ปีติสุขกับการกินอาหารอย่างมีสติ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 4 มิถุนายน 2548

ช่วงเวลาที่เรารู้สึกผ่อนคลาย เบาสบายหรือแม้แต่รู้สึกสบายใจด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราอาจจะรู้สึกว่าตัวเราเองยิ้มได้ง่าย บางครั้งรู้สึกอยากหัวเราะหรือแม้กระทั่งบางครั้งสามารถหัวเราะออกมาได้เองคนเดียว

แต่ความรู้สึกที่ผ่อนคลายเบาสบายบางครั้งก็ไม่ได้ทำให้เราเกิดเสียงหัวเราะแบบนั้นได้ กลับกลายเป็นความรู้สึก “ตื้นตันใจ” จนกระทั่ง “น้ำตาไหลออกมาเอง” แบบว่าอบอุ่น ปลอดภัยและรู้สึกมั่นคงแบบลึกที่ด้านในของเรา

ในการประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งที่ ๒๑ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ ผมรู้สึกผ่อนคลายแบบหลังนี้ คือเป็นความสุขแบบสำรวมที่ไม่มีเสียงหัวเราะ แต่เป็นความสุขแบบตื้นตันใจและอบอุ่น ทั้งนี้เพราะการประชุมครั้งนี้ ดร.จารุพรรณ กุลดิลก ผู้ประสานงานโครงการฯ ได้นิมนต์ “พระภิกษุณีนิรามิสา” และคณะฯ ที่มาจากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส มาพูดคุยและเล่าถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตของท่านที่หมู่บ้านพลัมของท่านติช นัท ฮันห์ พระชาวเวียดนาม

หลวงพี่นิรามิสาเป็นคนไทยที่ไปบวชอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานหลายปีแล้ว

แม้ว่าผมจะเป็นแฟนตัวยงที่เรียกได้ว่าติดตามงานเขียนของท่านติช นัท ฮันห์มาตลอด (ท่านติช นัท ฮันห์ เขียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษมากกว่าห้าสิบเล่ม) อีกทั้งผมได้มีโอกาสคลุกคลีนัวเนียอยู่กับอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ผู้ซึ่งนับได้ว่าเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของท่านติช นัท ฮันห์ อีกผู้หนึ่ง อาจารย์วิศิษฐ์ สามารถ “ไขปริศนา” ของท่านนัท ฮันห์ ให้กับผมได้เสมอในช่วงที่ศึกษางานเขียนของท่านจำนวนมากกว่าสิบเล่มในช่วงหลายปีก่อน และแม้เรื่องราวที่หลวงพี่นิรามิสาเล่ามาทั้งหมดในวันนั้นเกือบจะไม่ได้มีอะไรที่ใหม่ไปจากหนังสือของท่านติช นัท ฮันห์ ที่ผมเคยอ่านมาก่อนแล้ว ผมกลับพบประสบการณ์ที่ “แปลก” ว่าเรื่องที่หลวงพี่เล่านั้นเป็น “เรื่องเก่าที่ไม่เก่า” เป็นเรื่องเก่าที่ผมสามารถเรียนรู้ได้ใหม่เพิ่มอีกเหมือนกับการขึ้นบันไดเวียนที่เหมือนกับว่าซ้ำที่เก่าแต่แท้จริงอยู่สูงขึ้นไปจากเดิมนั่นเอง

หลวงพี่นิรามิสาเล่าเรื่องหมู่บ้านพลัมด้วยน้ำเสียงเนิบนาบ เป็นจังหวะแต่มีพลัง สลับกับการ “เชิญระฆัง” เพื่อเจริญสติและการร้องเพลงสวดมนต์เป็นระยะๆ ช่างเหมือนกับงานเขียนที่มีเว้นวรรคหรือขึ้นบรรทัดใหม่ ที่ช่วยให้ผู้อ่านไม่รู้สึกอึดอัดกับตัวอักษรที่แน่นเกินไปเป็นพืด หลวงพี่บอกว่าที่ใช้คำว่า “เชิญระฆัง” และไม่ใช้คำว่า “ตีระฆัง” ก็มีความหมายถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและให้เกียรติกับทุกสรรพสิ่งแม้แต่กับระฆังที่ส่งเสียงมาช่วยให้เราได้มีสติเป็นระยะๆ

ตลอดเวลาที่ฟังเรื่องราว ผมรู้สึก “ปีติสุข” แบบตื้นตันใจจริงๆ

เมื่อจบเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับหมู่บ้านพลัม รวมไปถึงเรื่องราววิธีการของ “การเฝ้าดูอารมณ์” แบบที่ท่าน ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ได้เอ่ยถึงไว้บ้างในคอลัมน์นี้เมื่อสองสัปดาห์ก่อนแล้ว (“เมื่อรู้สึกขัดใจ ต้องขัดที่ใจ”, มติชนรายวัน ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘) ในช่วงท้ายสุดหลวงพี่นิรามิสาให้พวกเราทั้งหมดได้ลองกินอาหารอย่างมีสติที่ผมพบว่ามีประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ได้อย่างน้อยสามประการคือ

หนึ่ง เริ่มตั้งแต่การเดินอย่างมีสติเพื่อไปตักหรือไปซื้ออาหาร ทำให้เราไม่ตักอาหารมากเกินไป ไม่ซื้ออาหารมามากเกินความต้องการ ชนิดของอาหารให้เป็นไปตามความต้องการของแต่ละคน รวมไปถึงจำนวนมื้อของอาหารก็เช่นกัน แต่ละท่านมีความต้องการทางกายภาพที่ไม่เหมือนกัน การค่อยๆ เคี้ยวอาหาร การฝึกที่จะไม่พูดคุยกัน ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูทีวีขณะที่กำลังกินอาหาร ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของการฝึกตนเพื่อดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ

การได้ใคร่ครวญและใช้ความละเอียดกับปัจจุบันขณะในการเดินและกิจกรรมต่างๆ เป็นแบบฝึกหัดที่ดีของการฝึกใช้ชีวิตที่ละเอียด ไม่คิดสับสนวุ่นวายหลายเรื่องแบบนี้ เป็นการทำให้คลื่นสมองของเราช้าลง จากเบต้าเวฟ (๑๓-๒๖ Hz) เป็นอัลฟาเวฟ (๘-๑๓ Hz) หรือถ้าฝึกไปเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้คลื่นสมองช้าไปกว่านั้นได้อีกเป็นเธต้าเวฟ (๔-๘ Hz) และเดลต้าเวฟ (๐.๕-๔ Hz) ได้ในที่สุด งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากมายล้วนแล้วแต่บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นประโยชน์กับตัวของผู้ฝึกในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นสุขภาพที่ดีขึ้น การเรียนรู้ดีขึ้น เกิดญาณทัศนะ ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นดีขึ้น ฯลฯ

สอง หลวงพี่บอกว่า เมื่อเรากำลังกินและเคี้ยวอาหารอยู่นั้น ถ้าเราได้มีโอกาส “มองให้ลึกๆ” เราจะมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เช่น เมื่อเรากำลังเคี้ยวเต้าหู้อยู่นั้น เราจะมองเห็นว่าเต้าหู้ทำมาจากเมล็ดถั่วเหลือง เมล็ดถั่วเหลืองถูกปลูกโดยชาวไร่ชาวสวน เมล็ดถั่วเหลืองจะต้องอาศัยดินที่อุดมสมบูรณ์กว่าจะเป็นต้นโตและออกเมล็ดได้ ต้องอาศัยน้ำ ต้องอาศัยแสงแดดและก๊าซต่างๆ เพื่อมาทำการสังเคราะห์แสง

เมื่อเราสามารถมองเห็น “ความเชื่อมโยงต่างๆ” เหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้เราเข้าใจ “ธรรมชาติของสรรพสิ่ง” ได้ง่ายมากขึ้น หลวงพี่บอกว่า “การเคี้ยวเต้าหู้” ของเราจึงเปรียบเสมือนว่าเรากำลัง “เคี้ยวจักรวาล” ทั้งหมดอยู่ในปากของเรานั่นเอง

เรื่องนี้เป็นเรื่องราวเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ใหม่ที่เน้นถึงความเชื่อมโยงเป็นองค์รวมทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก เหมือนกับที่ ฟริตจอป คาปรา นักฟิสิกส์ชื่อดังใช้คำว่า “web of life” และเป็นวิทยาศาสตร์ที่ไม่แยกส่วนแบ่งส่วนอย่างวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตัน

สาม การค่อยๆ เคี้ยวอาหารทำให้เราได้มีโอกาสขอบคุณอวัยวะต่างๆ ของเราไม่ว่าจะเป็นฟันเป็นลิ้นที่ช่วยในการเคี้ยว เป็นกระเพาะอาหารที่ช่วยย่อยอาหาร เป็นลำไส้ที่ช่วยย่อยและดูดซึมแร่ธาตุต่างๆ ที่มีประโยชน์กับร่างกาย การสร้างความรู้สึกขอบคุณยังนำไปสู่ความรักความเมตตากับอวัยวะต่างๆ ของเรากับเซลล์ต่างๆ ของเราที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี

การขอบคุณแบบนี้เข้าได้กับเรื่อง “การพูดคุยกับเซลล์” ซึ่งเป็นเรื่องราวหนึ่งในวิทยาศาสตร์การแพทย์กระบวนทัศน์ใหม่ที่เชื่อเรื่องความเชื่อมโยงแบบองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับเซลล์เล็กเซลล์น้อย เชื่อการสื่อสารกันได้ผ่านคลื่นพลังงานในรูปของคลื่นความคิด

ต่างๆ เหล่านี้เราจะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์แบบใหม่ที่อ่อนโยน นอบน้อมถ่อมตนต่อโลกและธรรมชาติ ที่ทำให้แม้แต่กับเรื่องการกินอาหารแบบธรรมดากลายเป็นการกินอาหารที่ก่อให้เกิดปีติสุขแบบไม่ธรรมดา เป็นปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอได้นั่นเอง

Back to Top