โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2548
๑คำว่า holiday ของฝรั่งมาจาก holy ผนวกเข้ากับ day holy แปลว่า ศักดิ์สิทธิ์ วันหยุดของฝรั่งกับวันพระของไทยแบบเดิม ก็เป็นวันให้เราหยุดจากกิจการงานตามปกติที่ทำเป็นกิจวัตรทั้งปวงลง เพื่อให้มีเวลาใคร่ครวญ พัฒนาตนเองด้านในหรือด้านจิตวิญญาณ
ในวันพระ ในวันหยุด ในวันศักดิ์สิทธิ์ เราจะหยุดจากภารกิจต่างๆ เราจะลดทอนความเร็วของชีวิตให้ช้าลง ให้รู้สึกผ่อนคลาย ให้รู้สึกว่าได้พักผ่อน
ผมคิดถึงการปรับคลื่นให้ช้าลง ถอยจากคลื่นเบต้าอันมีฐานอยู่ที่จิตสำนึกและสมองซีกซ้าย มาสู่คลื่นอัลฟ่าที่มีฐานครอบคลุมไปถึงจิตไร้สำนึกทั้งมวลและสมองทั้งก้อน คือทุกชั้น (๓ ชั้น) และทุกซีก รวมถึงสมองส่วนหน้าด้วย
นึกถึงคำว่า วิตก วิจาร ในองค์ประกอบสองในห้าประการของสมาธิชั้นต้น วิตก วิจาร นี้หมายถึง ตรึกตรอง ใคร่ครวญ หมายถึง โยนิโสมนสิการ การพิจารณา ใคร่ครวญอย่างแยบคายในเรื่องราวต่างๆ
ลำพังเมื่อเราใคร่ครวญ สมองส่วนหน้าจะทำงานและโดยอัตโนมัติ อมิกดาลา (Amygdala) อันเป็นที่ตั้งของร่องอารมณ์หรืออารมณ์ลบทั้งหลายก็จะหยุดทำงาน
ร่องอารมณ์ในอมิกดาลานี้เองที่ขับเคลื่อนเราไปสู่คลื่นเบต้า รอบจัดหมุนเร็วและเป็นอัตโนมัติ ทำให้ความคิดดีๆ แทรกเข้ามาไม่ได้
เมื่อร่องอารมณ์ไม่เกิดและเมื่อมีความผ่อนคลายและการวางใจ เราก็เข้าสู่คลื่นอัลฟ่าได้อย่างรวดเร็ว หลุดจากกรอบสมมติของโลก
๒เวลาเราเข้ามาอยู่ในกาลเวลาแห่งวันหยุด เราต้องนำพากายและใจของเราเข้ามาสู่ความรู้สึกของการเป็นวันหยุด แม้แต่เซลล์แต่ละเซลล์ในร่างกายของเรา ก็ให้พวกเขาได้ระลึกถึงความเป็นวันหยุด ผมจำได้ว่าในวัยเด็ก เวลานอนหลับบนเตียง เราจะเอาเท้า มือ และร่างกายของเราถูไถไปกับผ้าคลุมเตียงผืนใหม่เบาๆ เราจะรู้สึกปลอดภัยและพร้อมที่จะนอนหลับพักผ่อน
ความรู้สึกของวันหยุดนั้น เซลล์ในร่างกายของเราก็จดจำได้เช่นกัน เราจะทำความรู้สึกเช่นนั้นให้อยู่ในเซลล์ของเรากับกายของเราในทุกๆ อณู ให้รู้สึกถึงความผ่อนคลาย โปร่งโล่ง เบาสบาย และเป็นสุข
๓โดยที่วันหยุดมีความเป็นวันพระหรือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นวันของพระเจ้านั้น วันหยุดจึงมี
ความหมายต่อชีวิตของเรามาก มันหมายความว่าวันหยุดจะเป็นวันที่เราถอยออกมาจากโลกของซีซาร์ หรือจากโลกของอาณาจักรมาสู่โลกของพระเจ้า หรือโลกที่ไปพ้นกรอบจำกัดของสมมติสัจจะทั้งหลาย ถอยออกมาจากโลกที่สังคมมนุษย์ยังติดงมงายอยู่ว่าอะไรดี ไม่ดี แต่เรากลับมาหาคุณค่าแท้ของชีวิตมากกว่าคุณค่าเทียมที่สังคมยึดถือ
เช่น เราถอยพ้นออกมาจากโลกของการเปรียบเทียบ ในทางเต๋า การเปรียบเทียบเป็นศัตรูร้ายของหัวใจ เมื่อใดก็ตามเพียงเราหยุดเปรียบเทียบ หัวใจก็จะเป็นสุข หัวใจก็จะทำงานได้อย่างชุ่มฉ่ำ มีชีวิตชีวา ในวันหยุด เราก็ให้หัวใจหยุดพักด้วย ด้วยการหยุดเปรียบเทียบ
ในทางพุทธ มานะคือการเปรียบเทียบ เป็นสังโยชน์หรือตัวผูกรัดที่ทำให้เราไม่เป็นอิสระ เมื่อเราเป็นอิสระจากการเปรียบเทียบ เมื่อเราละวางมานะลงเสียได้ จิตก็จะเป็นอิสระ ติดปีกโบยบินไปสู่ความหลุดพ้น
โลกของซีซาร์ โลกของอาณาจักร มีแต่ความเคร่งเครียด การเปรียบเทียบทำให้เกิดการแข่งขัน ทำให้เกิดความเครียด ทำให้คลื่นสมองของเราเป็นคลื่นเบต้า คลื่นเบต้าหมายถึง โลกแคบๆ ที่มีแต่ความเร่งรีบ ต้องแข่งขันกันจนไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง เป็นโลกที่ยึดมั่นในวิถีปฏิบัติเดิมๆ กรอบคิดเดิมๆ ที่คับแคบและตายตัว
เมื่อเราถอยออกมาสู่โลกของพระเจ้า เมื่อเราถอยออกมาอยู่ในโลกของธรรมมะ เราวางข้อเปรียบเทียบต่างๆ เหล่านั้นลงและเราจะรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ความคิดดีๆ เกี่ยวกับชีวิตก็อาจจะผุดโผล่ขึ้นมาได้ในยามที่คลื่นสมองเป็นคลื่นอัลฟ่านั้น
๔เมื่อเราพูดถึงความศักดิ์สิทธิ์หรือ holy (จริงๆ คำว่า holy ก็มาจากคำว่า whole หรือองค์รวมนั่นเอง) เราจะนึกถึงการเรียกพื้นที่ของธรรมะหรือความเข้าใจในวิถีแห่งธรรมชาติกลับคืนมาให้แก่ชีวิตของเรา เป็นพละกำลังและเป็นสิทธิอันชอบธรรม เป็นสถานะอันควรที่จะเรียกคืนมาซึ่งชีวิตที่ดำเนินไปอย่างถูกครรลองแห่งธรรมชาติ
นึกถึงภาพของภิกษุสิทธัตถะ เมื่อเผชิญหน้ากับพญามารที่จะมาเรียกคืนพื้นที่ของท่าน ท่านได้ชี้ลงที่แผ่นดินที่นั่งอยู่และบอกกับพญามารว่า “ที่นี่ของข้าฯ”
ชีวิตของเรามีเมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นอิสระ เมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตในครรลองแห่งธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อยู่ เราต้องเรียกสิทธิที่จะเปิดพื้นที่ให้เมล็ดพันธุ์เช่นนั้นได้บ่มเพาะและงอกงามขึ้นบนผืนนาแห่งวันหยุด อันเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ของเรา
แสดงความคิดเห็น