จิต (ที่) อิสระ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 15 ตุลาคม 2548

ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี ได้เคยอธิบายอย่างกว้างๆ เกี่ยวกับ “จิตวิวัฒน์” ว่าคือจิตที่ใหญ่ จิตที่ไม่คับแคบ และอาจารย์เคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่า “ชีวิตที่มีอิสรภาพหลุดออกไปจากโครงสร้างต่างๆ ที่กดทับเรามากแค่ไหนก็จะยิ่งพบกับความสุขมากเท่านั้นและสามารถเป็นความสุขแบบฉับพลัน (Instant Happiness) ได้อีกด้วย”

ตามความเข้าใจของผม “ความหมายหนึ่ง” ของ “จิตวิวัฒน์” จึงน่าจะหมายถึงการมี “จิตที่เป็นอิสระ” เพื่อชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น

ผมคิดว่าคำอธิบายเรื่อง “จิตวิวัฒน์” เป็นเรื่องที่อธิบายไม่ง่ายนักเพราะเป็นเรื่องของการมองโลกแบบคนละใบ อ.จุมพล พูลภัทรชีวิน ก็ได้พยายามอธิบายความหมายบางอย่างไปบ้างแล้วในบทความชิ้นก่อนๆ ในฐานะนักเขียนคนหนึ่งผมได้เลือกที่จะลองทำหน้าที่นี้ดู ผมอยากจะลองอธิบายความหมายหนึ่งของ “จิตวิวัฒน์” ว่าอาจจะหมายถึง “จิตที่อิสระ” ดูว่าอาจจะช่วยให้เกิดความเข้าใจอะไรบางอย่างขึ้นได้บ้างและผมก็ขอปวารณาตัวว่าที่เลือกทำหน้าที่นี้ในบทความชิ้นนี้ไม่มีเจตนาอวดดีหรืออวดรู้ว่าผมหรือกลุ่มจิตวิวัฒน์จะมี “จิตที่อิสระ” มากกว่าคนอื่นๆ หรืออะไรทำนองนั้นแต่เพียงอยากจะลองนำเสนอความคิดเห็นบางมุมเพื่ออธิบายถึงแนวทางที่พวกเรากำลังพยายามกระทำและยังต้องเรียนรู้กันอยู่เท่านั้น

ในสภาพสังคมปัจจุบัน ดูเผินๆ เหมือนกับว่าพวกเราก็มี “อิสรภาพ” กันดีอยู่แล้ว ใครอยากจะพูดอะไรเขียนอะไรก็ทำได้ในขอบเขต ใครอยากจะทำค้าขายอะไรก็ทำได้ ใครอยากจะใช้ชีวิตอย่างไรก็ทำได้

แต่ถ้าพวกเราลองมาตรึกตรองดูกันดีๆ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพวกเราส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันนี้ “ไม่เป็นอิสระ” หรือ “ไม่มีอิสรภาพ” เอาเสียเลย

เราอาจจะมีสังคมที่ให้อิสระทุกอย่างตามขอบเขตที่เหมาะสม แต่คิดดูให้ลึกๆ และลองถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมา “เรามีอิสรภาพจริงหรือ?” หรืออีกนัยหนึ่งเรามี “จิตที่อิสระ” มากพอแล้วหรือยัง เพราะจริงๆ และลึกๆ แล้วเราจะรู้สึกได้ว่าบางทีเราเหมือนกับว่าได้ตก “เป็นทาส” ของอะไรบางอย่างที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจและเราก็ปลอบตัวเองว่าเรามีอิสรภาพที่จะทำอะไรก็ได้

ผมคิดว่า “อิสรภาพด้านใน” จึงเป็นเรื่องที่ควรจะให้ความสำคัญด้วย เราจะไม่ได้ “อิสรภาพอย่างแท้จริง” ตราบเท่าที่เรายังไม่มี “อิสรภาพด้านใน” หรือ “จิตที่เป็นอิสระ”

คำถามที่อยากจะยกมาเพื่อความเข้าใจในประเด็นนี้ก็คือ อยากจะให้ลองสำรวจชีวิตของพวกเราที่ผ่านมาเอาเป็นว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาก็ได้ว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานี้คำถามข้อแรกคือ “ตัวเราได้ทำสิ่งที่อยากทำ” มาก-น้อยแค่ไหน และคำถามข้อที่สองคือ “ตัวเราต้องทำสิ่งที่ไม่อยากทำ” มาก-น้อยแค่ไหน

ผมคิดว่าสองคำถามนี้น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้ระดับหนึ่งถึง “มีอิสรภาพที่แท้จริงในชีวิต” ของพวกเรา สมมติฐานของผมก็คือว่า หนึ่ง คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้ทำสิ่งที่อยากทำ สอง คนส่วนมากกว่านั้นยังต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำ

ผมชอบท่อนหนึ่งในหนังสือที่ชื่อ The Earth Path มาก เป็นหนังสือที่เขียนโดย สตาร์ฮอว์ค (Starhawk) ซึ่งเป็นนักสังคมบำบัดที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา มีส่วนที่เชื่อมโยงกับเรื่อง “จิตที่เป็นอิสระ” นี้เป็นอย่างดี เธอบอกไว้ว่า มีความแตกต่างกันอย่างมากมายระหว่างคำว่า “I have to” กับ “I choose to” ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างมากเพราะการที่เราจะเลือกใช้คำขึ้นต้นว่า “ผมจำเป็นต้อง…….” กับ “ผมเลือกที่จะ…………” จะส่งผลที่ไม่เหมือนกันเลย เป็นต้นว่า

“ผมจำเป็นต้องอดทนทำงานที่ผมต้องทำเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว” กับ “ผมเลือกที่จะทำงานเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว” สองประโยคนี้ให้ความหมายที่แตกต่างกัน

“หนูจำเป็นต้องมีมือถือเพราะเพื่อนเขามีกัน” กับ “หนูเลือกที่จะมีมือถือเพื่อใช้งาน” สองประโยคนี้ให้ความหมายที่แตกต่างกันเพราะมือถือแบบประโยคแรกจะเป็นมือถือที่แข่งขันกันราคาสูงแข่งกันทันสมัยแบบถ่ายรูปได้อัดเสียงได้เล่นเพลงได้ แต่มือถือแบบที่สองจะเป็นมือถือที่ใช้ติดต่อสื่อสารจริงเท่านั้น

หรือแม้แต่เรื่องราวในด้านลบบางอย่างก็มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของวิธีคิดและอิสรภาพเช่น “หนูจำเป็นต้องแต่งตัวโป๊เพราะใครๆ เขาก็แต่งกันแบบนั้น” กับ “หนูเลือกที่จะแต่งตัวโป๊เพราะอยากจะแต่ง” การกระทำสองอย่างนี้แสดงถึงอิสรภาพด้านในที่แตกต่างกัน

หลายคนต้องทำงานหนักเพื่อทำมาหากิน ก็จะบอกว่าเขาเหล่านั้นไม่มีทางเลือกถ้าไม่ทำแบบนั้นก็จะไม่มีกิน หลายคนต้องขี้โกงก็บอกว่าเป็นเพราะเขาไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ทำแบบนั้นก็จะอดตาย บางคนบอกว่า “เราอยู่ในโลกของทุนนิยม เราไม่มีทางเลือก เราต้องเป็นไปตามกระแสโลก”

แบบนี้จะเป็น “จิตที่อิสระ” ได้อย่างไรกัน

เวลาที่เราใช้คำขึ้นต้นว่า “ผมจำเป็นต้อง……” หรือ “ดิฉันจำเป็นต้อง……” นั่นหมายความถึงความไม่มีอิสรภาพ ความที่จะต้องตกเป็นทาสของสถานการณ์อะไรบางอย่างที่ช่วยไม่ได้หรือที่มักจะพูดกันเสมอว่า “ไม่มีทางเลือก” และโดยลึกๆ แล้วนั่นจะหมายความถึงความพยายามที่จะไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โทษสถานการณ์ โทษคนอื่น โทษคนรอบข้างแต่ไม่เคยโทษตัวเองเลย

ในทางตรงกันข้ามเมื่อเราใช้คำขึ้นต้นว่า “ผมเลือกที่จะเป็นอย่างนั้น” หรือ “ดิฉันเลือกที่จะเป็นอย่างนี้” นั่นหมายถึงการให้ความสำคัญกับตัวเอง ให้สิทธิ์ตัวเองในการเลือก มีอิสรภาพในการเลือกและพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลของการกระทำอย่างเต็มที่หากว่าเกิดเรื่องราวที่ไม่พึงประสงค์ ไม่โยนความผิดไปให้คนอื่น ไม่โทษสถานการณ์ ไม่โทษคนรอบข้างว่าทำไม่ดีทำให้เราต้องเป็นแบบนี้ เพราะในความเป็นจริงแล้วการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น “เราทุกคนมีอิสระที่จะเลือกได้เสมอ”

ยิ่งเรามี “อิสรภาพ” มากเท่าไร เราก็จะยิ่งรู้สึกเบาสบายที่ไหล่ทั้งสองของเรามากขึ้นเท่านั้น เพราะเราไม่ต้องแบกโลกเอาไว้อีกแล้ว เราเพียงทำหน้าที่ของเราตามความเหมาะสม ตามสถานการณ์และเรารู้ว่าเราเลือกที่จะแบบนั้นและเราจะรับผิดชอบต่อสิ่งที่เรากระทำอย่างเต็มที่

ยิ่งเรามี “อิสรภาพ” มากเท่าไร เราก็จะยิ่งมองเห็น โอกาสใหม่ๆ มากมายเกิดขึ้นเท่านั้น เราจะมองเห็นความเป็นไปได้หลายๆ อย่างได้เอง เราจะเข้าใจได้ว่าเราสามารถไว้ใจชีวิตได้อย่างไม่มีเงื่อนไข

ยิ่งเรามี “อิสรภาพ” มากเท่าไร เราก็จะยิ่งมีการเรียนรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ได้มากเท่านั้น เราจะมีทางเลือกมากมาย

เพราะแม้แต่ “อิเลกตรอน” ที่ดูเหมือนจะเป็น “เพียงวัตถุ” ในมุมมองแบบหนึ่งก็สามารถเลือกได้ว่ามันอยากจะเป็นคลื่นหรืออยากจะเป็นอนุภาค

อย่างไรก็ตามผู้ที่มี “จิตอิสระ” นี้จะเข้าใจความหมายของ “อิสรภาพ” ว่าไม่ใช่การทำอะไรตามใจตัวฝ่ายเดียวและผมจะขอไม่ลงไปถกเถียงในประเด็นนี้ในบทความนี้

ต่างๆ เหล่านี้อาจจะเป็นความหมายหนึ่งของ “จิตวิวัฒน์” ที่หลายๆ ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจำเป็นจะต้องมี จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นมาในวิวัฒนาการของมนุษย์ ณ เวลานี้

ผมไม่ทราบว่า “จิตที่เป็นอิสระ” นี้จะช่วยให้โลกรอดพ้นจากวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญครั้งนี้ได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ “จิตที่เป็นอิสระ” จะสามารถช่วยให้เรารู้สึกมีพลังมีความสดชื่นและมีความสุขมากขึ้นและมองเห็นโอกาสต่างๆ ที่สร้างสรรค์มากมายได้เหมือนอย่างที่ท่านอ.หมอประเวศ วะสีได้กล่าวถึงไว้ในข้างต้นจริงๆ

Back to Top