มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2548
คำถามพื้นฐานของสังคมกำหนดความเป็นไปของสังคม
คนบางกลุ่มบางยุคบางสมัยตั้งคำถามว่า “ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร”
ความพยายามที่จะตอบคำถามนี้ทำให้เกิดศาสนาต่างๆ ขึ้น ศาสนาทุกศาสนาล้วนมีคำถามว่า
“ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร” หัวใจของทุกศาสนาคือ “จิตวิวัฒน์”
ในสังคมปัจจุบัน คำถามพื้นฐานของสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว นั่นคือถามว่า “ทำอย่างไรจะรวย” เมื่อถามว่าทำอย่างไรจะรวย ก็ทำอะไรทุกอย่างก็ได้ที่จะทำให้รวย เช่น เอาเปรียบคนอื่น ค้ากำไรเกินควร ทำลายสิ่งแวดล้อม ขายผู้หญิง ขายเด็ก ส่งเสริมการพนัน และอบายมุขอื่นๆ สร้างภาพ หลอกลวง ทุจริต คอร์รัปชั่น ฉ้อฉลด้วยประการต่างๆ ตั้งแต่กินหัวคิวไปจนถึงปั่นหุ้น ไปจนถึงคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย โดยวิธีนี้จะแก้ความยากจนไม่ได้ และสร้างความเป็นธรรมทางสังคมไม่ได้ เพราะคนที่แข็งแรงก็จะเอาเปรียบคนออ่นแอ และเอาเปรียบส่วนรวม ช่องว่างทางสังคมจะถ่างมากขึ้น ทำให้ปัญหาต่างๆ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน รวมทั้งความขัดแย้งและความรุนแรง
จะเห็นได้ว่าถ้าถามว่า “ทำอย่าไรจะรวย” บ้านเมืองจะเข้าไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายไร้ศีลธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะเกิด “วิวัฒน์” แต่จะ “วิบัติ” มากขึ้นๆ ผู้คนจะจิตใจตกต่ำ จิตของสังคมทั้งหมดก็จะตกลงด้วย ต่อให้เก่งอย่างใดก็สร้างความอยู่เย็นเป็นสุขไม่ได้ ตราบใดที่ยังตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรจะรวย”
ในทางตรงกันข้าม ถ้าตั้งคำถามว่า “ความดีคืออะไร” แล้วพยายามตอบ เช่น ความดีคือความซื่อสัตย์ สุจริต ความดีคือความขยันหมั่นเพียร ความดีคือการพึ่งตนเอง ความดีคือการประหยัด ความดีคือความพอเพียง ความดีคือการมีความเมตตา กรุณา ความดีคือการไม่เบียดเบียน ความดีคือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความดีคือการอนุรักษ์วัฒนธรรม ความดีคือการมีจิตใจเพื่อส่วนรวม ความดีคือการพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งๆ ขึ้น ดังนี้เป็นต้น
ถ้าถามว่า “ความดีคืออะไร” จะนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง โดยอัตโนมัติ
ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกับระบบเศรษฐกิจพอเพียงมีรากฐานที่ต่างกัน เศรษฐกิจทุนนิยมอยู่บนคำถามที่ว่า “ทำอย่างไรจะรวย” จึงนำไปสู่พฤติกรรมทางลบต่างๆ นานาตามที่กล่าวข้างต้น รวมทั้งนำไปสู่ความวิตถารของคุณค่า แต่โบราณมาเราถือว่าความประหยัดเป็นของดี แต่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมถือว่า ต้องกระตุ้นการบริโภค จึงจะทำให้เศรษฐกิจดี ก่อให้เกิดการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิตสินค้า การซื้อ การขาย การโฆษณา การเพิ่มการบริโภค เป็นการเพิ่มการใช้พลังงานและทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเมื่อน้ำมันขึ้นราคาก็เลี้ยวมากระทบระบบเศรษฐกิจทั้งหมด เดือดร้อนวุ่นวายวิกฤต เป็นวงจรแห่งความวิกฤตโดยแท้
แต่เศรษฐกิจพอเพียงนั้นอยู่บนฐานของความเพียร สัมมาชีพ การพึ่งตนเอง การประหยัด การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การรู้ความพอดี การมีไมตรีจิตต่อกัน การพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งๆ ขึ้น นั่นคืออยู่บนฐานของความดีนั่นเอง
โปรดสังเกตว่า ถ้าตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรจะรวย” จะแก้ความยากจนไม่ได้
เพราะคนแข็งแรงจะเอาเปรียบคนอ่อนแอ และขาดความเป็นธรรมทางสังคม ถ้าขาดความเป็นธรรมทางสังคมจะแก้ความยากจนไม่ได้ ประเทศไทยไม่ได้ยากจน แต่ขาดความเป็นธรรมทางสังคม คนจนจนเพราะขาดความเป็นธรรมทางสังคม ถ้าเร่งความร่ำรวยจะยิ่งทำให้ขาดความเป็นธรรมทางสังคม จึงแก้ความยากจนไม่ได้
ถ้าถามว่า “ความดีคืออะไร” จะแก้ความยากจนได้ เพราะความดีทำให้เกิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ทุกคนพออยู่พอกินและมีไมตรีจิตต่อกัน จึงมีคำถามว่า
สาธุชนทั้งหลาย
ความไม่ดี จะทำให้บ้านเมืองเจริญ ไม่ใช่ฐานะจะมีได้
ถ้าสังคมมีการอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้อง จะเป็นฐานของจิตวิวัฒน์อันยิ่งใหญ่
ถ้าสังคมปั่นป่วนไร้ศีลธรรม จะเป็นฐานขอความวิบัติและหายนะ
ท่ามกลางกระแสแห่ง “ทำอย่างไรจะรวย” อันสร้างความวิบัติให้สังคมอย่างรุนแรง “เศรษฐกิจพอเพียง” จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้พ้นวิบัติ สาธุชนผู้หวังจิตวิวัฒน์พึงทำความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของเรื่องศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง
แสดงความคิดเห็น