วิถีแห่งพุทธะ - สู่สังคมความเป็นหนึ่งเดียวกัน

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2548

วาระเร่งด่วนข้อหนึ่งของอียู (European Union) เพื่อการประชุมจี-๘ ที่จะมีขี้นในสก็อตแลนด์เร็วๆ นี้ เป็นเรื่องความช่วยเหลือทางการเงินแก่ชาวโลกที่ยากไร้ หิวโหย และกำลังจะอดตาย โดยประเทศร่ำรวยมากๆ ของยุโรป (๑๕ ประเทศ) - เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ขององค์การสหประชาชาติที่จะลด “คนไม่มีจะกินจริงๆ ของโลก” ให้ลดลงครึ่งหนึ่งในปี ๒๐๑๐ - ตกลงที่จะบริจาครายได้ ๐.๕๑ เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตรวมของประเทศตนมาลงขันร่วมกัน ส่วนชาติที่ไม่รวยนักของยุโรป (๑๐ ชาติ) - ส่วนมากอยู่ในยุโรปตะวันออก ก็เต็มใจที่จะบริจาครายได้ของตน ๐.๑๗ เปอร์เซ็นต์เข้าไปสมทบ คาดว่าเงินช่วยเหลือจำนวนนี้ จะมีประมาณ ๘๐ พันล้านเหรียญต่อปี ซึ่งเป็นสองเท่าของเงินประจำปีที่เคยบริจาคกัน ทั้งหมดนี้ นัยว่าสหภาพยุโรปต้องการตัดนิ้วก้อยของตัวเองเพื่อประชดประเทศยักษ์ใหญ่ที่ร่ำรวยที่สุด และรองๆ ลงมา ที่สัญญาลมปากว่าจะช่วย แต่ไม่ช่วยตามที่สัญญาไว้ ให้รูสึกละอายแก่ใจตนเองบ้าง ทั้งๆ ที่ความร่ำรวยทุกบาททุกสตางค์ของประเทศเหล่านั้น ต่างก็ได้มาจาก “โอกาสที่ดีกว่าของชาวตะวันตก” การถลุงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของมนุษย์โลกทุกๆ คน ภายใต้หลักเกณฑ์กติกาหรือกฎหมาย “มัดมือชก” - ที่ก็ต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว - ที่ต่อมาได้สร้างปัญหาระดับโลกและก่อมหาวิกฤติที่เราก่อนนี้ไม่เคยเห็นกัน แต่ทุกวันนี้กลับมีถี่กระชั้นจนน่ากลัว ทำให้วลีต่างๆ เหล่านี้หลุดออกมา เช่น “หากเราไม่ช่วยกันเสียแต่วันนี้แล้ว มนุษย์โลกทั้งหมดรวมทั้งเราที่อยู่ในประเทศที่ร่ำรวยด้วย - ที่คิดว่าตัวเองไม่เกี่ยว - ก็ต้องพลอยล่มสลายฉิบหายไปด้วย”

ความยากจนด้อยโอกาสแบบนี้ได้ปรากฏในข่าวของบีบีซีเวิร์ลด์ปลายเดือนพฤษภาคม เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบังคลาเทศออกมาพูดว่า “ไม่กี่วันจากนี้ พื้นที่ลุ่มต่ำของประเทศที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง ๐.๔๕ เมตรจะต้องถูกน้ำท่วมอย่างถาวร คน ๒๐ ล้านคนต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นอย่างแน่นอน คนที่แสนจะยากจนมาตั้งแต่ไหนแต่ไรของเรา - มีก็น้อยใช้ก็น้อยมาตลอดแม้ในวันนี้ - ที่ใช้ก็แต่พลังงานธรรมชาติ ใช้ฟืนสำหรับหุงข้าว และใช้เทียนไขให้ความสว่างในตอนกลางคืน ทำไม? เราที่ไม่ได้ทำร้ายธรรมชาติเลยจึงต้องรับเคราะห์แทนประเทศที่ร่ำรวยและทำร้ายธรรมชาติด้วย?”

ผู้อ่านแทบทุกคนคงต้องเคยได้อ่าน หรือได้ยินคำพูดของ เอ็ดการ์ มิตเชลล์ นักบินอวกาศที่ไปเหยียบดวงจันทร์เมื่อต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ ที่ผู้เขียนเองเคยเอามาเขียนเล่าไว้เมื่อ ๘ ปีก่อน (เรื่อง “โลก-บ้านของเรา” ที่เอามาจากหนังสือ The Way of the Explorer, ๑๙๙๖) เอ็ดการ์ มิตเชลล์ ผู้รับประสบการณ์ความรู้สีก “ความเป็นหนึ่งเดียวกันกับทุกสิ่ง” เมื่อเขามองเห็นโลกที่ล่องลอยท่ามกลางความมืดของห้วงอวกาศ จากหน้าต่างแค็ปซูลอวกาศ - โลกสีน้ำเงินที่ห่อหุ้มด้วยปุยเมฆสีขาวบริสุทธิ์ ความเป็นหนึ่งเดียวกันของทั้งหมดที่ยังความสงบ ปีติ และความอิ่มเอิบใจอย่างบอกไม่ถูกให้กับตัวเขา “ไม่เห็นมีเส้นหรือขอบเขตที่แยกแบ่งโลกแบ่งเราและสรรพสิ่งทั้งหลายให้แยกออกจากกันเลย”

แต่ทำไม? มนุษย์ที่ “ประเสริฐ” กลับทำตรงกันข้ามกับธรรมชาติทุกอย่าง? หรือนั่นคือกำหนดการที่เราทั้งผองต้องเรียนรู้? รู้ว่าคน - กับมวลชีวิต - มีความเท่าเทียมกัน

นานเป็นทศวรรษๆ ก่อนหน้านั้น นักคิดนักเขียนหลายคนทั่วทั้งโลก ต่างก็คิดไปทางแนวทางนั้น รวมทั้งผู้เขียนด้วย ดังได้พูดได้เขียนมาตลอดเวลาร่วม ๑๕ ปี ถึงความเป็นไปได้ของสภาวะล่มสลายระดับโลก (mass extinction) ที่เกิดจากอวิชชาและความโลภ กับเศรษฐกิจการตลาดเสรีที่ทำร้ายธรรมชาติจนเกินความสามารถที่จะสนองตอบได้ เพราะเราได้ทำลายไปจนไกลเกิน ที่ไม่ว่าอย่างไร วันนี้ มันได้สายไปเสียแล้วที่จะทำให้ธรรมชาติ - ทั้งฟิสิโอสเฟียร์และไบโอสเฟียร์ - กลับไปเป็นเช่นเดิมก่อนหน้ายุคพัฒนาอุตสาหกรรม หรือที่เรียกๆ กันว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อีก ไม่ว่าด้วยความคิดที่ฉลาดปราดเปรื่องของใครและอย่างไร ดังนั้น ทุกวันนี้ แม้เราบางคนจะมองเห็นและเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ในภาพรวม เราคงไม่สามารถปกป้องคุ้มครองสังคมโลกส่วนใหญ่เอาไว้ต่อไปได้ เราส่วนใหญ่ที่ไม่รู้ตัว จึงเหมือนนั่งรอนอนคอยภัยธรรมชาติ ที่สุดจะยิ่งใหญ่ชนิดต่างๆ ที่จะโหมกระหน่ำหวลกลับมาทำร้ายเรา ภัยธรรมชาติ - ที่โดยแทบไม่ยกเว้น - ไม่ได้มีต้นเหตุจากธรรมชาติ หากแต่เป็นผลของการพัฒนาและเทคโนโลยีสนองความอยากของเราทั้งนั้น ภัยพิบัติที่จะทำให้คลื่นยักษ์สึนามิกลายเป็นเรื่องเด็กเล่น เป็นต้นว่า ไข้หวัดนกหรืออุกาบาตที่ตกลงมาชนโลก ตอนนั้น - แม้จะรู้ตัวว่าเราแยกกันไม่ได้ - ก็สายเกิน

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราที่รู้แล้วและที่ห่วงใยโลกและมนุษยชาติ จะนั่งรอความหายนะอยู่เฉยๆ วิถีแห่งพุทธะเป็นหนึ่งของความไม่อยู่เฉยนั้น

เมื่อประมาณหนึ่งปีเศษๆ มาแล้ว ผู้เขียนได้เขียนเรื่อง “วิถีแห่งพุทธะกับการปฏิวัติการศึกษาโลก” โดยมีเนื้อหาสาระบางส่วน ดังนี้

“...มนุษย์เราทุกคนและสังคมมนุษย์ทุกสังคมต่างมีวิวัฒนาการทางจิตมาตลอด...และจะมีสูงกว่านี้...พระพุทธเจ้าถึงได้บอกว่า ต่อไปมนุษย์ทุกคนจะต้องได้นิพพาน ซึ่งเหตุผลที่พระองค์ให้ไว้มีว่า เพราะมนุษย์เราก็มีหน้าที่ที่สูงส่งไปกว่านี้เช่นเดียวกัน นั่นคือนอกเหนือจากการเรียนรู้ธรรมะและความจริงแท้มากขึ้นแล้ว เรายังจะต้องเรียนรู้การดูแลรักษาและจรรโลงไว้ซึ่งมวลชีวภาพอันหลากหลายให้ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสมภาพ สมดุล...พอเพียง พอดีและยั่งยืน

“...ระบบการศึกษาที่จะทำให้เราเรียนรู้หน้าที่ได้ทั้งหมดดังที่กล่าวมานั้น จึงครอบคลุมกว้างกว่าประเด็นของกาย...หรือตัวตน ตัวกูของกู...สังคมกูประเทศกู...หากต้องครอบคลุมเรื่องของจิตและจิตวิญญาณที่ร้อยรวมทั้งหมดไว้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วย นั่นคือระบบการศึกษาจะต้องเตรียมพร้อมให้เราเรียนรู้หน้าที่ทั้งหลายที่เราต้องกระทำ อันดับแรก เราต้องเรียนรู้ตัวเองและเรียนรู้โลกกายภาพรอบๆ ตัวที่บ้าน...ที่อบอวลด้วยวัฒนธรรมและพิธีกรรมของศาสนา

“อันดับต่อมา เราเรียนรู้สังคม ความสัมพันธ์และหน้าที่ของเราต่อสังคม ที่ไล่ขึ้นไปตามลำดับ...เรียนรู้การทำมาหากินหาอาชีพหาเงิน เพื่อการอยู่รอดของตนเองเท่านั้น...นั่นคือการศึกษาในระบบที่เรียนที่โรงเรียน ที่เรา - จากนั้น - คิดว่ากูรู้หมดแล้ว และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ที่ไม่จริงเลย จริงๆ แล้วเรายังมีหน้าที่ที่สูงส่งยิ่งกว่านั้น คือเรายังมีหน้าที่...เนื้อในบางอย่างที่บางทีทำให้ (ความรู้สึกต่อหน้าที่) มาโดยไม่รู้ตัว...ไม่ได้คิด...นั่นคือหน้าที่ดูแลมนุษย์ด้วยกันเองให้อยู่รอด (ดังที่เป็นหน้าที่หลักของสหประชาชาติกับยุโรปที่ยกเป็นตัวอย่างข้างบน) รวมทั้งการอยู่รอดของมวลชีวภาพและสิ่งแวดล้อมอันหลากหลาย...ประเด็นทางจิตที่เคยเป็นหน้าที่ของสงฆ์ และเรียนกันที่วัด แต่เมื่อโลกแคบลง และเมื่อประชาชนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการแยกวัดจากบ้านจากโรงเรียน การเรียนรู้และฝึกฝนในด้านของจิตและจิตวิญญาณจึงหายไปทั้งแผง..

“ระบบการศึกษารูปแบบใหม่ ที่เรียกว่าโรงเรียนวิถีพุทธนั้น เพิ่งเริ่มมีขึ้นไม่กี่โรงเรียน เมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ได้แพร่สะพัดอย่างรวดเร็ว...เพิ่มเป็น ๑๒,๐๐๐ โรงเรียนในปัจจุบัน (คาดว่าขณะนี้อาจมีร่วม ๓๐,๐๐๐ โรงเรียนแล้ว)

“ที่...หากคิดว่าโรงเรียนวิถีพุทธคือการปฏิวัติหรือวิวัฒน์การศึกษาระดับมูลฐานของระบบที่บ้านเรา โดยเน้นจิตใจและจิตวิญญาณเพิ่มเติมขึ้นมาจากการศึกษาเพื่อเรียนรู้โลก ตัวเอง กับเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับโลก...แต่นั่นไม่พออย่างแน่นอน หากว่าเราพิจารณาจากทางรอดของเผ่าพันธุ์ทั้งหมด - เราคงอยู่ไม่รอด หากเราในที่อื่นๆ อยู่ไม่รอด...เราจึงต้องมีการศึกษารูปแบบที่ใหญ่กว่าวิถีพุทธขึ้นมา หรือที่ผู้เขียนอยากเสนอ มีรูปแบบของการศึกษา “วิถีแห่งพุทธะ” ขึ้น มาเพื่อให้ครอบคลุมเราทั้งเผ่าพันธุ์...ทำให้มันเป็นระบบการศึกษาของโลก...”

นั่นคือเนื้อหาสาระที่ผู้เขียนขอนำเสนอ เพราะว่าชีวิตทุกชีวิตโดยความหมายล้วนมีความสำคัญอยู่ที่เราแยกจากกันไม่ได้ นั่นคือหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่เราส่วนใหญ่ไม่ได้เอามาคิด ที่สำคัญคือ วิถีแห่งพุทธะคือเส้นทางนั้น เส้นทางการปฏิบัติที่นำสู่วิวัฒนาการของจิตวิญญาณ นำสู่ปัญญารู้รอบและรู้หน้าที่ของเรา โดยมีวิธีและรูปแบบการปฏิบัติจิตที่มีเป้าหมายอันสากล ที่ทุกๆ ศาสนาก็มีการปฏิบัติกันอยู่แล้ว (คำว่าพุทธะนั้นท่านพุทธทาสภิกขุ แปล ว่า ผู้รู้ความจริงแท้ หรือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) ส่วนคาร์ล จุง ใช้คำ พุทธะ ว่า all good Buddhahood ในความหมายเดียวกันกับสัทธรรมความจริงแท้ หรือสุญตา (ดู Psychological Commentary ของหนังสือ Tibetan Book of the Dead, ๑๙๒๗)

สำหรับความเห็นส่วนตัวนั้น ผู้เขียนคิดว่าทุกศาสนาสอนการปฏิบัติโดยเน้นที่สองระดับ คือ หนึ่ง การปฏิบัติตน (อันเป็นการปฏิบัติกาย) โดยเส้นทางภายนอกเป็นส่วนใหญ่ - และจิตใจ - เพื่อการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคม โดยเน้นที่ศีลธรรม จริยธรรม ความดีงาม (righteous path) กับ สอง การปฏิบัติจิตที่ละเอียดกว่าระดับที่หนึ่ง หรือการปฏิบัติสมาธิ โดยเส้นทางภายในสู่วิวัฒนาการแห่งจิตวิญญาณ (spiritual path) สู่สภาวะผ่านตัวตน (transcendence) กระทั่งหลุดพ้น (enlightenment)

การปฏิบัติระดับที่หนึ่งนั้น คือการปฏิบัติศาสนา (secular religion) ที่มักมีพิธีกรรมชี้นำ ดังที่ปฏิบัติกันในโรงเรียนวัด คอนแวนต์ ปอเนาะ มาแต่ไหนแต่ไร เป็นสิ่งที่ดีงามดังได้กล่าวไปแล้วก็จริง แต่ยังมีสองสิ่งประกอบเป็นเนื้อในที่ชี้บ่งอัตตาตัวตน (ที่เรามีหน้าที่ต้องเรียน รู้ และผ่านพ้น) คือ หนึ่ง วัฒนธรรมแยกส่วน ที่เน้นตัวกูของกูให้กับเด็ก กับ สอง เน้นความศรัทธาและการบูชาปวารณาตัวศาสนนิยม ดังนั้นเองท่านทะไลลามะถึงได้พูดว่า “...โลกได้วิวัฒนาการผ่านมาพอสมควรแล้วที่เราในศาสนาต่างๆ ควรเลิกความพยายามที่จะดึงคนที่นับถือศาสนาอื่นให้หันมานับถือศาสนาตน โดยเฉพาะหันมานับถือพุทธศาสนาสายทิเบต อาตมาไม่ต้องการเอาหัวแกะมาต่อกับจามรี...เรื่องของจิตวิญญาณและการหลุดพ้นนั้นเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน และการเข้าถึงภาวะผ่านพ้นตัวตน (transcendence) ก็มีปฏิบัติในทุกๆ ศาสนา” (จาก Destructive Emotions, ๒๐๐๐)

นั่นยิ่งเป็นการชี้บ่งว่า - วิถีแห่งพุทธะ มีความสำคัญต่อการปฏิวัติระบบการศึกษาโลกเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความเร่งด่วนยิ่งขึ้นอย่างไร

Back to Top