โลกมีที่ยืนให้เสมอ

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2548

ชื่อบทความนี้ยืมมาจากวรรคทองใน “ของดีมีอยู่” ซึ่ง ขรรค์ชัย บุนปาน เขียนไว้ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๐ - ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๘

จริงสินะ โลกนี้กว้างใหญ่ไพศาลพอที่สรรพสัตว์ไม่ว่าจะตัวเล็กตัวน้อยหรือใหญ่โตมโหฬารได้มีที่อยู่และที่ยืน

กระจิบกระจอกจ้อย มีต้นไม้ใบหนาและท้องฟ้ากว้างเป็นโลกของมัน ถึงจะมีพายุพัดกล้าหรือฝนกระหน่ำ เพียงมันเกาะหลบนิ่งในรังเล็ก ๆ ชีวิตก็อยู่รอด

มนุษย์นี้หนอ ร่างกายก็ไม่ใหญ่โตอะไรนัก เมื่อเทียบกับช้างม้าวัวควาย แต่กลับต้องการพื้นที่อยู่กว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด ใจมันอยากอยู่บ้านใหญ่ ๆ มีที่ดินมาก ๆ ทำงานตำแหน่งสูง ต้องการสิ่งแสดงสถานะ เช่น ปริญญาบัตร ยศศักดิ์ และอำนาจวาสนา คนเราจึงต่อสู้พากเพียรเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนใฝ่ฝัน

ปัญหาก็คือความต้องการของคนนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อทำใจให้ “พอ” ไม่เป็น ความไม่พึงใจ ไม่ได้ดังหวัง ความรู้สึกว่าตนเองไม่ประสบความสำเร็จ ต่ำต้อยน้อยหน้าก็เกิดขึ้น กลายเป็นผู้ครองอนิฏฐารมณ์ ชีวิตนี้มีแต่สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา

หลายคนตั้งใจเหลือเกินที่จะทำงานหนักเพียงเพื่อให้ครอบครัวมีกินมีใช้ มีเงินพอที่จะส่งลูกเรียนหนังสือ แต่โอกาสช่างไม่มีผลดีช่างไม่เกิด ต้องต่อสู้ดิ้นรนล้มลุกคลุกคลาน คนกลุ่มนี้มองชีวิตเป็นทุกข์
เขาต้องการกำลังใจและต้องการกัลยาณมิตรที่ช่วยชี้แนะหนทางที่จะเอาชนะอุปสรรค

รายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง เป็นรายการสร้างสรรค์โดยการสนับสนุนให้นักเรียนวัยรุ่นในโรงเรียนต่างจังหวัดมีโอกาสฝึกซ้อมดนตรี เพื่อนำมาประกวดกันในรายการครั้งละ ๒ โรง สังเกตได้ว่าเด็กนักเรียนฝึกซ้อมกันมากทั้งการร้องเพลง การเล่นดนตรีและท่าเต้นที่งดงามสมวัย ครั้นเมื่อได้แสดง ทุกวงดนตรีก็แสดงได้ดี กรรมการติชมอย่างอิงหลักการและให้กำลังใจอย่างมาก

แน่นอน ในการแข่งขันย่อมมีโรงเรียนหนึ่งแพ้อีกโรงหนึ่งชนะ ถึงจะเตรียมใจกันมาก่อน แต่ทุกครั้งผู้ชมก็ได้เห็นน้ำตาของผู้แพ้ เสียใจที่ได้พยายามเต็มที่แล้ว แต่อีกวงหนึ่งเขาดีกว่า

อันที่จริงวงดนตรีที่ถูกตัดสินให้แพ้นั้น เขาได้บทเรียนอีกบทหนึ่ง คือประสบการณ์ของความผิดหวังและการฝึกหัดตนเองให้ยอมรับความพ่ายแพ้ โดยพร้อมที่จะปรับปรุงตนให้ดีขึ้นเพื่อต่อสู้ใหม่

ลองลิ้มรสแห่งความผิดหวังไว้เถิด ทางข้างหน้ายังยาวไกล และมีอีกหลายสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความปราชัย

ในสังคมแห่งการแข่งขันทุกวันนี้ ใครดีก็อยู่ ใครสู้ก็มีโอกาส หลักสำคัญอยู่ที่ว่าทุกสนามแข่งขันต้องมีธรรมและเป็นธรรม ผู้ด้อยโอกาสต้องมีแต้มต่อ ได้รับการสนับสนุนและมีผู้ให้กำลังใจ ในสนามเดียวกัน คนที่แข็งแรงกว่า สมบูรณ์กว่า ก็ต้องไม่เอาเปรียบ ซ้ำเติมไล่ต้อนผู้อ่อนฝีมือให้จนมุม

ถึงจะอ่อนด้อยเพียงใด ใจของคนเราต้องไม่อ่อนแอ ยาวิเศษที่สร้างภูมิคุ้มกันความท้อถอย ก็คือความเพียร ความอดทน และการเห็นคุณค่าของตนเอง

น่าเสียดายที่กระบวนการศึกษาอบรมทุกวันนี้ไม่เน้นการประเมินตนเอง เราจึงเคยชินกับการประเมินค่าสิ่งของและประเมินคนอื่น ถ้าจะให้มองตนและวิเคราะห์คุณค่าของตน ก็มักจะประเมินตนเองสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป ทำให้กลายเป็นคนมีปมทั้งปมเด่นและปมด้อย

คนที่รู้สึกว่าตนเองพ่ายแพ้นั้น เขาจะสิ้นหวังและว้าเหว่ตราบใดที่ยังนอนซมเศร้าโศก หรือนั่งกอดเข่าเจ่าจุกซบหน้าร้องไห้ แท้จริงแล้วความหวังยังรออยู่ถ้าพยายามลุกขึ้นยืน มองไปรอบข้าง มองให้ไกลจะพบผู้คนและสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่เคลื่อนไหวไม่หยุดยั้งเพื่อความอยู่รอด คนที่จิตอ่อนแอจะเหี่ยวเฉา คนที่สร้างกำลังใจ รักที่จะมีชีวิตอยู่และลุกขึ้นทำงาน อย่างน้อยจิตของเขาจะไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อกายเคลื่อนไหว มือก็สร้างสิ่งใหม่ สมองเริ่มคิดแน่วแน่ในงานที่ทำ ค่อยๆ ทำไปตามกำลังที่มี ได้น้อยก็ใช้น้อย ความหวังจึงอยู่ในมือและในใจของตน

นิทานเรื่องกระต่ายกับเต่ามิได้สอนเพียงเรื่องความประมาทของกระต่ายและความพยายามของเต่าเท่านั้น คิดให้ลึกจะพบว่า กระต่ายมันแน่ใจว่าถึงจะนอนหลับสักตื่นหนึ่ง มันก็ยังวิ่งชนะเต่าอยู่ดี เป็นไปไม่ได้เลยว่าเจ้าตัวงุ่มง่ามอย่างเต่าจะเอาชนะมันได้

นิทานเรื่องนี้ไม่ได้บอกว่า การวิ่งแข่งครั้งนี้มีกองเชียร์หรือไม่ บางครั้งเสียงเชียร์ที่กึกก้องก็ทำให้ลืมตัวเหมือนกัน ถ้ามีกองเชียร์จริงก็ต้องขอตำหนิ เพราะไม่รู้จักปลุกเจ้ากระต่ายบ้างเลย หลับตาเชียร์กันหรืออย่างไร

เต่ามันเจียมตัวแต่ก็ไม่มีปมด้อย หลักชัยยังอยู่อีกไกลลิบ แต่ก็ตั้งใจเดินไป ในที่สุดก็ได้ชัยชนะ

ย้อนกลับมาคิดถึงมนุษย์ ไม่มีใครชนะทุกครั้งและแพ้ทุกครั้ง มันเป็นธรรมชาติและธรรมดาของชีวิต มีขึ้นก็มีลง เคยอยู่อย่างผยองก็กลับพลาดล้มยับเยิน

ไม่มีทางตันและจนแต้มสำหรับคนที่เพียรพยายาม ทางออกมีอยู่เสมอถ้าใฝ่แสวงหา ขออย่างเดียวใจอย่าแพ้ อย่ายอมให้ใจตกใจต่ำและใจหาย

โลกมีที่ยืนให้เสมอ

Back to Top