ตรรกศาสตร์สมานฉันท์

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2548

ในปี ค.ศ. ๑๙๖๕ เมื่อศาสตราจารย์ล็อตฟี เอ ซาเดห์ แห่งมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องตรรกศาสตร์แบบฟัซซี (Fuzzy Logic) หรือตรรกศาสตร์สมานฉันท์ วงการวิทยาศาสตร์กระแสหลักก็ถึงกับสะเทือนหวั่นไหว

เพราะอะไรน่ะหรือ?

ตรรกศาสตร์ดั้งเดิมนั้นมีรากฐานมาตั้งแต่สมัยอริสโตเติล ผู้ก่อตั้งระบบตรรกศาสตร์แบบทวิภาค ค่าความจริงทางคณิตศาสตร์มีได้เพียงหนึ่งค่าเท่านั้น นั่นคือ ถูกหรือผิด ขาวหรือดำ ตรรกศาสตร์แบบขาว/ดำนี้ได้หยั่งรากมั่นคง และเป็นพื้นฐานสำคัญของวิทยาศาสตร์แบบนิวตันจนถึงปัจจุบัน

เมื่อซาเดห์กล่าวว่า ค่าความจริงมีได้หลายระดับ ไม่ได้มีเพียงถูกหรือผิด ขาวหรือดำ เท่านั้น เขาก็ถูกโจมตีจากนักวิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตกอย่างรุนแรง แต่กลับได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักวิทยาศาสตร์ทางตะวันออก เขาได้รับเชิญไปบรรยายที่ญี่ปุ่น และนับแต่นั้น วงการวิจัยของญี่ปุ่นก็ทุ่มเทให้กับตรรกศาสตร์แบบ “ฟัดจี้”

นวัตกรรมใหม่ล่าสุดของโลกล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์นี้ ว่ากันว่า ในขณะที่รถไฟฟ้าชินคันเซ็นของญี่ปุ่นซึ่งมีระบบออกตัวและเบรคที่ดีที่สุดของโลกถูกสร้างโดยตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์นี้ วิศวกรผลิตรถรางไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดที่นิวยอร์กยังไม่เคยได้ยินคำว่า “ฟัซซี” ด้วยซ้ำไป

ปัจจุบันนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าแทบทุกชนิด นับตั้งแต่เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ กล้องถ่ายรูป กล้องวีดีโอ เครื่องดูดฝุ่น ไปจนถึงอุปกรณ์การแพทย์อันซับซ้อน ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์ ซาเดห์เองได้รับรางวัลเกียรติคุณจากหลายแห่ง รางวัลสูงสุดก็คือ เหรียญเกียรติยศจากไอทริปเปิลอี ซึ่งเทียบได้กับโนเบลทางด้านคอมพิวเตอร์

ซาเดห์ไม่ใช่บุคคลแรกที่กล่าวว่าค่าความจริงมีได้หลายระดับ พระพุทธเจ้าเคยกล่าวว่าโลกล้วนประกอบด้วยคู่ตรงข้าม เต๋ากล่าวว่าในหยินมีหยาง ในหยางมีหยิน หรือที่ติช นัท ฮันห์กล่าวว่า “ก ประกอบด้วย ก และ สิ่งที่ไม่ใช่ ก” นักคิดตะวันตกอย่างพลาโต เฮเกล มาร์กซ์ เองเงล และลูคาซีวิคซ์ ก็กล่าวว่า เส้นแบ่งระหว่างสีดำและสีขาวล้วนประกอบด้วยสีเทาจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าซาเดห์เป็นบุคคลแรกที่สามารถเชื่อมต่อโลกทรรศน์ที่ไม่แบ่งแยกเข้ากับระบบคณิตศาสตร์ร่วมสมัยได้สำเร็จ ตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า การทำความเข้าใจโลก หรือระบบปัญหาอันซับซ้อน จำต้องใช้ความคิดที่พ้นไปจากการแบ่งแยกเพียงขาว/ดำ

ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงล้วนตั้งอยู่บนทัศนะที่ว่าฝ่ายเราถูก อีกฝ่ายผิด เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ความเป็นมนุษย์ของเขาจะถูกทำลาย เพื่อที่อีกฝ่ายหนึ่งจะมีความชอบธรรมในการปฏิบัติกับเขาอย่างสิ้นไร้ความยึดถือความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย ทัศนะเช่นนี้เกิดจากการแบ่งถูก/ผิดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อเห็นคนกระทำผิด ก็มองเห็นว่าผิดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ มองไม่เห็นความดีอื่นเลย หากประกอบด้วยอารมณ์โกรธเกลียดเข้าด้วยแล้ว คนที่กำลังโกรธกำลังเกลียดยิ่งมีพฤติกรรมแยกส่วนชัดเจน คือ มองเห็นว่าคนที่ตนกำลังโกรธหรือเกลียดนั้นประกอบด้วยความเลวร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ มนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเลวร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์จึงถูกประหารเข่นฆ่าได้ ถูกทำร้ายได้ ถูกทุบตีได้

นาซีเยอรมันที่เข่นฆ่าชาวยิวกว่าหกล้านคนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เพราะไม่ได้มองว่าคนยิวเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับตน คนยิวกลายเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่มนุษย์ เพราะสิ้นไร้ความดีงามในสายตาของพวกนาซี มนุษย์ที่ประหารชีวิตซึ่งกันและกันในทุกวันนี้ ก็เพราะมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันนั่นเอง

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ก็เป็นเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างอิสลามและโลกตะวันตกก็เป็นเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยสมัยสิบสี่ตุลา หกตุลา ยี่สิบสี่พฤษภา ก็เป็นเช่นเดียวกัน ความเชื่อที่ว่าวัฒนธรรมจำต้องปะทะกันของฮันติงตัน ก็เป็นเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งนี้ล้วนเกิดจากตรรกศาสตร์ดำ/ขาวนั่นเอง

ตรรกศาสตร์สมานฉันท์ที่ยอมรับว่าสัจจะความจริงมีหลายระดับ พ้นไปจากความสุดโต่ง และได้นำพามนุษย์ไปสู่ความจำเริญอย่างยิ่งยวดทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าตรรกศาสตร์สมานฉันท์นั้นไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเลื่อนลอย ไม่ฝืนกฎธรรมชาติ ทั้งยังช่วยทำความเข้าใจปัญหาอันซับซ้อนในโลกได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง

เมื่อมองเห็นความแตกต่างหลากหลาย ตรรกศาสตร์แบบทวิภาคจะมองเห็นเส้นแบ่งแยกที่ชัดเจน ทำให้มองข้ามสิ่งที่ถูกแบ่งแยก แต่ตรรกศาสตร์แบบสมานฉันท์จะมองเห็นความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว มองเห็นสรรพสิ่งที่ไม่แบ่งแยก ทั้งปฏิเสธการตั้งคำถามเรื่องความแตกต่าง หากตั้งคำถามถึงหนทางที่จะพบกับสันติภาวะร่วมกัน

ตรรกศาสตร์สมานฉันท์มิใช่สัจจะสมบูรณ์ หากเป็นหนทางหนึ่งที่มนุษย์ย่อมอาจเลือกได้ เมื่อเผชิญกับปัญหาหรือวิกฤติ ดังเช่น ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายสิบปีย่อมไม่อาจแก้ไขได้ด้วยเผด็จการทางสัจจะที่ย่นย่อความจริงให้เหลือเพียงถูก/ผิด หากต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องความจริงหลายระดับ และแม้จะนับถือพระเจ้าคนละองค์ ก็ต้องไม่ละทิ้งศรัทธาว่ามนุษย์ย่อมพูดคุยเจรจากันได้

ถ้าคุยกันไม่ได้ล่ะ?

ท่านทะไล ลามะเคยตอบคำถามนี้ว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็คงต้องปล่อยให้ทะเลาะกัน รบกัน เดือดร้อนมากขึ้น ตายกันมากขึ้น สูญเสียมากขึ้น จนกระทั่งถึงจุดที่ว่า ทนทานกับสภาพความขัดแย้งนี้อีกต่อไปไม่ได้ เมื่อนั้นผู้คนอาจจะเข้าใจโทษแห่งความขัดแย้ง และมุ่งสู่สันติภาวะมากขึ้น

ตรรกศาสตร์สมานฉันท์จึงโอบกอดความสุดโต่งไว้ในอ้อมแขนด้วยเช่นกัน ตรรกศาสตร์ที่ยอมรับได้กระทั่งความคลุมเครือและสุดโต่ง ถือได้ว่าเป็นตรรกศาสตร์ใจกว้างยิ่ง

โลกทรรศน์ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบตรรกศาสตร์สมานฉันท์จึงเป็นสิ่งที่นำไปสู่วัฒนธรรมสันติภาพ ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่แบ่งโลกออกเป็นส่วนให้เหลือเพียงดำ/ขาว ถูก/ผิด ส่วนหนึ่ง/ทั้งหมด มองเห็นความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวของสรรพสิ่ง ยอมรับความดำรงอยู่ของสิ่งที่แตกต่างจากตน เป็นหนทางที่เอื้อต่อความกรุณา เป็นเครื่องมือทางปัญญาของมนุษย์ในการก้าวล่วงพ้นไปจากกลียุคแห่งความรุนแรงทั้งกาย วาจา ใจ

Back to Top