ค.ศ. ๑๙๑๗ และเติบโตในรัฐเพนซิลเวเนีย แต่ในปี ค.ศ. ๑๙๕๑ หรือ พ.ศ. ๒๔๙๔ ชะตาชีวิตทำให้เขาต้องระหกระเหทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปอาศัยต่างแดน โบห์มต้องอพยพจากสหรัฐอเมริกาเพราะถูกคุกคามเสรีภาพ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกเรียกตัวไปสอบสวนโดยคณะกรรมการตรวจสอบกิจการที่ไม่เป็นอเมริกัน (Un-American Activities Committee) ในยุครัฐบาลขวาจัดของสหรัฐอเมริกา

แต่โบห์มก็ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการ และอพยพหลบหนีไปอยู่ที่บราซิลระยะหนึ่ง จากนั้นจึงอพยพไปอิสราเอล และมาปักหลักค้นคว้าวิจัยอยู่ในอังกฤษจนเสียชีวิตในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ตลอดชีวิตการทำงานของโบห์ม เขาได้เสนอทฤษฎีสำคัญเกี่ยวกับควอนตั้มฟิสิกส์ไว้หลายประการ และเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ควอนตั้มฟิสิกส์อื่นๆ อีกหลายคน ที่มักพบกับปรากฏการณ์ไม่ธรรมดาและไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยเหตุผลหรือสามัญสำนึกปกติ ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้โบห์มและนักวิทยาศาสตร์ ควอนตั้มฟิสิกส์อีกหลายคนหันมาสนใจศาสนาและปรัชญาตะวันออก

สำหรับโบห์ม ได้รับอิทธิพลจากกฤษณะมูรตินักปราชญ์ชาวอินเดีย และได้ให้ความสนใจสมาธิภาวนาอย่างมาก เขาเชื่อว่าเมื่อมนุษย์มีความรู้สมบูรณ์ขึ้น วิทยาศาสตร์กับศิลปะที่เคยเป็นคนละเรื่องกันอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบันนั้น จะผสมกลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียวในที่สุด

เพราะความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ของมนุษย์นั่นเอง ที่ทำให้ศาสตร์สาขาต่างๆ และศิลปะกลายเป็นคนละเรื่องแยกขาดออกจากกัน

สาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์หันมาสนใจศาสตร์ตะวันออกเกี่ยวกับสมาธิภาวนาและการฝึกจิตมากขึ้นนั้น เป็นเพราะการทดลองและข้อค้นพบหลายอย่างในควอนตั้มฟิสิกส์ ได้ทำให้ความคิดวิทยาศาสตร์แบบเดิมเป็นปัญหา เช่นพบว่าสิ่งที่ถูกสังเกตในการทดลองเดิม ที่เคยยึดถือกันว่ามีคุณลักษณะคงที่แน่นอน กลับมีคุณลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามการสังเกตรับรู้ของมนุษย์

หรือจากเดิมที่เคยคิดว่า สสารและพลังงานเป็นสองสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและเป็นสองสถานะที่แยกขาดจากกัน วิทยาศาสตร์ใหม่กลับพบว่า สิ่งที่สังเกตตรวจวัดในการทดลองนั้นมีความไม่แน่นอนและไม่แบ่งแยกเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเด็ดขาด ปรากฏการณ์เดียวกันนั้น บางขณะแสดงตัวเป็นอนุภาค แต่บางขณะกลับแสดงตัวเป็นคลื่น

เรียกว่า ประเดี๋ยวเป็นสสาร ประเดี๋ยวกลับกลายเป็นพลังงาน ขึ้นอยู่กับการสังเกตตรวจวัด และเครื่องรับรู้

จากวิทยาศาสตร์แบบเดิมที่ถือว่า ความรู้ที่ถูกต้องเที่ยงตรงต้องเกิดจากการแยกผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกตออกจากกัน และความรู้ที่เป็นสากลจะต้องไม่ขึ้นกับจิตรับรู้ของมนุษย์นั้น วิทยาศาสตร์ใหม่กลับพบว่า ปรากฏการณ์ทุกอย่างล้วนสัมพัทธ์และสัมพันธ์กับการรับรู้อย่างแยกไม่ออก

จะเรียกว่า สรรพสิ่งเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับจิตรับรู้ก็ได้

เมื่อความแน่นอนกลายเป็นไม่แน่นอน เพราะไปขึ้นกับการรับรู้ ความเป็นเหตุเป็นผลที่แน่นอนตายตัวและไม่ขึ้นกับจิต จึงกลายเป็นเรื่องที่สับสนอย่างยิ่งจนคาดเดาล่วงหน้าไม่ได้

แต่โบห์มต่างจากนักฟิสิกส์บางคนตรงที่เขาเชื่อว่า ภายใต้ความไม่แน่นอนและสับสนนั้น แท้จริงมีกฎเกณฑ์หรือความเป็นระเบียบที่แฝงเร้นอยู่ ซึ่งโบห์มเรียกว่า Implicate order

แต่การที่จะเข้าถึงความเป็นระเบียบที่แฝงเร้นอยู่นั้น จะต้องอาศัยภูมิจิตภูมิปัญญาที่แตกต่างออกไปจากจิตคิดแบบวิทยาศาสตร์เดิม คือต้องเป็นจิตที่ผ่านการฝึกฝนมาดี และเป็นอิสระจากกรอบความคิด ภาษา และระบบสัญลักษณ์ ที่ได้กลายเป็นพันธนาการจองจำวิธีคิดของวิทยาศาสตร์แบบเดิมไปเสียแล้ว

ในแง่นี้ โบห์มให้ความว่า คณิตศาสตร์ก็เป็นระบบสัญลักษณ์อย่างหนึ่งด้วย และวิทยาศาสตร์เก่าได้ติดยึดกับคำอธิบายที่เป็นตัวเลขและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์มากเสียจนไม่สามารถรับรู้ความจริงแบบอื่นได้

เรียกว่า ต้องทำทุกอย่างให้เป็นตัวเลขจึงจะคุยกันแบบวิทยาศาสตร์ได้

โบห์มคิดว่า กรอบความคิด ภาษา และสัญญะ เหล่านั้นมีปัญหา และการที่จะก้าวพ้นจากอุปาทานการติดยึดกับสิ่งเหล่านี้ได้ นักวิทยาศาสตร์ต้องฝึกให้รู้เท่าทันวิธีคิดและจิตรับรู้ของตนเองด้วย

ในระยะหลังนี้ เราจึงเห็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำหันมาสนใจศาสตร์ทางจิตและศาสนาตะวันออกต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะมีการจัดการสนทนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกกับองค์ดาไล ลามะ แห่งธิเบตที่จัดขึ้นทุก ๒ ปี ติดต่อกันมากว่า ๒๐ ปี นับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๗ แล้วนั้น ได้ทำให้เห็นได้ว่าศาสนาและภูมิปํญญาตะวันออกสามารถให้คำตอบเกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งได้อย่างน่าสนใจและลุ่มลึกยิ่งกว่าทัศนะแบบวัตถุนิยมกลไกของวิทยาศาสตร์เสียอีก

วิทยาศาสตร์กำลังอภิวัฒน์ตัวเองอย่างช้าๆ ด้วยการเรียนรู้จากภูมิปัญญาตะวันออก แม้เราจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าวิทยาศาสตร์ใหม่จะลงเอยอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังเปลี่ยนไปก็คือ ทัศนะของวิทยาศาสตร์เดิมที่ถือว่า ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์เป็นความรู้สากล ไม่ขึ้นกับจิตรับรู้ของมนุษย์ หรือเรียกว่าความรู้กับสภาวะแห่งการรู้นั้นแยกขาดจากกันได้

ความรู้แบบวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่คนรู้คนหนึ่งเอามาอธิบายให้อีกคนหนึ่งรู้ได้ เพราะความรู้เป็นเรื่องภายนอกที่บอกเล่า เรียนรู้กันได้จากการคิด โดยไม่เกี่ยวกับพื้นภูมิของจิต

แต่ภูมิปัญญาตะวันออกบอกว่า ความรู้กับสภาวะแห่งการรู้ที่แท้จริงนั้น มิอาจแยกจากกัน

และความรู้ที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับสภาวะแห่งการรู้นั้นคือปัญญา

โบห์มเชื่อว่า การที่นักฟิสิกส์ต้องพบกับปรากฏการณ์ที่สะท้อนความเป็นจริงแบบใหม่นี้ เป็นโอกาสดีที่จะเข้าถึงความรู้และสภาวะแห่งการรู้ใหม่ เพราะความจริงใหม่นี้จะท้าทายและรื้อเลาะอุปาทานที่เคยติดยึดอยู่ได้ หากเป็นเช่นนั้น วิทยาศาสตร์ใหม่อาจเป็นหนทางหนึ่งของการเข้าถึงปัญญาที่แท้จริงได้

เพราะการทำงานวิทยาศาสตร์เพื่อให้รู้เท่าทันความคิดและให้จิตเป็นอิสระจากอุปาทานนั้น
แท้จริงก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง

Back to Top